ปัจจุบันเวลาเราซื้อรถใหม่สักคัน คุณจะได้ยินโปรแกรมประกันคุณภาพรถใหม่มากมาย ที่ทำให้คุณอุ่นใจเวลาซื้อรถใหม่ออกจากศูนย์บริการ การรับประกันคุณภาพรถใหม่เริ่มมีขึ้นในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา เริ่มมาตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2540 ด้วยการรับประกัน 2 ปี หรือ 50,000 กิโลเมตร ก่อนขยับเป็น 3 ปี 100,000 กิโลเมตร ในปัจจุบัน
การรับประกันคุณภาพรถใหม่ กลายเป็นแพ็คเกจที่ควบรวมมากับตัวรถ เพื่อจัดการข้อบกพร่องในระหว่างการใช้งานรถในระยะแรก ช่วยให้มั่นใจว่ารถใหม่ที่เราใช้จะไม่มีปัญหาใดๆ หรือถ้ามีปัญหาก็จะได้รับการดูแลอย่างดีจากผู้ผลิตรถยนต์
การประกันแบบนี้ในต่างประเทศเรียกว่า Bumper to Bumper Waranty ในประเทศไทย เราเรียกว่า “การรับประกันคุณภาพรถใหม่” ปัจจุบันมีในรถยนต์ทุกรุ่นทุกยี่ห้อที่วางจำหน่ยา ด้วยมาตรฐาน 3 ปี 100,000 กิโลเมตร และผู้ผลิตบางรายให้มากกว่านั้น บางรายผู้ใช้สามารถขอซื้อเพิ่มระยะเวลารับประกันได้ถ้าต้องการ แต่เราต้องการการรับประกันคุณภาพมากแค่ไหน กลับไม่เคยถามตัวเองมาก่อน
แนวคิดการรับประกันคุณภาพสินค้า เกิดขึ้นภายใต้ความพยายามในการทำให้ผู้ใช้รถมีความพึงพอใจในการขับขี่มากที่สุด ควบรวมกับการเพิ่มพูนรายได้บริการหลังการขาย ซึ่งถือเป็นอีกส่วนรายได้สำคัญต่อตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ทั้งหมด
การรับประกันคุณภาพรถใหม่ เริ่มขึ้นตั้งแต่ทันทีที่รถส่งมอบถึงมือเรา ทันทีที่เราขับรถออกจากโชว์รูม จะเริ่มนับการรับประกันทันที โดยมีข้อแม้ให้ผู้ใช้จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจเช็ค ตามระยะที่กำหนด รวมถึงข้อกำหนดอื่นๆ เป็นเงื่อนไขสำคัญ อาทิ ห้ามปรับแต่งรถยนต์ ตลอดจนยังไม่รับประกันชิ้นส่วนที่มีการสึกหรอจากการใช้งาน เช่น แบตเตอร์รี่ ยาง เป็นต้น ทำให้ในความเป็นจริงแล้ว การรับประกันคุณภาพไม่ได้ต่างอะไรจากการมัดมือลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการศูนย์บริการ
คนจำนวนไม่น้อยคิดว่าการรับประกันคุณภาพเป็นเรื่องจำเป็น หากในการพัฒนารถยนต์สักคันตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงขั้นตอนการผลิตจำหน่ายจริง มาถึงส่งมอบขายให้เราๆท่านๆ ได้จับจองเป็นเจ้าของ กระบวนการที่เข้ามามีบทบาทในปัจจุบัน ดูจะไม่พ้น การควบคุมคุณภาพสินค้า
อันเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ และวิศวกรรมผลิตภัณฑ์ มีการจัดสร้างรถต้นแบบ เพื่อไปทดสอบตามเงื่อนไขต่างๆ อย่างสุดขั้นและคาดไม่ถึง แล้วนำมาจัดการแก้ไขปรับปรุงตัวผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง จนเมื่อพร้อมผลิตวางจำหน่าย ขั้นตอนการควบคุมคุณภาพสินค้า ก็ถูกนำมาใช้กับรถที่กำลังเริ่มต้นการผลิต ตั้งแต่ตรวจรับสินค้าจากผู้ผลิตชิ้นส่วน ในระหว่างขั้นตอนการผลิต จะมีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มขึ้นรูปตัวถังไปจนเสร็จออกมาเป็นรถพร้อมขับ
บางครั้งคุณอาจพบว่ารถใหม่ที่ส่งมอบต่อคุณเป็นรถที่มีระยะทางขับมาได้สักประมาณ 50-60 กิโลเมตร ถ้ามีก็ไม่ต้องตกใจ เพราะคุณจะพบจดหมายรักจากทีมวิศวกร แสดงความยินดีว่า รถคุณถูกตรวจสอบว่ามีคุณภาพตรงตามมาตรฐานที่กำหนด ก่อนส่งมอบลูกค้า
ถ้ามองแล้วในมุมหนึ่งการควบคุมคุณภาพสินค้าจากกระบวนการประกอบ ถือว่าพอเพียงจะสร้างความมั่นใจต่อรถใหม่แก่ลูกค้า แต่ภาพนั้นไม่เคยถูกสะท้อนสู่ผู้ใช้มาก่อน นั่นเป็นที่มาของการรับประกันคุณภาพสินค้า ที่เราจะเห็นได้ว่ามันแถมมากับรถใหม่ในปัจจุบีนทุกรุ่นทุกยี่ห้อ
