ในบรรดาแบรนด์ที่คนไทยรู้จักกันมายาวนานตั้งแต่รุ่นพ่อมาสู่รุ่นลูก “Suzuki” นับว่าเป็นแบรนด์รถยนต์ที่ครองใจคนไทยมายาวไม่แพ้แบรนด์อื่นๆ ระยะหลัง พวกเขามาเอาดีทางด้านรถยนต์อีโค่คาร์ จากชื่อเสียงความเป็นผู้เชี่ยวชาญรถยนต์นั่งขนาดเล็ก และเราจะพาไปย้อนรอย กับประวัติศาสตรของพวกเขาใน Suzuki Plaza
ฮามามัสซี …. พูดชื่อเมือง หลายคนไม่น่าจะรู้จักนัก มันไม่ใช่เมืองศูนย์กลางแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ แต่กับคนชอบรถ ที่นี่มีประวัติศาสตร์มากมายเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ประเทศญี่ปุ่น ที่นี่เป็นเมืองที่ฮอนด้า มอเตอร์ ถือกำเนิดขึ้นในปี 1948 สถานที่เริม่ต้น Honda Dream Type D และ โรงงานแห่งนี้ยังคงอยู่ตั้งแต่วันนั้นมาจนถึงวันนี้ อีกแบรนด์ที่จะพูดถึงไม่ได้ก็ยามาฮ่า มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองนี้เช่นกัน แต่ถ้าคุณเดินทางห่างออกมาหน่อยจากเมือง …. ที่นี่คือ สำนักงานใหญ่ของบริษัทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ Suzuki และผมอยากมาที่นี่นานมากแล้ว
อันที่จริงทริปนี้เป็นทริปไม่ตั้งใจมา แต่ต้องมาก็เพราะเราดันตกเป็นเหยื่อการตลาดสายการบินหางแดง เมื่อปีกลายช่วงเดือนสิงหาคม เขาโฆษณาว่า เพิ่งเปิดเส้นทางบินใหม่ กรุงเทพ (ดอนเมือง) ไปยัง นาโกย่า เข้าไปส่องในเว็บไซต์เห็นราคา ไปๆ มาๆ เลยโดนตั๋วเข้าให้ ต้องได้ออกไปท่องโลกกว้างอีกครั้ง
ก่อนเดินทางก็ดูว่ามีอะไรน่าเที่ยวบ้างแถวนาโกย่า ด้วยความบ้ารถ… เหมือนเคย !! เปลี่ยนนิสัยไม่ได้ ไหนๆ มาเมืองแถวนี้ เป้าหมายหนึ่ง คือ โตโยต้า (เราจะมาเล่าในครั้งถัดไป) และไม่ไกลจากนาโกย่านัก ดูแผนการเดินทางจาก Google ปลายทาง Hamamatsu ก็จัดว่าไม่ไกลมากนัก
วิธีเดินทางมาเมืองฮามามัทซึ จากนาโกย่า ถ้าไม่เช่ารถขับ ก็สมควรมาด้วยรถไฟ มีให้เลือกเดินทางหลากรูปแบบ ไม่ว่ารถไฟ JR Line สายยาว Tokaido ก็สามารถนั่งได้ยาวไปถึง Hamamatsu ก็ได้ ถ้าเอาเร็วทันใจ ต้องชิงกันเซ็น แต่ค่าโดยสารไปกลับก็จะอ่วมหน่อย
