ยังคงอยู่กับเหล่าตำนานรถระดับ “ไอคอนนิคคาร์” แห่งยุค Y2K ในพาร์ทที่ 2 หลังจากที่เราได้พาทุกท่านไปรู้จักกับ 5 รถสุดโด่งดังไปแล้ว ตอนนี้ก็ถึงเวลาของอีก 5 คัน ที่ได้ไม่ว่าสายซิ่งคนไหนในยุคมิลเลนเนียมก็ต้องรู้จักอีกครั้ง
2002-2006 Honda Integra Type R (DC5)
Honda Integra ชื่อนี้ ในไทยอาจไม่เป็นที่รู้จักมากนัก เพราะมันคือรถยนต์นั่งที่ทาง Honda สร้างขึ้นมาเพื่อตีตลาดในประเทศสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะ โดยมีการวางตำแหน่งทางการตลาดไว้สูงกว่า Civic เล็กน้อย แถมยังมีทั้งรุ่น 4 ประตู และรุ่น 2 ประตู
โดยสำหรับตัวรถ Integra Type R หากให้เทียบกับรถยนต์ตระกูล Civic Type R ฝั่งแรก ก็จะเปรียบเสมือนกับเป็นรถ Honda Type R ที่มาพร้อมกับตัวถังคูเป้ 2 ประตู ขับเคลื่อนล้อหน้า ส่วนฝ่ายหลัง ก็จะเป็น Honda Type R ที่มาพร้อมกับตัวถังแฮทช์แบก 2 ประตู ขับเคลื่อนล้อหน้า วางขายคู่กันไป
และหาก ให้เทียบกัน ระหว่าง Integra Type R ‘DC5’ กับรุ่นพี่ที่มีรหัส DC2 ฝั่งรุ่นน้องก็เรียกได้ว่ามาพร้อมกับขนาดตัวถังที่ใหญ่กว่าเดิมมาก ซึ่งก็เป็นไปตามยุคสมัย และช่วงเวลาที่ต่างกันถึงราว 10 ปี ในการพัฒนา
รวมถึงระบบกันสะเทือนยังถูกเปลี่ยนแปลงใหม่ตามแพลตฟอร์ม จากเดิมที่เคยเป็นแบบอิสระด้านหน้า และดานแข็งทางด้านหลัง คราวนี้ก็เปลี่ยนเป็นแบบอิสระหน้า-หลัง ซึ่งสามารถควบคุมการทรงตัวได้อย่างนุ่มนวลมากกว่า นั่นจึงทำให้มันกลายเป็นรถ Integra Type R ที่สามารถใช้งานได้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น
ส่วนขุมกำลังเอง แม้จะยังคงเป็นบล็อค K20A เช่นเดียวกับรุ่นพี่ แต่มันก็ได้รับการปรับจูนใหม่จนมีแรงม้ามากขึ้นเป็น 220 PS ซึ่งรับกับน้ำหนักตัวถังที่มากขึ้นได้อย่างพอดิบพอดี
ทั้งนี้ แม้หากมองในภาพรวม เอกลักษณ์ความจัดจ้านของ Integra Type R DC5 จะถูกลดทอนจากรุ่นพี่ไปมาก ทว่าด้วยพื้นฐานความเป็นรถตัวถังใหญ่ แต่ไม่มากเกินไป และในขณะเดียวกันก็ได้ช่วงล่างอิสระทั้งสี่ล้อ รวมถึงยังคงใช้เครื่องยนต์ที่เชื่อถือได้
จึงทำให้มันกลายเป็นรถยนต์อีกหนึ่งรุ่นของยุคที่สามารถนำไปปรับแต่ง และทำไว้ลงแข่งสนามอย่างจริงจังได้อีกไกล แม้แต่ในตอนนี้ก็ยังมีให้เห็นกันอยู่ในบางรายการ
2002-2008 Nissan Fairlady Z (Z33) หรือ Nissan 350Z
