Home » รีวิวยาง Bridgstone 5 รุ่น หลังการทดสอบ จัดเต็มในสนามแข่งขันระดับโลก ที่งาน Bridgestone Battlax Trackday 2023
Motorcycle-Review คอมอเตอร์ไซค์

รีวิวยาง Bridgstone 5 รุ่น หลังการทดสอบ จัดเต็มในสนามแข่งขันระดับโลก ที่งาน Bridgestone Battlax Trackday 2023

ประเดิมปีใหม่กันอย่างจัดเต็ม กับทาง Bridgestone Moto Thailand ที่ได้จัดงาน Bridgestone Battlax Trackday 2023 เพื่อให้ลูกค้าและสื่อมวลชนได้ร่วมทดสอบยางรถมอเตอร์ไซค์แทบทุกรุ่น ในสนามแข่งขันระดับโลก ซึ่งในครั้งนี้ ทาง Ridebuster ก็ไม่พลาดที่จะได้รับโอกาสให้เป็นส่วนหนึ่งของงานด้วย

อย่างที่เราระบุในข้างต้น กิจกรรม Bridgestone Battlax Trackday 2023 คือกิจกรรมที่ทาง Bridgstone Moto Thailand ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท เพซแม็กซ์มอเตอร์สปอร์ต จำกัด จัดขึ้นมา เพื่อให้ลูกค้าที่ใช้และสนใจในยางรถมอเตอร์ไซค์ของ Bridgstone ได้ทดสอบยางของแบรนด์ ในสนามช้าง อินเตอร์แนชันแนล เซอร์กิต ซึ่งเป็นสนามแข่งขันระดับโลก ที่ใช้จัดการแข่งขันรายการใหญ่ๆมาแล้วหลายงาน ตั้งแต่ MotoGP, WSBK, Asia Road Racing หรือแม้แต่ในฝั่ง 4 ล้อ ก็มีการแข่ง SuperGT ร่วมด้วย

ส่วนรถมอเตอร์ไซค์ที่ทาง Bridgstone จัดมาให้ทดสอบนั้น ก็เป็นการจับมือกับปพันธมิตรบริษัทผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ถึง 9 แบรนด์ด้วยกัน ได้แก่ Honda, Yamaha, Kawasaki, Suzuki, KTM, BMW, Aprilia, Royal Enfield และ Harley-Davidson ซึ่งหากแบ่งเป็นจำนวนรุ่นรถที่มีให้ลูกค้าได้ทดสอบก็รวมเป็น 40 กว่ารุ่นเลยทีเดียว

โดยรถแต่ละคัน ก็จะใส่ยางแตกต่างกันไป ตามประเภท และรูปแบบการใช้งาน หรือรุ่นที่ทาง Bridgestone ต้องการให้พวกเราได้ทดสอบ ซึ่งก็จะแบ่งเป็นกลุ่มๆดังนี้

  1. RACE & SPORT ยางที่ผู้หลงใหลความเร็วต้องใช้ : RACING BATTLAX V02, BATTLAX RACING R11, BATTLAX RACING STREET RS11, BATTLAX HYPERSPORT S22, BATTLAX HYPERSPORT S21, BATTLAX BT39
  2. TOURING ยางที่ครอบคลุมทุกสภาพถนนเพื่อการเดินทางไกล : BATTLAX SPORT TOURING T32
  3. ADVENTURE ยางสำหรับลุยบนเส้นทางที่ท้าทาย : BATTLAX ADVENTURE A41, Battlax Adventure Trail AT 41, BATTLAX ADVENTURECROSS SCRAMBLER AX41S
  4. CRUISER ยางที่รองรับน้ำหนักได้มากกว่าเพื่อการเดินทางอันแสนสบาย : BATTLECRUISE H50
  5. VINTAGE&CUSTOM ยางสำหรับรถมอเตอร์ไซค์แนวคลาสสิค แต่มีสมรรถนะดีไม่ด้อยกว่ายางของรถมอเตอร์ไซค์ยุคใหม่ : BATTLAX BT46
  6. SCOOTER ยางพรี่เมี่ยมเพื่อชาวสกูตเตอร์ : BATTLAX SCOOTER SC2, BATTLAX SC

