ปฏิเสธไม่ได้จริงๆว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกมีอัตราการเติบโตที่พุ่งสูงและรวดเร็วเป็นอย่างมาก ซึ่งฟังดูแล้ว มันอาจดูดีในสายตาของคนรักษ์โลก แต่ในความเป็นจริง โลกอาจไม่พร้อมสำหรับสิ่งนั้นก็ได้
จากทิศทางของตลาดผู้ใช้ยานยนต์ในปัจจุบันที่เริ่มหันไปสู่การใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้ามากขึ้นเรื่อยด้วยอัตราการเติบโตที่ก้าวกระโดด
เมื่อประกอบกับความเข้มงวดในเรื่องการปล่อยมลพิษ และปัญหาเรื่องค่าพลังงานเชื้อเพลิงที่พุ่งสูง จึงทำให้ผู้ผลิตรถยนต์หลายๆเจ้า โดยเฉพาะในฝั่งแบรนด์ยุโรปใหญ่ๆหลายๆราย ต่างพากันประกาศการเตรียมเลิกขายรถที่ใช้ขุมกำลังเครื่องยนต์สันดาปภายใน แล้วไปขายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าล้วน ภายในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า
ล่าสุดในการสัมนาในงาน G7 Hiroshima Summit 2023 หรืองานประชุมสุดยอดกลุ่ม 7 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-21 พฤษภาคม ที่ผ่านมา นาย Gill Prat ผู้บริหารสูงสุดของสถาบันวิจัยของ Toyota ได้มีการเปิดเผยถึงทิศทางความเคลื่อนไหวของผู้ผลิตรถยนต์หลายๆแบรนด์ที่กำหนดเส้นตายการเตรียมขายรถยนต์ไฟฟ้าล้วนเอาไว้อย่างเสร็จสรรพ
ว่านั่นอาจไม่ใช่สิ่งที่ส่งผลดีต่อตลาดและผู้ใช้ยานยนต์ในอนาคตเท่าไหร่นัก เพราะใช่ว่าทุกคนจะพร้อมสำหรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า และการพัฒนาขุมกำลังไฮบริดคือทางเลือกที่เหมาะสมกว่า
ไม่เพียงเท่านั้น โลกเองก็ยังไม่พร้อมที่จะรองรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอัตราการเติบโตที่สูงเช่นนี้ด้วย ไม่ว่าจะทั้งในส่วนของการผลิตแบตเตอรี่ และการสร้างพลังงานไฟฟ้าให้เพียงพอต่อการต้องการของผู้ใช้ เนื่องจากทรัพยากรที่ต้องใช้มีจำกัด
“(แม้ว่า)ในท้ายที่สุด, ปัญหาเรื่องทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดจะจบลง, แต่ยังต้องใช้เวลาแก้ปัญหาอีกหลายปีกว่าที่เราจะมีวัตถุดิบมากพอสำหรับตัวแบตเตอรี่และแหล่งพลังงานหมุนเวียนสำหรับการชาร์จไฟให้กับยานยนต์ไฟฟ้าเพียงพอ”
“วัตถุดิบสำหรับแบตเตอรี่และแหล่งพลังงานหมุนเวียนจะมีอย่างเหลือเฟือในท้ายที่สุด, แต่มันยังต้องใช้เวลาอีกกว่าทศวรรษสำหรับการขุดแร่ของแบตเตอรี่, การทำแหล่งสร้างไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน, ระบบส่งพลังงาน, และแหล่งเก็บพลังงานที่ต้องถูกยกระดับขึ้นไปอีก”
เท่ากับว่า หากปัญหาการสร้างวัตถุดิบสำหรับทำแบตเตอรี่ และการทำแหล่งสร้างพลังงาน หรืออาจรวมไปถึงการตั้งสถานีชาร์จ ที่ต้องวางแผนถึงการเดินแนวสายไฟที่รองรับ และอื่นๆอีกมากมาย ยังไม่สามารถจะแก้ไขได้ทันอัตราการเติบโตของผู้ใช้รถไฟฟ้า และในขณะเดียวกัน ผู้ผลิตเอง ก็รีบตีกรอบการใช้รถยนต์ไฟฟ้าไว้เร็วเกินไป
ท้ายที่สุด ทั้งจากสถานีชาร์จที่ยังคงมีไม่เพียงพอ (ถึงจะมากขึ้น แต่คนใช้รถก็ยังคงมากกว่า) หรือราคาแบตเตอรี่ที่ไม่มีทีท่าว่าจะถูกลง (เพราะถึงจะผลิตได้มากขึ้น แต่ความต้องการของลูกค้าก็ยังคงสูงขึ้น ราคาจึงไม่ถูกลงง่ายๆ) ผู้คนที่ติดปัญหา หรือมองว่าการใช้รถไฟฟ้ายังไม่สะดวกสบาย ก็จะยิ่งไม่สนใจในการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นไปอีกนั่นเอง