Home » Mercedes-Benz A200 อย่าให้เครื่องเบนซิน 1.3 ลิตร ตัดสินทุกอย่าง
Bust First Drive

Mercedes-Benz A200 อย่าให้เครื่องเบนซิน 1.3 ลิตร ตัดสินทุกอย่าง

วันนี้เราพาทุกท่านไปขับ Mercedes-Benz A200 รถพรีเมียมซัพคอมแพ็คซีดาน 4 ประตู ที่เปิดตัวด้วยราคา 2.49 ล้านบาท กันแบบสุดสมรรถนะเพื่อดูว่ามันตอบสนองอย่างไร

ไม่รู้เป็นเพราะอะไรคนส่วนใหญ่เวลาพบเห็นข่าวการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ถ้ารถคันนั้นติดตั้งขุมพลังที่มีความจุน้อยๆ อาทิ 1.0-1.5 ลิตร ก็จะพูดไปทิศทางเดียวกันกว่า จะวิ่งออกเหรอ? เครื่องคงทำงานหนักจนพังไวบ้างล่ะ เหมือนเช่นตอนที่ Mercedes-Benz A200 ได้เผยโฉมในไทย ด้วยราคา 2.49 ล้านบาท กับเครื่องยนต์เบนซินเทอร์โบ 4 สูบ ขนาด 1.3 ลิตร ผู้อ่านหลายท่านถึงกับถามย้ำว่าเบนซ์กล้าใส่มาได้อย่างไร?

นับว่าโชคเข้าข้างเราที่นำพาให้ได้ไปร่วมกิจกรรม Mercedes-Benz Driving Events 2019 สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์ อันมีจุดประสงค์หลักในการจัดงานเพื่อเสริมทักษะความรู้และวิธีการขับขี่ปลอดภัยให้กับสื่อมวลชน และลูกค้ารถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ อีกทั้งเพื่อฝึกฝนให้ผู้ขับขี่สามารถคาดการณ์อันตรายต่างๆ ได้ล่วงหน้า และสามารถหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุได้อย่างทันท่วงที โดยผู้เข้ารับการอบรมจะได้เรียนรู้และ พัฒนาทักษะการขับขี่แบบขั้นสูง

จริงอยู่ว่างานครั้งนี้ทางเบนซ์นำรถยนต์ที่มีขายในไทยกว่า 20 รุ่น มาให้ผู้เขียนและสื่อท่านอื่นได้ลองขับ แต่คันที่จะขอพูดถึงมากที่สุดก็คือ Mercedes-Benz A200 ที่มีทั้งรุ่น AMG Dynamic กับรุ่นที่เบนซ์ไม่ได้ขายแต่เอามาให้เราขับ…งงล่ะสิ แต่ก็ไม่เป็นเรื่องผิดอะไร แม้ว่าการตกแต่งภายนอกหรือขนาดของล้อจะต่างกันบ้าง ทว่าโดยรวมแล้วการขับขี่ที่เราสัมผัสได้จัดว่าใกล้เคียงกัน

ก่อนอื่นต้องบอกว่ากิจกรรมครั้งนี้เขามีสถานีให้เราฝึกและทดสอบอยู่ 6 สถานี โดยทางผู้จัดได้แบ่งกลุ่มสื่อมวลชนออกเป็น 3 กลุ่ม 3 สี ผู้เขียนเองได้อยู่สีแดงที่โดนจับให้ทดสอบในสถานี Handling Course ที่จำลองการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ต เพิ่มความตื่นเต้นเร้าใจให้ผู้ทดสอบทุกคนด้วยการจับเวลาการแข่งขัน โดยผู้ทดสอบจะได้ใช้ทักษะในการควบคุมรถ การเบรก และการเร่งความเร็วของรถยนต์

