แม้ในช่วงปี 2019 ทาง Toyota ได้การประกาศว่าพวกเขาตั้งใจจะขายรถยนต์ไฟฟ้าราวๆ 3.5 ล้านคันทั่วโลกให้ได้ ภายในปี 2030 แต่เมื่อมองจากสถานการณ์ปัจจุบัน ตัวเลขดังกล่าวอาจทำได้ในระยะเวลาเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น จึงทำให้พวกเขาต้องปรับแผนใหม่ เพื่อรับมือกับทิศทางการตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็วเกินความคาดหมายเช่นนี้
จากการรายงานโดยสื่อสายธุรกิจชื่อดัง Reuters ระบุว่า เนื่องจากในปัจจุบัน ตลาดรถยนต์ไฟฟ้านั้นมีแนวโน้มที่จะเติมโตขึ้นอย่างรวดเร็วขึ้นมาก กว่าที่เหล่าผู้ผลิตเคยคาดการณ์เอาไว้เมื่อ 2 ปี ก่อน จึงทำให้ในขณะนี้ทาง Toyota ได้ตัดสินใจที่จะทำการปรับแผนการเกี่ยวกับการทำตลาดรถไฟฟ้าใหม่ แม้ตนเองได้ทำการทุ่มงบลงไปแล้วกว่า 1.4 ล้านล้านบาท ก่อนหน้านี้ในส่วนงานดังกล่าวไปแล้วก็ตาม
โดยในส่วนของการปรับแผนในขั้นต้น หลักๆแล้ว ทาง Toyota จะเน้นการมอบหมายงานให้เหล่าวิศวกรพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นถัดๆใหม่ๆ แทนแพลตฟอร์ม e-TNGA ซึ่งแต่เดิมได้ถูกวางแผนไว้ว่า จะเป็นแพลตฟอร์มที่ทางค่ายทำขึ้นมาเพื่อวางขายคู่กันไปกับแพลตฟอร์ม TNGA ดั้งเดิม ที่ออกแบบมาเพื่อปรับใช้กับรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน
ดังนั้น แม้แพลตฟอร์มรถยนต์ไฟฟ้า e-TNGA ใหม่นี้ทางค่ายจะพึ่งใช้ในรถไฟฟ้าของตนเองไปเพียง 2 รุ่นเท่านั้น นั่นคือ bZ4X ที่เปิดตัวเมื่อปีก่อน และ bZ3 ที่พึ่งเผยโฉมไปเมื่อวาน แต่เพื่อให้การทำรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ ที่ต้องทำในปริมาณมากกว่าที่เคยวางแผนไว้ ให้มีต้นทุนที่ต่ำลง และรองรับกับการใส่เทคโนโลยีใหม่ๆมากขึ้น การพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่เพื่อรถไฟฟ้าเหล่านั้นโดยเฉพาะ จึงถือเป็นสิ่งจำเป็น
นอกจากการปรับ(และสร้าง)แพลตฟอร์มใหม่ ทาง Toyota ยังต้องร่วมมือกับเหล่าบริษัทคู่ค้าที่คอยผลิตชิ้นส่วนต่างๆให้กับรถของตนเองใหม่ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับในส่วนของบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถไฟฟ้า ที่ต้องเน้นในเรื่องของการปรับปรุงระบบจัดการความร้อนของตัวแบตฯ เพื่อลดขนาด(และน้ำหนัก)แบตเตอรี่, เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งาน, และสำคัญที่สุดคือการลดต้นทุนลง เพื่อให้คุ้มทุนกับการผลิตรถไฟฟ้าในปริมาณที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ดี ใช่ว่าการสร้างแพลตฟอร์มใหม่สำหรับรถไฟฟ้าโดยเฉพาะ จะเป็นทางเลือกที่ใช่ เพราะหากลองพิจารณาในเรื่องของระยะเวลาแล้ว มันอาจจะใช้เวลาในการสร้างถึง 5 ปี จึงจะพร้อมสำหรับการนำมาใช้กับรถยนต์ตัวขายจริง
เพราะฉะนั้นสุดท้ายแล้วทาง Toyota จึงอาจยังคงใช้วิธีการปรับปรุงแพลตฟอร์ม e-TNGA ไปด้วยแทน โดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการใช้งานของมันให้รองรับกับทิศทางการตลาดที่เปลี่ยนไวเกินกว่าที่คาดเอาไว้
และเนื่องจากการที่ทางค่ายต้องเอาทั้งวิศวกรระดับหัวกะทิ นักวางแผนการตลาดและอื่นๆ ไปช่วยกันพัฒนาแพลตฟอร์มรถยนต์ไฟฟ้าแบบใหม่ จึงทำให้ในตอนนี้พวกเขามีความจำเป็นต้องพักโปรเจ็กท์การสร้างรถยนต์ใหม่ๆกว่า 30 โครงการ เอาไว้ก่อนรวมถึงโปรเจ็กท์การทำรถ Toyota Crown EV และรถครอสโอเวอร์ขนาดเล็กขุมกำลังไฟฟ้ารุ่นใหม่ก็ด้วย