ตั้งแต่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับความเข้มงวดทางด้านการบังคับใช้กฎจราจรออกมา ทั้งการห้ามนั่งกระบะท้าย และห้ามนั่งในแค๊ป ซึ่งกำลังจะเป็นกฎระเบียบใหม่ในอนาคตข้างหน้า สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นมาตรการวัวหายล้อมคอกอีกครั้งของภาครัฐบาล ต่อประเด็นเรื่องอุบัติภัยทางถนน หลังข้อมูลจากเมื่อ 3 ปีที่แล้ว (ปี2014) ระบุไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตบนถนนมากที่สุดติดอันดับ 2 รองจากนามิเบียเท่านั้น และเมื่อดูรายชื่อประเทศที่ติดอันดับทั้งหลาย ต่างเป้นประเทศที่ขาดการพัฒนา ต่างจากประเทศไทย
การสั่งเปรี้ยงอย่างสายฟ้าแลบผ่าลงกลางสังคม ก่อนวันสงกรานต์ทำเอารัฐบาลถูกประชาชนกร่นด่าผ่านโซเชี่ยลจนหน้าจ๋อยยอมถอยกันระนาว ก่อนที่คะแนนเสียงจะถดถอยในเรื่องการบริหารประเทศมากกว่านี้ แต่ในแง่ของความตั้งใจจริงจากภาครัฐ ต่อท่าทีการพยายามทำให้ถนนเมืองไทยปลอดภัยยิ่งขึ้น เป็นความคิดที่ดี หากรัฐบาลอาจจะกำลังดำเนินการผิดจุดหรือไม่ .. และรัฐบาลมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านความปลอดภัยทางถนนจริงๆ หรือเปล่า ไม่ใช่ หลับหูหลับตาร่ายเพลงเพิ่มกฎใช้ ม. 44 ไปเรื่อยเปื่อย
ดูให้ชัด…สถิติชี้ สันดานขับรถคนไทยไม่ดี
ตั้งแต่มีเรื่องของประเทศไทยติดอันดับตายบนถนนมากที่สุดในโลก ทำเอารัฐบาลตื่นเต้นมาโดยตลอด แม้ว่าเรื่องนี้จะผ่านมากกว่า 3 ปี แต่ทุกครั้งที่ค้น Google ก็ติดเป็นข่าวอันดับต้นเหมือนตราบาปคนไทยที่แก้ไม่หาย แต่การจะลดอุบัติเหตุที่ถูกต้องนั้น ส่วนสำคัญคือรู้ที่มาที่ไป คล้ายกับที่พระพุทธศาสนาว่า “อริยสัจ 4 “ จะแก้ปัญหาได้ดี ต้องรู้ไปถึงต้นตอ
ที่ผ่านมารัฐบาลมีข้อมูลอยู่ในมืออยู่แล้ว แต่อาจจะไม่มีใครไปขอดูจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลอุบัติเหตุต่างๆ ทั่วราชอาณาจักรเอาไว้ด้วย โดยข้อมูลดังกล่าวถูกบันทึกมาตั้งแต่ พ.ศ. 2549จนถึงปี พ.ศ. 2558
ตามรายอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทั่วราชอาณาจักร ในปี พ.ศ. 2557 (ปีเดียวกับที่มีการจัดอันดับไทยเป็น ประเทศที่มีอุบัติภัยทางถนนจนคนเสียชีวิตมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในโลก) ระบุว่า สาเหตุของอุบัติเหตุ โดยเกิดจากบุคคล หรือตัวผู้ขับขี่สูงที่สุด คือ ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด มีจำนวนทั้งสิ้น 6,971 คดี ทั่วราชอาณาจักร
หากแต่ที่น่าสนใจคือ อันดับที่ 2 ที่มีการระบุตามรายงานสถิติดังกล่าว คือ การขับรถตัดหน้ากระชั้นชิด หรือเปลี่ยนเลนด้วยความอันตราย ติดเข้ามาอันดับที่ 2 มีจำนวนคดีทั้งสิ้น 6,597 คดี ตามมาด้วยอันดับที่ 3 ขับตามรถคันหน้าในระยะกระชั้นชิด มีทั้งสิ้น 4,888 คดี
ส่วนอันดับที่ 4 เป็นเรื่องของการขับรถไม่ชำนาญของผู้ขับหน้าใหม่ คิดเป็น 3,300 คดี และในอันดับที่ 5 เป็นเรื่องของการไม่ยอมหรือให้ทางรถ มีจำนวนทั้งสิ้น 2,146 คดี
จากสถิติ 3 อันดับแรก คุณจะเห็นว่าการขับรถของคนไทย เข้าข่ายพฤติกรรมอันตรายอย่างยิ่งยวด ไม่ว่าจะการขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด (ตามกฎหมายการจราจรในปัจจุบัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522) และยังมีพฤติกรรมการขับรถตัดหน้า ขับรถจี้ท้าย อีกด้วย
รัฐบาลมองผิดทาง … ??
