Honda Click ถือเป็นหนึ่งในรถมอเตอร์ไซค์ทรงสปอร์ต-สกู๊ตเตอร์ที่ได้รับความนิยมและอยู่กับชาวไทยมานานพอสมควร การปรับโฉมครั้งใหญ่ เปลี่ยนชิ้นส่วนใหม่เกือบทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับขุมกำลังที่ใหญ่ขึ้นจนแแตะคำว่า Honda click 160
ก่อนที่จะ รีวิว Honda Click 160 โดยไล่เรียงถึงสมรรถนะของตัวรถ
เช่นเคย เราต้องไล่ถึงหน้าตาภายนอกของมันก่อน เพราะมันมีแค่เพียง เบ้ากุญแจ ที่เป็นแบบ Keyless, ชุดดวงไฟเลี้ยวคู่หลัง ที่เป็นแบบหลอด LED และสุดท้ายคือ ชุดหน้าจอมาตรวัด แบบสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่พาดยาว เท่านั้นที่ยังคงมีหน้าตาเหมือนเดิม
ในส่วนงานดีไซน์ของชุดแฟริ่งเปลือกนอกรอบคันได้ถูกปรับใหม่ ให้ดูมีความเป็นบิ๊กสกู๊ตเตอร์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชุดแฟริ่งหน้า ที่มีการขยายขนาดปีกแฟริ่งข้างให้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมมาก แม้แต่ชิ้นแฟริ่งทางด้านหน้า ก็ยังดูสูงขึ้น จนเกือบบังชิ้นพลาสติกครอบชุดแฮนด์ทางด้านบน ซึ่งถูกทำมาเพื่อให้ตัวรถสามารถแหวกอากาศได้ดีกว่าเดิม ในช่วงความเร็วสูง
ตัวบังโคลนหน้า ก็เปลี่ยนมายึดกับปลอกโช้กทางด้านล่าง จากเดิมที่ยึดกับแผงคอล่าง เพื่อลดระยะห่างระหว่างหน้ายางกับบังโคลน ช่วยให้รถดูแน่นกว่าเดิม ไม่เว้นแม้กระทั่งชุดแฟริ่งท้าย ที่ดูอวบอิ่มมากขึ้น และถึงแม้ไฟหน้ากับไฟท้าย จะดูคล้ายเดิม แต่ในความเป็นจริง มันคือของใหม่ ที่ใช้ร่วมกับรุ่นก่อนไม่ได้ แถมยังดูโฉบเฉี่ยวยิ่งขึ้นอีกด้วย
ในส่วนชุดล้อเอง นอกจากการเปลี่ยนลายแบบ 5 ก้านคู่ เป็น 5 ก้านตัว Y แล้ว ชุดล้อเองก็ยังใหญ่ขึ้นด้วย เป็นขนาด 100/80-14 และ 120/70-14 เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการยึดเกาะของหน้ายาง และยังทำให้ตัวรถมีความมั่นคงมากกว่าเดิม
ไม่เพียงเท่านั้น หากเป็นตัวรถรุ่น ABS นอกจากมันจะมาพร้อมกับระบบป้องกันล้อหน้าล็อคตายตอนกำเบรกหนักๆแล้ว จานเบรกหน้าที่ให้มายังมีขนาดใหญ่ขึ้น และตัวระบบเบรกทางด้านหลังเอง ก็ยังถูกเปลี่ยนจากแบบดรัมเบรก เป็นดิสก์เบรกตามคำเรียกร้องจากลูกค้าอีกด้วย
อีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญของ Honda Click 160 แต่อยู่ทางด้านใน ก็คือเรื่องของชุดเฟรม ที่ในคราวนี้ ได้มีการเปลี่ยนไปใช้แพลทฟอร์ม eSAF หรือ Enhanced Smart Architecture Frame อันเป็นแพลทฟอร์มสำหรับรถสกู๊ตเตอร์ที่ใช้เฟรมแบบอันเดอร์โบนรุ่นใหม่ ซึ่งมีจุดเด่นคือให้ความแข็งแรงที่มากขึ้น บนน้ำหนักตัวที่เบาลงกว่าชุดเฟรมแบบเดิม
ด้านข้อมูลทางเทคนิคอื่นๆของ ฮอนด้า คลิ๊ก 160 ก็มีรายละเอียดดังนี้
- ความยาว : 1,929 มิลลิเมตร (Click 150 : 1,919 มิลลิเมตร)
- ความกว้าง : 695 มิลลิเมตร (Click 150 :679 มิลลิเมตร)
- ความสูง : 1,088 มิลลิเมตร (Click 150 : 1,062 มิลลิเมตร)
- มุมคาสเตอร์ / ระยะเทรล : 26.0° / 85 มิลลิเมตร (Click 150 : 26.30° / 83 มิลลิเมตร)
- ระยะฐานล้อ : 1,277 มิลลิเมตร (Click 150 : 1,280 มิลลิเมตร)
