กระแสวงการรถยนต์ในรอบสัปดาห์ หากไม่นับข่าวสารรถยนต์ เปิดตัวรถใหม่ หรือการแถลงข่าวสารอันใดจากบริษัทรถยนต์ เรื่องราวนอกกระแสของผลิตภัณฑ์ “หัวเชื้อน้ำมันเครื่อง” ยี่ห้อหนึ่ง กลายเป็นเผือกร้อนในวงสังคมคนรักรถ จนยังคำถามมาว่า สารปรุงแต่งที่ขายกันเกลือนกราดเหล่านี้ใช้ได้ผลจริง แค่ไหน
ภาษาไทยอาจจะเรียกสารปรุงแต่งเหล่านี้ว่า “หัวเชื้อน้ำมันเครื่อง” แต่หากเรามองย้อนความไปยังที่มาของสินค้าเหล่านี้ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตจากชาติตะวันตก เราจะพบคำว่า “Engine Treatment” บ้างอาจจะใช้คำว่า “Oil Addictive” อันหมายถึงสารเพิ่มประสิทธิภาพ มันส่อถึงความจำเป็นที่เราจะต้องใช้สารเหล่านี้หรือไม่
ที่มาที่ไปของ “หัวเชื้อน้ำมันเครื่อง” มีมานานมาก จุดเริ่มต้นมาจากไหนไม่ทราบ หากทุกครั้งที่เราเห็นหัวเชื้อน้ำมันเครื่อง ได้อ่านผลิตภัณฑ์ หรือได้ฟังคนขายสินค้าเหล่านี้เหลาให้ฟัง จะพบว่าทุกยี่ห้อต่างมีคุณสมบัติตรงใจคนใช้รถ ไม่ว่าจะประหยัดน้ำมัน , เพิ่มประสิทธิภาพเครื่องยนต์ จนถึงปกป้องเครื่องยนต์ในยามฉุกเฉิน เช่นน้ำมันเครื่องขาด เป็นต้น บางยี่ห้อพูดถึงขนาดว่า สามารถวิ่งได้โดยไม่ต้องใช้น้ำมันเครื่อง จนยังคำถามว่า ของราคาไม่กี่บาทอะไรมันจะเทพขนาดนั้น ..คุณคิดเหมือนผมไหม
ในบรรดาสารปรุงแต่งสำหรับเครื่องยนต์ หรือที่นาทีเราเรียกติดปากว่า “หัวเชื้อน้ำมันเครื่อง” สารปรุงแต่งพิเศษเหล่านี้ ส่วนใหญ่ก็จะมาพร้อมสารเติมแต่งแบบเดียวที่ผสมในน้ำมันเครื่อง ไม่ว่าจะ สารชะล้างทำความสะอาด (Detergent) ที่เอาไว้ชะคราบเขม่าจากการสันดาปภายในเครื่อง สารป้องกันความเป็นกรด (Anti-Acids) ลดการกัดกร่อนที่อาจจะเกิดขึ้นจากน้ำมันเครื่องยนต์ ไปจนถึง สารปรับแต่งลดการเสียดทาน (Friction modifier) แต่ก็อาจจะมีสารปรับแต่งอื่นๆ พวกสารลดการเกาะตัวของเขม่า Dispanser ที่ผสมเพิ่มเข้ามา เพื่อทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องยนต์เห็นผลมากขึ้น
หลายคนเชื่ออย่างสนิทใจว่าน้ำมันเครื่องเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ และด้วยคุณสมบัติของต่างที่ผู้ค้ากล่าวอ้างทำให้สารปรุงแต่งเหล่านี้ดูน่าสนใจยอมเสียเงินซื้อหามาใช้ ด้วยความเข้าใจว่าสารที่เหล่านี้ ก็เหมือนวิตามิน ยาชูกำลัง ยิ่งเติมมากเครื่องยิ่งมีประสิทธิภาพ จนทำให้ผู้ค้าหลายรายทำกำไรเป็นกอบเป็นกำจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้งที่ความจริงแล้วน้ำมันเครื่องยนต์เพียงอย่างเดียวก็เกินพอที่จะดูแลรักษาเครื่องยนต์
สอบสวนความจริง “หัวเชื้อน้ำมันเครื่อง”
ประเด็นเรื่อง “หัวเชื้อน้ำมันเครื่อง” ใช้ได้ผลจริงหรือไม่ เคยมีการสอบสวนในอเมริกา และเป็นข่าวครึกโครมยกใหญ่ในช่วงปี 1999