นอกจาก Nissan Silvia S15 ที่ดั้งเดิมแล้วเป็นรถสปอร์ตตระกูล S-Line จาก Datsun ฝั่ง Nissan Fairlady Z เอง ก็เป็นรถที่แบรนด์นี้ มีรากตระกูลจาก Datsun เช่นกัน เพราะดั้งเดิมแล้ว มันคือรถสปอร์ตโรดสเตอร์ขนาดเล็กที่ใช้ชื่อว่า Fairlady (ยังไม่มี “Z”) ที่ทางค่ายตั้งใจทำไว้ตีตลาดยุโรป และบ้านเกิด
อย่างไรก็ดี เมื่อถึงเวลาที่ Nissan อยากจะบุกตลาดอเมริกา ในปี ค.ศ. 1961 ทว่าเนื่องจากแบรนด์ยังไม่เป็นที่รู้จัก ดังนั้นพวกเขาก็อยากจะสร้างรถสปอร์ตสักคันไว้บุกที่นั่นโดยเฉพาะเพื่อให้เป็นที่สนใจ จึงทำให้ผู้บริหารตัดสินใจเอาชื่อของ Datsun Fairlady มาใช้ แต่เพิ่มตัว Z ต่อท้ายเข้าไป เพื่อบ่งบอกถึงความพิเศษ ความแรง ความใหญ่โตที่มากขึ้น จนกลายเป็น Nissan 240Z ต้นตระกูล Nissan Fairlady Z ในที่สุด
ข้ามเวลามาถึงปี 1996 ตอนที่ Nissan 300ZX ถูกยุติการผลิตไปหมาดๆ ทาง Nissan สหรัฐอเมริกา ยังคงพยายามที่จะสานโปรเจ็กท์ Fairlady Z ต่อไป เพราะลูกค้าที่นั่นส่วนใหญ่ยังให้ความสนใจในตัวรถตระกูลนี้กันอยู่ ด้วยการสร้างรถต้นแบบคันใหม่ ที่กลับไปใช้ชื่อในตำนาน 240Z อีกครั้ง พร้อมหน้าตาที่แอบละม้ายคล้ายคลึงกับบรรพบุรุษ และวางเครื่องยนต์ KA24DE ขนาด 2.4 ลิตร กำลังสูงสุด 200 แรงม้า จาก 240SX และจัดแสดงเป็นครั้งแรกเมื่อปี
แต่ท้ายที่สุดเมื่อถึงเวลาขายจริง Fairlady Z รุ่นใหม่ที่ว่า กลับมาพร้อมชื่อ 350Z แทน ซึ่งเหตุผลยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมันมาพร้อมกับเครื่องยนต์ที่มีสุ้มเสียงอันเป็นเอกลักษณ์อีกหนึ่งรุ่นอย่างบล็อค VQ35DE เบนซิน V6 ให้กำลังสูงสุด 287 bhp และแรงบิดสูงสุด 371 นิวตันเมตร
นอกจากนี้ ในด้านงานออกแบบของมัน ยังมีความเป็นเอกลักเฉพาะตัวสูง จนแทบไม่เหลือเค้าเดิมของตอนที่โปรเจ็ท์ยังมีให้เห็นแค่ร่างคอนเซ็ปท์ เว้นเพียงเฉดสีส้ม ที่เป็นสีโปรโมทก็เท่านั้น ซึ่งในมุมส่วนตัวของผู้เขียน หรือใครหลายๆคนอาจรู้สึกว่า ดีแล้วที่มันไม่เป็นเช่นนั้น เพราะจนถังปัจจุบัน Nissan 350Z ก็ยังคงมีดีไซน์ที่ทันสมัย ดูไม่ตกยุคเท่าไหร่นักอยู่
จุดขายที่สำคัญของ 350Z แน่นอนว่า ย่อมมีทั้ง ขุมกำลัง V6 ที่ให้สุ้มเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ สมรรถนะที่ถูกใจใครหลายๆคน ตอบโจทย์ทั้งการใช้งานในชีวิตประจำวัน หรือจะเอาไปเดินทาง แล้วค่อยลงสนามก็ย่อมได้
แต่สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์มากที่สุด คือเรื่องหน้าตาที่มาเป็นอันดับหนึ่ง ไม่ว่าจะทั้งในแบบเดิมๆออกโรงงาน หรือถูกนำไปปรับแต่งในงานโชว์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะรถเอกของเฟรนไชส์เกม Need For Speed ภาค Underground 2 ที่ได้รับความนิยมสูงมากทั่วโลก ในช่วงเวลาที่มันออกขาย