ก่อนได้นั่งลงบน A200 AMG Dynamic สีขาว ครูฝึกจากแดนจิงโจ้ ผู้มีนามว่า Jordan Love ก็ได้สาธิตวิธีการขับแบบ Motorkhana (Gymkhana) ให้พวกเราได้ดูไลน์ในการขับบนสนาม แน่นอนว่าก่อนจะแข่งต้องมีรอบซ้อม 2 รอบ จากนั้นจึงค่อยจับเวลาในรอบสุดท้าย

บรีฟสั้นๆ พอเข้าใจ เราได้ก้าวเข้าสู่ตัวรถ A200 สัมผัสแรกที่รู้สึกคือเข้าห้องโดยสารได้สะดวกมาก ไม่จำเป็นต้องก้มเพื่อหลบเลี่ยงแนวหลังคามากเท่าไหร่ พอเข้าไปตำแหน่งผู้ขับขี่ก็ปรับเบาะไฟฟ้าหาจุดสมดุลที่สุดเพื่อบังคับรถ ขณะเดียวกัน คู่ฝึกก็ได้แนะเพิ่มเติมว่าควรปรับเบาะให้อยู่ต่ำ เพราะจะเป็นการบังคับสายตาของเราให้มองตรงไกลไปข้างหน้า แทนที่การปรับเบาะสูงๆ จนสายตาของเรากวาดมองได้รอบจนเสียสมาธิในการมองเส้นทาง

เอาล่ะปรับตำแหน่งเบาะพร้อมลุยสถานีแรกกดคันเร่งออกไปแบบจมมิด เครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ ขนาด 1.3 ลิตร ให้กำลัง 163 แรงม้า แรงบิด 250 นิวตันเมตร ที่ 1,620 รอบต่อนาที กำลังออกมาแบบติดเท้าไม่มีการรอรอบ ผนวกกับพวงมาลัยที่มีความเบาคมทำให้หักโยกหลบกรวยที่ตั้งไว้เพื่อบังคับทิศทางได้คล่องมือ พอสุดทางจึงค่อยเบรกหนักแต่มีการไล่น้ำหนักให้นุ่มนวล ตัวรถตอบสนองการถ่ายเทน้ำหนักได้ดี ทำให้ไม่ต้องแต่งประคองรถเพื่อเร่งออกจากจุดกลับรถมากเกินพอดี

นอกเหนือจากสถานีที่เราเรียกมันว่าจิมคาน่า ก็ยังมีแบบจำลองอื่นๆ อาทิ Brake & Lane Change, ESP® Simulation, Drag Race & Brake to a Point และ Cornering Exercise ซึ่งทุกแบบที่กล่าวมาช่วยเสริมสร้างทักษะในการขับขี่ด้านความปลอดภัย ไปจนถึงเพิ่มพูนฝีมือการขับขี่แบบ Racing ทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถเข้าใจถึงการใช้คันเร่ง เบรก รวมถึงอ่านจุด Apex และวางแผนการขับขี่ในแต่ละโค้งได้อย่างแนบเนียนไม่แพ้นักแข่ง

มาถึงวันสุดท้ายของกิจกรรมทางเบนซ์ได้จัดสถานีที่มีชื่อว่า Lead and Follow โดยแยกรถออกเป็น 4 กลุ่ม ตามประเภทและระดับความแรง แน่นอนว่าบทความนี้ว่าด้วยเรื่อง A200 โดยเฉพาะ ซึ่งเจ้าพรีเมียมคอมแพ็คซีดานคันนี้ ทำให้เราเข้าใจจริงๆ ว่าเครื่องไซส์เล็กขนาดนี้ก็เหมาะสมแล้ว…