แน่นอน แม้ในวันรอบสื่อมวลชน และอินฟลูเอนเซอร์ ทาง Bridgstone จะจัดเซสชันให้สื่อได้ทดสอบยางกันแบบจุใจ ถึง 8 เซสชัน เซสชันละ 20 นาที ชนิดที่ขี่กันให้ตาเหลือกไปข้าง แต่สุดท้ายผู้ขี่ ก็มีแต่ผู้เขียนเพียงคนเดียว ดังนั้นจะให้ลองทดสอบ และจับอาการยางทุกรุ่นคงไม่ไหว

ผมจึงของเลือกขี่และนำเสนอข้อมูลยางที่เข้าทางกับความถนัดของตนเองก่อน นั่นก็คือยางในกลุ่ม Race & Sport ตามด้วยยางในกลุ่ม Cruiser, Vintage&Custom, และเสริมอีกหน่วยด้วยยาง Adventure ซึ่งจะไล่ขอไล่เรียงดังนี้

BATTLAX RACING R11

จุดเด่น/จุดขายของยาง

  • ประเภท : ยางกึ่งสลิค หรือ สลิคกัดดอก
  • สำหรับการใช้งาน : ในชีวิตประจำวัน 20% / ลงสนามแข่งขัน 80%
  • MS・BELT Mono Spiral Belt (เฉพาะยางหน้า) : เทคโนโลยีขดลวดน้ำหนักเบาที่ใช้หุ่มโดยรอบของยาง แตกต่างด้วยน้ำหนักที่เบากว่า สร้างสมดุลที่ดีขึ้น ทำให้ขับขี่ได้มั่นคง มั่นใจมากขึ้น รองรับการขับขี่ความเร็วสูงได้ เพิ่มการยึดเกาะได้ดียิ่งขึ้นแม้ในถนนเปียก
  • V-MS・BELT (ทั้งยางหน้าและยางหลัง) : การดีไซน์ระยะห่างของเส้นลวด MS ・ BELT ที่พันรอบๆ เส้นรอบวงของยาง ให้เหมาะสมกับพื้นที่การใช้งาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการยึดเกาะถนนอย่างลงตัว (ชิดตรงกลางยางเพื่อความแข็งแรง – ห่างที่หน้ายางด้านข้าง เพื่อความยืดหยุ่นในการยึดเกาะ-ขณะเข้าโค้งที่ดีกว่า)
  • HTSPC (High Tensile Super Penetrated Cord) : ลวดเหล็กที่มีฉนวนยางด้านในที่ช่วยควบคุมอุณภูมิและการระบายความร้อนที่ดียิ่งขึ้น ช่วยลดโอกาสที่จะเกิดภาวะยางระเบิด ไม่เกิดการสะสมความชื้นซึ่งเป็นสาเหตุของการเสื่อมอายุของยาง นอกจากนั้นยังมีส่วนในการรักษารูปทรงและโครงสร้างของยาง ทำให้ขับขี่ได้มั่นคง และยังรองรับแรงกระแทกได้มากขึ้นอีกด้วย
  • GP-BELT (เฉพาะยางหลัง) : ชั้นขดลวดรอบนอกที่เพิ่มจากขดลวด MS・BELT อีกชั้นหนึ่ง ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับโครงสร้างยาง ทำให้การยึดเกาะขณะเร่งออกจากโค้งดีขึ้น และยางสามารถคงรูปได้ดีขึ้นในช่วงความเร็วสูง ช่วยลดโอกาสที่อาจจะเกิดการลื่นไถล ทำให้เกิดการสึกหรอน้อยลง และอายุการใช้งานเพิ่มขึ้น
  • ULTIMAT EYE™ : เทคโนโลยีเอกสิทธิ์ของ Bridgestone ที่ใช้วัดผล วิเคราะห์และแสดงข้อมูลลักษณะการทำงาน และผิวสัมผัสของยาง จากทุกรูปแบบการขับขี่ ทุกสภาพถนน ในห้องแล็บอย่างละเอียด ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนายางอย่างก้าวกระโดด

