เริ่มกลายเป็นที่ตื่นกลัวของหลายคน หลังมีกระแสสังคมคนใช้รถหลายรุ่นหลายยี่ห้อ เริ่มออกมาเปิดเผยให้เห็นถึงความชอกช้ำในการซ่อมระบบเกียร์ CVT จนมาถึงตรงนี้หลายคนที่กำลังจะซื้อรถใหม่ หรือใช้อยู่ อาจเริ่มปอดขึ้นมาบ้าง
เกียร์ CVT หรือ Continuous Variable Transmission เป็นเทคโนโลยีที่มีใช้มานานในต่างประเทศ คนไทย เพิ่งมาคุ้นกับมันในช่วงต้นยุค 2000 ก่อนจะล้างลาไป แล้วกลับมาใหม่อีกครั้งในช่วงปี 2010 หลังนิสสันเริ่มแนะนำรถยนต์นั่งขนาดเล็กอีโค่คาร์ออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรก
ระบบเกียร์ใหม่ถูกชูความสามารถในการขับขี่ พ่วงมาพร้อมความประหยัด แถมยังขับได้นิ่มนวลนั่งสบาย แต่ระยะหลังเราเริ่มเห็นผู้ใช้รถออกมาพูดทางเดียวกันว่า เกียร์แบบนี้มีโอกาสพังสูงมาก และเมื่อมันเสียหายก็มีค่าใช้จ่ายสูงตามมาด้วย
หลักการของเกียร์ CVT ในปัจจุบัน ไม่ว่าคุณใช้รถยนต์รุ่นยี่ห้อไหนที่ขับด้วยระบบเกียร์ CVT (ยกเว้นระบบ E-CVT ในกลุ่มรถไฮบริด) จะเหมือนกันด้วยการใช้ลูกรอก 2 ตัว ทำงานกับสายพานเหล็กที่จะปรับเปลี่ยนจังหวะไปตามที่หน่วยประมวลผลคอมพิวเตอร์เห็นสมควร ตอบรับการใช้งานของเราในช่วงเวลานั้นๆ
จุดอ่อนสำคัญของระบบเกียร์ CVT อยู่ที่ชุดสายพานเหล็กที่ทำงานกับลูกรอกทั้ง 2 ตัว จะต้องรับแรงตึงเครียดจากลูกรอกตลอดเวลา จนกว่าเราจะหยุดรถ หรือเลิกใช้งาน ซึ่งการหมุนเปลี่ยนจังหวะต่อเนื่องนี่เอง ทำให้สายพานมีโอกาสล้าหรือเสียหายได้ในระยะยาวหากใช้ไม่ถูกต้อง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าคุณขับรถด้วยความเร็วต่อเนื่องเป็นเวลานาน หรือ มีการเร่งการกระชากบ่อยครั้ง ชุดสายพานอาจจะต้องรับแรงดึง-แรงฉุด มากกว่าการขับไปเรื่อยๆ ด้วยความเร็วคงอย่างที่คนปกติเขาทำกัน
ดังนั้นเพื่อให้เกียร์ CVT ในรถคู่ใจคุณอยู่ยาวนานที่สุดมากเท่าที่จะเป็นไปได้ เรามาดูสิว่าควรทำอย่างไรบ้าง
1.ไหลรถก่อนเสมอ
ด้วยความเป็นเกียร์สายพาน การปล่อยเบรกให้รถไหล ก่อนเติมคันเร่ง ช่วยลดแรงฉุดจากแรงบิดของเครื่องยนต์ที่ให้สายพานเกิดความเครียดได้ โดยเฉพาะในยามรถติด ถ้าคุณเบรกแล้วเร่งออก สายพานจะถูกฉุดด้วยแรงบิดต่อเนื่องเรื่อยๆ จะมีผลเสียในระยะยาว
2.อย่าเลี้ยงคันเร่งหยุดรถบนเนิน
คนจำนวนไม่น้อยชอบใช้เทคนิคเลี้ยงคันเร่งบนเนินเพื่อหยุดรถแล้วรอจังหวะออกตัว หลายคนทำแบบนี้ โดยเฉพาะคนขับมือเก๋า เพราะกลัวรถไหล หรือไม่ก็จะได้มีจังหวะออกตัวเลย พฤติกรรมดังกล่าวส่งแรงเครียดถึงสายพานในเกียร์มากกว่าที่คิด เนื่องจาก ลูกรอกในเกียร์จะรับแรงบิดจากเครื่องยนต์ต่อเนื่องในขณะที่ลูกรอกอีกด้านที่หมุนเพลาขับกลับไม่สามารถขับเคลื่อนล้อได้ ทำให้เกิดแรงดึงที่สายพาน ถ้าต้องจอดติดขึ้นเนินให้เหยียบเบรกจะดีกว่า เดี๋ยวนี้เขามีระบบช่วยออกตัวทางลาดชัน Hill start assist แล้ว ไม่ต้องกลัวรถไหล เวลาออกตัว
3.ติดนานควรเข้า N
เมื่อรถติดนานๆ ควรเข้า N เป็นข้อแนะนำที่ได้รับการพิสูจน์แล้วจากต่างประเทศ เนื่องจากเมื่อเราเข้า N ชุดเกียร์จะทำการปลดตัว torque Converter ที่ต่อกับเครื่องยนต์ เพื่อไม่ให้มีการส่งแรงบิดมาชุดเกียร์เป็นการชั่วคราว เมื่อไม่มีแรงบิดก็ไม่มีการหมุนลูกรอก ลดภาระเรื่องแรงเครียดสายพานได้มากกว่าการเข้าเกียร์ D แล้วเหยียบค้างไว้