นอกจากนี้ยังกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง ในภาพยนต์แข่งรถชื่อดัง Fast&Furios ภาค Tokyo Drift ที่ออกฉายในปี 2006 ในฐานะรถหลักของตัวร้าย Drift King พร้อมชุดแต่ง Widebody ดึงโป่งสุดสวย (และสวยสุดๆ) จาก Veilside พร้อมการปรับแต่งอีกมากมาย จนเครื่องยนต์สามารถเค้นแรงม้าเพิ่มขึ้นเป็น 430 HP
และจากเดิมที่มันก็ค่อนข้างได้รับความสนใจในหมู่คนเล่นรถมากอยู่แล้ว มันก็ยิ่งเป็นที่รู้จักมากขึ้นไปอีก ในสายตาคนทั่วโลกจากภาพยนต์เรื่องนี้
1999-2002 Nissan Skyline GT-R R34
ก่อนจะมี GT-R R35 กันดั้มท้าชนเจ้าชายกบผู้โด่งดัง แถมยังถูกลากขายมาแล้วกว่า 10 ปี รุ่นพี่ของมันอย่าง Skyline GT-R R34 ก็เป็นตำนานรถซิ่งอีกหนึ่งคันที่ไม่ว่าใครในยุค Y2K ก็รู้จัก แม้แต่ทุกวันนี้ชื่อของมันก็ยังไม่เคยหายไปจากสารบบรถซิ่งระดับตำนาน ในฐานะ 1 ใน 4 จตุรเทพ ที่สายซิ่งต้องมี !
Skyline GT-R ดั้งเดิมแล้ว เป็นรถสปอร์ตแกรนด์ทัวร์ ที่ถูกสร้างขึ้นจากพื้นฐานของรถซีดานหรูอย่าง Skyline ที่ก่อนหน้านั้นเคยเป็นของ Prince ก่อนจะถูกควบรวมเข้ากับ Nissan ซึ่งรถที่ได้ชื่อ Skyline GT-R เป็นคันแรก หรือต้นตระกูลจริงๆ ก็คือ PGC10 Skyline GT-R
หรือถ้าเรียกกันแบบลึกๆหน่อย คือ Hakosuka GT-R ที่สามารถสร้างตำนาน เอาชนะยอดรถซิ่งในยุคปี 60’s อย่าง Porsche 904 ได้แบบม้ามืด และยังเก็บสถิติชนะการแข่งขัน Japanese GP ได้ถึง 33 ครั้งในครึ่งปีแรก และยังมีสถิติชนะรวดกว่า 50 ครั้ง ต่อเนื่องโดยไม่แพ้ใคร (ถูกตัดจบโดยการพ่ายแพ้ให้กับ Mazda RX-3) รวมถึงสามารถคว้าชัยชนะในทุกการแข่งขันทั่วโลกได้อีกกว่า 1,000 ครั้ง ตลอดอายุการผลิต เพียง 3 ปี ระหว่างปี 1969-1972
จากชื่อเสียงระดับตำนาน ที่หายไปถึงเกือบ 20 ปี นับตั้งแต่การเลิกขาย Skyline GT-R รุ่นที่ 2 “KPGC110” เมื่อปี 1973 ข้ามมาจนถึงปี 1989 กับ Skyline GT-R รุ่นที่ 3 “R32” อันโด่งดัง ข้ามมาถึงลูกเมียน้อยที่หลายคนอาจไม่ชอบ แต่ความจริงแล้วคือรุ่นที่ขายดีสุดของตระกูลอย่าง Skyline GT-R รุ่นที่ 4 “R33” ในปี 1995 ท้ายที่สุด Nissan Skyline GT-R R34 ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นในปี 1999
