Home » ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่เกิดจากรถยนต์ แก้ไขได้ด้วย 5 วิธีดังต่อไปนี้
5 วิธีแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5
สกู๊ปเด็ด

ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่เกิดจากรถยนต์ แก้ไขได้ด้วย 5 วิธีดังต่อไปนี้

เราได้นำเสนอปัญหาฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ที่มีสาเหตุเกิดจากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะเครื่องดีเซลไปแล้ว วันนี้ต่อเนื่องด้วย 5 วิธีการแก้ไขภัยร้ายแบบยั่งยืนที่ต้นเหตุ

ความร้ายกาจของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ได้ประกาศสักดาแสดงฤทธิ์เดชให้ผู้คนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้รับรู้ถึงความร้ายกาจ สร้างปัญหาเรื่องสุขภาพที่ส่งผลรุนแรงเป็นพิเศษ กับเด็กเล็ก ผู้ป่วย คนตั้งครรถ์ และผู้สูงอายุ ซึ่งหลายคนตั้งคำถามว่า แล้วทำอย่างไรถึงจะแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษนี้ได้ยั่งยืนในระยะยาว ดังนั้น วันนี้เราจึงจะอาสามาพาทุกท่านไปพบทางออก

5 วิธีแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5

1.ปรับมาตรฐานเครื่องยนต์ดีเซลให้เป็นระดับ ยูโร 5 ขึ้นไป

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ทั้งรถกระบะ รถพีพีวี รถบัส รถบรรทุก และเครื่องจักรกล เหล่านี้ทั้งหมดล้วนเป็นสาเหตุสำคัญในการสร้างฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ลอยปกคลุมอยู่ทั่วกทม. รวมถึงแถบปริมณฑล

ถามว่าทำไมฝุ่น PM 2.5 จึงเกิดเฉพาะรถเครื่องดีเซล นั่นก็เพราะวิธีในการจุดระเบิดเชื้อเพลิงดีเซล ทำด้วยการฉีดน้ำมันสู่ห้องเผาไหม้ที่มีกำลังอัดสูง 17-19 เท่า ก่อให้เกิดความร้อนในกระบอกสูบสูงมาก ซึ่งกระบวนการสันดาปนี้ก่อให้เกิดมลพิษสูงเป็นพิเศษ อาทิ ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ nox และ ฝุ่นละอองที่ลอยฝุ้งในอากาศ PM 2.5

Review Ford Everest 2018

คำถามต่อมาคือ แล้ววิธีในการกำจัดพิษร้ายอย่างฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดจากเครื่องดีเซลทำได้ด้วยวิธีใด? คำตอบไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่าย นั่นก็คือ การปรับไปใช้เครื่องดีเซลยูโร 5 ที่มีอุปกรณ์บำบัดไอเสียให้สะอาดกว่าเครื่องดีเซลยูโร 4 ที่ขายอยู่ในปัจจุบัน

โดยเจ้าสิ่งที่ทำให้เครื่องดีเซลยูโร 5 เป็นพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วยแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เรียกง่ายๆ ว่ากรองดักจับเขม่าไอเสีย หรือ Diesel Particulate Filter (DPF) ที่ดักจับเขม่าที่เหลือจากการเผาไหม้ไม่หมด ได้สูงกว่า 95% จากนั้นจึงปล่อยเป็นไอเสียร้อนที่เหลือเพียงก๊าซ CO2 กับก๊าซ nox ออกมา

5 วิธีแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5

2.โรงกลั่นต้องปรับปรุงการผลิตน้ำมันดีเซลให้ไปสู่มาตรฐานยูโร 5 ทั้งหมด

ในฝั่งผู้ผลิตรถยนต์เครื่องดีเซลหากได้ปรับมาตรฐานไอเสียให้เป็นระดับยูโร 5 ฝากฝั่งของโรงกลั่นน้ำมันก็ต้องขยับตัวสอดคล้องพร้อมกัน เพราะน้ำมันดีเซลอันเป็นต้นกำลังงานแบบยูโร 4 มีค่ากำมะถันอยู่ 50 PPM แต่หากปรับมาเป็นน้ำมันดีเซลยูโร 5 จะเหลือเพียง 10 PPM เท่านั้น

กล่าวให้ชัดเจนขึ้นไปอีก หากรถดีเซลยูโร 5 ใช้น้ำมันมาตรฐานเดียวกัน ประสิทธิภาพในการเผาไหม้ก็จะสมบูรณ์สูงสุด ค่าฝุ่นเขม่าก็จะลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด กอปรกับการที่เครื่องดีเซลยูโร 5 มีกรอง DPF ด้วยแล้ว นั่นช่วยให้ฝุ่นละออง PM 2.5 แทบไม่เล็ดลอดออกสู่อากาศภายนอก