สัมผัสจากการทดสอบ : รถที่ใช้ทดสอบ – Honda CBR1000RR-R, BMW S1000R, Aprillia RS660, Kawasaki ZX-25R

อย่างที่ทราบกันในข้างต้น ว่าแท้จริงแล้ว ยางรหัส R11 นั้น มีคุณสมบัติที่เรียกได้ว่า แทบจะเป็นยางสลิกที่เกิดมาเพื่อการแข่งขันโดยกำเนิด เพียงแต่มันได้รับการปรับปรุงในบางส่วนเพื่อให้มันเหมาะสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวันขึ้นอีกนิด ด้วยโครงสร้างด้านในที่เสริมเรื่องความทนทาน และเพิ่มลวดลายบนหน้ายางอีกหน่อย เพื่อการรีดเศษฝุ่น และละอองน้ำออกจากหน้ายาง

แต่ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว จึงทำให้การใช้งานยางรุ่นนี้ กับซุปเปอร์ไบค์ตัวแรงในสนาม เป็นเรื่องหายห่วง เพราะมันสามารถเอาอยู่ได้ในแทบทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการเบรกหนักๆ จากความเร็วราวๆ 290 กิโลเมตร/ชั่วโมง บนทางตรง ให้ลดลงเหลือเพียงร้อยนิดๆ โดยที่ ABS ไม่ทำงานเลยสักแอะ ด้วยระยะทางเพียงร้อยเมตรหน่อยๆ (จริงๆจะเบรกลึกกว่านี้ยางก็ยังไหว แต่ตัวผู้ทดสอบเองที่ยังแข็งแรงพอจะสู้กับแรง G ที่เกิดขึ้นไม่ไหวเอง)

ต่อด้วยการพับเข้าโค้งด้วยความเร็วสูง และคงความเร็วไว้อย่างนั้นแล้วเติมคันเร่งชู๊ตออกโค้งไป ที่โค้ง 4 ของสนาม ยางก็ยังไม่ออกอาการไถลให้รู้สึกแต่อย่างใด เว้นก็แค่เพียงในจังหวะออกจากโค้ง 1 และออกจากโค้ง 3 ที่เป็นจังหวะต้องเปิดคันเร่งเต็มที่เพื่อรีบชู๊ตเข้าทางตรง ช่วงรอบหลังๆของเซสชัน

เพราะในจังหวะดังกล่าว อาจจะด้วยแรงม้ามหาศาลของรถที่ใช้ทดสอบอย่าง CBR1000RR-R จึงทำให้เราจะพบว่าแทรคชันคอยตัดกำลังเครื่องยนต์ไว้ให้อยู่ และท้ายรถก็จะมีอาการยึกยักอยู่หน่อยๆ ซึ่งในใส่วนตัวแล้วมันไม่ใช่อาการที่น่ากลัวเท่าไหร่ ยังอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้สบายๆ และต้องไม่ลืมว่าโหมดที่ขี่อยู่ คือโหมดที่แรงที่สุด แทรคชันทำงานน้อยที่สุด ดังนั้นยางจะมีอาการบ้างจึงไม่แปลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในตอนที่เราได้หวดมันมาอย่างหนักไม่ต่ำกว่า 4-5 รอบ แล้ว

