ท่ามกลางกระแสฝุ่น PM2.5 ที่กำลังเป็นที่ตื่นตระหนกทั่วกรุงเทพมหานครในเวลานี้ ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กอันจะมีผลกระทบต่อสุขภาพส่วนหนึ่งมาจากความนิยมของรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลในหมู่คนไทย เมื่อบวกรวมกับสภาพอากาศปิด และ การจราจรหนาแน่น ไปจนถึงติดขัด ยิ่งทวีปัญหาให้รุนแรงมากขึ้น
ประเด้นหนึ่งที่นักวิชาการตลอดจน พวกเราทีมงาน Ridebuster ต่างหยิบยกขึ้นมาชี้เป้าปัญหาที่สำคัญตลอดสัปดาหืที่ผ่านมา คือ การปล่อยปละละเลยการเพิ่มความเข้มงวดมาตรฐานไอเสียที่ปล่อยออกมาจากเครื่องยนต์ดีเซลในประเทศไทย
มาตรฐานยูโร 4 ในกลุ่มรถยนต์นั่งใช้มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2548 และรถบรรทุก-รถเมล์ยังใช้มาตรฐานไอเสียยูโร 3 จนปัจจุบันกำลังเป็นหอกข้างแคร่ ต่อคำถามว่า ภาครัฐทำอะไรอยู่ จนไม่ขับเคลื่อนมาตรการควบคุมมลภาวะทางอากาศ จนส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชน
ข้อที่หลายคนอยากทราบถึงทางออกเรื่องมลพิษทางอากาศจากเคื่องยนต์ดีเซล คือถ้าจะต้องเพิ่มมาตรฐานการกรองไอเสียในรถยนต์ที่เราใช้ในปัจจุบันเป็นไปได้หรือไม่
นายโมริคาซู ชกคิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวในการแถลงข่าวประจำปีว่า เรื่องนี้เป็นไปได้ เนื่องจากปัจจุบันมิตซูบิชิมีผลิตภัณฑ์รถยนต์ที่ปล่อยไอเสียในต่างประเทศ ได้ถึงระดับยูโร 6 และพร้อมจะทำตามถ้าภาครัฐออกกฎบังคับให้ผู้ผลิตต้องดำเนินตาม
อันที่จริงในประเทศไทย ก็มีบริษัทรถยนต์บางเจ้าที่ก้าวไปสู่มาตรฐานไอเสียยูโร 5 เหนือกว่าที่ภาครัฐบาลกำหนดไว้ตั้งแต่ปีมะโว้ ค่ายรถยนต์ที่ต้องชื่นชมรายนั้นคือ Mazda เจ้าของเครื่องยนต์ Mazda Sky Activ Diesel เครื่องยนต์ดีเซลสมัยใหม่ผ่านข้อกำหนดมาตรฐานไอเสียในระดับยูโร 5 ทุกรุ่น
ไม่ว่าเครื่องยนนต์ Mazda Skyactiv Diesel 1.5 ที่อยู่ในมาสด้า 2 และ มาสด้า ซีเอ็กซ์ 3 รวมถึง เครื่องยนต์ดีเซลขนาด 2.2 ลิตร ในรถยนต์ Mazda CX-5 ทั้งหมดปล่อยไอเสียสะอาดกว่า โดยมีค่าฝุ่นละอองจากการปล่อยไอเสียเพียง 0.025 กรัมต่อกิโลเมตร และปล่อย ไนโตรเจนออกไซด์ เพียง 0.180 กรัมต่อกิโลเมตร น้อยกว่า ในมาตรฐานไอเสียยูโร ที่ปล่อยฝุ่น 0.05 กรัม ต่อกิโลเมตร และ ไนโตรเจนออกไซด์ 0.250 กรัม ต่อกิโลเมตร
โดยนอกจากนี้ยังมีรถยนต์ Honda CR-V Diesel ที่ผ่านมาตรฐานไอเสียยูโร 5 และ ในส่วนรถยนต์ดีเซลหรูจากแบรนด์เยอรมันส่วนใหญ่จะเป็นมาตรฐานยุโร 6 ซึ่งใช้ในรถยนต์ทางฝั่งยุโรป
ในด้านหนึ่งหลังจากปัญหาฝุ่นละออกเพื่อให้ปัญหานี้หายขาดอย่างยั่งยืน มีรายงานจาก มติชน ว่าทางสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) มีแนวคิดเร่งมาตรการบังคับการระบายสารพิษทางอากาศให้เร็วยิ่งขึ้น
ประเด็นที่นาย ณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ) คือ จะมีการบังคับให้ผู้ประกอบการผลิตรถยนต์ใหม่เครื่องยนต์ดีเซล จะต้องผ่านมาตรฐานไอเสียในระดับยูโร 5 ภายใน 1 -2 ปี นับจากนี้ สวนรถยนต์ไฮบริดและปลั้กอินไฮบริด จะเป็นมาตรฐานไอเสียในระดับยูโร 6
โดยแนวทางเร่งรัดสำคัญ คือเรื่องมาตรฐานไอเสียในระดับยูโร 5 กำลังเร่งประสานกับทาง สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม หรือ สมอ.