งวดนี้เที่ยวแบบ Low Cost เลย ตัดสินใจใช้ไปรถไฟด่วนพิเศษ Meitetsu Limited Express ไปยังชุมทาง Toyohashi แล้วเปลี่ยนจับรถไฟท้องถิ่นหวานเย็นของสาย JR อีกที
ช่วงแรกจะใช้เวลา 53 นาที โดยประมาณรถไฟด่วนพิเศษดีอย่าง จะระบุที่นั่งไว้เสร็จสรรพ ก็ศึกษาให้ดูว่าเราอยู่ตู้ไหนอย่างไร ที่สำคัญ ระวังหลงขบวน ชุมทางนาโกย่า มีรถไฟไปหลายที่มาก หลงแล้วบอกเลยว่ายาวแน่นอน
หลับไป 1 ตื่น เรามาถึงชุมทาง Toyohashi ใครไม่เคยมา ไม่ต้องห่วงครับ !! ไม่มีหลง เพราะสุดสายรถขบวนนี้พอดี หลังจากชานชลา ก็ไปห้องขายตั๋ว ซื้อของขบวนรถท้องถิ่น ลงป้าย Takatsuka สุทธิค่าตั๋วรถไฟขาไปรวม 2,200 เยน หรือ 638 บาท ต่อคน
จาก Toyohashi รถไฟท้องถิ่น จะใช้เวลาเดินทางไปยังสถานีที่เราต้องลงอีก 30 นาที รถไฟท้องถิ่นนี้จะผ่าน จุดสำคัญ ทะเลสาบ ฮามานาโกะ แหล่งล่าปลาไหลชาว ญี่ปุ่น นั่นทำให้เมืองฮามามัทซึ ขึ้นชื่อเรื่องข้าวหน้าปลาไหล … ถ้ามีโอกาส แนะนำให้เข้าเมืองไปลองชิมดู
ชมวิวเพลินๆ แวบเดียวก็ถึงสถานี Takatsuka วันที่ผม มาคือวันที่ 14 กุมภาพันธ์ … เป็นวันพฤหัสบดี แต่เมืองเงียบมาก!! บนสถานีรถไฟไม่มีคน เข้าใจว่า เป็นวันทำงาน
จากสถานีรถไฟ Takasuka เราอยู่ห่างจากสำนักงานใหญ่ Suzuki ไปอีก 1 กิโลเมตร …. ไปอย่างไรหรือ ผมแนะนำว่าเดินไปครับ .. ชมเมืองเพลินๆ โดยออกจากสถานีทางทิศเหนือ North exit ลงจากรถไฟ ขึ้นสะพานลอย ออกจากช่องแล้ว เลี้ยวขวา ลงมาเจอจัตุรัสใหญ่ มีช่องจอดจักรยาน และรถมอเตอร์ไซค์ จากตรงนั้นเราเดินอีก 10 นาที ครับ
สองข้างทาง ณ จุดนี้ คือ บ้านคนญี่ปุ่น (เข้าใจว่า บ้านคนมีเงินหน่อย) ผมเข้าใจว่า น่าจะเป็นการซื้อที่เปล่าแล้วปลูกบ้านเอง ไม่รู้ว่าคนที่นี่เขามีโครงการหมู่บ้านจัดสรรแบบเมืองไทยหรือเปล่า
วันที่มาอากาศดี เดินไประยะทาง 1 กิโลเมตรจากสถานีรถไฟ สบายๆ … มิน่า คนที่นี่ชอบเดินกัน …
///
ในที่สุดเราก็มาถึงสำนักงานใหญ่ Suzuki มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น เมืองฮามามัทสึ ตรงสำนักงานเขาไม่ให้เราเข้าไปหรอกครับ แต่ที่มาวันนี้คือฝั่งตรงข้าม เรียกว่า Suzuki พลาซ่า เรียกว่า เป็นพิพิธภัณฑ์ย่อมๆ ของผู้เชี่ยวชาญรถเล็ก ตัวอาคาร แบ่งเป็น 3 ชั้น ชั้นแรก เป็นชั้นต้อนรับ ก็จะมีรถเด่นในวันนี้โชว์อยู่
