ปัญหาความปลอดภัย ของถุงลมนิรภัยจาก Takata ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะใส่ใจทำตามสิ่งที่ควรต้องทำ และตอนนี้เราก็ได้รับข้อมูลใหม่ว่า มีผู้ใช้รถเสียชีวิตเพิ่มแล้วอีกราย เพราะไม่ยอมทำตามหมายเรียกเปลี่ยนชิ้นส่วนดังกล่าวจากหน่วยงานรัฐแต่แรก
เหตุการณ์ในครั้งนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา กับผู้ใช้รถยนต์ Chrysler 300C รุ่นปี 2010 ที่ยืมมาจากคนในครอบครัวอีก รายหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งในภายหลังจากการชันสูตรพลิกศพ ก็ได้มีการสรุปรายงานสาเหตุการเสียชีวิตหลังประสบอุบัติเหตุของเขาเอาไว้ว่า มาจากความผิดปกติของถุงลมนิรภัย ซึ่งยังคงเป็นของบริษัท Takata ที่ติดรถมาตั้งแต่ออกโรงงาน
นอกจากนี้ เมื่อมีการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับตัวรถที่ประสบอุบัติเหตุแล้ว ทีมสืบสวนยังพบความจริงอีกว่า เจ้าของรถตัวจริงได้รับจดหมายเรียกจากผู้ผลิตรถยนต์ให้เข้ารับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยมาแล้วถึง 114 ครั้ง ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ทางค่ายได้รับการอนุมัติให้แก้ไขปัญหานี้เป็นการด่วน แต่เขาก็ยังเลือกที่จะเมินเฉย จนเกิดเหตุสลดกับคนในครอบครัวของตนเองขึ้น
จากเหตุการณ์ในข้างต้น ทำให้ผู้ใช้รถ Chrysler 300C ที่ยืมมารายนี้ คือผู้เสียชีวิตจากปัญหาถุงลมนิรภัย Takata รายที่ 24 แล้ว ในประเทศสหรัฐอเมริกา และถือเป็นผู้เสียชีวิตรายที่ 36 ของโลก จากปัญหาดังกล่าว นับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลเมื่อปี 2009 และยังมีการบันทึกอีกว่า มีผู้คนอีกกว่า 350 รายทั่วโลก ที่ได้รับบาดเจ็บถึงขั้นสาหัสจากความผิดพลาดนี้
และหากย้อนไปถึงการเสียชีวิต ของผู้เคราะห์ร้ายคนที่ 23 ซึ่งอันที่จริงก็พึ่งจะถูกรายงานไปเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนเท่านั้น เราก็จะพบว่ามันเป็นกรณีที่เกิดขึ้นคล้ายกันมากกับผู้เคราะห์ร้ายรายที่ 24 เพราะ ผู้เคราะห์ร้ายรายที่ 23 นั้น เสียชีวิตบนรถ Honda Accord รุ่นปี 2002 ที่มาพร้อมกับถุงลมนิรภัยของ Takata เช่นกัน
โดยจุดที่เหมือนกัน หากไม่นับเรื่องการได้รับบาดเจ็บจนถึงแก่ชีวิต เพราะการทำงานของถุงลมนิรภัยที่ผลิดพลาด ก็คือการที่ผู้เคราะห์รายรายที่ 23 นี้ ก็ได้รับหมายเรียกจากผู้ผลิตให้นำรถเข้าไปเปลี่ยนถุงลมนิรภัยเจ้าปัญหาหลายครั้งหลายคราเช่นกันเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 300 ครั้ง
แบ่งเป็น จดหมายแจ้งไปยังที่พักอาศัย 40 ฉบับ, อีเมลเรียกอีก 40 ครั้ง, และโทรศัพท์ตามโดยตรงอีก 230 สาย แต่สุดท้ายเจ้าตัวก็ยังไม่ยอมไปเปลี่ยนชิ้นส่วนดังกล่าวอยู่ดี จนท้ายที่สุดมันกลับเป็นสาเหตุที่ทำให้เจ้าตัวเสียชีวิตเมื่อเกิดอุบัติเหตุเสียเอง
ในฝั่งประเทศไทยของเราเอง จนตอนนี้ยังไม่มีการได้รับรายงานว่า มีผู้ประสบอุบัติเหตุรายใด ที่เสียชีวิตจากถุงลมนิรภัยของ Takata ที่ทำงานผิดพลาดหรือไม่ ? แต่เหล่าผู้ผลิตและภาครัฐ ได้มีการประกาศและส่งหมายเรียกรถที่เข้าข่ายกลับเข้าศูนย์เพื่อเปลี่ยนชิ้นส่วนดังกล่าวมาแล้วพักใหญ่ ในช่วงเดียวกับที่ต่างประเทศเริ่มประกาศนโยบาย
แต่แม้การประกาศเรียกรถกลับเพื่อแก้ไขปัญหาถุงลมนิรภัยดังกล่าว จะเกิดขึ้นมาแล้วหลายปี ทว่าจากข้อมูลช่วงกลางปี 2022 ที่ผ่านมา กลับมีรถยนต์กว่า 600,000 คัน ที่เจ้าของยังเมินเฉย ไม่นำพวกมันเข้าไปแก้ไขปัญหาอย่างที่ควรจะเป็นสักที
ซึ่งเราก็หวังว่าเหตุการณ์นี้จะเป็นอุทาหร และส่งไปถึงพวกเขาเหล่านั้น ว่าปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่คือปัญหาที่อาจส่งผลกระทบถึงแก่ชีวิตได้เลยทีเดียว
ทั้งนี้หากท่านสงสัยว่ารถของตนเอง อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเรื่องถุงลมนิรภัยหรือไม่ ? สามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ checkairbag.com ซึ่งการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยที่ว่านี้ จะไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น สิ่งที่ท่านต้องเสีย คือเสียสละเวลาไปเปลี่ยนก็เท่านั้น แต่นั่นก็ยังดีกว่าเสี่ยงที่จะเสียชีวิตเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นมา ทั้งๆที่เราสามารถแก้ไขได้ตั้งแต่แรก