แต่ถ้าคุณติดไฟแดงแค่ไม่กี่นาที 60-120 วินาที ก็ไม่จำเป็นต้องปลดมาเกียร์ N ก็ได้ครับ เพราะการเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ไปมาเร็วๆ นอกจากจะทำให้โซลินอยเสียแล้ว บางทีรับเผลอเรอ เราก็ปลดมา D รีบออกตัว กลายเป็นกระชากสายพาน ทำเรื่องดีกลับกลายเป็นเรื่องร้ายไม่รู้ตัวมาก่อน
4.หยุดรถให้นิ่งก่อนเปลี่ยนทิศทางขับ
เวลาเราขับรถเดินหน้า-ถอยหลัง เช่น ในห้าง หรือลานจอดรถ บางคนก็มีมารยาทเกรงใจเพื่อนร่วมทางมากเกินไป จนทำอะไรรีบร้อน โดยเฉพาะเวลาเราเดินหน้าถอยหลังรถ ขอให้มั่นใจว่า เราหยุดรถนิ่งสนิทก่อนเปลี่ยนทิศทางขับ เพื่อไม่สร้างแรงตึงให้สายพานโดยไม่จำเป็น
5.อย่าไหลรถด้วยเกียร์ N
เชื่อว่าหลายคนคงทำบ่อยกับรถเกียร์ธรรมดา ด้วยการไหลรถแล้วเข้าเกีร์ที่มีอัตราทดต่ำ เพื่อประหยัดน้ำมันมากขึ้นสักหน่อย เรื่องนี้เป็นความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรง ถึงคุณจะประหยัดได้ในวันนี้ก็อาจต้องเสียมากในวันหน้า เมื่อชุดคลัทช์ลาโลกอย่างรวดเร็ว
สำหรับเกียร์ CVT ความเสียหายอาจไม่เกิดกับชุดคลัทช์แต่เป็นสายพานในชุดเกียร์ ซึ่งจะต้องรับแรงบิดจากการฉุดกระชากของทางล้อกับทางเครื่องยนต์พร้อมกัน และนั่นทำให้ในระยะยาวมันอาจพังง่าย
6.ใช้เกียร์ S หรือ Overdrive ให้เป็น
หลายคนขับรถเกียร์ออโต้ รู้แต่ว่า กดคันเร่ง กดลึกกว่า เปลี่ยนจากเร่งเป็นซิ่ง แต่ลืมคิดว่ารถที่เราใช้ก็มีออพชั่นช่วยขับขี่อื่นพร้อมรับใช้ยามที่คุณต้องการเร่งความเร็ว โหมด S ที่แป้นเกียร์ และบางยี่ห้อ อาจเป็นปุ่ม Overdrive คือโหมดการขับขี่ที่มีมาให้เผื่อคุณต้องการทำความเร็ว
มันให้คุณสมบัติเทียบเท่ากับการคิกดาวน์ แต่ดีกว่าตรงที่คุณบอกเกียร์ว่ากำลังจะทำอะไร เมื่อเปลี่ยนตำแหน่งหรือกดปุ่ม เราจะพบว่าเกียร์ไม่กระชาก ถ้าเทียบกับการขับด้วยวิธีการคิกดาวน์ จะมีการกระชากมากกว่าพอควร
แต่ผมก็ไม่แนะนำให้ขับขี่ด้วยความเร็วสูงมาก ในเกียร์ CVT เนื่องจากอาจจะส่งผลต่อสายพานในระยะยาวจากความร้อนสะสมในเกียร์ รวมถึง การต้องรับแรงบิดสูงสุด ต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ อาจทำให้สายพานล้าได้ในอนาคต
7.อย่าเขยื้อนรถไว
เวลารถติดในบ้านเรา อาจจะต้องรีบจี้ไปข้างหน้า เพื่อไม่ให้คนอื่นเขาแทรกเข้ามาได้ แต่ในความเป็นจริง การเขยื้อนทีละนิดไม่เป็นผลดีกับ เกียร์ CVT เลย คุณต้องเพิ่มแรงบิดช่วงสั้นๆ แล้วเบรก การหมุนสายพานในเกียร์ก็ทำตามอย่างที่เรากำลังบอกคุณเช่นกัน เมื่อคุณเร่ง ลูกรอกฝั่งเครื่องยนต์หมุนเร็ว เพื่อส่งกำลัง เมื่อเบรก แรงดึงจากลูกรอกฝั่งชุดล้อ จะให้แรงเสียดทานแรงตึงกับสายพาน
ถ้าทำแบบนี้บ่อยๆ เช้าเย็นทุกวัน สายพานก็น่าจะเสื่อมสภาพและล้าได้ง่าย จนคุณอาจประหลาดใจ และคิดว่ามันเปราะบางทั้งที่กรำศึกมานานมาก
จากทั้ง 7 ข้อที่กล่าวมา เชื่อว่าน่าจะช่วยให้เพื่อนๆ ยืดอายุเกียร์ CVT ได้ยาวนาน ซึ่งผมเชื่อว่าหลักๆ เกียร์จะมีปัญหาหรือไม่ข้อสำคัญมาจากการขับขี่ของเรามากกว่าปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