ไม่ว่าจะ Suzuki Jimny รถยนต์อเนกประสงค์เล็กพร้อมลุย ที่หลายคนสนใจแถมครองรางวัล good design Award ปีล่าสุด ใกล้กันยังมี Suzuki Swift Sport และ Suzuki Baleno ด้วย
เจ้าหน้าทีเข้ามาต้อนรับเราดีมาก พร้อมแจกแผ่นพับแนะนำสถานที่ ซึ่งเราจะใช้เวลาต่อจากนี้ไปออนทัวร์กัน อย่างที่กล่าวไปแล้วอาคารนี้มี 3 ชั้น เราจะมาทัวร์เข้าถึงเบื้องลึกแบรนด์ Suzuki
เรื่องราวผู้เชี่ยวชาญรถเล็ก ย้อนไปในปี 1909 ,เมื่อนาย มิชิโอะ ซูซูกิ เริ่มกิจการทอผ้าภายใต้ชื่อ Suzuki Loom Work ความนิยมในผ้าไหม้ของญี่ปุ่นดันให้ Suzuki มีการคิดค้นพัฒนาเครื่องทอผ้ามากมายหลายแบบ และทำให้ นายมิชิโอะ ต้องศึกษาการออกแบบเชิงกล เพื่อสร้างเครื่องทอดีขึ้น จน 11 ปี ให้หลังจากเริ่มกิจการ เขาเล็งเห็นว่าสมควรจะต้องก่อตั้งบริษัทขึ้น ภายใต้ชื่อ Suzuki Loom Manufacturing ด้วยเงินลงทุน 5 แสนเยนในเวลานั้น
บริษัทยังคงกิจการทำเครื่องทอผ้า จนราวๆ ปี 1937 ทางบริษัท เล็งเห็นอุตสาหกรรมยานยนต์ เริ่มมีการเติบโต ประกอบกับความเชี่ยวชาญทางด้านเครื่องยนต์กลไก จึงมองว่าน่าจะเป็นโอกาสดีที่เข้ามาสู่อุตสาหกรรมนี้ บริษัทนำรถ Austin Seven เข้ามาศึกษา มุ่งหวังว่าจะพัฒนารถแบบพวกเขา เนื่องจากเวลานั้นยังไม่มู้ผลิตรถยนต์ในญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียง เป็นโอกาสที่ดี ที่พวกเขาจะสร้างรถ แต่ชะตากรรมนำพาญี่ปุ่นเข้าร่วมสงครามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปี 1940 โรงงาน Takatsuka (ตรงข้ามกับที่เราอยู่) ถูกสร้างขึ้น แต่แล้วในปี 1945 สำนักงานบริษัทได้รับความเสียหายจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สำนักงานจึงถูกย้ายมาที่นี่ และ 2 ปีต่อมา (1947) ที่นี่ก็กลายเป็นสำนักงานใหญ่ของบริษัท
อย่างที่หลายคนทราบ Suzuki ผลิตทั้งรถยนต์ และ รถจักรยานยนต์ (คล้ายฮอนด้า) แต่พวกเขาเริ่มมีชื่อเสียงจากรถมอเตอร์ไซค์ ก่อน 4 ล้อ จะได้รับความนิยมอย่างวันนี้
แล้วพวกเขาคิดจะผลิตรถมอเตอร์ไซค์ได้อย่างไร ??
