ทันทีที่ Hyundai Mobility Thailand ได้มีการประกาศราคาวางจำหน่าย Hyundai Stargazer อย่างเป็นทางการในไทย ด้วยราคารุ่นท็อปสุดที่ตั้งเอาไว้เพียง 889,000 บาท พร้อมออพชันที่จัดเต็มมากมาย ทำให้เกิดคำถามตามมาในทันที ว่าหากเป็นเช่นนี้ มันดีพอที่จะล้มเบอร์หนึ่ง MPV อย่าง Mitsubishi Xpander Cross ได้หรือไม่ ?
Mitsubishi Xpander Cross มาพร้อมกับเครื่องยนต์ “4A91” เบนซิน 4 สูบเรียง DOHC พร้อมระบบ MIVEC 16 วาล์ว ความจุ 1,499cc ให้กำลังสูงสุด 105 แรงม้า PS ที่ 6,000 รอบ/นาที และแรงบิดสูงสุด 141 นิวตันเมตร ที่ 4,000 รอบ/นาที ส่งกำลังด้วยชุดเกียร์อัตโนมัติ ECO-Dynamic CVT ขับเคลื่อนล้อหน้า
ระบบบังคับเลี้ยเป็นแบบ แร็คแอนด์พิเนียน พร้อมระบบเพาเวอร์ไฟฟ้า, ระบบกันสะเทือน ด้านหน้า อิสระแม็คเฟอร์สันสตรัท คอยล์สปริง พร้อมเหล็กกันโคลง และเหล็กค้ำหัวโช้ก – ด้านหลัง ทอร์ชันบีม, ระบบเบรก ด้านหน้า ดิสก์เบรก แบบมีช่องระบายความร้อน – ด้านหลัง ดรัมเบรก, และ ชุดล้อ ขนาด 17 x 6.5 นิ้ว รัดด้วยยาง 205/55 R17
ส่วน Hyundai Stargazer มาพร้อมกับเครื่องยนต์ “Smartstream G1.5” เบนซิน 4 สูบเรียง DOHC 16 วาล์ว ความจุ 1,497cc ให้กำลังสูงสุด 115 แรงม้า PS ที่ 6,300 รอบ/นาที และแรงบิดสูงสุด 144 นิวตันเมตร ที่ 4,500 รอบ/นาที ส่งกำลังด้วยชุดเกียร์อัตโนมัติ IVT ขับเคลื่อนล้อหน้า
ระบบบังคับเลี้ยวเป็นแบบ แร็คแอนด์พิเนียน พร้อมระบบเพาเวอร์ไฟฟ้า, ระบบกันสะเทือน ด้านหน้า อิสระแม็คเฟอร์สันสตรัท, ด้านหลัง CTBA, ระบบเบรก ด้านหน้า ดิสก์เบรก แบบมีช่องระบายความร้อน, ด้านหลัง ดรัมเบรก, ชุดล้อ ขนาด 16 นิ้ว รัดด้วยยาง 205/55 R16
จากรายละเอียดทางเทคนิคในข้างต้น จะเห็นได้ว่าทั้งสองฝ่ายนั้นมีสเป็คโครงสร้างพื้นฐานที่ค่อนข้างใกล้เคียงกัน ทั้งช่วงล่าง, พวงมาลัย, เบรก แต่จะไปต่างกันตรงที่เครื่องยนต์ของ Stargazer ให้แรงม้ามากกว่า Xpander Cross อยู่ราวๆ 10 ตัวด้วยกัน และแรงบิดก็แอบแรงกว่านิดหน่อย ที่ 3 นิวตันเมตร
และด้วยชุดล้อของฝ่ายแรก ที่แม้จะเล็กกว่า แต่ด้วยความเบาของล้อ บวกกับพละกำลังเครื่องยนต์ที่มากกว่า จึงทำให้ตัวรถอาจมีความคล่องตัวในการใช้งานดีกว่า แต่ทั้งนี้ก็ต้องไปลองทดสอบจริงเทียบกันอีกครั้ง เนื่องจากการเซ็ทคันเร่ง เกียร์ และน้ำหนักตัวรถ (ซึ่งไม่ได้มีการระบุตัวเลขเอาไว้ทั้งสองฝ่าย) มักมีผลในจุดนี้มากกว่า