นั่นเท่ากับทำให้สิ่งที่รัฐบาลพยายามกระทำตลอดหลายเดือนทีผ่านมา ตั้งแต่ลุงตู่เข้ามารับบทบาทบริหารประเทศ เดินไปผิดทิศทาง โดยเฉพาะในเรื่องความเข้มงวดในเรื่องของการอนุญาตนักขับหน้าใหม่ออกสู่ถนน แต่กระนั้นภาครัฐก็ยังต้องส่งเสริม และปรับปรุงระเบียบ เพื่อให้นักขับหน้าใหม่ มีประสบการณ์อย่างรวดเร็ว เนื่องจากยังเป็นปัญหาในอันดับที่ 4 ของอุบัติเหตุที่เกิดจากตัวบุคคล
หากนำปัญหาในอันดับ ที่ 2 และ 3 มารวมกัน จะพบว่า ปัญหาเรื่องการขับรถแซงและขับตามในระยะกระชั้นชิด ดูจะเป็นปัญหาที่สำคัญที่นำมาซึ่งอุบัติเหตุมากกว่าปัญหาการขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด ตามที่รัฐบาลชี้ชัดคอยจับผิดหรือไม่
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้รัฐบาลผ่อนปรนเรื่องการขับรถเร็ว เพียงแต่นี่เป็นสิ่งที่ชี้ชัดว่า การขับรถเร็วไม่ใช่จำเลยของปัญหาทางถนนทั้งหมดอย่างที่เข้าใจ แม้ว่าการขับรถเร็วหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาจะรุนแรงมากกว่าการขับรถตามความเร็วที่กฎหมายกำหนด
โดยเฉพาะเมื่อย้อนกลับไปดูการกำกับดูแลมาตรการความปลอดภัยในช่วงเทศกาล โดยเฉพาะ 7 วัน อันตราย ที่ใช้มาตลอดหลายปี จากรายงานล่าสุด เมื่อช่วงปีใหม่ พ.ศ. 2560 ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2559 – 4 มกราคม พ.ศ. 2560 พบว่าสถิติสำคัญทางด้านพฤติกรรมเสี่ยงในการใช้รถใช้ถนนของคนไทย คือ เมาสุรา คิดเป็นร้อยละ 33.45 รองลงมาเป็นการขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด และ ตามมาด้วยขับรถตัดหน้ากระชั้นชิด
ส่อเค้าปัญหาเรื่องการติดตามปัญหาของรัฐบาล ที่อาจจะมาผิดด้าน เนื่องจากการขับรถกระชั้นชิด ไม่ผิดกฎหมายและไม่เคยอยู่ในบริบทที่จะต้องกำกับดูแลจากภาครัฐบาล ทั้งที่ก็อาจจะก่อปัญหาได้เช่นกัน
ผิดพาหนะ – สถานที่ ที่ต้องกำกับ หรือไม่
เรื่องหนึ่งที่ทำให้ต้องเขียนบทความชิ้นนี้ออกมาในท้ายที่สุด คือการเข้าใจผิดในสาระสำคัญของภาครัฐบาล ต่อปัญหาทางด้านอุบัติเหตุบนถนนหรือไม่
โดยเฉพาะจากรายงานสถิติอุบัติเหตุ 7 วันอันตราย ตลอดหลายปีทีผ่านมา รถจักรยานยนต์ ยังคงเป็นแชมป์เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดในช่วงดังกล่าว อย่างในช่วงปีใหม่ พ.ศ. 2560 รถจักรยานยนต์ เกิดเหตุสะสมตลอดการควบคุมของรัฐบาล ร้อยละ 81.82 เลยทีเดียว ขณะที่รถกระบะ เกิดอุบัติเหตุ เพียงร้อยละ 8 และ รถเก๋ง เกิดอุบัติเหตุเพียงร้อยละ 4.19