เรื่องเริ่มขึ้นในวันหนึ่งที่ดูอากาศสดใส ชุนโซ ซูซูกิ (Shunzo Suzuki) ลูกของมิชิโอปั่นจักรยานไปเที่ยวตามปกติ ในเส้นทางที่เขาปั่นประจำ จะต้องข้ามแม่น้ำเทนเรียว บนสะพานคาแซทซึกะ ช่วงนี้จะมีลมแรงมาก และสร้างปัญหากับเขาเป็นประจำ
ในวันนั้นปรากฏระหว่างกลับบ้านปรากฏพายุลมแรงกว่าปกติ จนเขาไม่สามารถปั่นจักรยานได้ เขากลับถึงบ้านพร้อมความคิดว่า คงจะดี ถ้าจักรยานมีเครื่องยนต์ช่วยผ่อนแรงที่ต้องปั่นสู้ลม
ไอเดียนี้เป็นจุดเริ่มต้นทำให้ชุนโซ เข้ามาบุกเบิกในการสร้างรถจักรยานยนต์ .. .ในเดือนพฤศจิกายนปี 1951 ซูซูกิ ตัดสินใจจะสร้างเครื่องยนต์ขนาดเล็กเอง เขาเรียกวิศวกรของบริษัท มาทำโครงการที่จะเปลี่ยนแปลงอนาคตไปสู่ยุคใหม่
อันที่จริงมันไม่ใช่ไอเดียใหม่ที่จะสร้างจักรยานที่มีเครื่องยนต์ คุณน่าจะเคยได้ยินว่า ฮอนด้าเริ่มต้นในลักษณะคล้ายกัน ความจริงมีบริษัทที่มีแนวคิดนี้กว่า 100 บริษัท เลยทีเดียวในเวลานั้น
ความแตกต่างของ Suzuki คือการสร้างเองทุกอย่าง ไม่ว่าจะเครื่องยนต์ต้นแบบขนาด 30 ซีซี เรียกว่า “ATOM” แต่เวอร์ชั่นขายจริงเป็นเครื่องยนต์สูบเดี่ยวขนาด 36 ซีซี ให้กำลัง 1 แรงม้า ระบายความล้อด้วยอากาศ
มันถูกติดเข้ากับเฟรมรถที่ดูไม่แตกต่างจากจักรยานที่เรารู้จัก คุณสามารถถีบใช้งานมันได้ตามปกติถ้าต้องการออกกำลังขา ถ้าคิดว่าไม่ไหวกับแรงลม หรือทางชันสามารถเปิดเครื่องยนต์ใช้ได้ ตามต้องการ ความตั้งใจของซูซูกิ ทำให้พวกเขาผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ เองมากมาย ตั้งแต่คาร์บูเรเตอร์ ถึงล้อช่วยแรง จนบริษัทได้รับเงินสนับสนุนในการวิจัย
Suzuki Power Free ถูกใจคนในระดับหนึ่ง เนื่องจากเป็นจักรยานไม่ต้องมีใบขับขี่ก็ขี่ได้ไม่ผิดกฎหมาย จนหระทั่งหลังรถจักรยานติดเครื่องของ Suzuki รัฐบาลเปลี่ยนกฎให้สามารถขี่รถมอเตอร์ไซค์เครื่อง 4 จังหวะ 90 ซีซี หรือ 2 จังหวะ 60 ซีซี ได้ โดยไม่ผิดกฎหมาย ทำให้บริษัทเข้าสู่การพัฒนารถมอเตอร์ไซค์เต็มรูปแบบ
ที่มาของตำนาน “ค่ายคนบ้า” อาจจะมีการรับรู้หลากรูปแบบ แต่ความบ้าของ Suzuki เกิดมาตั้งแต่เริ่มแรกเลยก็ว่าได้ ในปี 1953 Suzuki เปิดตัว Suzuki Diamond Free ให้เครื่องยนต์ 58 ซีซี 2 แรงม้า
ถ้า Honda มี Dream , Suzuki มี Diamond Free
ชื่อเสียงของมัน มาจากการแข่งขึ้นเขาฟูจิในปี 1953 เจ้า 2 แรงม้าจาก Suzuki ถูกนาย ยามาชิตะ นำไปแข่งขันสุดโหด ด้วยระยะทาง 27 กิโลเมตร ไต่เนิน 15 องศา สู่ความสูง 1,450 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ที่สำคัญถนนหนทางยังต้องลุยมหาโหดไม่ได้เหมือนในวันนี้ มิหนำซ้ำยังห้ามปรับแต่งรถใด มีแบบไหนขี่แบบนั้น เรียกว่าเป็นสนามทดสอบความทนทานในการใช้งานอย่างดี
