เป็นเวลากว่า 8 เดือน นับตั้งแต่ที่ทางทีมงาน Ridebuster มีโอกาสไปงาน Winter Test ของรายการแข่งขันมอเตอร์อันดับหนึ่งของโลก Moto GP จนในที่สุดการแข่งขันนัดประวัติศาสตร์ก็เดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
แฟนๆ หลายคนเดินทางไปยังสนามอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ทั้งไปโดยการขี่มอเตอร์ไซค์ไป , ขับรถไป รวมถึงบรรดาสื่อมวลชนหลายคน ที่พาไปบริษัทรถยนต์ นี่เรายังไม่นับบรรดาทีมงานทางการตลาดกองทัพนับสิบที่ไปงานนี้อย่างน่าชื่นตาบาน เป้นส่วนหนึ่งของประวัต์ศาสตร์ วงการมอเตอร์สปอร์ตไทย
หากคำถามสำคัญ กลับเป็นคำถามเรียบง่ายว่า … ประวัติศาสตร์หน้านี้ สำเร็จและเข้าถึงใจคนไทยมากแค่ไหนกัน??
คงไม่บ่อยนักที่การแข่งระดับโลกจะมาให้ดูกันถึงเมืองไทย แต่ความสำเร็จของงานระดับโลกครั้งแรกในหน้าประวัติศาสตร์สมควรจะสำเร็จแค่ไหน เป็นคำถามที่น่าสนใจ
ตามรายงานยอดเข้าชมการแข่งขัน Moto GP สนามประเทศไทย ตลอด 3 วัน ตั้งแต่วันซ้อมจนวันแข่งขัน 5-7 ตุลาคมมีรายงานว่า มีผู้เข้าชมรวมถึงทั้งสิ้น 222,535 คน จากรายงานของ Moto GP แต่ตามรายงานเดิมที่ออกมาจากสื่อไทยรัฐระบุว่า มีคนเข้าชมเพียง 205,000 คน จากการให้สัมภาษณ์ของนาย พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยในจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็นคนไทย แบ่งเป็นชาวไทย ประมาณ 153,750 คน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 75 ของผู้เข้าร่วมงานทั้งหมด ส่วนคนบุรีรัมย์เข้าชมเพียง 10,250 คน (ไม่นับที่มาร่วมงานในฐานะเจ้าหน้าที่ต่างๆ) หรือเพียงร้อยละ 6 เท่านั้น
ส่วนชาวต่างชาติมาดูโมโต จีพีบ้านเราเพียง 51,250 คน หรือ ประมาณร้อยละ 25 โดยส่วนใหญ่ มาจาก ออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ และอังกฤษ ตามลำดับ
ถ้ามองตามตัวเลขผู้เข้าชมตลอด 3 วัน จะพบว่า ยอดผู้เข้าชมการแข่งขัน Moto GP ในไทย ถือว่าน้อยกว่าที่สมควรจะเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในประเทศไทย ก็มีจำนวนมากโดยเฉพาะปีที่ผ่านมา เชื่อว่าตลาด 2 ล้อ มียอดขายรวมถึง 950,000 คัน และปี 2018 เชื่อว่าจะจบที่ 935,000 คัน
ตัวเลขประมาณระดับเฉียดล้านคัน หรือปีก่อนหน้านี้ก็ราวๆ 7-8 แสนคัน มาโดยตลอด กับยอดชมรายการระดับโลก ตลอด 3 วัน 2 แสนคน ถือว่าน้อยมาก
เมื่อเห็นตัวเลขยอดผู้ชมตลอด 3 วัน 2 แสนคน บางคนบอกว่า นั่นเพราะโมโตจีพี ส่วนใหญ่เข้าถึงกลุ่มคอคนขี่บิ๊กไบค์ มากกว่า รถมอเตอร์ไซค์ปกติ ซึ่งก็มีข้อเท็จจริงอยู่บ้าง เมื่อมองเชิงความใกล้ชิดของผลิตภัณฑ์กับการแข่งขัน
ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ลงทุนแมน ที่ออกมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2018 ในหัวเรื่อง “ตลาดบิ๊กไบค์ใหญ่แค่ไหน” ชี้ให้เห็นว่าตลาดรถมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่ หรือ ที่คนไทยเรียกเนียนติดปาก ว่า “บิ๊กไบค์” มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง
โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จนถึงครึ่งแรกปี พ.ศ. 2560 (ไม่รวมปี พ.ศ. 2561)ตลาดรถมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่มียอดขายรวม 97,277 คัน และมีความเป็นไปได้ที่ในปีพ.ศ. 2561 จะมียอดขายถึง 2 หมื่นกว่าคัน เมื่อจบปีนี้
ในจำนวนนี้ดังกล่าว หากประเมินว่าความเป็นจริง น่าจะมีรถอาจจะกำลังเปลี่ยนมือหรือไม่สะดวกมาร่วมงานประมาณ 10% ของจำนวนรถหรือประมาณ 9,728 คัน จะเหลือยอดที่ยังใช้งานจริงประมาณ 87,549 คัน
หากการเดินทางมาชมโมโต จีพี โดยส่วนใหญ่แล้วน่าจะมากัน 2 คน มาเป็นคู่แฟน หรือสามีภรรยา เท่ากับหากนำยอดบิ๊กไบค์มาคูณด้วย 2 สมควรจะต้องมียอดคนไทยเข้าชมประมาณ 175,000 คน โดยประมาณ นี่ยังไม่นับรวมคนที่อาจจะมาพร้อมกับคณะขี่รถ ซึ่งอาจจะขับรถตามมา หรือรถเซอร์วิส ซึ่งอาจดูแลประมาณ 5 คัน ต่อ 2 คน เท่ากับ น่าจะมีคนเพิ่มมาอีก 17,000 คน โดยประมาณ
หรืออาจกล่าวได้ว่า สุทธิของสาวกบิ๊กไบค์ มอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่ที่น่าจะมุ่งสู่บุรีรัมย์พร้อมทีมงาน สมควรจะมีอย่างน้อยเฉียด 2 แสนคนเข้าไปแล้ว
ในมุมหนึ่งที่น่าสนใจ ดูจะเป็นยอดชมจากชาวต่างชาติ ซึ่งมีจำนวนร้อยละ 25 หรือประมาณ 1 ใน 4 ของยอดผู้ชมทั้งหมด ซึ่งจำนวน 5 หมื่นคนก็ไม่ได้เป็นตัวเลขที่เยอะมากมายนัก
แฟนคลับจากต่างแดนนั้น เป็นสีสันสำคัญของงานโมโต จีพี ซึ่งในงานนี้เหมือนจะยังกร่อยๆ มีต่างชาติมาดูเยอะจริง ในระดับที่น่าพอใจ แต่กลายเป็นว่า คนจากเพื่อนบ้านที่ข้ามแดนรายการแข่งระดับโลกในบ้านเรานั้น ยังไม่มากเท่าที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะจากทางมาเลเซียข้ามเข้ามาดูรายการแข่งขันชั้นนำในไทยน้อยมาก เมื่อเทียบกับ คนไทยสายบิ๊กไบค์ ที่ต้องมีสักครั้งในชีวิต ขี่ไปชมถึงสนามเซปังกันมาแล้ว หรือจะทางลาว – กัมพูชา เวียดนาม ที่ก็คงมีบ้างที่สนใจอยากจะมาชม
ในจำนวนยอดคนที่เข้าชมก็ไม่แน่ใจว่าหักกลบลบหนี้บรรดาสื่อมวลชนออกไปหรือยัง นอกจากนี้ยังมีแขกวีไอพี และผู้ติดตาม ซึ่งเชื่อว่าอาจจะยังอยู่ในจำนวน 2 แสน 3 วัน หลายร้อยชีวิต
มุมหนึ่งที่ดูจะน่าสนใจและเป็นประเด็นที่ทางผู้ที่เกี่ยวของการแข่งขันควรจับมาแก้เกมในปีหน้า คือการโปรโมทให้เข้าถึงจิตใจคนไทยที่ใช้รถมอเตอร์ไซค์มากกว่านี้
จากที่เห็นตั้งแต่มีการสรุปเซ็นสัญญาว่า โมโตซีพี เอ้ย !! โมโตจีพี จะมาแข่งขันในไทยกับทาง ดอร์น่าสปอร์ต เจ้าของลิขสิทธิ์การแข่งขัน จะพบว่าการใช้สื่อ เพื่อโปรโมทการแข่งขันในปีที่ผ่านมาน้อยมาก
มีเพียงการแถลงข่าว และโปรโมทออกมาเป็นช่วงๆ เช่นในช่วง Winter Test หรือจะเป็นการนับถอยหลังก่อนการจัดงาน หรือใช้สื่อเว็บไซต์ และสื่อสังคมออนไลน์ ของเพียงสนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ซึ่งก็สร้างกระแสได้บ้าง