ยิ่งกว่านั้นเมื่อเจาะลึกดูรายงาน ทางด้านถนนที่เกิดภายใต้ความรับผิดชอบของหน่วยงานอะไร น่าแปลก ที่ถนนใน อบต/หมู่บ้าน เกิดเหตุมากพอไล่ๆ กับถนนกรมทางหลวง คิดเป็นร้อยละ 36.49 (ส่วนถนนของกรมทางหลวง คิดเป็นร้อยละ 36.92)
นั่นอาจจะชี้ชัดว่า การเกิดอุบัติเหตุทางถนนนั้น อาจเกิดในท้องถิ่นมากกว่า ระหว่างการเดินทางของประชาชน ตามที่เข้าใจมาโดยตลอดหรือไม่ เพียงแต่ภาครัฐกำลังไปให้ความสำคัญผิด ว่าการเดินทางของประชาชนอันตราย เนื่องจากเป็นเทศกาลกลับบ้าน ทั้งที่อาจจะเป็นการสะท้อนปัญหาท้องถิ่นออกมาสู่ภาพใหญ่หรือเปล่า อาจจะต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่นเข้มกวดขันมากขึ้น กว่าในวันนี้หรือไม่
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จุดเกิดเหตุส่วนใหญ่เกิดในทางตรง คิดเป็นร้อยละ 61.78 ของการเกิดอุบัติเหตุในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา และเหตุส่วนใหญ่เกิดในช่วงเวลาเย็นจนถึงหัวค่ำ ตั้งแต่ 16.00-20.00 น. คิดเป็นร้อยละ 29.24 ตามรายงานสะสมของ ศูนย์อำนวยการป้องกันอุบัติภัยและลดอุบัติเหตุทางถนน ปีใหม่ พ.ศ. 2560
จะเปลี่ยนให้ถนนปลอดภัย ต้องทำหลายอย่าง
เมื่อดูปัญหาอุบัติภัยทางถนนของเมืองไทย คุณจะพบว่า ปัญหาสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนนั้น อาจจะมีส่วนสำคัญจากพฤติกรรมการขับขี่ก็จริง แต่ก็มีปัญหาอีกมากมาย ที่ไม่ได้ถูกตีแผ่ออกมา เพราะทุกครั้งที่มีอุบัติเหตุ ก็จะถูกอ้างสาเหตุอย่างผิด เช่นขับรถเร็วเกินกำหนด บ้างเมาแล้วขับ คล้ายๆ กับเวลาเพลิงไหม้ นึกอะไรไม่ออกก็ “ไฟฟ้าลัดวงจร” ทำให้ไม่สามารถชี้ไปยังต้นตอที่แท้จริงได้
การเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้ง ล้วนมีปัจจัยสืบเนื่องสำคัญหลายประการ อย่างการเก็บสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ มีการจำแนกไว้อย่างชัดเจนถึงปัญหาที่อาจจะจากปัจจัยทางด้านตัวบุคคล ที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้น