แต่อย่างที่บอกไปว่าอาการยึกยักของช่วงท้ายรถนั้น จะเกิดขึ้นแค่เฉพาะตอนที่ได้ขี่ตัวแรงอย่าง CBR1000RR-R เท่านั้น ส่วนในการทดสอบกับรถมอเตอร์ไซค์คันอื่นๆที่แรงน้อยลงมาอย่าง S1000R นั้นกลับแทบไม่มีอาการด้านท้ายให้รู้สึกเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ RS660 กับ ZX-25R ที่สามารถขี่กดเวลาได้อย่างมั่นใจ ไร้กังวลใดๆทั้งสิ้น หากพื้นแทร็คไม่ได้เต็มไปด้วยฝุ่นจริงๆ (ซึ่งถ้าเป็นการขี่ในไลน์ปกติ ก็ไม่ไต้องห่วงเรื่องนี้อยู่แล้ว)

ข้อสังเกตอีกอย่างก็คือ แม้มันจะเป็นยางสลิกแกะดอกที่เกิดมาเพื่อใช้งานในสนามแข่งเป็นหลัก แต่โปรไฟล์ยางกลับไม่ได้มีความ “วี” มากขนาดนั้น ซึ่งใครที่เป็นสายชอบพับรถไว อาจไม่ถูกใจ แต่ในมุมกลับกัน หากคุณเป็นนักบิดประเภทค่อยๆเทรลเบรกเข้าโค้งไป โปรไฟล์ยางแบบนี้กลับทำให้เราสามารถหันหัวรถเข้าโค้งไปได้อย่างเป็นธรรมชาติและมั่นใจมากกว่า

BATTLAX BT39

จุดเด่น/จุดขายของยาง

  • ประเภท : ยางสปอร์ต เน้นการใช้วิ่งบนถนนเป็นหลัก
  • สำหรับการใช้งาน : ในชีวิตประจำวัน 90% / ลงสนามแข่งขัน 10%
  • เนื้อยางผสมสารซิลิกาคอมพาวน์ เพื่อการยึดเกาะทั้งบนทางแห้ง และทางเปียกที่ดีขึ้น
  • ลวดลายยางแนวสปอร์ต เสริมความสามารถในการสร้างแรงยึดเกาะบนทางแห้ง
  • ปรับความยืดหยุ่นของเนื้อยางและโครงสร้างยางให้สมดุล ระหว่างยางหน้ากับยางหลัง โดยเน้นที่สมรรถนะในการทรงตัว การใช้งานที่ง่าย และการขับขี่ที่สบาย

สัมผัสจากการทดสอบ : รถที่ใช้ทดสอบ – Suzuki GIXXER 250

อันที่จริงยาง BATTLAX BT39 นั้น คืออดีตยางสปอร์ตที่ชาวไทยสายลึกหลายคนน่าจะรู้จักกันดี เพราะยางรุ่นนี้ถูกผลิตขึ้นมาแล้วราวๆ 2 ทศวรรษ ซึ่งแม้ว่ามันจะเก่า (ในเรื่องรุ่น ไม่ใช่การผลิต) แต่ก็เก๋าพอที่จะจับคู่กับรถมอเตอร์ไซค์สปอร์ตยุคใหม่ที่มีพิกัดไม่เกิน 400cc ได้สบายๆ (หรือจริงๆจะใส่กับรถขนาด 500cc ก็ได้ เพราะไซส์ยางใหญ่สุดคือหน้ากว้าง 150)

โดยจุดประสงค์การใช้งานของยางรุ่นนี้ หลักๆแล้ว จะเน้นไปที่การใช้งานในชีวิตประจำวันเป็นหลัก และด้วยความที่มันมีแก้มยางค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับยางสปอร์ตรุ่นอื่นๆ บวกกับโครงสร้างที่เป็นผ้าใบ จึงทำให้อาการกระเทือนจากผิวแทร็คสะท้อนขึ้นมาถึงตัวรถได้น้อยกว่า เพราะแก้มยางสามารถซับแรงเหล่านั้นได้ดี หรือว่าง่ายๆคือ(โครงสร้าง)ยางค่อนข้างนุ่ม

