Honda CBR250RR SP ถือเป็นรถมอเตอร์ไซค์ที่มาพร้อมกับสมรรถนะขึ้นชื่อในเรื่องของความเป็นรถ “สปอร์ตสนาม” และล่าสุดกับตัวรถรุ่นปี 2023 มันก็ได้รับการปรับโฉมครั้งใหญ่ให้ดีขึ้นไปอีกขั้น แต่มันจะดีขนาดไหนกันเชียว ในมุมมองของผู้ใช้โฉมก่อนหน้าตัวจริง ที่ต้องมา รีวิว ในครั้งนี้ ?
เช่นทุกครั้ง ก่อนที่เราจะไป รีวิว เรื่องสมรรถนะของ 2023 Honda CBR250RR SP เราขอไล่ถึงรายละเอียดความเปลี่ยนแปลงของตัวรถก่อน ว่ามันมีความแตกต่างจากโฉมก่อนหน้าอย่างไรบ้าง ?
หน้าตาภายนอก หรือชุดแฟริ่งตัวรถรอบคัน ได้ถูกเปลี่ยนแปลงใหม่ทุกจุด
นั่นคือ
- ชิ้นบังลมหน้า ถูกปรับดีไซน์ใหม่ และมีความกว้างยิ่งขึ้น มีช่องดักอากาศข้างชิลด์หน้า
- ชิลด์หน้ายาวและสูงขึ้นกว่าเดิม
- แฟริ่งชิ้นข้าง บานกว้างออกมามากกว่าเดิม รับกับชิ้นบังลมหน้า
- คางไฟหน้าเป็นแบบเชื่อมต่อกันยาวจากซ้าย-ขวาเป็นเส้นเดียว ตลอดแนวไฟหน้า
- ชิ้นแฟริ่งรอบเรือนไมล์เปลี่ยนใหม่
- บังโคลนล้อหน้าเปลี่ยนใหม่ ดูมีมิติมากกว่าเดิม
- ครอบถังชิ้นบนเปลี่ยนใหม่ มีสัญลักษณ์ RR อยู่ด้านท้าย
- กาบแฟริ่งข้างที่ดูคล้ายกับรุ่นน้องอย่าง CBR150R และมีการปรับงานดีไซน์ช่องรีดอากาศออกจากห้องเครื่องใหม่หลายจุด โดยเฉพาะบริเวณด้านข้างเสื้อสูบ
- อกล่างไม่มีวิงเล็ท แต่เพิ่มช่องรีดอากาศระบายความร้อนออกจากห้องเครื่อง และไม่มีการอ้อมมาปิดแครงก์เครื่องยนต์อีกต่อไปในฝั่งซ้าย
- ชิ้นแฟริ่งใต้เบาะเปลี่ยนใหม่รับกับชิ้นแฟริ่งใต้ถังน้ำมัน
- ชุดแฟริ่งท้ายใหม่ยกแผง กว้างขึ้น ช่องรีดอากาศใหญ่ขึ้น โดยมีชิ้นวิงเล็ทรีดอากาศอยู่ด้านใน และชิ้นพลาสติกเหนือไฟท้ายก็ปรับใหม่ ให้ยื่นยาวกว่าเดิม แถมยังเป็นงานพลาสติกดำด้าน ไม่ต้องกังวลเรื่องรอยจากปลายเท้าตอนขึ้นคร่อมหรือลงจากรถ
ในภาพรวม นอกจากจะทำให้ตัวรถดูมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังทำให้ตัวรถดูอวบมากขึ้นในทุกสัดส่วน แม้ตัวเลขมิติตัวรถจะยังคงเท่าเดิม โดยเฉพาะด้านกว้าง แต่นั่นเกิดจากการวัดที่ตำแหน่งระยะปลายสุดของไฟเลี้ยวด้านหน้า ไม่ได้วัดจากความกว้างตัวแฟริ่งที่บานออกมามากกว่าเดิม
จุดน่าสนใจก็คือความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ยังไม่มีมีผลแค่ในเรื่องของภาพลักษณ์ตัวรถที่ดูดีขึ้น แต่ยังส่งผลถึงเรื่องการใช้งานด้วย