หากเทียบกับ GT-R R33 ที่เราเกริ่นไว้ว่ามันเปรียบเสมือนกับลูกเมียน้อยที่ใครหลายคนไม่ชอบ เพราะมันถูกใส่ความเป็นรถทัวร์เร่อ ที่หรูหรา นั่งสบาย มากเกินไป จนความดิบแทบไม่มีเหมือนพี่ GT-R R32
คราวนี้ GT-R R34 มาพร้อมกับการปรับภาพลักษณ์ใหม่ ให้ตัวรถดูมีความสปอร์ต โฉบเฉี่ยว พร้อมซิ่งมากยิ่งขึ้น ทั้งจากขนาดตัวที่เล็กลง สั้นลง และหน้าตาที่เน้นความเหลี่ยมสันมากขึ้น ปราดเปรียวมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการเพิ่มเทคโลโลยีล้ำสมัยใหม่ๆเข้าไปอีกมากมาย ชนิดที่ว่าทำให้คู่แข่ง หรือรถสปอร์ตหลายๆคันในยุคเดียวกันดูล้าสมัย
แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือขุมกำลัง RB26DETT ที่เป็นเอกลักษณ์ของตระกูลมาตั้งแต่รุ่นพี่ R32 ที่ในคราวนี้ได้รับการปรับปรุงใหม่ให้มีความจัดจ้าน ติดเท้ามากยิ่งขึ้น ซึ่งแม้แรงม้าสูงสุดตอนออกโรงงานจะมีเพียง 280 ตัว แต่ดูเหมือนว่าทาง Nissan จะซ่อนบ่มพลังเอาไว้พอสมควร เพราะขอแค่เพียง”สะกิด”กราฟนิดเดียว เครื่องยนต์เดิมๆลูกนี้ก็สามารถอัพแรงม้าเป็น 330+ PS ได้สบายๆแล้ว
และในขณะที่โลกในสนามแข่งเจ้า R34 ก็สามารถทำผลงานได้ดีพอตัว เช่นเดียวกับโลกถนนหลวง ที่มีสายซิ่งเอาไปเล่นกันอย่างมันเท้า สิ่งที่ทำให้มันเป็นที่รู้จักมากขึ้นในสายตาของคนทั่วโลก ก็ยังหนีไม่พ้นการไปปรากฏตัวในโลกภาพยนต์ กับเฟรนไชส์หนังแอคชัน แต่มีการเอารถไปเกี่ยวพันอย่าง Fast&Furious ในฐานะรถเปิดตัวพระเอก Brian O’Conner ภาคสอง “2 Fast 2 Furious”
ซึ่งแม้มันจะโผล่มาเพียงครู่เดียวในช่วงต้น ทว่านั่นก็ทำให้คนทั้งโลก(ที่ดูภาพยนต์เรื่องนี้) ได้รู้จักกับมันขึ้นอีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ในช่วงเวลาดังกล่าว เจ้า Skyline GT-R R34 เป็นรถที่ไม่สามารถนำเข้าไปวางจำหน่ายในประเทศดังกล่าวได้
แต่ทีมงานดันสามารถหารถที่ถูกปรับแต่งจนเอาเข้าไปขายในอเมริกาช่วงเวลาดังกล่าว (ซึ่งเท่าที่ทราบมีเพียง 20-25 คัน) แล้วเอามาถ่ายทำได้เสียอย่างนั้น ก่อนที่ในภายหลังเจ้าหน้าที่จำรวจจะตรวจสอบแล้วพบว่าการปรับแต่งที่ว่านั้นก็ยังไม่พอที่จะผ่านกฏหมายมลพิษในประเทศ หรือว่าง่ายๆก็คือ R34 ทั้งหมดที่ถูกนำเข้าไปขาย รวมทั้งรถที่อยู่ในภาพยนต์ ก็ยังไม่ถูกกฏหมายอยู่ดีนั่นเอง
2001-2007 Mitsubishi Lancer Evolution 7-9 (CT9A)
“Lancer Evolution” ชื่อนี้ ถือว่าเป็นตำนานที่สุดแห่งรถสปอร์ตซีดานตัวรถจากอาทิตย์อุทัย ซึ่งมีต้นตระกูล หรือ “ตัวแรก” เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 1992 และคอนเซ็ปท์ดั้งเดิมที่ใช้สร้างรถขั้นต้นก็คือ ความพยายามที่จะประกาศศักดาของตนเองให้ได้ในทุกเวทีทางฝุ่น และหนึ่งในนั้นคือการแข่งขัน World Rally Championship