ขณะเดียวกันในส่วนของเนื้อยางที่ค่อนข้างเน้นไปทางความทนทาน (คือนุ่ม แต่ไม่ถึงกับมาก) เพราะมีสารซิลิก้าใส่เข้ามา จึงทำให้ในการขี่รถลงสนามช่วงแรกๆ ที่อากาศยังค่อนข้างเย็น และผิวแทร็คก็ค่อนข้างเย็น อาจไม่ได้รู้สึกว่ายางดูดไปกับผิวแทร็คเท่าไหร่นัก แต่เมื่อผ่านการขี่ไปซักระยะเมื่อยางเริ่มร้อนได้ที่ หลังจากนี้เราก็สามารถขี่แบบไหลเข้าโค้งและทิ้งโค้งเข่าติดพื้นได้สบายๆ

ซึ่งหากมองจากการที่ยางสามารถเอาอยู่ในลักษณะการขี่แบบดังกล่าวได้สบายๆ และในการขี่รถบนถนนจริงๆ คงไม่มีใครมาบ้าจี้ทิ้งโค้งในลักษณะนี้เท่าไหร่ (อย่าทำเลยครับ เพราะถ้าพลาดบนถนนขึ้นมา มันอาจไม่ได้มีแค่คุณเองที่ได้รับผลกรระทบจากอุบัติเหตุครั้งนั้นด้วย) ทำให้โดยรวมยาง BT39 ก็ยังถือเป็นตัวเลือกที่ไว้ใจได้ คุ้มค่ากับราคา และการใช้งานรุ่นหนึ่งอยู่ดี

BATTLECRUISE H50

จุดเด่น/จุดขายของยาง

  • ประเภท : ยางสำหรับรถครุยเซอร์ขนาดใหญ่
  • สำหรับการใช้งาน : ในชีวิตประจำวันหรือเดินทางไกล
  • โปรไฟล์หน้ายางกว้างเป็นพิเศษ ออกแบบเพื่อเพิ่มแรงยึดเกาะ และความแข็งแรงในการรับน้ำหนัก
  • โครงสร้างยางซับแรงกระแทกจากผิวถนนได้ดี ลดความเมื่อยล้าในการใช้งาน
  • เนื้อยางปรับใหม่ เพื่อการยึดเกาะ และอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น

สัมผัสจากการทดสอบ : รถที่ใช้ทดสอบ – Harley-Davidson Breakout 114

BATTLECRUISE H50 คือยางที่ผู้ขี่สายครุยเซอร์หลายคนอาจสบประมาทมันในเรื่องการยึดเกาะเอาไว้ แต่ในการทดสอบมันบนสนามแข่งครั้งนี้ ส่วนตัวผู้ทดสอบอยากให้ทุกท่านลบความคิดนั้นทิ้งไปเสีย

เพราะถึงแม้ยางรุ่นนี้ จะถูกระบุไว้ว่ามันถูกออกแบบมาโดยเน้นที่ความแข็งแรง และการรับน้ำหนักอันมหาศาลของรถครุยเซอร์เป็นหลัก ทว่าตัวเนื้อยางกลับมีความนุ่มและหนึบใช้ได้เลยทีเดียว

เพราะแน่นอนว่า แม้ด้วยรูปทรงของตัวรถ จะทำให้เราไม่สามารถทิ้งโค้งด้วยความเร็วสูงๆได้ แต่ในจังหวะที่ต้องเบรกรถหนักๆจากความเร็วสูงสุด ปรากฏว่ายางกลับเอาอยู่ และสามารถลดความเร็วของเจ้า Breakout 114 ที่หนักราวๆ 300 กิโลกรัม บวกตัวผู้ขี่และชุดที่ใส่อีกราวๆ 100 กิโลกรัม เข้าไปได้อย่างอยู่หมัด