เมื่อทางหน่วยงาน Federal Trade Commission (FTC) ได้ออกกฎสั่งห้ามค้าขายและโฆษณาผลิตภัณฑ์หัวเชื้อน้ำมันเครื่องในประเทศอเมริกา โดยจุดเริ่มต้นมาจากผลิตภัณฑ์ที่ชื่อว่า Dura Lube Advance Engine Treatment ซึ่งเป็นหนึ่งใน 5 บริษัทที่ผลิตหัวเชื้อน้ำมันเครื่องที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา
ภายหลังต่อมา ทางหน่วยงานเดียวกัน (ผมขอเรียกว่า FTC )ได้สั่งห้ามจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในลักษณะเดียวกันอีกหลายตัว อาทิ Valvoline Engine Treatment, Slick 50 Engine Treatment , STP Engine Treatment รวมถึง Prolong Engine Treatment Concentrate (ETC) น่าแปลกที่สินค้าบางส่วน 3 ใน 5 ยี่ห้อ ที่ผมกล่าวมานี้ ยังสามารถหาซื้อได้จากร้านอะไหล่ หรือห้างสรรพสินค้าในบ้านเรา โดยไม่มีใครเฉลียวใจว่าต่างประเทศเขาไม่ใช้กันแล้ว
Engine Treatment ในอเมริกาที่ยังขายได้ในปัจจุบัน จะเห้นว่าไม่มีการอวดอ้างสรรพคุณใดๆ
ตามคำกล่าวอ้างให้หยุดจำหน่ายและโฆษณาสินค้าของ FTC ระบุว่า ทาง Dura Lube อวดอ้างสรรพคุณของสินค้าเกินความเป็นจริง และจากการทดสอบโดยทีมงานของหน่วยงานรัฐบาลพบว่า สารปรุงแต่งเครื่องยนต์ของ Dura Lube นั้นไม่มีคุณสมบัติตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด
ถึงแม้ว่าจะไม่มีการเปิดเผยวิธีการทดสอบของ FTC ให้สาธารณะชนได้รับทราบข้อเท็จจริง ทว่าในการไต่สวนคดีของ Dura Lube ทางเจ้าของกิจการได้กล่าวโต้แย้งข้อกล่าวหาของ FTC บางประการ อาทิ สารปรุงแต่งนี้เป็นสารที่ไม่ได้ใช้ สาร chlorinated paraffin สารประกอบ PVC Compound ที่มีส่วนผสมเป็นพลาสติก และยืนยันว่าได้รับการทดสอบจาก EPA หรือสำนักงานรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
หากข้อโต้แย้งดังกล่าวตกไป เมื่อทาง FTC ชี้ว่าสารปรุงแต่งเครื่องยนต์ของ Dura Lube มีส่วนผสมนี้จริงจากการทดสอบ และนอกจากนี้ตัวสารไม่ได้รับการรับรองจาก EPA ตามที่กล่าวอ้าง
รวมถึงโฆษณาที่อ้างว่าสามารถลดความเสียหายขั้นรุนแรง เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ ทางบริษัทก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ตลอดจน การนำอดีตนักบินอวกาศจากองค์การการบินอวกาศแห่งชาติสหรัฐ หรือ NASA มากล่าวอ้างเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์ โดยกล่าวอ้างว่า เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการประเมินและทดสอบเครื่องยนต์ ผลปรากฏว่า นักบินอวกาศคนดังกล่าวไม่ได้เชี่ยวชาญตามที่กล่าวอ้าง
และด้วยการเล็งเห็นว่า”หัวเชื้อน้ำมันเครื่อง” อย่าง Dura Lube และอีกหลายผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะคล้ายกันจะสร้างความเสียหายรุนแรงต่อรถยนต์ คณะกรรมการที่สอบสวนในเวลานั้นมีคะแนน 4-0 เสียง ในการไม่ให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ลักษณะนี้ ซึ่งไม่มีการผ่านการทดสอบ และสร้างความเข้าใจผิดแก่ผู้ใช้ จนเคสของ Dura Lube เป็นมาตรฐานใหม่ ปิดกั้นไม่ให้ผู้ค้าขาย “หัวเชื้อน้ำมันเครื่อง” ในอเมริกา