อย่างที่ทุกคนพอจะทราบกัน ว่าแท้จริงแล้ว Lancer Evolution ไม่ได้เกิดมา ก็เป็น EVO เลยแต่แรก ทว่ามันคือรถเก๋งขนาดเล็กตระกูล Lancer ที่ถูกนำมาปรับปรุง และอัพเกรดชิ้นส่วนต่างๆตั้งแต่โครงสร้างภายในไปจนถึงเปลือกนอกใหม่ให้แข็งแรง ทนทาน เหมาะสำหรับการนำไปลงแข่งขันในศึก WRC มากยิ่งขึ้น
โดยหลังจากประสบความสำเร็จกับทั้ง Lancer Evolution ตัวถังยุคแรก ซึ่งใช้โครงสร้างตัวถังเดียวกันกับ Lancer E-Car นั่นคือ EVO I, EVO II, และ EVO III ตามด้วยยุคที่สามารถคว้าแชมป์การแข่งขัน WRC ได้เพิ่มอีก 2 สมัย กับตัวรถยุคที่สอง ซึ่งใช้โครงสร้างตัวถังร่วมกันกับ Lancer ท้ายเบนซ์ ได้แก่ EVO IV, EVO V, และ EVO VI (VI Tommi หรือ 6.5)
เมื่อเข้าสู่ยุค Y2K ก็ถึงเวลาของยุคที่สาม อย่าง EVO VII, EVO VIII, และ EVO IX ซึ่งเปิดตัวในช่วงปี 2001-2006 ที่คราวนี้เปลี่ยนมาใช้โครงสร้างเดียวกันกับ Lancer Cedia ที่ชาวไทยเคยรู้จักกันดี
จุดแต่งต่างสำคัญของ Lancer Evolution ยุคที่ 3 เมื่อเทียบกับรุ่นพี่ยุคที่ 2 ก็คือเนื่องด้วยทิศทางการตลาดที่เปลี่ยนไป และนับวันยิ่งต้องการรถยนต์ที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ Mitsubishi Lancer ต้องมีขนาดตัวใหญ่ขึ้นตาม และนั่นส่งผลให้ EVO ยุคที่ 3 ซึ่งเริ่มด้วย EVO VII หรือ อีโว 7 มีขนาดตัวที่ใหญ่ขึ้น และมีน้ำหนักที่มากขึ้นกว่าเดิมมาก
แต่อย่างนั้น มันก็ยังคงได้มรดกสัญชาติญาณทางฝุ่นจากรุ่นพี่มาแบบครบครัน ทั้งระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่ยังคงมีโหมด และการเซ็ทอัพให้เผื่อไว้วิ่งทางฝุ่น (เพราะทีมแข่งแรลลีในรุ่นรองก็ยังคงนิยมใช้ EVO ลงแข่งอยู่) หน้าตาที่ดุดัน และหางหลังทรงสูง รวมถึงจุดเด่นสุดท้ายอย่าง เครื่องยนต์ระดับตำนานของ Mitsubishi อย่างบล็อค 4G63T ที่ได้รับการปรับจูนมาอย่างต่อเนื่อง แม้ในญี่ปุ่นจะยังคงถูกกดแรงม้าไว้ไม่ให้เกิน 280 PS ก็ตาม
และในขณะที่โลกการแข่งขันบนทางฝุ่นของมันก็ยังหมุนไป โลกทางเรียบบทใหม่ของมันก็ค่อยๆถือกำเนิดขึ้น ด้วยจุดสำคัญอีกอย่างคือ การไปโผล่ในภาพยนต์เรื่อง 2 Fast 2 Furious ในฐานะรถประจำตัวของ Brian O’Conner (อีกแล้ว) สำหรับทำภารกิจปลอมตัวเกือบตลอดทั้งเรื่อง
