ทุกวันนี้มีหลายสิ่งที่คนมองข้ามในรถยนต์ที่เราใช้ หนึ่งในหลายสิ่งที่คนใช้รถมักจะลืมนึกถึงไปเสียสนิท ดูท่าจะไม่พ้น เรื่องราวของ “ผ้าเบรก” ชิ้นส่วนเดียวที่ช่วยในการสั่งหยุดรถ ในยามขับขี่ พวกมันมีความสำคัญมาก และคนจำนวนมากยังไม่ค่อยรู้จักพวกมันดี เท่าชิ้นส่วนอื่นๆ ในรถยนต์
“ผ้าเบรก” คือ ชิ้นส่วนเพิ่มแรงเสียดทานเพื่อสร้างแรงด้านการหมุนที่เกิดขึ้นที่เกิดจากการเร่งเครื่องยนต์ไปยังชุดล้อ โดยมากระบบกเบรก หรือระบบห้ามล้อ จะติดตั้งไว้คู่กับดุมล้อเสมอ โดยปัจจุบัน ระบบเบรกที่นิยมใช้ มี 2 แบบ คือ
1.ดิสก์เบรก เป็นระบบเบรกที่มีชุดจานแยกออกมาแล้วใช้แม่ปั้มเบรก ภายในมี “ผ้าเบรก” ติดตั้งอยู่ กดจับที่ตัวจานเพื่อลดความเร็วจากการขับขี่
2.ดรัมเบรก เป็นที่อาศัยการจึงพื้นทายในชุดดุม เมื่อเบรกทำงาน กลไกลเบรกจะดันผ้าเบรกออกไปทางด้านข้าง เพื่อสร้างแรงเสียดสีกับผิดขอบดุมล้อ จนเกิดแรงเสียดทาน ปัจจุบันดรัมเบรกมักใช้เพียงการติดตั้งในตำแหน่งเบรกหลังเท่านั้น เนื่องจาก ดิสก์เบรก มีประสิทธิภาพในการหยุดมากกว่าและระบายความร้อนได้ดีกว่า
ผ้าเบรก มีกี่แบบ
พูดถึงผ้าเบรกในปัจจุบัน พวกมันมีมากมายหลายแบบ แต่ตามหลักการแล้ว พวกมันมี 3-4 แบบใหญ่ๆ โดยมาก จะแบ่งตามลักษณะเนื้อผ้าเบรก หรือ วัสดุที่ใช้ทำเพื่อทำให้เกิดแรงเสียดทานจากการเบรก ซึ่งปัจจุบันมีดังนี้
1.ผ้าเบรก Abestos หรือ บ้างอาจจะเรียกว่า ผ้าเบรกแร่ใยหิน เป็นผ้าเบรกที่นิยมใช้กันมากสมัยก่อน พวกมันทำมาจากสารแร่ใยหิน ซึ่งเมื่อเบีกจะเกิดเขม่าสีขาวๆ ปัจจุบันน่าจะต้องพูดว่าไม่มีให้ซื้อกันแล้ว เนื่องจากก่อมลภาวะและเบรกไม่ดี เวลาใช้เบรกบ่อยๆ มีความร้อนสูง หรือบนสภาพทางที่เปียกลื่น จึงค่อยๆ จางหายไปจากตลาด
2. Non Abestos Organic หรือ Non Matallic Material เป็นผ้าเบรกยุคใหม่ที่เกิดขึ้น ด้วยความตั้งใจจะไม่ใช้สารแร่ใยหิน ผู้ผลิตจึงหันไปใช้สารใหม่ๆ เพื่อให้การเบรกมีประสิทธิภาพ ผ้าเบรกแบบนี้ปัจจุบัน เป็นผ้าเบรกที่ขายทั่วๆไป ในท้องตลาด
พวกมันมีข้อดี คือ ราคาถูก ไม่กินจาน และไม่แพงจนเกินไป แต่มีข้อเสียสำคัญ คือ มีอายุการใช้งานไม่นานนัก และจำเป็นต้องเปลี่ยนบ่อยครั้ง รวมถึง จะยังมีคราบเขม่าสีดำที่ล้อ จะน้อยจะมาก ก็ขึ้นอยู่กับส่วนผสมผ้าเบรกที่ผู้ผลิตใช้
3.Semi-metallic materials ผ้าเบรกกึ่งผสม อาจจะเป็นคำที่ใช้เรียกผ้าเบรกชนิดนี้ โดยมากจะเป็นผ้าเบรก ที่ใช้ในระดับราคาที่มุลค่าสูงขึ้นมา ด้วยจุดเด่นของผ้าเบรกที่นำแร่ใยเหล็กมาผสมกับแร่อื่นๆ ซึ่ง ทำให้ทำงานได้ดีในอุณหภูมิที่สูงกว่า ผ้าเบรกเกรดล่างๆ แต่ก็ตามมาด้วยการกินจานกว่าเบรกปกติเล็กน้อย และด้วยราคาสูง จึงไม่ค่อยนิยมจากลูกค้า ยกเว้นคนที่ต้องการประสิทธิภาพจากเบรกในการขับขี่จริงๆ เช่นใช้งานบรรทุกหนัก หรือ ใช้เบรกหนักบ่อยครั้ง