การวางระยะเวลา 3 ปี 100,000 กิโลเมตร ในปัจจุบัน เริ่มถูกขยับขยายจากเหล่าแบรนด์รถยนต์มวยรอง เช่น MG ให้การรับประกัน 4 ปี 120,000 กิโลเมตร นอกจากนี้บางบริษัทยังมีการขยายจำนวนปี จาก 3 ปี เป็น 5 ปี 100,000 กิโลเมตร เพื่อเอาใจคนใช้รถน้อย เช่น ซูบารุ และ มิตซูบิชิ เป็นต้น
หากแต่การรับประกันคุณภาพสินค้าจากผู้ผลิตรถยนต์ ก็ตามมาด้วยความวุ่นวายมาก อาทิ การต้องเข้าศูนย์บริการอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงระยะเวลารับประกัน , เงื่อนไขการรับประกันที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะการห้ามปรับแต่งที่อาจทำให้การทำงานของชิ้นส่วนได้รับผลกระทบ ไปจนถึงการไม่ครอบคลุมชิ้นส่วน ที่สึกหรอกจากการใช้งาน อาทิ แบตเตอร์รี่, ยาง, คลัทช์ ,ลูกปืนต่างๆ
ส่งผลให้ในความเป็นจริงการรับประกันคุณภาพสินค้า ไม่ได้ถูกใช้งานอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยเฉพาะคนที่ใช้รถน้อย ยิ่งแทบจะเรียกว่าเป็นสิ่งสูญเปล่าไปโดยปริยาย ยิ่งเมื่อนับว่า รถยนต์ที่ประกอบจากโรงงานมีการตรวจสอบคุณภาพอย่างดีอยู่แล้ว ความผิดพลาดของชิ้นส่วนต่างๆ เรียกว่าเป็นไปได้น้อยมาก และแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
คราวซวยที่คุณจะแจ๊คพอท เจอข้อบกพร่องในเครื่องยนต์ , เกียร์ เพลา หรือชุดขับเคลื่อน ถือว่าน้อยมาก จากประสบการณ์ในการซื้อรถใหม่ของผู้เขียน ตั้งแต่เริ่มขับรถมา พบว่ามีโอกาสน้อยมากที่ คุณจะเจอปัญหาเครื่องยนต์ – เกียร์ โดยมากที่พบเจอจะเป็นส่วนควบของเครื่องยนต์เสียมากกว่า
ปัจจุบันความสำคัญของการรับประกันคุณภาพสินค้า ถูกไต่ถามมากขึ้นในวงการยานยนต์ว่ามีอะไร ที่ให้ลูกค้ามากกว่าการสะท้อนความมั่นใจในตัวสินค้า เนื่องจากราคารถในปัจจุบันก็จะต้องรวมค่าความเสียในการรับประกันเข้าไปด้วยทำให้รถมีราคาแพง
ทั้งหมดสะท้อนได้ชัดเจน จากการดึงการรับประกัน 5 ปี 100,000 กิโลเมตร ออกมาของซูบารุ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ราคาการรับประกันคุณภาพถูกรวมมาในราคารถใหม่ทุกรุ่น และมีราคาสูงถึงร้อยละ 18 -30 ของตัวรถ นั่นหมายความว่า เราต้องจ่ายเงินมากขึ้น สูงสุด ร้อยละ 30 เพื่อซื้อความมั่นใจของเราเองกับรถ ทั้งที่ก็มีการตรวจสอบจากผู้ผลิตอยู่แล้ว
อย่างไรก็ดี การบกพร่องอุตสาหกรรมเป็นข้อแม้ที่อยู่นอกเหนือจากการรับประกันคุณภาพปกติทั่วไป เช่นในกรณีที่มีการเรียกตรวจสอบรถยนต์ หรือ Recall จะครอบคลุมถึงรถยนต์ทุกคันที่ผลิตในช่วงเวลาที่ทางผู้ผลิตเห็นว่าอาจมีข้อบกพร่อง เกิดขึ้น ดังนั้น มันไม่ได้เกี่ยวกับการรับประกันคุณภาพสินค้า แต่เป็นเรื่องของการประกันทางอุตสาหกรรม และนอกจากนี้หลายแบรนด์ในต่างประเทศ ปัจจุบัน ยังแยกการประกันคุณภาพสินค้า ออกจากการรับประกันเครื่องยนต์ อย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้ใช้ตัดสินใจเองว่า พวกเขาต้องการพวกมันหรือไม่ เช่น Subaru ในอเมริกา รับประกันคุณภาพรวม 3ปี แต่มีการรับประกันเครื่องยนต์ 5 ปี 100,000 ก.ม. เลยทีเดียว
ถ้าถามว่า ประกันคุณภาพรถใหม่ จำเป็นหรือไม่ ก็คงต้องตอบว่าจำเป็นสำหรับคนที่ไม่ได้มีความรู้เรื่องรถมากนัก แต่สำหรับคนที่มีประสบการณ์ในการใช้รถ การรับประกันคุณภาพ อาจไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาต้องการ ลูกค้าอาจต้องการรถใหม่ที่วางใจได้ ว่าไม่มีปัญหาจากการผลิต