งั้นไหนๆก็ไล่ถึงความคล่องตัวแล้ว เรามาว่ากันในเรื่องมิติตัวรถอีกสักหน่อยดีกว่า
มิติตัวรถ (ในหน่วยมิลลิเมตร) Mitsubishi Xpander Cross Hyundai Stargazer ยาว 4,595 4,460 กว้าง 1,790 1,780 สูง 1,750 1,695 ระยะฐานล้อ 2,775 2,780 ความสูงใต้ท้องรถ 220 185
จากตารางในข้างต้น จะเห็นได้ว่าตัวรถทั้งสองคันนี้ก็มีสัดส่วนที่เกือบจะใกล้เคียงกัน โดยที่ตัว Xpander Cross แอบจะมีสัดส่วนที่ใหญ่กว่า โดยเฉพาะในส่วนความยาว ส่วนความสูงตัวรถ กับความสูงใต้ท้องรถที่มากกว่า ถือเป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะมันถูกออกแบบมา”เผื่อลุย”กว่า Stargazer พอสมควร
ไม่เพียงเท่านั้น จากการได้ลองนั่งภายในห้องโดยสารโดยคร่าวๆ ส่วนตัวผู้เขียนพบว่า ห้องโดยสารของ Xpander Cross จะให้ความรู้สึกกว้างขวางกว่าคู่เทียบเล็กน้อย ทั้งในส่วนของเบาะแถวหน้า แถวกลาง โดยเฉพาะแถวสาม ที่ตัวครอบซุ้มล้อถูกออกแบบให้หลบออกไปทางด้านข้างมากกว่า
และในขณะเดียวกัน ตัวเบาะนั่งทุกต่ำแหน่ง ก็ใช้โฟมที่มีความแน่นกว่า น่าจะช่วยลดความเมื่อยล้าเมื่อนั่งเดินทางไกลๆได้ดี
ส่วนสิ่งที่ภายในห้องโดยสารของ Stargazer ทำได้ดีกว่าคู่เทียบคือ ผิวสัมผัสของเบาะนั่งทั้ง 3 ตอนนั้น ให้สัมผัสที่ดูดีกว่า และสามารถสร้างแรงเสียดทานกับเสื้อผ้าได้ดี (ไม่ค่อยลื่น) รวมถึงตัวเบาะก็มีความนุ่มกว่าอย่างเห็นได้ชัด จึงทำให้การนั่งในระยะทางใกล้ๆอาจถูกใจใครหลายคนมากกว่า แต่การนั่งระยะใกลยังเป็นสิ่งที่ต้องรอทดสอบกันต่อไป
และอีกสิ่งที่ตัวรถรุ่นหลังสามารถทำได้น่าสนใจกว่า ก็คืองานออกแบบภายในห้องโดยสารที่ดูทันสมัย และมีลูกเล่นต่างๆมากกว่า โดยเฉพาะเบาะตอนสอง ที่มีให้เลือกว่าจะเป็นแบบ Captain Seat ในรุ่น 6 ที่นั่ง หรือเบาะยาวที่สามารถพักแยกได้แบบ 60:40 ในรุ่น 7 ที่นั่ง
ด้านออพชันอื่นๆเพิ่มเติม
Mitsubishi Xpander Cross จะมีออพชันที่น่าสนใจหลายรายการทั้ง
- ระบบควบคุมการเปิด-ปิด ไฟหน้าอัตโนมัติ
- กระจกบังลมหน้าแบบกันเสียงรบกวน
- กระจกมองข้างพับไฟฟ้า พร้อมไฟเลี้ยว LED
- เสาอากาศครีบฉลาม
- ระบบปัดน้ำฝนอัตโนมัติ
- มาตรวัดขับขี่แบบ LCD ขนาด 8 นิ้ว
- หน้าจอแสดงผลระบบอินโฟเทนเมนท์ขนาด 9 นิ้ว
- แอร์ดิจิตอล
- แอร์แยกส่วนสำหรับผู้โดยสารแถว 2 และ แถว 3
- แผ่นกรองอากาศ PM 2.5
- กระจกมองหลังตัดแสงอัตโนมัติ
- ระบบล็อคความเร็ว
- ระบบกุญแจ Keyless
