รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการพูดถึงค่าฝุ่นละอองในอากาศ ที่ค่าอยู่ในช่วง PM 2.5 ในเขตกรุงเทพมหานคร พวกมันมีผลกระทบต่อสุขภาพในวงกว้าง ปัญหาเรื่องนี้มาจากไหนยังไม่มีใครทราบต้นตอแน่ชัด แต่ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า มาจาก ความนิยมรถเครื่องยนต์ดีเซลของคนไทย และปัจจุบันนิยมนำไปแต่งซิ่งควันดำอย่างโจ๋งครึ้ม โดยไม่มีหน่วยงานภาครัฐสนใจตรวจสอบดูแล
ประเด็นเรื่องรถดีเซลอาจเป็นผู้ก่อการร้ายทำลายสุขภาพประชาชน มีแนวทางแก้ไขมากมาย ทั้งการควบคุมตรวจจับ การแต่ง หรือการดูแลสภาพรถของประชาชน ไปจนถึงการออกระเบียบการปล่อยไอเสียอัพมาตรฐานยูโร 4 ที่ใช้กันมายาวนานไปสู่ระดับที่สูงกว่า แต่วันนี้เราจะพาไปตอบคำถามสำคัญว่า ทำไมกระบะในไทยถึงนิยมใช้เครื่องยนต์ดีเซลกัน
ในยุคแรกของรถกระบะในประเทศไทยสมัยคุณปู่-คุณตาของพวกเรา รถกระบะที่มีขายในไทย ยังมีให้เลือกทั้งเครื่องยนต์เบนซินและดีเซลแล้วแต่ความชอบของลูกค้าจะเลือก รถอย่าง ดัทสันช้างเหยียบ (ที่เรียกว่าช้างเหยียบ เพราะโฆษณาใช้บรรทุกลูกช้าง กลายเป็นที่จดจำ) ออกมาชายในช่วงปี พ.ศ. 2513-2520 มีเครื่องยนต์เบนซิน Datsun J15 ขุมพลังเบนซิน 4 สูบ ขนาด 1,500 ซีซี ให้เลือก ในเวลานั้นทำกำลังสูงสุด 76 แรงม้า และยังมีทางเลือกเครื่องยนต์ดีเซลใช้รหัส SD20 ให้กำลัง 60 แรงม้าเท่านั้น
ดีเซลยุคแรกๆ ยังไม่ได้รับความนิยมนัก เนื่องจากมีเสียงดัง และมีปัญหาเชิงเทคนิคมากมายต่อเนื่อง ประกอบกับ ความคุ้นเคยของช่างซ่อมบำรุง ยังไม่มีมากเท่ารถเก๋งเครื่องยนต์เบนซินที่ใช้กันมายาวนานกว่า
ยุคสมัยเปลี่ยนไปเครื่องยนต์ดีเซลมีการพัฒนาต่อเนื่อง ช่วงยุค 80 ปลายๆ กลายเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่ทำให้กระบะหันมาใช้เครื่องยนต์ดีเซลกันแพร่หลาย โดยเฉพาะเจ้าตลาดหันมาใช้เครื่องยนต์ดีเซลทั้งหมด เนื่องจากความสามารถของเครื่องยนต์ดีเซล มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนสามารถตอบโจทย์ได้
อาทิ พัฒนาการไหลเวียนอากาศเข้าสู่ห้องเผาไหม้แบบพิเศษของมิตซูบิชิในเครื่องยนต์ 4D56 ,การพัฒนาระบบฉีดน้ำมันตรงสู่ห้องเผาไหม้ Direct injection ของ Isuzu ทำให้กำลังเครื่องยนต์ดีเซลดีขึ้นตามลำดับ และยังได้ประสิทธิภาพในการใช้น้ำมันอย่างคุ้มค่าด้วย
แถมในแง่การดูแลรักษาเครื่องยนต์ดีเซล ยังไม่ต้องกังวลมากเท่าเครื่องยนต์เบนซินที่มีระบบต่างๆ จุกจิกมากกว่า โดยเฉพาะการจุดระเบิดด้วยชุดหัวเทียน นานวันหัวเทียนต้องเปลี่ยนระบบจุดระเบิดมีปัญหา
กลับกันเครื่องยนต์ดีเซลใช้การจุดระเบิดด้วยการจ่ายน้ำมันเข้าห้องเผาไหม้ ในจังหวะที่อากาศถูกบีบเผาไหม้หมด ซ่อมบำรุงง่ายในระยะยาว แถมลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาได้ในระดับหนึ่ง จนเริ่มเป็นที่นิยมในการใช้เชิงพาณิชย์ ก่อนความคิดเดียวกันเริ่มแพร่หลายในหมู่คนไทยใช้กระบะในเวลาต่อมา