- ความสูงเบาะ : 778 มิลลิเมตร (Click 150 : 769 มิลลิเมตร)
- ความสูงใต้ท้องรถ : 138 มิลลิเมตร (Click 150 : 132 มิลลิเมตร)
- ถังน้ำมันความจุ : 5.5 ลิตร (Click 150 : 5.5 ลิตร)
- น้ำหนักตัวรถ : 118 กิโลกรัม (Click 150 : 112 กิโลกรัม)
จากการปรับเปลี่ยนในข้างต้น ทำให้เมื่อผู้ทดสอบได้ลองนั่งบนเจ้า Click 160 สิ่งที่สามารถสัมผัสได้ก่อนเป็นอย่างแรก ย่อมหนีไม่พ้นเรื่องความสูงของตัวเบาะ ที่สำหรับผู้ซึ่งสูงไม่ถึง 170 เซนติเมตร จะรู้สึกว่าเราต้องเขย่งส้นเท้าขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะมันสูงกว่าเดิมถึงเกือบ 1 เซนติเมตร
ทว่าหากมองในภาพรวมมันก็ไม่ได้เป็นปัญหามากเท่าไหร่นัก เนื่องจากด้วยรูปทรงของเบาะช่วงหว่างขาที่แคบ จึงทำให้ยังสามารถใช้วิธียืนจอดด้วยขาข้างเดียวได้อย่างไม่ติดขัดใดๆอยู่
ส่วนท่าทางในการนั่งขี่ต่างๆ หากให้เรียนกันตามตรง ตัวผู้ทดสอบพบว่ามันแทบไม่ได้ให้ความรู้สึกที่แตกต่างไปจากรุ่นพี่ของมันมากเท่าไหร่นัก ทั้งจากตำแหน่งแฮนด์ที่ไม่สูง ไม่กว้างและไม่ได้ไกลจากตัวผู้ขี่มากนัก ค่อนไปทางกระชับและชิดกับตัวผู้ขี่หน่อยๆ เพื่อความคล่องตัวในการควบคุมและการลัดเลาะรถไปตามช่องจราจรต่างๆ
แต่ทั้งนี้ เนื่องจากตัวฟลอบอร์ด หรือชิ้นส่วนแผ่นรองเท้ากลางลำตัวรถ ได้ถูกออกแบบใหม่ ให้มีความกว้างมากยิ่งขึ้น จึงทำให้การวางเท้าตอนนั่งขี่ มีความโปร่งสบายขึ้นเล็กน้อย ไม่อึดอัดมากเท่าไหร่นัก เหมือนกับรุ่นพี่ตัว 150
ในฝั่งระบบกันสะเทือน แม้ทาง Honda จะไม่ได้มีการเปิดเผยว่าพวกเขาได้ทำการปรับเซ็ทการทำงานของระบบช่วงล่างอย่างไรมากนัก แต่ถึงแม้มันจะยังคงใช้ชุดโช้กอัพตะเกียบคู่หัวตั้งทางด้านหน้า กับโช้กต้นเดี่ยวทำงานร่วมกับชุดกลไกแบบยูนิตสวิงเช่นเดิม ทว่ามันกลับให้ความรู้สึกในการควบคุมและพลิกเลี้ยวที่ต่างไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด
เพราะอย่างที่เราได้นำเสนอข้อมูลไว้ในข้างต้นไปแล้วว่า สำหรับตัวรถ Click 160 รุ่นใหม่นั้น ได้มาพร้อมกับทั้งชุดยางที่มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิม ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง โดยถึงแม้ระยะฐานล้อจะสั้นลง กับแผงคอจะตั้งชันขึ้น แต่ระยะเทรลก็มากขึ้นเช่นกัน
นั่นจึงทำให้เจ้า Click รุ่นใหม่ ให้ความรู้สึกในการพลิกเลี้ยว ที่ฉับไวได้ถูกลดทอนลงไปเล็กน้อย แต่แทนที่ด้วยความมั่นคง ตั้งแต่จังหวะที่เริ่มหักเลี้ยว ไปจนถึงการเลี้ยงความเร็วในโค้งที่ดีขึ้นมาก ทว่าในส่วนของโช้กหลังกลับยังคงมีอาการย้วยให้รู้สึกอยู่บ้าง ส่วนหนึ่งอาจด้วยน้ำหนักตัวผู้ทดสอบที่มากถึง 90 กิโลกรัม แม้แต่ความสามารถในการซับแรงสะเทือนต่างๆเองก็ยังมีอาการโช้กยันให้รู้สึกได้ง่ายอยู่บ้างเมื่อต้องผ่านผิวถนนช่วงที่มีความขรุขระจริงๆ เช่นฝาท่อ เป็นต้น (แต่ทั้งนี้ก็มักจะเกิดขึ้นในช่วงความเร็วสูงจริงๆเท่านั้น)
