ในบรรดาเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวรถยนต์ที่คุณใช้ หรือกำลังสนใจจะซื้อหามาขับขี่ ปัจจุบันด้วยความนิยมของรถยนต์อเนกประสงค์ ทำให้หลายคนเริ่มสนใจความสูงของรถจากพื้น (Ground Clearance) มากขึ้น ด้วยความเข้าใจว่า ยิ่งสูงยิ่งลุยดี
ประเด็นเรื่องความสูงจากพื้นถึงใต้ท้องรถไม่ค่อยถูกพูดถึงบ่อยนัก ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญอย่างมากในการขับขี่ โดยเฉพาะใครที่กำลังเปลี่ยนรถคันใหม่จากรถเก๋งมาสู่รถอเนกประสงค์ หรือกระบะ นอกจากระบบขับเคลื่อน เจ้าความสูงก็นับเป็นตัวการสำคัญเช่นกัน
ความสูงของรถที่เราใช้แบ่งเป็น 2 ส่วนสำคัญ คือ
- ความสูงของตัวรถ หมายถึง ความสูงของพื้นจากพื้นถึงส่วนที่สูงที่สุดของตัวรถอาทิ หลังคา หรือราวหลัง
- ความสูงจากพื้นถึงจุดต่ำสุดใต้ท้องรถ หมายถึง ระยะความสูงจากพื้นถึงส่วนที่เตี้ยที่สุดใต้ท้องรถ ตรงนี้เองที่เราเรียกว่า Ground Clearance
ในทางเทคนิควิศวกรรมที่มีผลต่อการขับขี่ Ground Clearance ถือว่ามีผลอย่างมากต่อการขับขี่ ข้อเท็จจริงที่เราทุกคนรับรู้ว่ารถยนต์ ที่มีความสูงจะขับขี่ได้ดีในภาวะถนนบางแบบ เช่นทางขุรขระ , หรือถนนที่ไม่ราบเรียบ การมีความสูงจากพื้นในระดับหนึ่งช่วย ใต้ท้องไม่ครูดกับพื้น และยังมีระยะคร่อมในระหว่างทางลุยมากกว่ารถที่มีความเตี้ย เป็นเพียงเรื่อบจริงทางด้านหนึ่งเท่านั้น
หากในอีกด้านงานวิศวกรรมรถยนต์ที่มีความสูงกว่าจากพื้นจะมีจุดศูนย์ถ่วงของตัวรถสูงกว่าปกติ พวกมันมีผลต่อการควบคุมรถ โดยเฉพาะการโคลงตัว และโยนตัวของรถในระหว่างการเปลี่ยนทิศทาง เช่นการเปลี่ยนเลนอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ตลอดจนยังมีผลอย่างมากต่อการเอนตัวของรถเมื่อเข้าโค้ง เนื่องจากจะมีแรงหนีศูนย์มากกว่ารถที่เตี้ยกว่า ทำให้การโคลงตัวของรถเวลาเข้าโค้งน้อยกว่า หากรถดังกล่าวเซทระบบกันสะเทือนไม่ดีเท่า จะทำให้ผู้โดยสารรู้สึกได้ถึงแรงเหวี่ยงมันนั่งไม่สบายและ อาจทำให้รถพลิกคว่ำได้ง่าย คล้ายรถยนต์อเนกประสงค์ในอดีตหลายรุ่น
อย่างไรก็ดีความสูงที่เพิ่มขึ้นของตัวรถไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเกาะถนนมากขึ้น ทั้งหมดอยู่ที่การรับแรงจากพื้นถนนของระบบกันสะเทือ นทั้งโช๊ค สปริง และบุช หรือ อาร์มต่างๆ ของระบบช่วงล่าง จึงเป็นเหตุผลว่ารถที่มีความสูงมากขึ้นจึงต้องใส่โช๊คและสปริงที่ตอบสนองดีขึ้นกว่ารถปกติทั่วไป
การซับแรงจากพื้นนุ่มนวลขึ้นหรือไม่เป็นเรื่องของล้อและยาง รวมถึงความสามารถของโช๊ค สปริง และอุปกรณ์กันการโคลงตัว ว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด
การที่รถมีระยะความสูงจากใต้ท้องเพิ่ม เพียงช่วยเพิ่มความสามารถในการเดินทางโดยเฉพาะพื้นที่ขุรขระ เช่นเดียวกันการลดระดับความสูงของลดลง ไม่ได้ช่วยให้ช่วงล่างทำงานดีขึ้นอย่างที่เข้าใจ หากเป็นการวางจุดศูนย์ถ่วงให้ใกล้พื้นมากที่สุด ทำให้น้ำหนักมวลของรถช่วยกดรถเอากับพื้นมากขึ้น ลดการโคลงตัวที่เกิดขึ้นจากแรงเหวี่ยงได้ดีกว่า
นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไม รถเก๋งเกาะโค้งดีกว่า เมื่อเข้าโค้งด้วยความเร็ว แล้วทำไมรถซิ่งต้องโหลดเตี้ยเพื่อให้รถเกาะถนนมากขึ้น
ตัวอย่างหนึ่งใกล้ตัวเรา ที่ค่อนข้างชัดเจน คือ Honda HR-V ที่มีการปรับลดความสูงจากพื้นถึงใต้ท้องรถจากเดิม 185 มม. เหลือเพียง 170 มม. ในรุ่นปรับโฉม ทำให้ช่วงล่างตอบสนองดีขึ้นอย่างน่าแปลกใจ เพียงลดระดับความสูงจากพื้นถึงใต้ท้องลง 15 มม. นับตั้งแต่รุ่นปี 2016 เป็นต้นมา เมื่อรวมกับการเซทอัพโช๊คสปริงใหม่ ในรุ่น RS การขับขี่รถรุ่นนี้ก็ทำได้ดีขึ้นจนน่าประทับใจ
เช่นเดียวกันรถอย่าง Subaru Forester แม้นว่าจะมีความสูงโย่งพร้อมลุยพอๆกับรถกระบะขับสี่ล้อทั่วไป แต่มันกลับเข้าโค้งได้ดี เนื่องจากเครื่องยนต์บ๊อกเซอร์วางศูนย์ถ่วงต่ำลงกว่าปกติทั่วไป ทำให้มีการโคลงตัวน้อยกว่าเวลาเปลี่ยนเลน หรือเข้าโค้ง
ดังนั้นเมื่อคุณเข้าใจเรื่องความสูงจากพื้นถึงใต้ท้องรถแล้ว ลองดูสิว่าจำเป็นมากแค่ไหนที่คุณจะต้องมีรถที่มีความสูงโย่งจากพื้น ถ้าเพียงขับในเมือง ไม่ได้สมบุกสมบัน ระยะทั่วไปในรถเก๋งก็ถือว่าพอเพียงแล้วกับการใช้งานบนถนนทางเรียบ แต่ถ้าคิดว่า งานนี้ต้องมีบุกป่าฝ่าดงบ้างก็คงต้องมองรถที่มีความสูงมากว่าปกติ สักหน่อย จะได้เดินทางสบายผ่านอุปสรรคง่ายกว่า