ประเด็นหนึ่งที่สำคัญ ที่ถูกนำมาพูดเสมอ ในยุครุ่งเรืองของดีเซล นอกจากความอึดถึก ทน แล้ว ประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ดีเซลในแง่แรงบิดจากเครื่องยนต์ถือว่าดีกว่าเครื่องเบนซินมาก
การจุดระเบิดจากการบีบอัดอากาศ ทำให้ได้กำลังอัดสูง ทำให้เครื่องยนต์ดีเซลเป็นต้นกำลังที่มีแรงบิดสูงในรอบต่ำ
เหมาะมากสำหรับรถกระบะที่ต้องมีการบรรทุกขนสินค้า และสำหรับคนทั่วไปก็ไม่มีปัญหาในยามขึ้นเขา หรือทางลาดชัน กำลังแรงบิดเครื่องยนต์ดีเซลมีประโยชน์ใช้งานอย่างครอบคลุมมาก เสียเพียงอย่างเดียวเครื่องยนต์ดีเซลในยุคนั้นยังเสียงดัง และไม่น่าพิสมัยเท่าไร
ในยุคช่วงต้นปี 2000 เครื่องยนต์ดีเซลมีการพัฒนาที่สำคัญอยู่ 2 ประการ หนึ่งมีการริเริ่มติดตั้งเทอร์โบชาร์จระบบอัดอากาศเข้ามาตอบโจทย์ในการใช้งาน และในเวลาไม่นานต่อจากนั้นราวๆ ปี 2006 ก็มีการพัฒนาระบบหัวฉีดจากปั้มสายไปสู่ระบบปั้มไฟฟ้า เป็นระบบคอมมอนเรลคล้ายกับในวันนี้ เพียงแค่มีแรงดันต่ำกว่า
ความสามารถเครื่องยนต์ดีเซลในเวลานั้นเรียกว่าก้าวกระโดดจาก ไม่เกิน 100 แรงม้า มาเป็น 120-130 แรงม้า และรถกระบะตั้งแต่ช่วงปี 2006 ขึ้นมามีกำลังเริ่มต้น 140 กว่าแรงม้า และสูงสุด 163 แรงม้า จนในปัจจุบันรถกระบะเริ่มต้นที่ 150-160 แรงม้า และสูงสุดที่ 213 แรงม้า
ยิ่งถูกอกถูกใจคนไทยเน้นพละกำลังในการขับขี่ จนเริ่มกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ ซื้อรถกระบะเครื่องยนต์ดีเซลมาแต่งซิ่งอย่างที่เราเห็นกันตามถนน แล้วเป็นข่าวเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากระบบกันสะเทือนรถกระบะไม่ได้ออกแบบมาให้ขับเร็ว และเมื่อไม่บรรทุกยังมีอาการท้ายเบา
จากจุดเริ่มต้นในยุค 80 ปลายๆ ทำให้กระบะดีเซลนิยมเติบโตในไทยอย่างมาก แต่ในช่วงข้าวยากหมากแพงน้ำมันสูงลิบ กระบะเบนซินยังมีแววจะกลับมาเหมือนกัน
ข้อดีของเครื่องยนต์เบนซินสำคัญ คือมันสามารถใช้พลังงานทางเลือกได้หลากหลาย ไม่เพียงแต่น้ำมันแก๊สโซฮอล เท่านั้น ยังสามารถใช้แก๊สธรรมชาติ ช่วยเพิ่มความประหยัดค่าเดินทาง-ขนส่งได้ด้วย
แต่เครื่องยนต์เบนซินก็มีข้อด้อยสำคัญ คือมันทำแรงบิดได้น้อยกว่าเครื่องยนต์ดีเซล แถมต้องรีดแรงบิด เมื่อเครื่องยนต์ทำงานในช่วงรอบ 3-4 พันรอบ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่คุ้นเคยสำหรับคนทั่วไปที่มักถูกสอนว่าจะต้องขับในช่วงไม่เกิน 3 พันรอบต่อนาที
ถ้าเทียนให้เห็นภาพขอยกเอาเครื่องยนต์ของ Nissan Navara ในประเทศไทย YD25DDTi Mid Power กับเครื่องยนต์ QR25DE ที่ขายในอเมริกามาฉายให้ชัดเจนขึ้น