ไม่เพียงเท่านั้น ในรุ่นถัดมาอย่าง EVO VIII หรือ EVO 8 ซึ่งมีรุ่นพิเศษ “MR” ก็ยังถูกนำไปทดสอบในรายการวาไรตี้เกี่ยวกับรถชื่อดังอย่าง Top Gear โดยเป็นการทดสอบแบบวิ่งแข่งคู่กับซุปเปอร์คาร์แห่งยุค Lamborghini Murcielargo แล้วดันกดเวลาได้ดีกว่าแบบช็อคทั้งคนขับ พิธีกร และคนดู จึงทำให้ชื่อของ Lancer Evolution ยิ่งโด่งดังขึ้นไปอีก ในฐานะหนึ่งใน “Supercar Killer”
นอกจากนี้ ด้วยความที่มันเป็นรถสปอร์ตซีดานขับสี่เพียงไม่กี่รุ่นที่ถูกวางขายสู่ท้องตลาด ซึ่งก็ได้ชื่อว่ามีสมรรถนะ และตีนต้นที่จัดจ้าน จนได้ฉายาว่า “นักเลง 3 เกียร์” มาตั้งแต่รุ่นพี่ และยังคงรักษาชื่อนี้ไว้ได้ต่อไป รวมถึงหัวใจที่ให้มา แม้จะมีความจุแค่เพียง 2.0 ลิตร แต่ก็สามารถโมดิฟายได้ไกล จนเค้นแรงม้าทะลุ 1,000 ตัว ได้ไม่ยาก(มากนัก) และยิ่งโมดิฟายได้ง่ายขึ้นอีกมาก ใน EVO IX หรือ EVO 9 ที่ได้ระบบวาล์วแปรผัน MIVEC เพิ่มเติม และกลายเป็นหนึ่งในตำนานแห่งยุค ที่ทุกวันนี้ก็ยังมีคนหาเล่นกันอยู่ไม่น้อย
2007-2011 Subaru Impreza WRX STi Hatchback (GR)
เมื่อกล่าวถึง EVO ก็ต้องกล่าวถึง Impreza โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตระกูลแรงสุด WRX STi คู่แข่งที่สู้รบปรบมือกันมา ตั้งแต่ต้นตระกูลของพวกมันยังไม่เกิด
และเช่นเดียวกับคู่แข่ง Subaru Impreza WRX STi เอง ก็มีต้นกำเนิดซึ่งคล้ายกันกับ Lancer Evolution นั่นคือ เป็นรถสปอร์ตซีดาน ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเอาไว้ปรับแต่งสำหรับการแข่งขัน WRC บนพื้นฐานของรถซีดานปกติที่ทางค่ายมีอยู่แล้วอีกที ซึ่งในจุดนี้ มันเองก็สามารถทำผลงานได้ดีไม่แพ้กัน ด้วยการคว้าแชมป์ไป 3 สมัย
อย่างไรก็ดี สำหรับตัวรถ Impreza WRX STi ยุคที่ 3 นั้น แม้จะไม่ได้เกิดมาเพื่อเอาไว้เป็นโครงสร้างให้กับตัวแข่ง WRC อีกต่อไปแล้ว แต่ก็ยังมีหลายทีมแข่งในรุ่นรอง หรือทีมแข่งแรลลีทั่วโลก นำมันไปทำเป็นตัวแข่งทางฝุ่นกันอยู่ดี เนื่องจากมันเองก็ได้รับมรดกตกทอดมาจากรุ่นพี่ที่ครบครันเช่นกัน
ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของ ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบ Symmetric – All Wheels Drive ที่มีเซ็ทอัพไว้เผื่อลุยทางกรวดโดยเฉพาะอยู่แล้ว หรือหน้าตาที่ดุดัน และที่สำคัญคือเครื่องยนต์ 4 สูบนอน EJ25 คอแดง ความจุ 2.5 ลิตร ที่ได้รับการปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน และยังมีจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำ ทำให้บาลานซ์ในการเข้าโค้งมีสเถียรภาพสูง ซึ่งไม่ได้ดีแค่กับทางฝุ่นเท่านั้น แต่ยังดีกับการขับบนทางเรียบอีกด้วย