- พอร์ท USB-A ด้านหน้า 1 ตำแหน่ง
- พอร์ทชาร์จไฟ USB-A / USB-C อย่างละ 1 ตำแหน่ง สำหรับเบาะแถวสอง
- ช่องจ่ายไฟ DC 12 Volt ที่คอนโซลหน้า และเบาะแถวสาม
- ลำโพง 6 จุด
ระบบความปลอดภัย Xpander Cross
- ระบบควบคุมสเถียรภาพการทรงตัว ASC
- ระบบป้องกันการลื่นไถล HSA
- ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HSA
- ระบบควบคุมการขับเคลื่อน และสมดุลการเข้าโค้ง AYC
- ระบบป้องกันล้อล็อคขณะเบรก ABS
- ระบบกระจายแรงดันน้ำมันเบรก EBD
- ระบบเสริมแรงเบรก BA
- ระบบเบรกมือไฟฟ้า พร้อมระบบ Auto Hold
- ระบบไฟกระพริบฉุกเฉินอัตโนมัติ
- ระบบกุญแจ Immobilizer
- ระบบป้องกันการเปิดประตูหลังจากภายใน
- ระบบล็อคประตูอัตโนมัติเมื่อรถมีความเร็ว
- ถุงลมนิรถัยสำหรับผู้โดยสารตอนหน้า
- กล้องมองหลัง
ส่วน Hyundai Stargazer หากเป็นรุ่นท็อปสุด Smart 6 ก็จะมาพร้อมกับออพชันที่น่าสนใจหลายรายการเช่นกัน คือ
- ระบบควบคุมการเปิด-ปิด ไฟหน้าอัตโนมัติ
- กระจกมองข้างพับไฟฟ้า พร้อมไฟเลี้ยว LED
- เสาอากาศครีบฉลาม
- ระบบปัดน้ำฝนอัตโนมัติ
- มาตรวัดขับขี่แบบ TFT LCD ขนาด 4.2 นิ้ว
- หน้าจอแสดงผลระบบอินโฟเทนเมนท์ขนาด 8 นิ้ว
- แอร์ดิจิตอล
- แอร์แยกส่วนสำหรับผู้โดยสารแถว 2 และ แถว 3
- ระบบล็อคความเร็ว
- ระบบกุญแจ Keyless
- ที่ชาร์จโทรศัพท์มือถือแบบไร้สาย
- พอร์ท USB-A ด้านหน้า 1 ตำแหน่ง
- พอร์ทชาร์จไฟ USB-A อย่างละ 1 ตำแหน่ง สำหรับเบาะแถวสอง
- ลำโพง 6 จุด
ระบบความปลอดภัย Stargazer รุ่น Smart 6
- ระบบควบคุมสเถียรภาพการทรงตัว ESC
- ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HAC
- ระบบป้องกันล้อล็อคขณะเบรก ABS
- ระบบตรวจจับแรงดันลมยาง TPMS
- ระบบช่วยจำกัดความเร็ว MSLA
- ระบบกุญแจ Immobilizer
- ระบบล็อคประตูอัตโนมัติเมื่อรถมีความเร็ว
- ถุงลมนิรถัยสำหรับผู้โดยสารตอนหน้า
- ระบบป้องกันการชนด้านหน้า FCA
- ระบบแจ้งเตือนมุมอับ BCA
- ระบบเตือนความเคลื่อนไหวด้านหลัง
- ระบบควบคุมรถให้อยู่ในเลน LKA
- ระบบควบคุมรถให้อยู่กลางเลน LFA
- ระบบกล้องมองหลัง
- ระบบปรับไฟสูง-ต่ำ อัตโนมัติ HBA
- ระบบแจ้งเตือนการชนด้านหลัง และเบรกอัตโนมัติป้องกันการชนด้านหลัง RCT+CAA
- ระบบแจ้งเตือนความเหนื่อยล้าผู้ขับ DAW
- ระบบเตือนการเปิดประตูเมื่อมีรถวิ่งทางด้านข้าง SEW