จากรถ 99 คัน มีเพียง 78 คันเท่านั้น ที่ไปถึงที่หมายปลายทาง รวมถึงนายยามาชิตะด้วย ภายหลังเขาเข้าแข่งอีกในปี 1954 และ 1955 จนรถ Suzuki Diamond Free ขึ้นชื่อเรื่องความทนทาน จนมียอดสั่งซื้อถึงเดือนละ 6,000 คัน สร้างชื่อเสียงให้แบรนด์ และ Suzuki หันมาทำอุตสาหกรรมยานยนต์ เต็มตัวใน ชื่อ Suzuki Motor
ปี 1955 Suzuki กลับมาพร้อมรถมอเตอร์ไซค์ Suzuki Colleda และพวกเขามีความตั้งจะก้าวไปอีกขั้น …
ช่วงเดือนมกราคมปี 1954 ทางบริษัทเลือกทีมวิศวกร 6 คน เข้าร่วมโครงการพัฒนารถยนต์ ตามปณิธานของนาย มาชิโอะ ซูซูกิ หลังจากเคยจะสร้างรถ เมื่อ18 ปีก่อน และความสำเร็จทำให้พวกเขาคิดว่าน่าจะถึงเวลา
แนวคิดการพัฒนา Suzulight อาศัยวิธีคิด Monozukuri ในการพัฒนา ทีมงานทั้ง 6 คน มีอายุเฉลี่ยเพียง 27 ปีเท่านั้น จนบางคนมองว่านี่อาจจะเป็นการคบเด็กสร้างบ้านหรือเปล่า
ทีมงานทั้ง 6 คนของ Suzuki พยายามอย่างหนักในการพัฒนารถยนต์แต่มันไม่ง่ายอย่างที่คิดไว้นัก ความล้มเหลว ครั้งแล้วครั้งเล่า จนทีมงานเองยังเริ่มถอดใจ การพัฒนารถยนต์ไม่ง่ายอย่างที่พวกเขาคิด
ทีมพัฒนาท้อมากต่อความพยายามดังกล่าวและตัดสินใจคุยกับนายมิชิโอะ ซูซูกิ ว่า โครงการนี้ยากเกินความสามารถของพวกเขา วันต่อมา มิชิโอะ กลับมาพร้อมคำสอนเด็ดที่สุด
“ความพยายามของเราในวันนี้จะมีค่าในวันหน้าอย่างยิ่ง ถ้าเราทำได้ภายใต้ข้อจำกัดทางด้านการเงินและทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด”
เดือนกันยายน 1954 Suzulight ต้นแบบถูกสร้างขึ้น และพร้อมจะนำออกไปทดสอบขับจริงบนถนน ทีมงานตัดสินใจจะขับรถทั้ง 2 คันไปยังโตเกียวมีระยะทางเพียง 300 กิโลเมตรเท่านั้น
แต่ถนน 300 กิโลเมตรในญี่ปุ่นเมื่อ 65 ปีที่แล้ว ไม่ได้สวยงามในอย่างวันนี้ ยังไม่มีทางด่วนเส้นทางจาก ทาแคทซึกะไปโตเกียวยังต้องผ่านช่วงเขาฮาโกเนะ ถนนมีสภาพเป็นทางฝุ่นลูกรัง สูงชัน และเป็นที่ขึ้นชื่อว่ายังไม่มีรถรุ่นไหนขับข้ามได้
ทีมงานศึกษาปัญหาแก้ไข จนในที่สุด Suzulight เป็นรถรุ่นแรกขับข้ามฮาโกเนะได้ไม่มีปัญหา และเปิดตัวขายในเดือนตุลาคมปี 1955
Suzulight SF เผยโฉมพร้อมความน่าประหลาดใจหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นรถเครื่องยนต์วางหน้าขับเคลื่อนล้อหน้า ติดตั้งเครื่องยนต์วางขวางเป็นรถรุ่นแรก มันใช้เครื่องยนต์ 2 สูบ ขนาด 360 ซีซี ใช้ช่วงล่างปีกนกอิสระทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