โดยส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะตัวยาง มาพร้อมกับโปรไฟล์ที่เน้นในเรื่องการสร้างพื้นที่ยึดเกาะเมื่อรถตั้งตรงเป็นหลัก ทำให้ในเวลาที่ต้องเบรกตัวโก่งก่อนเข้าโค้งนั้น มันสามารถหยุดชะลอรถได้อย่างมั่นใจ หรือแม้แต่ในตอนที่เปิดคันเร่งออกจากโค้งแรงๆ หากรถตั้งตรงอยู่ มันก็สามารถเอาแรงบิดจากเครื่องยนต์ V-Twin Milwaukee Eight 114 ลงพื้นได้อย่างหมดจด

แต่อย่างที่เราบอกไปว่ายางค่อนข้างเน้นการวิ่งบนทางตรง เป็นหลัก และทางโค้งอีกเพียงเท่าที่จำเป็น จึงทำให้ในจังหวะที่รถยังเอียงอยู่ แล้วคุณลองกระแทกคันเร่งแรงๆ ก็อาจจะเจออาการยึกยักที่ท้ายรถบ้าง แต่ก็แค่พอสนุก ไม่ได้ถึงกับน่ากลัวแต่อย่างใด

BATTLAX BT46

จุดเด่น/จุดขายของยาง

  • ประเภท : ยางสำหรับรถแนวคลาสสิค
  • สำหรับการใช้งาน : ในชีวิตประจำวันหรือเดินทางไกล
  • ลายดอกยางรูปตัววี รองรับแรงกระทำบนหน้ายางได้ดีกว่า ช่วยในเรื่องการกระจายแรงปะทะจากผิวถนน ช่วยให้ยางมีความมั่นคงในการใช้งานมากยิ่งขึ้น
  • เนื้อยางผสมสารซิลิกาคอมพาวน์ เพิ่มความสเถียรและความสามารถในการสร้างแรงยึดเกาะของยางในการใช้งาน ทั้งบนทางแห้ง และบนทางเปียก และยังช่วยเพิ่มอายุการใช้งานของยางให้ยาวนานยิ่งขึ้น

สัมผัสจากการทดสอบ : รถที่ใช้ทดสอบ – Royal Enfield Interceptor 650

ส่วนตัวผู้ทดสอบ มองว่ายาง BT46 คู่นี้ ให้ความรู้สึกที่น่าประหลาดใจเป็นอย่างมาก เพราะทั้งข้อมูลการออกแบบ และลวดลายยาง จึงทำให้ผู้ทดสอบอดติดภาพจำไม่ได้ว่า มันจะต้องเป็นยางที่มีคอมพาวน์แข็ง เพื่อความทนทาน และยาวนาน ตามฉบับยางรถคลาสสิคแน่นอน

ทว่าเพื่อความชัวร์ ผู้ทดสอบก็ได้แอบเอานิ้วจิ้มที่หน้ายางเล่น ผลปรากฏว่า มันมีคอมพาวน์ยางที่จัดว่าค่อนข้างนุ่มกว่ายางรถมอเตอร์ไซค์คลาสสิคทั่วๆไปพอสมควร จนแทบจะเทียบเท่ากับยางรถมอเตอร์ไซค์แนวสปอร์ต-ทัวร์ริ่งเลยทีเดียว

นั่นจึงทำให้ แม้ในช่วงแรกผู้ทดสอบอาจต้องปรับตัวกับยางไปบ้าง เพราะยางยังไม่ได้อุณหภูมิ แต่เมื่อยิ่งขี่ไปนานรอบมากยิ่งขึ้น เจ้ายางรุ่นนี้กลับให้ความรู้สึกที่มั่นใจมากยิ่งขึ้น ทั้งจากลักษณะการพลิกเลี้ยวที่ยังคงความเป็นธรรมชาติ ไม่พับไวจนเกินไป หรือไม่ได้มีจังหวะขืนไม่ยอมลง เหมือนยางคลาสสิคหลายๆรุ่นแต่อย่างใด