ในฝั่งระบบเบรกเอง ด้วยความที่สำหรับตัวรถรุ่น ABS ได้รับการการปรับเปลี่ยนขนาดจานเบรกหน้าใหม่ให้ใหญ่ขึ้น และเปลี่ยนระบบเบรกหลังให้เป็นดิสก์เบรก จึงทำให้ความสามารถในการหยุดชะลอตัวรถของเจ้า Click รุ่นใหม่นี้เอง ก็สามารถทำได้อย่างกระชับ และฉับไวมากขึ้นโดยที่เราไม่ต้องกังวลในส่วนของระบบเบรกหน้าเลยสักนิด ว่ามันจะล็อคตายหรือไม่
เนื่องจากตัวระบบ ABS ที่ติดรถมานั้น สามารถทำงานได้ค่อนข้างไว และเนียนกำลังดี อาจจะมีอาการกระตุกขึ้นมาถึงนิ้วมืออยู่บ้าง แต่ก็แค่พอให้รู้ว่าระบบกำลังทำงานอยู่ก็เท่านั้น
แต่ทั้งนี้ เนื่องจากระบบเบรกทางด้านหลัง ยังไม่มีระบบ ABS มาช่วยทำงานด้วยแค่อย่างใด ดังนั้น หากคุณมีประสบการณ์ในการขี่รถ หรือทักษะในการขี่รถไม่มากพอ ก็อาจพบกับอาการล้อหลังล็อคได้ง่ายๆเมื่อกำเบรกหนักๆ (แต่ทั้งนี้ยังไงในการใช้งานจริง เราก็ควรจะใช้เบรกหน้าเป็นหลัก เพื่อความปลอดภัยอยู่แล้ว)
และจุดเปลี่ยนสำคัญจุดที่สุด ของเจ้า Click 160 ก็คือ การที่ขุมกำลังของมันได้ถูกเปลี่ยนใหม่แบบยกลูก จากเครื่องยนต์บล็อค eSP+ แบบสูบเดียว SOHC 2 วาล์ว ระบายความร้อนด้วยน้ำ ความจุ 149.3cc เป็นบล็อค eSP+ แบบสูบเดียว SOHC 4 วาล์ว ระบายความร้อนด้วยน้ำ ความจุ 156.9cc
ส่งผลให้ตัวเลขกำลังสูงสุดเพิ่มขึ้นเป็น 15.4 แรงม้า PS ที่ 8,500 รอบ/นาที กับแรงบิดสูงสุด 13.8 นิวตันเมตร ที่ 7,000 รอบ/นาที ขณะที่ระบบส่งกำลังแม้จะยังคงเป็นแบบอัตราทดแปรผัน CVT แต่ก็ถูกออกแบบใหม่ เพื่อให้รองรับกับพละกำลังของเครื่องยนต์ที่สูงขึ้นเช่นกัน
และด้วยการปรับปรุงที่ว่ามา จึงทำให้เราสามารถสัมผัสได้ถึงการเรียกอัตราเร่งของตัวรถที่ติดมือขึ้นมาก โดยแม้การออกตัวจะยังคงมีอาการรอรอบบ้างเล็กน้อย ตามฉบับของระบบส่งกำลัง ทว่าการเรียกอัตราเร่งในย่านความเร็วกลางกลับมีความฉับไวขึ้นมาก
ส่วนย่านความเร็วปลายเองก็สามารถไหลได้ยาวอย่างต่อเนื่องมากขึ้นเช่นกัน เหลือแค่เพียงการทดสอบในเรื่องอัตราสิ้นเปลือง และความเร็วสูงสุดเท่านั้น ที่ยังไม่สามารถทดสอบได้ เนื่องจากกรอบเวลา และสถานที่ ซึ่งค่อนข้างจำกัดในการทดสอบ
สรุป รีวิว Honda Click 160
การปรับโฉมครั้งใหญ่แบบ All-New ครั้งนี้ ไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงแค่เฉพาะในเรื่องของหน้าตาที่ดูมีความใหญ่โตมากขึ้นเท่านั้น แต่นิสัยของตัวรถเอง ก็ยังมีความจัดจ้านอย่างมั่นใจมากขึ้น ทั้งในส่วนของเครื่องยนต์ลูกใหม่ ที่ให้ความสนุกสนานในการเรียกอัตราเร่งขึ้นมาก
แต่เราก็หายห่วงได้ เนื่องจากมันมาพร้อมกับหน้ายางที่ใหญ่ขึ้น ระบบเบรกที่ใหญ่กว่าเดิม แล้วยังเสริมด้วยระบบความปลอดภัยอย่างระบบ ABS เข้ามาอีกหนึ่งขั้น โดยที่ความสามารถในการเข้าโค้งเองก็มีความมั่นคงมากกว่าเดิม แม้ว่ามันอาจจะทำให้ความฉับไวในการพลิกเลี้ยวหายไปบ้างก็ตาม
ฮอนด้า คลิ๊ก 160 พร้อมวางจำหน่ายในประเทศไทยด้วยราคาเริ่มต้นแนะนำที่ 63,500 บาท และมี 2 รุ่นนย่อยให้ลูกค้าได้เลือกซื้อด้วยกัน คือรุ่นสแตนดาร์ด และรุ่น ABS ซึ่งพร้อมให้ทุกท่านได้สัมผัสตัวรถคันจริงแล้วนับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปป ที่ศูนย์บริการและตัวแทนจำหน่ายรถมอเตอร์ไซค์ Honda ทั่วประเทศ