กลายเป็นที่โอดครวญของคนใช้รถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล ว่า เมื่อไรก็ตามที่มีฝุ่นมาปกคลุม พวกเขาจะต้องกลายเป็นจำเลยสังคม ถูกกระทบกระเทียบว่าต้องมีบทบาทรับผิดชอบ ต่อปัญหาหาสภาพอากาศฝุ่นหนา และเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
เมื่อย่างเข้าหน้าหนาวทีไร ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 มักจะโผล่มาทักทายให้ดูต่างหน้ากันเป็นประจำ จนบางครั้งมันไม่ต่างจากเพลงของพี่เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย …หมอกและควัน…. ในทุกยามเช้า
ทำไมเครื่องยนต์ดีเซล ถึงเป็นตัวการสำคัญ
ตั้งแต่เมื่อปีกลาย เมื่อคนแตกตื่นกับค่า PM 2.5 ที่ปกคลุม คลุ้งทั้งเมือง มีคนพยายามหาสาเหตุต่างๆ มากมาย ของปัญหา และท้ายสุดมาลงเอยที่เครื่องยนต์ดีเซล ว่าเป็นตัวการสำคัญ จนพาลพาหลายคนที่ใช้รถกลุ่มนี้เซ็ง และแถมมันเป็นกลุ่มใหญ่เสียด้วย
รถเครื่องยนต์ดีเซล เป็นที่ตระหนักในหลายประเทศทั่วโลก ถึงอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ตั้งแต่อดีตมาจนปัจจุบัน สำหรับคนไทยมักจะรู้จักควันดำมาก่อนจะรู้จักเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก ,ควันดำ หรือ Soot เป็นควันที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์ดีเซล เขม่าสีดำหนาๆ ประกอบด้วยสารก่อมะเร็ง คล้ายกัย กับเวลาเราปิ้งหมูไหม้ และกินมันเข้าไป ควันดำ ถ้าสูดดมไปนานๆ ก่ออันตรายต่อสุขภาพ มีสารก่อมะเร็ง และยังส่งกลิ่นเหม็นด้วย
การพัฒนาเครื่องยนต์ดีเซลสืบทอดต่อมาเรื่อย ด้วยความต้องการให้ได้ทั้งกำลัง และการปล่อยมลพิษน้อยลง เนื่องจากเครื่องยนต์แบบนี้มีคุณสมบัติทางด้านแรงบิดที่ดี เป็นที่นิยมในภาคการพาณิชย์และขนส่ง
ปัจจุบันรถยนต์เก๋ง-กระบะที่ขายในไทย มาพร้อมมาตรฐาน ยูโร 4 มีการนำไอเสียมาวนเพื่อให้การเผาไหม้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นมีตัวกรองอีกชั้น ก่อนจะปล่อยออกสู่ภายนอก
ถึงจะมีการกรองอย่างดีในระดับหนึ่งจนลดควันดำได้สัมฤทธิ์ผล แต่ด้วยกรรมวิธีการจุดระเบิดแบบบีบอัดอากาศในห้องเผาไหม้เครื่องยนต์ดีเซล จึงทำให้มีค่าความร้อนจากการเผาไหม้สูง จนก่อให้เกิดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเล็ดรอดออกไปจากตัวกรองที่มีในปัจจุบัน ซึ่งสามารถกรองฝุ่นขนาดเล็กเหล่านี้ได้เพียงน้อยนิดเท่านั้น
เป็นจำเลยจริง ..หรือสังคมพาไป
ถ้าคุณสงสัยว่า รถเครื่องยนต์ดีเซลคันเก่งเป็นตัวการปล่อย PM 2.5 จริงหรือไม่ รายงานจาก TCIJ ได้อ้างอิงการศึกษาค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ของ Nguyen Thi Kim Oanh ในหัวข้อ A Study in Urban Air Poluttion Improvement in Asia ในปี 2017 รายงานชิ้นนี้มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเป็นงานวิจัย ของ Japan International Cooperation Agency หรือ JICA เก็บข้อมูลในเดือน กันยายน พ.ศ. 2558- กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 นักวิจัยได้ทำการสำรวจข้อมูลในกรุงเทพมหานคร โดยวางเครืองมือไว้ 2 จุดสำคัญ คือ 1. กรมควบคุมมลพิษ และ 2.ที่สถาบัน AIT (ม. ธรรมศาสตร์รังสิต)