เครื่องยนต์ YD25DDTi ปัจจุบันทำกำลังสูงสุด 163 แรงม้า ทำแรงบิดสูงสุด 420 นิวตันเมตร แต่ในเครื่องยนต์เบนซินขนาดใกล้เคียงกันทำกำลังเพียง 152 แรงม้า และทำแรงบิดสูงสุด 231 นิวตันเมตร หรือจะต้องพูดว่าแรงบิดต่างกันครึ่งต่อครึ่ง
ด้วยเหตุดังกล่าวเครื่องยนต์เบนซินจึงไม่นิยมใช้ในกระบะประเทศไทย แต่ในมุมหนึ่งเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เริ่มแนะนำในเครื่องยนต์เบนซินก็น่าสนใจไม่น้อย เช่น Ford Ranger ในอเมริกา มีเครื่องยนต์เบนซินเทอร์โบขนาด 2.3 ลิตร ให้กำลัง 231 แรงม้า ทำแรงบิด 310 นิวตันเมตร ถือว่าทำได้มากพอกับการใช้งานแล้ว และปัจจุบันรถกระบะส่วนใหญ่ก็เริ่มหันมาใช้ชุดเกียร์อัตโนมัติมากขึ้น ช่วยในการขับขี่ตอบสนองมากกว่าเดิมพอสมควร
อย่างไรก็ดีการหายไปของกระบะเบนซินหลังยุคน้ำมันแพง ไม่ใช่เหตุเพียงเพราะเครื่องยนต์ดีเซลได้รับความนิยมเท่านั้น แต่นอกจากค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงแล้ว ค่าภาษีประจำปียังถือว่าเป็นอีกบทบาทสำคัญ จนแม้แต่เครื่องยนต์ดีเซลยังต้องปรับลดขนาดลงต่อเนื่อง ขณะที่ตัวรถใหญ่ขึ้นตามลำดับ
ปัจจุบันการคิดภาษีรถกระบะในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มสำคัญ หนึ่งเป็นรถกระบะสี่ประตู จะคิดตามขนาดเครื่องยนต์ เมื่อเกิน 1,800 ซีซีขึ้นไปจะเสียซีซีละ 4 บาท หากเราต้องการกระบะเบนซินที่มีกำลังเท่าแรงบิดปัจจุบัน อาจจะต้องใช้เครื่องยนต์ขนาดใหญ่แบบในอเมริกา ประเภท V6 3.5 ลิตร ซึ่งจะต้องเสียภาษีปีละประมาณ 8-9 พันบาท ซึ่งคงไม่มีใครชอบใจแน่
ส่วนอีกแนวเป็นกระบะที่ตีทะเบียนรถบรรทุก ประเภทป้ายเขียว พวกนี้คิดตามน้ำหนักซึ่งไม่แพงนัก แต่ถ้ากระบะเป็นเบนซินบล็อกใหญ่ เชื่อว่าคนจะมาบ่นเรื่องอัตราบริโภคน้ำมันแทน ซึ่งก็มีเหตุผลที่ต้องใช้เบนซินเครื่องใหญ่ในต่างประเทศ เพื่อลดการสึกหลอที่เกิดขึ้นจากการใช้งาน
เหตุผลที่กระบะเมืองไทยเป็นเครื่องยนต์ดีเซล ดูแล้วจะเห็นว่ามีความสมเหตุสมผลในตัวมันเอง กระบะเบนซินอาจปล่อยมลภาวะน้อยไร้สารพวก Nox ซึ่งเป็นต้นปัญหาของฝุ่นและหมอกควันพิษ แต่ก็ตามมาด้วยค่าบำรุงรักษา และอัตราประหยัดน้ำมัน
แม้ไม่มีทางที่เราจะเปลี่ยนแปลงความเชื่อของคนไทยต่อการซื้อกระบะดีเซล ทั้งที่ชีวิตนี้อาจไม่เคยใช้กระบะขนอะไรเลยด้วยซ้ำ ภาครัฐควรใส่ใจการเติบโตของรถเครื่องดีเซล ซึ่งมีปริมาณ 2.64 ล้านคัน ที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร และในจำนวนนี้เป็นรถดีเซลรุ่นเก่าหรือไม่เคยได้รับการดูแลรักษา ตลอดจนรถใหม่บางคันอาจจะมีการดัดแปลงแต่งเครื่องจนสร้างมลภาวะจำนวนมาก
ถึงเราจะไม่สามารถเปลี่ยนให้คนไทยหันไปใช้กระบะเบนซินได้ แต่ภาครัฐสามารถกวดขันในการใช้รถเครื่องดีเซลให้เหมาะสมได้ ไม่มากก็น้อย
ติดตามข่าวสารและบทความดีๆ จากพวกเรา Ridebuster.com