ที่ติดใจที่สุดคือเรื่องของการยึดเกาะ ที่ทำให้เราสามารถเพลิดเพลินไปกับการเล่นโค้งได้อย่างสบายใจ โดยไม่ต้องกลัวว่ามันจะลื่นไถลใดๆเลยทั้งสิ้น คือเลี้ยวไปเถอะ ยังไงยางก็เอาอยู่

BATTLAX ADVENTURE AT41

จุดเด่น/จุดขายของยาง

  • ประเภท : ยางสำหรับรถแอดเวนเจอร์ทัวร์ริ่ง
  • สำหรับการใช้งาน : ทางดำ 65% / ทางฝุ่น 35%
  • MS・BELT Mono Spiral Belt : เทคโนโลยีขดลวดน้ำหนักเบาที่ใช้หุ่มโดยรอบของยาง แตกต่างด้วยน้ำหนักที่เบากว่า สร้างสมดุลที่ดีขึ้น ทำให้ขับขี่ได้มั่นคง มั่นใจมากขึ้น รองรับการขับขี่ความเร็วสูงได้ เพิ่มการยึดเกาะได้ดียิ่งขึ้นแม้ในถนนเปียก
  • HTSPC (High Tensile Super Penetrated Cord) : ลวดเหล็กที่มีฉนวนยางด้านในที่ช่วยควบคุมอุณภูมิและการระบายความร้อนที่ดียิ่งขึ้น ช่วยลดโอกาสที่จะเกิดภาวะยางระเบิด ไม่เกิดการสะสมความชื้นซึ่งเป็นสาเหตุของการเสื่อมอายุของยาง นอกจากนั้นยังมีส่วนในการรักษารูปทรงและโครงสร้างของยาง ทำให้ขับขี่ได้มั่นคง และยังรองรับแรงกระแทกได้มากขึ้นอีกด้วย
  • ULTIMAT EYE™ : เทคโนโลยีเอกสิทธิ์ของ Bridgestone ที่ใช้วัดผล วิเคราะห์และแสดงข้อมูลลักษณะการทำงาน และผิวสัมผัสของยาง จากทุกรูปแบบการขับขี่ ทุกสภาพถนน ในห้องแล็บอย่างละเอียด ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนายางอย่างก้าวกระโดด
  • SILICA RICH EX : เนื้อยางผสมสิลิกาเข้มข้นสูงพิเศษ โดยมีการเพิ่มปริมาณซิลิกามากขึ้นเมื่อเทียบกับ SILICA RICH แบบดั้งเดิม ช่วยให้ยางมีอายุการใช้งานยาวนานยิ่งขึ้น และสามารถสร้างแรงยึดเกาะบนทางเปียกได้เป็นอย่างดี
  • RC POLYMER : เนื้อยางสร้างขึ้นจากโพลิเมอร์ชนิดพิเศษ คิดค้นโดยการใช้เทคโลโลยีเฉพาะของ Bridgestone NanoPro-Tech® ซึ่งมีส่วนให้เกิดการผสมผสานที่ดีขึ้น ระหว่างโพลิเมอร์และซิลิกา เพื่อการขับขี่ที่ดีขึ้นและการอายุการใช้งานที่ยาวนาน
  • 3LC+CAP&BASE (เฉพาะยางหลัง) : เทคโนโลยีการแยกเนื้อยางส่วนในและนอก โดยใช้เนื้อยางที่มีประสิทธิภาพในการยึดเกาะสูงไว้ด้านนอก และใช้เนื้อยางที่มีความคงทนสูง อายุการใช้งานที่ยืนยาวกว่าไว้ด้านใน เพื่อตอบสนองความต้องการทั้งสมรรถนะและความคงทนได้อย่างลงตัว

สัมผัสจากการทดสอบ : รถที่ใช้ทดสอบ – Yamaha Tenere 700

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในการทดสอบครั้งนี้ อาจดูไม่ตรงโจทย์กับยางรุ่นนี้สักเท่าไหร่ เพราะยังไงมันก็เป็นยางที่ออกแบบมาเพื่อใช้งานบนทางฝุ่นถึง 35% แต่สุดท้าย ด้วยการเผื่อวิ่งบนทางดำอีก 65% ที่ว่า กลับทำให้มันสามารถสร้างความประทับใจในการทดสอบครั้งนี้ได้ดีพอสมควร