จะเห็นได้ว่าปัจจัยตัวบุคคลที่เป็นปัญหา ติด3 อันดับแรกนั้น ล้วนมาจากพฤติกรรมในการขับขี่ของคนไทย ที่ต้องใช้เวลาในการปรับแก้ไข ไม่เพียงแค่รณรงค์เท่านั้น แต่ต้องทำให้เกิดการตระหนักในการขับขี่มากขึ้น คิดถึงภาพรวมของสังคมมากกว่าส่วนตัว เช่น พฤติกรรมขับช้าชิดขวา ที่แพร่ระบาดในสังคม แต่รัฐบาลไม่เคยจัดการมาก่อน เป็นต้น ส่วนวิถีทางการเข้าไปแก้ไข ในเรื่องพฤติกรรมการขับขี่ของคน อาจจะต้องใช้เวลา เนื่องจากพฤติกรรมคนไม่สามารถแก้ไขได้ในเวลาอันรวดเร็ว มิเช่นนั้นจะเกิดกระแสต่อต้าน แบบเรื่องนั่งในกระบะหรือในแคปอีก
นอกจากปัจจัยด้านคนแล้ว ยังมีปัจจัยแวดล้อมที่รัฐบาลต้องไปดูต่อเนื่อง เพราะในรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติมีการรายงานว่า ปัจจัยทางถนนก็มีส่วนสำคัญไม่แพ้กัน เช่น ถนนมืดก่อให้เกิดอุบัติเหตุกว่า 2,158 ครั้ง พอๆ กับ ถนนแคบ เกิดอุบัติเหตุ 2,031 ครั้ง
รวมถึงอาจจะถึงเวลาที่ตำรวจต้องเรียกตรวจสอบรถยนต์ที่มีสภาพไม่สู้ดีในการใช้งานและอาจจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ทั้งต่อผู้ขับขี่เอง และเพื่อนร่วมทาง โดยเฉพาะตามรายงานของ สำนักงานสถิติ ชี้ว่า ที่ผ่านมามีรถยนต์ที่เกิดอุบัติจากปัญหาเรื่องของเบรกที่ใช้รถทำงานผิดพลาดถึง 1,706 ครั้งในปี พ.ศ. 2558 และก่อนหน้านี้ ในปี พ.ศ. 2554-2557 มียอดปัญหาอุบัติเหตุจากเบรกมีปัญหาสูงถึงระดับ 2,000 คัน ติดต่อกัน ก่อนจะมาลดลงในปีดังกล่าว
นอกจากนี้ยังมีปัญหาในเรื่องอื่นอีกหลายอย่าง เช่น ยางรถยนต์เสื่อมสภาพในการใช้งานคิดเป็นจำนวน 369 ครั้ง ที่นำไปสู่อุบัติเหตุ รวมถึงยังมีปัญหาเรื่องระบบไฟฟ้าขัดข้อง และระบบบังคบเลี้ยวขัดข้องติดอันดับต้นๆ อีกด้วย
การที่ภาครัฐออกมากวดขันเรื่องการใช้รถใช้ถนน ตั้งใจจริงในการลดอุบัติภัยสำหรับประชาชน ถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะดำเนินการ แต่กระนั้นรัฐบาลต้องเข้าใจในปัญหาที่แท้จริงแก้ให้ตรงจุดว่าปัญหาเกิดจากอะไร โดยศึกษาได้จากข้อมูลทางด้านอุบัติภัยที่มีอยู่มากมายจากหน่วยงานของรัฐบาลเอง
อ้างอิงสถิติการเกิดอุบัติเหตุ จาก อุบัติเหตุการจราจรทางบก เก็บรวบรวมโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 – 2558 และรายงานอุบัติเหตุเทศกาลปีใหม่ ปี พ.ศ.2560
ชอบกดไลค์ใช่กดแชร์ ขอบคุณทุกกำลังใจสำหรับพวกเรา ridebuster.com