หากการรับรู้ของคนไทย ก็ถือว่าน้อยมากในทางปฏิบัติ เนื่องจากคนที่ทราบว่าจะมีการแข่งขันก็ทราบอยู่แล้ว ซึ่งโดยมากจะเป็นกลุ่มคนที่ติดตามการแข่งขันมาก่อนหน้านี้ด้วยส่วนหนึ่ง หรือเป็นแฟนคลับนักบิดขวัญใจ
หากกระแสพูดถึงยังเป็นเพียงในวงสังคมคนเล่นมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่และบางส่วนในวงการผู้ใช้มอเตอร์ไซค์ทั่วไป ไม่ได้เข้าถึงคนไทยส่วนใหญ่ ที่อาจจะไม่เคยรู้จัก และไม่ได้ชื่นชอบกีฬามอเตอร์สปอร์ตมาก่อน
แถมกระบวนการใช้สื่อเพื่อการประชาสัมพันธ์ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมเด่นชัดในการโปรโมท ไม่ว่าจะผ่านสื่อสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ค ซึ่งเป็นสื่อที่คนไทยใช้ติด 1 ใน 3 ของ ระดับโลก อย่าง Facebook หรือการโปรโมทผ่านช่องทางอื่นๆ เช่น โทรทัศน์ หรือวิทยุ ยังถือว่าน้อยมาก ที่จะมีการพูดถึงการแข่งขันโมโตจีพีในไทย ช่วง 2-3 เดือนก่อนงาน ซึ่งสมควรจะเป็นกระแสพูดถึงระดับวงสังคมกับเรซแรกที่คนไทยมีโอกาสชมในบ้านเกิด และถือเป็นหน้าประวัติศาสตร์สำคัญของวงการกีฬาความเร็วด้วย ซึ่งอาจมีผลกระทบทำให้เกิดความนิยมมากขึ้น
แม้ว่าในความเป็นจริงจะดูสำเร็จด้วยดี ด้วยเข้าชมสูงสุดในฤดูกาลแข่งขันปีนี้ และยังเหนือกว่าแข่งขันในออสเตรีย ที่ Red Bull Ring – Spielberg แต่หากมองด้วยความเป็นจริง ภาพของการจัดงานแข่งระดับโลกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ประเทศไทย ที่มีมอเตอร์สปอร์ตชั้นแนวหน้า ระดับเดียวกับการแข่งขันฟอร์มูล่าร์วันเข้ามาแข่งขัน ไม่ได้มีมาเลย นับตั้งแต่มีกีฬาแข่งรถจักรยานยนต์ในประเทศไทย
ถ้ามองในมุมมองนั้นก็ถือว่า ยังน้อยอยู่มาก เพราะคนไทยจริงๆ เพียงแค่ราวๆ 150,000 คนเท่านั้น เมื่อเทียบกับจำนวนคนวัยทำงาน 38.11 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่ก็มีรถมอเตอร์ไซค์ขับขี่ใช้งาน ไม่ว่าจะขับจ่ายกับข้าวหรือใช้เดินทางไปทำงาน และถ้ามองลึกไปอีก ยังไม่ครบเท่าตามจำนวนที่มีผู้ใช้งานบิ๊กไบค์จริงๆ ในประเทศไทย ถึงแม้จะหักลบส่วนที่อาจไม่สะดวกมาแล้วก็ตามที
หรือ ถ้าเอาตัวเลขมาจำนวนคนไทยที่เข้าชมกับวันทำงานมาหาร้อยละของคนที่เข้าชมการแข่งขันรายการกีฬาความเร็วระดับโลกที่ไม่เคยจัดในไทยเลยตั้งแต่มีมา พบว่าคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.39 ของชนวัยแรงงาน เท่านั้น
หลายคนอาจจะมองว่า บทความนี้เป็นการติการจัดงานทั้งที่ผ่านไปแล้วด้วยดี และทุกคนก็ดูจะแฮปปี้กับสิ่งที่เกิดขึ้นคืนความสุขให้กับชาว 2 ล้อ ผู้รักความเร็ว หากบางสิ่งที่ตกหล่นหายไปในการโปรโมทในปีนี้ก็เป็นโจทย์ที่สำคัญ สมควรจะต้องกลับมาแก้เกมใหม่ในปีหน้า
ทั้งเพื่อรักษายอดคนให้กลับมาชมการแข่งขันอีกครั้ง เพิ่มการเข้าถึงทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ว่าบ้านราก้รักกีฬาความเร็วเช่นกัน และของดีมีให้ดูใกล้บ้าน ไม่ต้องบินไกลไปถึงญี่ปุ่นหรือออสเตรเลียก็ได้