4.Fully Metallic Material ผ้าเบรกใยเหล็ก เป็นผ้าเบรกประสิทธิภาพสูง ซึ่งนิยมใช้ในการขับขี่ที่ต้องการประสิทธิภาพสูงมาก ปัจจุบันผ้าเบรกแบบนี้ทำกราไฟต์ ซึ่งมีข้อดีคือทนความร้อสูงมาก แต่มีข้อเสียสำคัญ คือเบรกมักจะมีเสียงดัง ไม่ว่าจะเบรกปกติ หรือเบรกอย่างรุนแรง และมีการกินจานมาก เนื่องจากเป็นเหล็กเหมือนกัน และแถมยังมีราคาแพง ข้อดีเดียวคือ มันเบรกมีประสิทธิภาพมาก จึงเหมาะกับรถที่ต้องการขับขี่ด้วยความเร็ว บรรดารถแต่ง รถซิ่งจึงนิยมเบรกแบบนี้มากๆ กว่าแบบอื่น
5. Ceramic Brake หรือ เบรกเซรามิก เราอาจจะพึ่งได้ยิน เบรกเซรามิกมาเมื่อไม่นานมานี้ แต่ความจริงเบรกเซรามิกออกมาสู่ตลาดมาตั้งแต่ปี 70
เบรกเซรามิกไม่ได้ทำมาจากแก้ว แบบที่ใช้กันในถ้วนชามที่เรารู้จัก แต่อาศัยการสร้างวัสดุแล้วไปผสมกับเนื้อโลหะบางชนิดอย่างเช่นทองแดง ผสมกันเพื่อให้ได้ การตอบสนองต่อค่าความร้อนที่เกิดจากเบรก มันเป็นผ้สเบรกที่มีประสิทธิภาพในการใช้งานสูงมาก แต่ก็มีราคาแพงเช่นกัน รวมถึงในบางสถานการณ์ อาทิ ภาวะอากาศเย็นมาก เบรกจะทำงานได้ไม่ดีเท่าแบบอื่น จึงไม่เหมาะกับการใช้ขับขี่ในรถทั่วไป
อย่างไรก็ดี หลายคนมักจะสับสนผ้าเบรกเซรามิก กับ ระบบเบรก Carbon Ceramic Brake ในบรรดารถซุปเปอร์คาร์ที่ดูเหมือนจะคล้ายกัน
อันที่จริงแล้วมันต่างกันโดยสิ้นเชิง ระบบเบรก Carbon Ceramic Brake แม้ว่ามันอาจจะใช้ผ้าเบรกเซรามิกเหมือนกัน หากก็ไม่ใช่วัสดุเดียวกัน รวมถึงตัวจานเบรก ทำมาจากวัสดุประเภทคอมโพสิท ซึ่งมีประสิทธิภาพในการระบายความร้อนสูงมาก การใช้งานเบรกแบบนี้จึงต้องมีการวอร์มอัพระบบก่อน เพื่อให้ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพในการขับขี่
“ผ้าเบรก” เปลี่ยนเมื่อไร
เข้าใจคุณลักษณะผ้าเบรกในเบื้องต้นไปแล้ว ก้สมควรจะทราบว่า ผ้าเบรก ในรถยนต์ที่เราใช้เปลี่ยนเมื่อไร
เรื่องนี้มีคำแนะนำจากหลายกูรูมากมาย ต่างบ่งชี้ไปในทางเดียวกันว่า จะต้องเปลี่ยนผ้าเบรก ทุกๆ 5,000 ก.ม. หรือ 6 เดือน ซึ่งถ้าให้พูด คือ น่าจะเรียกว่าต้องเปลี่ยนทุกปี ถ้าเอาตามคำแนะนำดังกล่าว
หากความจริงการใช้รถยนต์นั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่สำคัญ เช่นการใช้ความเร็ว , วิธีการขับขี่ ,ช่วงเวลาที่ใช้รถ ซึ่งการสึกหรอของผ้าเบรก แต่ละคน ของรถแต่ละคันก็ไม่เท่ากันอีก จากปัจจัยทางด้านตัววัสดุผ้าเบรกด้วย ดังนั้น วิธีการดูว่าผ้าเบรกถึงเวลาเปลี่ยนยังควรดูดังต่อไปนี้