ตามการศึกษาของทางทีมงาน Ridebuster.com ต่อมาตรฐานการกรองไอเสีย พบว่าการเปลี่ยนถ่ายรถยนต์จากระบบ Euro 4 ไปสู่ Euro 5 มีความเป็นไปได้สูง โดยรถยนต์ที่จะผ่านมาตรฐานยูโร 5 จะต้องติดตั้งอุปกรณ์ที่เรียกว่า Diesel Particulate Filter หรือ DPF เพื่อใช้ดักจับฝุ่นละอองและกำจัดฝุ่นเมื่อถึงขีดจำกัดด้วยตัวเอง ทำให้ค่าฝุ่นละอองน้อยลง และไม่กลายเป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่างสถานการณ์ปัจจุบัน
ตามข้อมูลที่มีการเปิดเผยโดยนาย ณัฐพล รังสิตพล กล่าวว่า ปัจจุบันมีการสอบถามบริษัทรถยนต์บางราย พบว่าจะมีค่าใช้จ่ายต้นทุนเพิ่มขึ้นในระดับหมื่นบาท แต่เชื่อว่าต้นทุนจะน้อยกว่านั้นมาก
คำถามสำคัญคือ ภาระต้นทุนการพัฒนาไปสู่มาตรฐานไอเสียยูโร 5 ที่เพิ่มขึ้นนี้ สมควรจะเป็นต้นทุนของใคร เรื่องนี้ควรเป็นของผู้ใช้ , ของบริษัทรถยนต์ที่มีส่วนรับผิดชอบต่อการรักษสิ่งแวดล้อม หรือภาครัฐ ที่ต้องรับผิดชอบต่อชีวิตและสวัสดิภาพของประชาชนในสังคม
การก้าวไปสู่มาตรฐานไอเสียยูโรในเร็วๆ นี้จะเป็นทางออกสำคัญที่ยั่งยืนในการลดมลภาวะฝุ่นละอองในอากาศ ให้บรรยากาศในเมืองสะอาดบริสุทธิ์มากขึ้น
แต่เพียงการบังคับกับบรรดารถยนต์ส่วนบุคคลที่จะออกมาใหม่ คงไม่เพียงพอ เพราะรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลรุ่นเก่าก็ยังใช้งานได้รับความนิยมเหมือนเดิม และยังไม่มีความตระหนักว่าจะเปลี่ยนรถใหม่ ที่มีมาตรฐานไอสียดีกว่าเดิม เนื่องจากในมุมผู้ใช้ไม่อยากจะผ่อนรถใหม่เป็นภาระต่อสถานะทางการเงินตัวเอง
ในมุมหนึ่งหากรัฐต้องการให้คนเปลี่ยนรถก็ต้องมีโครงการคล้ายช่วงรถยนต์คันแรก ประมาณ “ดีเซลเก่าแลกใหม่” แล้วได้รับเงินสนับสนุนหรือ แทนที่จะเป้นเงินสนับสนุนก็เป้นส่วนลดทางด้านราคาไปเลย ซึ่งการทำแบบนี้จะทำให้ตลาดในประเทศมีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้น โดย นาย มาร์ติน แอฟเฟิล ประธานกรรมการ ประจำประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในปี พ.ศ. 2555 เคยกล่าวถึงแนวคิดดังกล่าวว่า
การให้ทุกคนเปลี่ยนรถจะสร้างผลที่ดีทั้งในเรื่องการประหยัดน้ำมัน และคุณภาพมลภาวะการปล่อยไอเสยัที่ดีขึ้น ตามมาตรฐานของรถยนต์ยุคใหม่
นอกจากนี้ การพัฒนามาตรฐานไอเสียเองไม่ควรจำกัดอยู่เพียงรถยนต์ส่วนบุคคล แต่รถยนต์ใช้งานเพื่อการพาณิชย์ รวมถึงรถโดยสารประจำทางควรมีมาตรฐานไอเสียมากขึ้น หรือไม่ก็เปลี่ยนไปสู่การใช้รถเมล์ไฟฟ้า หรือไฮบริด
และสมควรต้องเข้มงวดกับรถเก่าที่ปล่อยมลพิษทางอากาศให้มีผลต่อการต่อภาษี หรือชำระภาษีประจำปีด้วย เชื่อว่าอากาศในอนาคตจะต้องสดใสขึ้นแน่นอน
การไปสู่มาตรฐานยูโร 5 อย่าถามว่าเป็นภาระของใคร เพราะอากาศที่อยู่บนฟ้าเราและลูกหลานต้องใช้ควรเป็นหน้าที่ของทุกคน ทั้งภาครัฐ ,ภาคเอกชน รวมถึงผู้ขับขี่ เพื่อทำให้ปัญหาฝุ่นละอองหมด เราทุกคนต้องช่วยกันคัรบ