จากการตรวจวัดค่า PM 2.5 ตามรายงานย้อนหลังไป 2-3 ปีที่แล้ว พบว่า รถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล ยังเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของ PM 2.5 โดยมีค่าการปล่อยไอเสีย อยู่ที่ ร้อยละ 28 ในภาวะที่อากาศมีฝนตก-มีความชื้น ( Wet Period) และในภาวะอากาศแห้งจะเป็นต้นตอของปัญหาฝุ่นนี้ถึง ร้อยละ 21 เลยทีเดียว
โดยอีกสาเหตุสำคัญที่ในวิจัยนี้บอกว่า เป็นต้นตอของฝุ่น PM 2.5 ด้วยนั้น คือ การเผาในที่โล่ง สร้างปัญหาทางด้านฝุ่นมากกว่ารถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล และไม่มีกระบวนการแก้ไขหรือควบคุมอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ดี ในระยะ 2-3 ปี หลังจากงานวิจัยชิ้นนี้ต้องยอมรับว่า จำนวนรถยนต์ในไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถกระบะ- รถอเนกประสงค์เครื่องยนต์ดีเซลเป็นที่นิยมในตลาดอย่างมาก และไม่สามารถล้มล้างความนิยมที่มีตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันได้
ล่าสุด นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ได้สัมภาษณ์ BBC ไทย “เราได้มีการสำรวจใหม่ว่า ค่าฝุ่นฯ (ใน กทม.) เกิดจากยานพาหนะ (รถยนต์) ร้อยละ 72.5”
แก้ไข-ดัดแปลง เครื่องยนต์ ปัญหานี้ทีรัฐควรดูแล
ถึงแม้จากข้อมูลในรายงานวิจัย เมื่อ 3 ปีที่แล้ว จะชี้ว่า ดีเซล อาจไม่ใช่จำเลยสำคัญ ของการสร้าง PM 2.5 แต่กระนั้น ก็ยังติดอันดับต้นๆ ในแถวหน้า ร่วมกับการเผาในที่โล่งอยู่ดี
นอกจากนี้ ในระยะหลังจำนวนรถบนถนนยังเพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัวแล้ว ปัจจุบันการดัดแปลงเครื่องยนต์ดีเซล ได้รับความชื่นชอบจากคนจำนวนมาก โดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมในภาพรวม
การดัดแปลงเครื่องยนต์ดีเซล จากผู้ใช้มีมากมาย ตั้งแต่การอุด EGR ระบบหมุนวนไอเสีย ใส่แผ่นบล็อกไม่ให้ไอเสียวนกลับเข้าห้องเผาไหม้ ไปจนถึงการแต่งเครื่องยนต์จูนกล่อง จนวิ่งบนถนนทีสร้างควันดำ ปล่อยควันพิษ และ PM 2.5 โดยไม่ยี่หระ ต่อกฎหมายใดๆ
การประกาศบังคับตรวจจับควันดำ โดยส่วนใหญ่แล้วภาครัฐ มักจะใช้กับรถบรรทุก และรถโดยสาร ด้วยอาจจะเห็นว่าเป็นรถขนาดใหญ่ บางคันมีอายุอานามเก่า สมควรจะเปลี่ยนหรือเลิกใช้งานได้แล้ว หากข้อเท็จจริง รถเครื่องดีเซล ที่ปล่อยควันพิษมากมาย กลับเป็นบรรดารถกระบะส่วนบุคคล หลายคันแต่งซิ่ง ปล่อยควันดำมากมายจนสามารถสังเกตได้ด้วยสายตาของเจ้าหน้าที่ โดยไม่ต้องตรวจวัด กลับไม่เคยเห็นภาครัฐ เข้ามามีบทบาทกวดขันมาก่อน