ด้วยระยะทาง 4.554 กิโลเมตร กับทางตรงยาว 1 กิโลเมตร และโค้งหลากหลายแบบอีกกว่า 12 โค้ง ทำให้เราสามารถทดสอบ A200 ได้เต็มเต็มหน่วยเกินกว่าการขับขี่บนถนนสาธารณะ ทันทีที่เริ่มออกสตาร์ทเราก็กดคันเร่งรีดกำลังรถให้ทะยานสู่ความเร็วระดับ 140 กม./ชม. ได้แบบสบายๆ ไม่อืดอาดอย่างที่หลายคนคาดไว้ก่อนลงขับ อย่างไรก็ดี ความเร็วในช่วงระดับสูงนั้นจะไหลขึ้นช้าตามสไตล์เครื่องเล็ก แต่อัตราเร่งแซง 60-80, 80-120 กม./ชม. ถือว่าสอบผ่าน กำลังเหลือเฟือเกินกว่าการขับบนถนนทั่วไปแน่นอน

ในด้านการบังคับควบคุมนั้น ฟีลสัมผัสของพวงมาลัยจะมีความเบามือ ให้ความคมค่อนข้างมากตามสไตล์รถสปอร์ต แต่ความนิ่งและความหนักเมื่อขับขี่เร็วๆ พูดได้เต็มปากว่ามั่นใจและให้ความสนุกสนานเต็มที่ ไม่ว่าจะเจอทางโค้งเปิดกว้างที่ต้องสาดใส่ด้วยความเร็วสูง หรือโค้งองศาแคบที่ต้องลดความเร็วลงมาเพื่อให้รถตบเข้าไลน์โค้งได้นิ่งที่สุด

ไม่ใช่เพียงแค่พวงมาลัยเท่านั้นที่สร้างรอยยิ้มให้กับเรา หากยังรวมถึงช่วงล่างที่มีการปรับตั้งค่ามาอย่างดี ด้วยคาแรกเตอร์ของรถที่เกิดมาเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าวัยเริ่มทำงานหรือวัยรุ่น ประเด็นความนุ่มนวลก็ถือว่าให้มาในระดับพอดิบพอดี แต่พอเริ่มอัดใส่ด้วยความเร็วเท่านั้นแหละ เจ้า A200 สามารถเปลี่ยนอารมณ์จากรถขับชิวๆ กลายเป็นสปอร์ตคาร์คันย่อมที่ให้ความสนุกเมื่อต้องขับขี่ในวัน Track Day ได้เป็นอย่างดี

เราลองขับมาเร็วๆ แล้วเบรกน้อยกว่าปกติเพื่อลองเข้าโค้งตีวงกว้าง ผลคือช่วงล่างรถมีอาการดีดดิ้นหรือ Understeer ให้สัมผัส แต่มันยังสามารถประคองตัวรถให้ผู้ขับขี่ค่อยๆ ลดความเร็วแล้วพาตัวรถผ่านจุดนั้นมาได้แบบไม่ต้องเกร็งมากนัก แต่กรณีที่ขับตามเรสซิ่งไลน์ถูกต้องทุกโค้งแล้วล่ะก็ A200 ทำให้ผู้เขียนยิ้มมุมปากได้ทุกครั้งเวลาเจอโค้ง เพราะมันเป็นรถที่มีไดนามิกทุกสิ่งเอื้อต่อการขับขี่เป็นอย่างมาก แม้ว่าเครื่องจะไม่ได้แรงเวอร์ระดับ 300 แรงม้า++ แต่สิ่งต่างๆ ที่อยู่บนรถคันนี้มีความลงตัวตอบสนองการใช้งานทุกรูปแบบ

หลังเสร็จสิ้นกิจกรรมทั้งหมดผมตั้งคำถามกับตัวเองว่า A200 ทำได้อย่างไรถึงให้ทุกสิ่งที่คนขับรถยุคใหม่ต้องการ ซึ่งก็ต้องปรบมือให้กับทีมวิศวกรผู้ออกแบบรถคันนี้ เพราะเจ้านี่ไม่ใช่เพียงแค่รถพรีเมียมรุ่นถูกสุดที่หลายคนให้คำนิยามว่า รถของเศรษฐีใหม่ แต่มันมีดีมากกว่าคำสบประมาทนั้นจะมาตัดสินได้

ติดตามข่าวสารและบทความดีๆ จากพวกเราทีมงาน Ridebuster.com

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่

Comments are closed.