ได้ผลจริงหรือหลอกลวง
“หัวเชื้อน้ำมันเครื่อง” บางยี่ห้อเปิดเผยสรรพคุณว่า มีคุณสมบัติในการหล่อลื่นเครื่องยนต์ดีกว่าน้ำมันเครื่อง โดยเติมสารที่เรียกว่า polytetrafluoroethylene (PTFE) ทำเอาคอความเร้วบางคนหลงเชื่อ และมั่นใจว่าจะได้แรงม้าไม่มากก็น้อยจากการเสียเงินไม่กี่บาท
สารชื่อแปลกๆ ฟังดูดีตัวนี้ แท้ที่จริงมันเป็นสารตั้งต้นของ “เทฟรอน” (แบบเดียวกับที่นำมาเคลื่อบกระทะ นั่นแหละ) ถูกคิดค้นโดย Du Pont มาตั้งแต่ปี 1938 ด้วยการนำสารนี้ไปใช้ในทางที่ผิดมายาวนาน ทาง Dupont เคยออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า สาร PTFE นั้นไม่มีประโยชน์ใดๆ ที่จะนำไปใส่เป็นสารปรุงแต่งน้ำมันของเครื่องยนต์สันดาปภายใน
สถาบันวิจัย Lewis ของ NASA เคยนำสารนี้ไปวิจัยว่า มันมีส่วนช่วยทำให้เครื่องยนต์มีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้นหรือไม่
ในการทดลองของทาง NASA ที่ถูกกล่าวอ้างในหนังสือ Fluoro Polymer Addictive เขียนขึ้นเมื่อปี 2012 เปิดเผยว่า ทาง NASA ได้นำเครื่องยนต์อเนกประสงค์ 2 เครื่อง มาทำการทดลอง แม้ว่าเครื่องยนต์ที่นำมาทดลอง จะเป็นเครื่องยนต์แบบ brigg and Stratton หากก็มีความคล้ายคลึงกับเครื่องยนต์ในรถยนต์ของเรา
พวกเขาเดินเครื่องยนต์ 2 เครื่องพร้อมกัน โดยเครื่องยนต์ตัวหนึ่งใส่สารปรุงแต่งสำหรับเครื่องยนต์หรือ “หัวเชื้อน้ำมันเครื่อง” ส่วนอีกเครื่องไม่ใส่สารดังกล่าว ทั้งคู่ใช้งานปกติในระยะหนึ่งก่อนทำการถ่ายน้ำมันเครื่องออก แล้วเดินเครื่องต่อ โดยไม่มีน้ำมันเครื่อง
ผลปรากฎว่าเครื่องยนต์ทั้งคู่น็อกจนไม่สามารถทำงานต่อได้ในเวลา 20 ชั่วโมงเท่ากัน และเมื่อเปิดเครื่องยนต์ดูภายในก็พบว่า กระบอกสูบของเครื่องยนต์ที่ใส่สารปรุงแต่งน้ำมันเครื่องยนต์กลับมีรอยความเสียหายมากกว่า เครื่องยนต์ที่ไม่ใช้หัวเชื้อน้ำมันเครื่อง
นอกเหนือจากการทดสอบของนาซ่าแล้ว ยังมีการทดสอบของมหาวิทยาลัยยูท่าห์ ในปี 1979 ที่ได้ทำการวัดการไหลเวียนน้ำมันเครื่องในเครื่องยนต์ ในระดับนาโนเมตร พบว่า เมื่อใส่หัวเชื้อน้ำมันเครื่อง การไหลเวียนของน้ำมันเครื่องในระบบจะตกลงเล็กน้อย โดยผลการวิจัยดังกล่าวสรุปว่า สารปรุงแต่งน้ำมันเครื่อง ที่เติมเข้าไปเพิ่มระดับส่วนผสมเหล็กในเนื้อน้ำมันเครื่องมากกว่า 2 เท่า จนเป็นเหตุให้เกิดความหนิดดังกล่าว
ดังนั้นหากอ้างอิงจากข้อมูลการทดสอบในต่างประเทศ จะเห็นว่า “หัวเชื้อน้ำมันเครื่อง” ที่เติมลงไปเพิ่มสารสำหรับเครื่องยนต์จริง แต่มันอาจจะมากเกินไปกว่าที่เครื่องยนต์ต้องการหรือไม่
มันคล้ายกับพวกเราที่ทานวิตามินเสริม โดยหวังว่าร่างกายจะแข็งแรงขึ้น เนื่องจากเราอาจจะขาดสารอาหารบางอย่าง ทารนอาหารไม่ครบ 5 หมู่ บางคนได้ผลมีสุขภาพที่ดีขึ้น สำหรับบางคนพวกเขาอาจจะรู้สึกเฉยๆ กับอาหารเสริมเหล่านี้ก็คงไม่แปลกนัก ถ้าเรื่องทำนองเดียวกันจะเกิดกับเครื่องยนต์ในรถยนต์ที่เติม “หัวเชื้อน้ำมันเครื่อง”