5 วิธีแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5

3.ตรวจตรารถดีเซลที่วิ่งอยู่บนถนน หากควันดำ หรืออุด EGR ให้ทำการปรับปรุงจนกว่าจะเป็นไปตามมาตรฐานโรงงาน

เอาเข้าจริงรถดีเซลรุ่นเก่าทีมาพร้อมมาตรฐานยูโร 1-3 เป็นตัวการสำคัญที่สุดในการก่อเกิดฝุ่น PM 2.5 โดยผู้อ่านจะเห็นว่ามีรถกระบะ รถโดยสารสาธารณะ และรถบรรทุกจำนวนมาก ที่วิ่งปล่อยควันดำทั่วท้องถนน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ทำเพียงแค่จับปรับ และปล่อยให้รถเหล่านั้นวิ่งต่อ

ประเด็นต่อมาคือความเชื่อผิดๆ ของคนใช้รถกระบะ รถพีพีวี ที่มีมาตรฐานไอเสียยูโร 4 อันมาพร้อมกับอุปกรณ์นำไอเสียไปเผาซ้ำ หรือ EGR ที่คิดว่าอุปกรณ์ตัวนี้ทำให้เครื่องไม่สะอาด รถวิ่งไม่ออก จึงพากันบอกต่อว่าให้ไปอุดหรือปิดการทำงานของมันซะ ทั้งๆ ที่ความจริงมันเป็นเรื่องร้าย ซึ่งส่งผลต่อผู้คนทั่วไปเป็นอย่างมาก

5 วิธีแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5

4.สนับสนุนให้คนหันไปใช้รถเครื่องเบนซิน หรือรถเครื่องไฮบริด

เราทราบดีว่ารัฐบาลสนับสนุนให้คนใช้รถอีโคคาร์ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือทางภาษีของรถไฮบริด ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องดีต่อสภาพอากาศที่คนในชาติใช้หายใจ อย่างไรก็ตาม หากรัฐนำเสนอข้อดีของรถเครื่องเบนซินกับไฮบริด ว่าการเผาไหม้น้ำมันเบนซินไม่ก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5

Toyota Corolla Hybrid 2020

หลายคนถามว่าทำไมรถเบนซินถึงไม่ปล่อยฝุ่น PM2.5 หรือเขม่าดำๆ ออกมา สาเหตุก็ง่ายดายนัก เพราะรถเบนซินส่วนใหญ่จะฉีดน้ำมันเข้าบริเวณท่อไอดี (Port Injection) ซึ่งมีเวลาให้อากาศกับน้ำมันได้ผสมตัวรวมกันแบบพอเหมาะ จากนั้นถึงไหลสู่ห้องเผาไหม้และจุดระเบิดด้วยหัวเทียน ผลคือการเผาไหม้ทำได้สมบูรณ์แบบไม่มีน้ำมันส่วนเกินหลงเหลือสู่ระบบไอเสีย

ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่ารถเบนซินจะมีตัวกรองไอเสีย หรือเรียกติดปากว่า แคทตาไลติก (Catalytic) ที่ติดตั้งเป็นมาตรฐานบนรถเบนซินระดับยูโร 4 ทุกคัน รวมถึงรถเบนซินไฮบริดด้วยเช่นกัน ซึ่งเจ้าแคทที่ว่านี้ สามารถกรองได้ทั้ง COx , HC และ NOx และก็ยังพัฒนาให้สามารถกรองได้เยอะขึ้นเรื่อยๆ โดยมีต้นทุนไม่สูงเท่าระบบกรองไอเสียของดีเซล

5.กำหนดโซนที่รถดีเซลมาตรฐานไอเสียต่ำกว่ายูโร 4 วิ่งเข้ามาได้

วิธีการที่หลายประเทศในยุโรปเริ่มใช้กันมาสักพัก อย่างการประกาศโซนนิ่งที่รถดีเซลรุ่นเก่าสามารถวิ่งเข้ามาในโซนใดได้บ้าง โมเดลนี้นำมาปรับใช้ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลไดเหมือนกัน เพราะเขตเมืองชั้นในที่มีการจราจรหนาแน่น ผสมกับรถจอดติดนิ่งไม่ขยับไปไหน เป็นสาเหตุสำคัญในการสร้างฝุ่น PM 2.5 สูงสุด

หากเป็นไปได้ ภาครัฐก็ควรจะยกเลิกการใช้รถเมล์เก่าที่วิ่งควันดำอยู่ในกรุงฯ แล้วหันไปนำรถโดยสารเครื่อง CNG หรือรถโดยสารพลังไฟฟ้ามาใช้งาน ภายในโซนกรุงเทพฯ และปริมณฑลทั้งหมดให้รวดเร็วที่สุด

ติดตามข่าวสารและบทความดีๆ จากพวกเรา Ridebuster.com

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่

Comments are closed.