ด้วยการเป็นรถยนต์นั่งขนาดเล็กมาตั้งแต่จุดเริ่มต้น รถยนต์ Suzuki ตั้งแต่รุ่นแรก จึงสามารถเข้าร่วมโปรแกรม Keijindosha หรือ ที่เราเรียกว่า Keicar (เจ้าพวกรถน่ารักราคา3แสนบาท..ที่ชอบมาสั่นสะเทือน Facebook)
ภายหลังรถรุ่นนี้เพิ่มเรือนร่างทั้ง Van และ กระบะ เป็นกระบะ Kei Car รุ่นแรก บริษัทมาประสบความสำเร็จจริงๆ ในช่วงปี 1960 หลังปล่อย Suzulight Carry FB ออกมาขาย ปี 1961 ขาย Suzulight Fronte ในฐานะรถยนต์นั่งขนาดเล็กของแบรนด์ตอบตลาดรถในญี่ปุ่นที่เริ่มเติบโตทวีคุณ
ในปี 1967 Suzuki ยกเลิกชื่อ Suzulight เนื่องจากนาย ชุนโซ ซูซูกิ ผู้มารับบทบริหารแทนนายมิชิโอะ เล็งเห็นว่า ชื่อสร้างความสับสน ประกอบกับทางฝั่งมอเตอร์ไซค์มีการสร้างชื่อเสียงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการชนะการแข่งขัน Isle of Man ในปี 1962 รุ่น 50 ซีซี
จึงเห็นว่า เพื่อให้จดจำง่ายควรเปลี่ยนให้มันเหมือนกัน Suzuki Fronte 800 (มาพร้อมเครื่องยนต์ 360 ซีซี 2 จังหวะ) จึงเป็นรถรุ่นแรกใช้ชื่อนี้ และสืบต่อมาเรื่อยๆ
***ถ้าคุณสงสัยว่า Suzuki เข้ามาในไทยตั้งแต่ปีไหน พวกเขาเริ่มก่อตั้งบริษัทผลิตรถมอเตอร์ไซค์ ไทยซูซูกิ มอเตอร์ มาตั้งแต่ปี 1967 และยังดำเนินการจวบจนปัจจุบัน ส่วนรถยนต์ขายมาตั้งแต่อดีตอย่างที่เราทราบกันดี แต่ Suzuki เข้ามาตั้งโรงงานเองในปี 2011 และผลิต Suzuki Swift ขายเป็นรุ่นแรก
///
ว่าจะเล่าประวัติไม่ยาว ก็เล่นเสียยาวเลย
เราเดินชมชั้น 3 อย่างจุใจ ด้วยรถที่น่าสนใจมากมาย โดยเฉพาะสาวๆ จะถูกใจเจ้า Suzuki Fronte LC 10 มาเป็นพิเศษ ด้วยทรวดทรงรถที่ไม่เหมือนรถยุค 67 แถมปี 1968 Suzuki ยังส่ง Suzuki Fronte SS เดินทางจากเนปาลไปยังมิลาน ขับด้วยระยะทางรวม 750 กิโลเมตร โดยใช้ความเร็วตลอดการเดินทางพิสูจนความทนทานและมั่นใจการใช้งาน ด้วยความเร็วเฉลี่ยในการเดินทาง 122 ก.ม./ช.ม. ถือว่าสูงมากในยุคนั้น
ส่วนทางฝั่งมอเตอร์ไซค์ ก็มีหลายรุ่น ทั้ง Suzuki T500 รถมอเตอร์ไซค์ 500 ซีซี 2 สูบรุ่นแรกของโลก สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ 181 ก.ม./ช.ม. ทำเวลา 0-400 เมตรได้ใน 13.2 วินาที
ส่วนตัวผมชอบคันนี้ Suzuki RE-5 มอเตอร์ไซค์เครื่องโรตารี่รุ่นแรกและรุ่นเดียว ขายเพียงปีเดียวเลิก รถรุ่นนี้ขึ้นชื่อในฐานะรถที่สวยงามในการออกแบบจากฝีมือ Giorgetto Guigiro ใช้เครื่อง 1 โรตารี่ 497 ซีซี ให้กำลัง 62 แรงม้า
ในชั้นนี้มีรถที่น่าสนใจอีกเพียบ ไม่ว่า Suzuki Cappuccino ,หรือคุณอาจจะอยากตามหาทายาท Suzuki Jimny ตั้งแต่รุ่นแรกมาจนถึงรุ่นก่อนปัจจุบัน
หรืออยากเห็นที่สุดสกู๊ตเตอร์ 50 ซีซีสุดน่ารัก Choinori มันขายในปี 2003 ในราคาเพียงไม่ถึง 6 หมื่นเยน !!
