Mercedes-Benz G-Class ถือเป็นหนึ่งในไลน์อัพรถยนต์ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้เหล่าซีดานรุ่นอื่นๆของค่าย ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจเลย ถ้าจู่ๆวันหนึ่งมันจะถูกทำให้กลายเป็นรถยนต์เอสยูวีไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ Mercedes-EQ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่ใช่เพียงข้อมูลข่าวลือ แต่เป็นข้อมูลจากภาพสปายช็อต ที่ถูกถ่ายเอาไว้ได้ ขณะที่ทางทีมทดสอบ กำลังนำรถ Mercedes-EQG (ชื่ออย่างไม่เป็นทางการ) มาวิ่งบนถนนที่เต็มไปด้วยหิมะ ซึ่งเขาใจได้ว่าทำไปเพื่อทดสอบความสามารถในการใช้งานของตัวรถท่ามกลางอุณหภูมิหนาวเหน็บ อันเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญ สำหรับการใช้งานรถไฟฟ้าในสภาวะดังกล่าว
แต่ก่อนที่จะหลุดประเด็นไปไกล เราขอกลับมาที่หน้าตาของตัวรถ EQG ร่างต้นแบบกันอีกครั้ง ซึ่งจากภาพที่เราได้แนบลิ้งค์เอาไว้ ทุกท่านจะเห็นได้ว่ามันมีหน้าตาที่ไม่ได้หนีไปจากตัวรถคอนเซปท์ที่ทางค่ายเคยเผยโฉมเมื่อปี 2021 เท่าไหร่นัก
ไม่ว่าจะเป็นงานออกแบบที่ยังคงเน้นความเป็น “ทรงกล่อง” อันเป็นเอกลักษณ์เอาไว้ โดยที่ยังคงมีส่วนโค้งเป็นไฟหน้ากรอบกลมอันโดดเด่นจากหน้าตาเช่นเคย แต่ในส่วนของงานออกแบบกระจังหน้า และกันชนหน้า กลับดูเหมือนว่ามันจะเป็นชิ้นส่วนจาก Mercedes-Benz G-Class ตัวขายจริงที่ยังคงใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในอยู่ ไม่ได้เป็นแบบทึบสนิทเหมือนตอนที่ยังเป็นร่างคอนเซปท์แต่อย่างใด ไม่เว้นแม้กระทั่งกระจกมองข้าง.
ส่วนจุดที่เจ้ารถ EQG ร่าง Prototype ไม่ได้มีความเหมือนกับทั้ง EQG Concept หรือ Mercedes-Benz G-Class เลยแม้แต่ฝ่ายเดียว ก็คือชุดคิ้วซุ้มล้อคู่หลัง ที่หากมองผ่านตา คุณอาจไม่พบความต่าง แต่ถ้าลองสังเกตกันให้ดี ก็จะพบว่าทางด้านหน้าของมัน ได้ถูกเจาะรูเป็นแนวตั้งเอาไว้ด้วย ซึ่งทั้งนี้ ยังไม่มีใครให้เหตุผลที่แน่ชัดได้ว่าทางค่ายทำไปเพื่ออะไร แต่หากวิเคราะห์กันเล่นๆแล้ว มันอาจมีไว้เพื่อลดแรงต้านอากาศก็ได้ (แม้จะช่วยเพียงเล็กน้อยเนื่องจากสุดท้ายตัวรถก็ยังคงมีหน้าตาเหลี่ยมจัด พร้อมต้านอากาศสุดๆอยู่ดีก็ตาม)
ทั้งนี้แม้ทางค่าย จะยังคงไม่มีการเปิดเผยถึงรายละเอียดทางเทคนิคต่างๆของตัวรถ Mercedes-EQG ออกมามากเท่าไหร่นัก แต่พวกเขาก็ได้มีการเปรยแบบคร่าวๆเอาไว้ว่าตัวรถรุ่นนี้ จะยังคงถูกสร้างขึ้นบนโครงสร้างตัวถังแบบ Body-On-Frame ตามฉบับของรถที่เกิดมาเพื่อการใช้งานหนักเป็นหลักเช่นเคย
และถึงแม้ตัวรถจะมาพร้อมกับมอเตอร์ไฟฟ้า 4 ตัว เพื่อแยกกันขับเคลื่อนชุดล้ออย่างอิสระ แต่ในขณะที่ระบบกันสะเทือนด้านหน้าของมันเป็นแบบอิสระ ซึ่งรองรับกับการทำงานร่วมกับขุมกำลังชนิดนี้ได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว ทว่าในส่วนระบบกันสะเทือนด้านหลัง กลับจะยังคงเป็นแบบแขนโยงกับเสื้อเพลาตายตัวเช่นเดิม
ขณะที่ลูกเล่นเพิ่มเติมในส่วนอื่น ก็จะมีทั้งระบบหักเลี้ยว 4 ล้อ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ช่วยให้ผู้ขับสามารถหลุดจากอุปสรรคบนทางทุรกันดารได้ง่ายขึ้น และเนื่องจากการติดตั้งแบตเตอรี่แบบใหม่ ที่นอกจากจะทำให้มันสามารถจุพลังงานไฟฟ้าได้มากกว่าเดิมอีกราวๆ 20-40% แล้ว ด้วยตำแหน่งการติดตั้ง ซึ่งส่งผลให้รถมีจุดศูนย์ถ่วงต่ำลง กับแรงบิดจากมอเตอร์ไฟฟ้าที่สามารถเรียกใช้ได้ทุกเมื่อ จึงทำให้หลายคนมองว่ามันจะต้องมีขีดความสามารถในการใช้งานเชิงบุกป่าฝ่าดงที่ดีขึ้นอีกมากแน่นอน