รวมถึงการอุดดัดแปลงระบบกรองไอเสีย ควรถูกตราในกฎหมายว่าเป็นกระบวรการดัดแปลงเครื่องยนต์ด้วย เนื่องจากทำให้การปล่อยไอเสียเพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว
สู่ยูโร 5 ปลดตราบาป จำเลยสังคม
อย่างไรก็ดี ทางออกที่จะทำให้ เครื่องยนต์ดีเซล หลุดจากจำเลยสังคมในฐานะผู้ปล่อย PM 2.5 หนทางที่ดีที่สุด คือ การแนะนำระบบจัดการไอเสียตามมาตรฐานยูโร 5 และ 6 ตามลำดับในอนาคต อันใกล้
ปัจจุบัน รถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลในไทยหลายรุ่น โดยเฉพาะรถยุโรปได้ก้าวสู่มาตรฐานไอเสียดังกล่าวแล้ว เนื่องจากเป็นรถนำเข้าจากต่างประเทศ ทว่าแบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่น กลับยังคงตรึงไว้ที่มาตรฐานยูโร 4 ทั้งที่เครื่องยนต์ที่แนะนำในประเทศไทยวันนี้ ในเวอร์ชั่นส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะยุโรป กลับสามารถทำให้รถผ่านมาตรฐานไอเสียเข้มงวดได้ถึง ยูโร 6 ด้วยซ้ำไป
ทำไมมาตรฐานไอเสียยูโร 5 จึงทำให้ไอเสียจากเครื่องยนต์ดีเซลสะอาดขึ้น นั่นมาจากการติดตั้ง อุปกรณ์กรองไอเสียเพิ่มเติม ที่เรียกว่า Diesel Particle Filter หรือ บางคนรู้จักในนาม DPF ตัวกรองนี้จะช่วยดัง PM 2.5 จากเครื่องยนต์ได้ดีกว่าเพียงระบบหมุนวนไอเสียที่ใช้ในมาตรฐานยูโร 4
แผนนี้ประกาศออกมาตั้งแต่เมื่อปีกลาย จากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ตั้งเป้าให้รถเก๋ง-กระบะ เครื่องยนต์ดีเซลที่ผลิตและขายในไทย ต้องผ่านมาตรฐานไอเสียยูโร 5 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป แต่ในการประกาศนี้ ปรากฏว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กลับตั้งเวลาไปไกลถึง พ.ศ. 2566 หรือ อีก 3 ปี ต่อจากนี้
จากกระแสดังกล่าวบริษัทผู้ผลิตก็ยอมรับการปรับตัว แต่ก็แอบเปรยว่าราคารถอาจจะแพงขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากเทคโนโลยีการกรองไอเสียที่สูงขึ้นกว่าปัจจุบันที่วางจำหน่าย
อย่างไรก็ดี การยกระดับมาตรฐานไอเสียในไทย ถือว่า ล่าช้ากว่าแผนที่วางเอาไว้ เนื่องจากภาครัฐวางแผนยกระดับสู่ยูโร 5 ในปี พ.ศ. 2550 แต่เอาจริงกว่าจะได้ใช้มาตรฐานไอเสียยูโร4 ก็ปาไปปี พ.ศ. 2555 เช่นเดียวกัน มาตรฐานยูโร 5 วางแผนว่าจะใช้ในปี พ.ศ. 2554 มาวันนี้เพิ่งจะเริ่มเห็นทางสว่างปลายทาง
เครื่องยนต์ดีเซล อาจไม่ใช่จำเลยเดียวที่ก่อ PM 2.5 แต่ก็ยอมรับว่าในบรรดารถยนต์ที่ก่อเรื่องฝุ่นในวันนี้ ดีเซล อาจจะเป็นตัวการสำคัญที่สุดมากกว่าเครื่องยนต์เบนซิน หนทางแก้ได้ถูกประกาศออกมาแล้ว ก็ได้แต่รอวันให้นโยบายเริ่มทำงาน จนในอนาคตข้างหน้าเราอาจจะได้เห็นกรุงเทพที่ปลอดจาก PM 2.5 ในที่สุด เดินกลางกรุงสูดอากาศบริสุทธิ์กันในอนาคต