จากการไล่เรียงในส่วนออพชัน จะเห็นได้ว่าทาง Mitsubishi ค่อนข้างเน้นไปที่การใส่ระบบช่วยเหลือผู้ขับที่ช่วยให้พวกเขาสามารถควบคุมรถได้อย่างมั่นใจ และในขณะเดียวกันสิ่งอำนวยความสะดวกสบาย สำหรับผู้โดยสารในตำแหน่งต่างๆก็ค่อนข้างจะครบครัน
แต่ทั้งนี้ ในฝั่งรถ MPV ของ Hyundai เอง ก็ไม่น้อยหน้าในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกสบาย หน้าจอแสดงผลระบบอินโฟเทนเมนท์อาจจะเล็กกว่า แต่ก็ยังอยู่ในระดับมาตรฐานของรถยุคปัจจุบัน และในขณะเดียวกัน ก็ยังมีระบบชาร์จไร้สายมาให้ตามยุคสมัย
และสิ่งที่ Stargazer ทำได้ดีกว่า Expander Cross จริงๆในส่วนออพชันก็คือ การที่แม้มันจะไม่ได้มีระบบช่วยเหลือผู้ขับมากมายเท่า แต่ก็ถูกใส่ระบบความปลอดภัยขั้นสูงอย่างระบบ ADAS เข้ามา จนน่าจะถูกใจแม่บ้านรุ่นใหม่ขึ้นอีกมาก
และที่สำคัญคือทั้งหมด ที่เราได้ไล่เรียงมานั้น ดูเหมือนว่า Hyundai Stargazer จะเป็นตัวรถที่คุ้มค่ากว่า เพราะด้วยออพชันยิบย่อยที่อัดแน่นกว่า แถมในรุ่นท็อป SMART 6 ที่ได้เบาะแถวสองแบบ Captain Seat ก็ยังมีราคา 889,000 บาท เท่านั้น ซึ่งนั่นถือว่าถูกกว่า Xpander Cross ราคา 946,000 บาท อยู่ถึง 57,000 บาท จึงทำให้มันถือเป็นรถ MPV อีกหนึ่งรุ่นที่น่าสนใจไม่น้อยในตอนนี้
ในขณะเดียวกัน ทางฝั่ง Mitsubishi Xpander Cross เอง แม้จะไม่มีออพชันระบบความปลอดภัยขั้นสูงมาให้เลย แต่ระบบความปลอดภัยที่เน้นช่วยเหลือผู้ขับให้สามารถควบคุมรถได้อย่างมั่นใจก็มีมากกว่า
และจากที่ผู้เขียนได้ลองนั่งภายในห้องโดยสารของมันมา แม้หน้าตาการตกแต่งชิ้นส่วนต่างๆจะดูอนุรักษ์นิยมไปบ้าง ทว่าบรรยากาศภายในก็ดูจะกว้างขวางกว่าคู่แข่งเล็กน้อยอยู่ดี และอีกสิ่งที่ Mitsubishi ถือแต้มต่อสูงกว่ามากๆ ก็คือจำนวนศูนย์บริการ และอะไหล่ตัวรถที่สามารถหาได้ง่ายกว่า
ซึ่งแต่ละจุดที่ไล่มา ก็ล้วนเป็นจุดขายสำคัญที่ทำให้ใครหลายๆคนเลือกซื้อเจ้ารถรุ่นนี้กันอยู่แล้ว
ดังนั้น หากให้ต้องสรุปว่าตัวรถคันไหนดีกว่ากัน เรื่องนี้คงบอกยาก ระหว่างตัวรถที่มาพร้อมกับลูกเล่นหวือหวา ครบครันตามยุคสมัย ในราคาที่คุ้มค่า อย่าง Hyundai Stargazer
กับรถที่ให้ความมั่นใจทั้งในเรื่องของการขับขี่ ความกว้างขวางภายในห้องโดยสารที่มากกว่า(เล็กน้อย) ความถึกทนที่มากกว่า และการหาศูนย์บริการที่มีอยู่ทั่วไทยจริงๆ อย่าง Mitsubishi Xpander Cross
เพราะมันก็อยู่ที่คุณผู้อ่านว่าจะเลือกไปทางใดมากกว่า ลองชั่งใจกันดูครับ