กล่าวคือมันช่วยแหวกลมออกจากตัวผู้ขี่ได้มากขึ้นกว่าเดิมอย่างรู้สึกได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านข้าง ตั้งแต่หัวเข่า มาจนถึงช่วงมือ หรือจะเป็นด้านบน ช่วงหัวไหล่ กับศรีษะ ซึ่งเราจะรู้สึกได้ในแทบทุกจังหวะของการจัดท่านั่ง ไม่ว่าจะเป็นการนั่งขี่ในท่าปกติ หรือการนั่งขี่ในท่าหมอบ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับในมุมผู้ทดสอบเอง ที่มีขนาดตัวค่อนข้างใหญ่ (อ้วน) ก็ยิ่งสัมผัสได้เลยว่ามันช่วยแหวกลมได้ดีกว่าตัวรถรุ่นก่อนหน้าที่ใช้งานอยู่ทุกวันจริงๆ
แม้แต่ตัวชิลด์หน้าที่สูงขึ้นเอง ก็ถือว่าสูงเกินพอแล้วสำหรับการใช้งานแบบเผื่อลงสนาม หากใครอยากได้ความซิ่งมากขึ้น ส่วนตัวผู้ทดสอบมองว่าแค่เพียงเอาไปติดฟิล์มทำสีรมดำหน่อยก็หล่อแล้ว ไม่จำเป็นต้องหาของแต่งซึ่งตอนนี้ยังมีไม่มากมาใส่ให้วุ่นวายแต่อย่างใด
ด้านสมรรถนะตัวรถ ก็ต้องว่ากันเรื่องความเปลี่ยนแปลงในทางเทคนิคก่อนว่า เจ้า CBR250RR SP 2023 มาพร้อมกับความแตกต่างจากรุ่นเดิมคือ
เครื่องยนต์ บล็อค 2 สูบเรียง DOHC 4 วาล์วต่อสูบ ระบายความร้อนด้วยน้ำ ความจุ 249cc ที่ถูกปรับจูนใหม่ โดยมีรายละเอียดแบบคร่าวๆดังนี้
- ฝาสูบเปลี่ยนใหม่
- แคมชาฟท์ใหม่ เพิ่มระยะเวลาในการเปิดวาล์ว
- วาล์วไอดีใหญ่ขึ้น
- เพิ่มอัตราส่วนกำลังอัด จาก 12.1 : 1 เป็น 12.5 : 1
- เพิ่มอัตราการจ่ายน้ำมันให้รับกับอากาศที่เข้าสู่ห้องเผาไหม้มากขึ้น
- แหวนลูกสูบใหม่ ลดแรงเสียดทานให้น้อยลง
- เพลาข้อเหวี่ยงเบาลง
จนทำให้เครื่องยนต์ลูกนี้ สามารถเค้นแรงม้าได้มากขึ้น จาก 41 PS เป็น 42 PS ที่ 13,000 รอบ/นาที ส่วนแรงบิดยังคงเท่าเดิม คือ 25 นิวตันเมตร ที่ 11,000 รอบ/นาที ซึ่งการปรับจูนเครื่องยนต์ใหม่ที่ว่า ก็จะประกอบไปด้วย
และเพื่อให้การเรียกอัตราเร่งเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง รับกับพละกำลังที่มากขึ้น ทาง Honda ยังได้ทำการปรับปรุงระบบส่งกำลังใหม่ด้วย ได้เแก่
- ปรับอัตราทดเกียร์ 1-6 ใหม่ นั่นคือ เกียร์ 1-4 มีความจัดจ้านมากขึ้น แต่ในส่วนเกียร์ 5-6 จะมีอัตราทดต่ำลง เพื่อลดการเปลืองรอบ
- จำนวนฟันสเตอร์หน้า-หลัง เปลี่ยนใหม่ จาก 14-41 เป็น 14-42 เพื่อการเรียกอัตราเร่งที่จัดจ้านมากขึ้น และไม่ทำให้อัตราทดเกียร์ 5-6 ที่ปรับให้ต่ำลง ส่งผลให้กำลังจากเครื่องยนต์ห้อยเกินไป