1.เบรกมีเสียงหรือไม่ ถ้าเมื่อไรก็ตามคุณเบรกแล้วเกิดเสียงดัง หรือมีเสียงจากการใช้เบรกเกิดขึ้น หมายถึงคุณสมควรจะเปลี่ยนผ้าเบรกได้ แล้ว สาเหตุที่เบรกเสียงดังอาจเกิดได้จาก 1.ผ้าเบรกใกล้หมด เมื่อผ้าเบรกใกล้หมด มันจะมีเสียงในระหว่างการเบรก ตลอดการทำงาน 2.ผ้าเบรกแข็ง มักจะเกิดกับรถที่จอดเป็นระยะเวลานาน และไม่ได้ขับขี่ มันหมายถึงผ้าเบรกเสื่อมอายุการใช้งาน
2.ระยะใช้งานเบรกมากขึ้น เมื่อผ้าเบรกใกล้หมด โดยมากมันจะมีระยะเบรกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะระยะการเดินทางของแป้นเบรกจะลึกขึ้น ถ้าคุณมีไหวพริบหรือรู้สึกว่า ใช้แป้นเบรกมากขึ้น ก็สมควรจะดำเนินการเปลี่ยนผ้าเบรกโดยไว
3.สังเกตระดับน้ำมันเบรก เมื่อเบรกใกล้สึกหรอจนหมด โดยมากระยะผ้าจะถูกปรับโดยอัตโนมัติจากแรงดันน้ำมันเบรกสำรอง เป็นผลให้น้ำมันเบรกในถังสำรองหายไป เมื่อไร ก็ตามที่มันอยู่ในระดับต่ำหรือใกล้ต่ำมากๆ แสดงว่า ใกล้ถึงเวลาที่คุณควรเปลี่ยนผ้าเบรก
ถามตอบให้เข้าใจเรื่องผ้าเบรก
ถาม : ผ้าเบรกทนความร้อนสูงเหมาะกับการใช้งานแบบไหน
ตอบ : ผ้าเบรกทนความร้อนสูงนั้น ออกแบบมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเบรก เมื่อมีการใช้เบรกต่อเนื่องในระหว่างการขับขี่ เช่นการขับลงทางลงเขา ซึ่งต้องมีการเบรกบ่อยครั้ง หรือในการแข่งรถที่ต้องมีการเบรกลึก ทำให้เกิดแรงเครียดที่ผ้าเบรก เมื่อเสียดสีกับจานเบรก ส่วนการขับรถทั่วไป ผ้าเบรกที่ทนความร้อนไม่เกิน 400 องศาเซลเซียส ถือว่าเพียงพอต่อการใช้งาน
ถาม : Bedding – In คืออะไรครับ
ตอบ : มันคือวิธีการรันอินผ้าเบรก เพื่อชะล้างหน้าผ้าเบรกให้สัมผัสได้ดีกับจานเบรก โดยมาจะทำเพียง 100 กิโลเมตรแรกเมื่อเปลี่ยนผ้าเบรก โดยคุณต้องไม่เบรกรุนแรง และขับแล้วเลียเบรกเบาๆ บ้างเป็นบางจังหวะ มันเป็นเรื่องที่จำเป็นมากสำหรับการทำให้เบรกมีประสิทธิภาพสูงสุด
ถาม : เวลาเปลี่ยนผ้าเบรก ทำไมร้านถึงต้องให้เจียร์จานเบรก
ตอบ : การเจียร์จานเบรก เกิดขึ้นในกรณีเดียวคือเมื่อผ้าเบรกหมดแล้วเกิดการกินจาน หรือที่ช่างอาจจะบอกคุณว่า จานเป็นรอย ทำให้หน้าสัมผัสจานเบรกไม่เท่ากัน และด้อยประสิทธิภาพในการเบรกเมื่อติดตั้งผ้าเบรกใหม่ลงไป โดยไม่เจียร์จาน
อย่างไรก็ดีในกรณีที่คุณเปลี่ยนผ้าเบรก ก่อนที่จะเบรกจะมีเสียง โดยมากจะไม่มีปัญหาเรื่องจานเบรกเป็นรอย แต่โดยมากร้านเบรกอาจจะเรียกเก็บค่าเจียร์จานจากคุณ โดยอ้างว่าเป็นการล้างหน้าสัมผัส เนื่องจากเป็นรายได้ที่เข้าร้านโดยตรง หรือพูดง่ายๆ เป็นวิธีหากินนั่นเอง
เรื่องโดย ณัฐยศ ชูบรรจง นักทดสอบรถยนต์ และ คอลัมนิสต์ เว็บไซต์ Ridebuster.com ติดตามผลงานการเขียน และข้อมูลที่น่าสนใจได้ทาง Facebook
ติดตามข่าวสารและบทความดีๆ จากพวกเรา Ridebuster.com