ทั้งนี้ สาเหตุที่เรา อยากจะมุ่งเน้นไปที่ตัวรถ Subaru Impreza WRX STi ยุคที่ 3 ที่เปิดตัวในปี 2007-2011 ก็เพราะว่า แม้รุ่นพี่ในยุคที่สองของมัน จะมีสมรรถนะที่ดีไม่แพ้คู่แข่ง แต่กว่าชื่อของตัวรถรุ่นนี้จะเป็นที่รู้จักในสายตาคนหมู่มากจริงๆ ก็คือในยุครุ่นน้อง ที่จู่ๆทาง Subaru ก็แหวกแนว คิดสร้าง WRX STi ร่าง 5 ประตู หรือ Hatchback ขึ้นมา
โดยสาเหตุที่เป็นเช่นนั้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าพวกเขาอยากจะตอบสนองกับเทรนด์ตลาดโลกที่ผู้คนเริ่มให้ความสำคัญกับอรรถประโยชน์ในการใช้งานรถมากขึ้น แต่นั่นก็ยังไม่ใช่จุดที่ทำให้เจ้า “แมวอ้วน” โด่งดัง เพราะนั่นแค่ทำให้คนที่เล่นรถ และรู้จักรถยนต์ตระกูล Impreza WRX STi รู้สึกแปลกตาขึ้นมาก็เท่านั้น
และจุดประกายสำคัญที่ทำให้มันเป็นที่รู้จักในสายตาชาวโลกจริงๆ แรกสุดเลยก็คือการที่มันถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งของภาพยนต์เรื่อง Fast & Furious (อีกแล้ว !) ภาค Fast 4 ที่คราวนี้กลับมาเดินเส้นเรื่องหลักระหว่าง Dominic Toretto กับ Brian O’Conner อีกครั้ง
และเจ้าแมวอ้วนเอง ก็เป็นรถที่ตัวเอกอย่าง Brian ใช้เป็นหลักในภาคนี้ ซึ่งแม้มันอาจจะไม่ได้สะดุดตาเท่ากับ Nissan Skyline GT-R R34 สีน้ำเงิน และ Mitsubishi Lancer Evolution VII สีเขียว ใน 2 Fast 2 Furious แต่ก็เพียงพอให้มันเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น
ส่วนครั้งที่มันถูกทำให้เป็นที่รู้จักจริงๆ (จริงๆนะ) ก็คือ การปรากฏตัวกับคราบตัวแข่ง Rally Cross ที่ตำนานนักแข่งจิมคาน่า, แรลลี, แรลลีครอส ผู้ล่วงลับ(ไปหมาดๆเมื่อต้นปีที่ผ่านมา) อย่าง Ken Block นำมาใช้วาดลวดลายผาดโผน ทำท่าโดนัท สไลท์ก้นผ่าน หรือลอดช่องแคบต่างๆไปมา ชนิดที่ใครก็ทำตามได้ยาก จนกลายเป็นคลิปยูทูปไวรัลทั่วโลก แม้แต่ในไทยเอง ก็ยังฮือฮาตามๆกันไปในหมู่วัยรุ่น Y2K นั่นก็คือคลิปที่มีชื่อว่า “KEN BLOCK GYMKHANA TWO THE INFOMERCIAL”
ทั้งนี้ อันที่จริง ในคลิปแรกของโปรเจ็กท์นี้ “KEN BLOCK GYMKHANA PRACTICE” Ken Block เอง ก็ใช้ Subaru Impreza WRX STi ในการวาดลวดลายเช่นกัน แต่คลิปดังกล่าวยังไม่โด่งดังเท่า อาจจะด้วยการโปรโมท และการขยี้จังหวะเฉียดฉิวมากกว่าในคลิปที่สอง