เพราะแม้เนื้อยางจะมีความแข็งพอประมาณ ตามฉบับของยางทัวร์ริ่ง ทว่าตลอดเซสชัน ตัวผู้ทดสอบกลับสามารถขี่มันได้อย่างสบายใจไร้กังวล คืออาจจะมีช่วงเวลาที่ต้องปรับตัวเข้าหารถบ้าง เพราะเซสชันก่อนหน้า ขี่แต่รถสปอร์ตทรงหมอบไปหมด แต่เมื่อเริ่มปรับตัวเข้าหารถได้แล้ว การทำความรู้จักกลับยาง ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

กล่าวคือยางรุ่นนี้ ไม่ใช่ยางที่คาดคะเนอาการ(บนทางดำ)ได้ยาก เพราะมันก็ยังคงความเป็นยางจาก Bridgestone เอาไว้ นั่นคือ การพลิกเลี้ยวที่มีความเป็นธรรมชาติ ไม่ไว และไม่ขืนจนเกินไป ส่วนการยึดเกาะกับผิวถนนบนทางโค้ง ทั้งด้วยความเร็วเดินทาง หรือความเร็วแบบคนบ้าๆบอๆ

มันก็ยังสามารถรักษาแรงเหวี่ยงของรถให้อยู่ในโค้งได้เป็นอย่างดี ไม่มีอาการไถลให้รู้สึก แม้แต่ตอนที่ลองกระแทกคันเร่งหนักๆออกจากโค้งก็ตาม (เผลอๆจะทำให้ล้อหน้าลอยเสียด้วยซ้ำ)

โดยอาการเอี๊ยดอ๊าด ที่เกิดขึ้นจากการทดสอบยางรุ่นนี้ จะมีแค่เพียงจังหวะเดียวเท่านั้น นั่นก็คือจังหวะที่ผู้ทดสอบพยายามเชนจ์เกียร์ลงหนักๆก่อนเข้าโค้ง แต่นั่นก็เป็นเรื่องปกติของสายฝุ่นอยู่แล้ว ที่ชอบอาการสไลด์ท้ายหน่อยๆก่อนเข้าโค้ง (ถ้าไม่มีก็ไม่สนุกสิ…)

สุดท้ายนี้ คงต้องบอกว่า การทดสอบยางรถมอเตอร์ไซค์แต่ละรุ่น ในกิจกรรม Bridgestone Battlax Trackday 2023 นั้น จะน่าเสียดายที่สุดท้ายกรอบเวลา ก็ทำให้เราอาจไม่สามารถทดสอบยางได้ครบทุกประเภท หรือแม้แต่ยางแต่ละรุ่นที่ทดสอบไป ก็ยังไม่สามารถจับอาการได้ละเอียดมากนัก โดยเฉพาะยางตัวสุดท้าย ที่จะให้ลงไปทดสอบวิ่งทางฝุ่นบน Run-Off Area ก็กระไร

แต่ในภาพรวมมันก็ให้ความรู้สึกที่ประทับใจต่อตัวผู้ทดสอบในทุกๆแบบ ทุกๆครั้งหลังจบเซสชันทดสอบ ซึ่งเราก็หวังว่าทุกท่านจะได้สัมผัสความรู้สึกนี้เช่นกัน เมื่อได้ลองใช้ยางจาก Bridgstone ซึ่งเรารับรองว่าคุณจะไม่ผิดหวังแน่นอน

ขอขอบคุณ Bridgstone Moto Thailand ที่ให้เกียรติ ทีมงาน Ridebuster ได้เข้าร่วมกิจกรรม Bridgestone Battlax Trackday 2023 ในครั้งนี้
แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่

Comments are closed.