แล้วดูแลเครื่องยนต์ อย่างไร
มาถึงตรงนี้ ผมเชื่อว่าหลายคนน่าจะเห็นภาพของ หัวเชื้อน้ำมันเครื่องยนต์ ที่ปรุงแต่งให้ดูดีในความคิดของคนรักรถ จนยอมเสียเงินทองหามาใช้ โดยหวังว่าจะช่วยให้รถของพวกเขาใช้งานได้นานทนทานกว่าคนอื่น ทั้งที่ก็ไม่มีข้อพิสูจน์ว่า มีประสิทธิภาพตามที่กล่าวอ้างหรือไม่
ในความเป็นจริงเครื่องยนต์ในรถยนต์ที่เราใช้ ต่างมีการสึกหรอทุกครั้งที่เราขับขี่ การทำงานอย่างต่อเนื่องระหว่างที่เราเดินทาง ทุกครั้งที่เหยียบคันเร่งลงไป ไม่ว่าจะใช้รอบเครื่องนับหมื่นรอบหรือขับเดินทางแบบเต่ากัดยาง ต่างลดประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องยนต์ เท่าๆ กัน และวีธีการดูแลรักษาเครื่องยนต์ให้ใช้งานได้ดี แรงไม่ตก นั้นง่ายมาก เพียงลองทำตามคำแนะนำต่อไปนี้
1.เลือกใช้น้ำมันเครื่องที่ถูกต้อง คุณสมควรเลือกใช้น้ำมันเครื่องตามที่ผู้ผลิตกำหนด ยิ่งถ้าหาค่าความหนืดที่ระบุในคู่มือได้ คุณจะเห็นเองว่า เครื่องยนต์ทำงานเปี่ยมประสิทธิภาพจริงๆ อย่างผม เดิมทีรถซื้อมือสอง Subaru XV มาเดิมทีใช้น้ำมันเครื่องความหนือ 5W30 ยี่ห้อดัง ติดตัวมากับรถ ขับแล้วก็เฉยๆ พอเปลี่ยนเป็น 0W20 ตามที่คู่มือแนะนำเท่านั้นแหละ วิ่งขี้แตกกันไปเลย
2.เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องตามระยะทุกครั้ง หลายคนมักชอบละเลยความตรงต่อเวลาในการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ทั้งที่ความจริงแล้ว ความตรงต่อเวลาทำให้น้ำมันเครื่องยังไม่ถึงจุดเสื่อมสภาพเกินไป และไม่เป็นตะกอนหรือข้นจนอาจจะเกาะในทางเดินน้ำมันเครื่องในเครื่องยนต
3.ใช้น้ำยาล้างหัวฉีดบ้าง รถยนต์เมื่อใช้ไปนานย่อมมีการเสื่อมสภาพเป็นธรรมดา น้ำยาล้างหัวฉีดที่เติมกับน้ำมันเชื้อเพลิง โดยส่วนใหญ่เป็นสารที่ชะล้างที่มีประสิทธิภาพ และได้รับการยอมรับทั่วโลก สารนี้ควรจะหาซื้อมาเติมเมื่อใช้งานรถไปนาน ๆ เนื่องจาก หัวฉีดอาจจะเริ่มอุดตัน ทำให้รูปแบบการฉีดน้ำมันไม่เหมือนเดิม นั่นคือสาเหตุหนึ่งที่สำคัญ ทำให้เครื่องยนต์ด้อยประสิทธิภาพ เมื่อเทียบกับรถคุณตอนใหม่ๆ วันนี้ลองหามาใส่สักขวด แล้วจะรู้ว่ามันช่วยได้จริงๆ
ใครจะเชื่อเรื่องความวิเศษของ “หัวเชื้อน้ำมันเครื่อง” ก็คงต้องแล้วแต่วิจารณญาณของแต่ละคนที่ต้องตัดสินใจกันเอาเอง หากในข้อเท็จจริงของการดูแลรักษารถยนต์ เราต่างรู้ว่า บริษัทผู้ผลิตเครื่องยนต์ชั้นนำทั้งหลายต่างไม่ได้บอกคุณต้องเติมสารปรุงแต่งอะไร พวกเขาขอแค่เพียงคุณเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องยนต์ตามระยะและใช้ความหนืดถูกต้องตามที่กำหนด เพียงเท่านี้เครื่องยนต์รถของคุณก็ใช้งานได้ดีเยี่ยม
….แล้วเราจะไปเสียเงินเพิ่ม โดยจำเป็นทำไมกัน … ลองคิดดูให้ดีครับ
ชอบกดไลค์ใช่กดแชร์ ขอบคุณทุกกำลังใจสำหรับพวกเรา ridebuster.com