ชั้น 3 เดินแล้ว ได้ข้อสรุป เรื่องหนึ่ง คือ Suzuki แทบไม่เคยคิดทำรถใหญ่เลย ผมไม่แปลกใจแล้ว ทำ พวกเขาถูกเรียกว่าผู้เชี่ยวชาญรถเล็ก มาจนวันนี้ โดยเฉพาะความสำเร็จจากรถยนต์ Suzuki Swift
///
จากชั้น 3 ลงมาชั้น 2 ชั้นนี้จะเล่าเรื่องราวการพัฒนารถยนต์ Suzuki ในปัจจุบัน ในแต่ละขั้นตอน เริ่มจากการเอาแนวคิดมาเป็นการออกแบบในคอมพิวเตอร์
การเอางานออกแบบคอมพิวเตอร์ มาสร้างเป็นชินงานดินเหนียว ในเบื้องต้น แล้ว ขยายขนาดให้เท่าคันจริง
การออกแบบและวิเคราะห์ภายในห้องโดยสาร
จากนั้น พวกเขาพาเราชมการวิศวกรรมรถ เริ่มจากแชสซีตัวรถ
การวิศวกรรมเครื่องยนต์
การทดสอบรถยนต์ที่ผลิตขึ้นมาก่อนออวางจำหน่าย โดยเฉพาะความปลอดภัย จากนั้นแสดงเรื่องขั้นตอนการประกอบรถ Suzuki ในปัจจุบัน อาทิ การใช้แรงงานหุ่นยนต์แทนคนงาน
ขั้นตอนการประกอบต่างๆ ผมว่าเหมาะมาสำหรับพาลูกๆ มาชน ถ้าเขาชื่นชอบสร้างรถ น่าจะเป็นที่สนใจพอสมควรเลยทีเดียว
ก่อนจาก Suzuki Plaza คุณสามารถซื้อขอที่ระลึกติดมือกลับบ้านได้ อย่างตอนช่วงที่ผมมา จะมีโมเดล Suzuki Jimny วางขายอยู่ วิธีซื้อต้องกดตู้อัตโนมัติเอา ตามที่ชอบ แล้วไปยื่นให้หนักงานครับ
สำหรับใครที่ไปแล้วกังวลว่าแฟนจะเบื่อหรือเปล่า อันนี้ไม่ต้องห่วง Suzuki Plaza ในเมือง ฮามามัทซึ ใช้เวลาชมเพียง 2 ชั่วโมง (ถ้าเอ้อระเหยถ่ายรูปไปเรื่อย อาจมีเกือบ 3 ชั่วโมง) พื้นทีการชมไม่มาก สามารถข้ามชั้น 2 ก็ได้ ถ้าคุณไม่ได้สนใจ แค่อยากมาดูรถเด็ดๆ ของค่ายนี้ก็ชั้น 3 อย่างเดียวก็ได้ไม่ว่ากัน ส่วนค่าเข้าชมนั้นไม่เสีย ฟรี!! ครับ
แถมหลังชม สามารถเดินทางเข้าไปในเมืองฮามามัทซึ แวะทานปลาไหล หรือ จะต่อไปยังเมืองคาเคะกะวะ (Kakegawa) ห้องน้ำชาแห่งญี่ปุ่น ด้วยชื่อเสียงชาเขียวก็ได้ครับ
ด้วยความชอบรถเป็นทุนเดิม ผมออกมาพร้อมความอิ่มเอมใจ ที่ได้มาเยือน Suzuki Plaza ทราบถึงเบื้องหลัง กว่าจะมามีวันนี้ของ Suzuki พวกเขาถือเป็นบริษัทรถยนต์ที่สร้างสรรค์จากความตั้งใจ และความพยายาม จนเราได้ใช้รถที่ดีราคาไม่แพง
เรื่องโดย ณัฐยศ ชูบรรจง