ทว่าในภาพรวม จะทำให้ความห่างของรอบเครื่องยนต์ในแต่ละเกียร์ มีความกว้างมากขึ้นช่วงละราวๆ +200 รอบ/นาที เว้นเพียง เกียร์ 1 ไปเกียร์ 2 ที่จะชิดขึ้นกว่าเดิม -200 รอบ/นาที เมื่อเทียบกับอัตราทดเกียร์ของรุ่นก่อนหน้า
จากการปรับปรุงในฝั่งเครื่องยนต์ทั้งหมดที่ไล่เรียงมา สิ่งที่ผู้ทดสอบสามารถสัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลง เมื่อเทียบกับตัวรถรุ่นก่อนหน้าก็คือ…
จากเดิม ที่มันอาจจะมีความเนือยๆสักนิดในช่วงรอบต้นๆ แล้วจึงจะเริ่มดึงอย่างสนุกสนานติดมืดมากขึ้นเมื่อรอบเครื่องยนต์แตะหลัก 9,000 รอบ/นาที และจะยิ่งดึกสนุกขึ้นไปอีกที่ 12,000 รอบ/นาที จนถึงราวๆ 13,000 รอบ/นาที
คราวนี้ สำหรับเครื่องยนต์ลูกใหม่ เราจะสัมผัสถึงความตามมือ ได้ตั้งแต่ 8,000 รอบ/นาที และจะดึงสนุกตั้งแต่ 11,000 รอบ/นาที แถมยังไหลไปยาวๆถึงเรดไลน์คือที่ 14,000 รอบ/นาที ได้อย่างต่อเนื่อง
หรือว่าง่ายๆคือ เครื่องยนต์ลูกใหม่ มีย่านกำลังให้ผู้ขี่สามารถเรียกใช้งานได้กว้างมากขึ้น และต่อเนื่องมากขึ้น
เช่นเดียวกันกับชุดเกียร์ ที่ในส่วนเกียร์ 1 อาจจะรู้สึกว่ามันแอบชิดไปหน่อยบ้าง แต่ในส่วนเกียร์หลังจากนั้นผู้ขี่จะสามารถเล่นกับกำลังเครื่องยนต์ได้อย่างสบายใจ มีความอึดอัดน้อยลง
เช่นหากเข้าเกียร์ผิดก่อนเข้าโค้ง หรือขณะอยู่ในโค้ง ในกรณีเข้าเกียร์ต่ำเกินไป ก็ไม่ต้องลนรีบต่อเกียร์ขึ้น เพราะโอกาสตันมีน้อยลง หรือหากเข้าเกียร์สูงเกินไป ก็ไม่ต้องรีบตบเกียร์ลง เพราะโอกาสที่กำลังเครื่องยนต์จะเหี่ยวก็มีน้อยลง เนื่องจากย่านกำลังของมันสามารถเรียกใช้ได้ไวขึ้น
นอกจากนี้ ดูเหมือนว่าทาง Honda ได้ทำการปรับปรุงการทำงานของระบบ Quickshifter ใหม่ด้วย เพราะจากการทดสอบในครั้งนี้ ผู้ทดสอบพบว่ามันสามารถทำงานได้เนียน และเบาเท้ากว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นในจังหวะขาลง หรือขาขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับการต่อเกียร์ จากเกียร์ 1 ไปเกียร์ 2 ที่มีอาการสะอึกน้อยลงมาก (แต่ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการปรับอัตราทดเกียร์ใหม่ด้วย)
สิ่งที่เราต้องยกยอดเอาไว้ก่อน ก็คงเป็นเรื่องของอัตราสิ้นเปลือง และความเร็วสูงสุด ที่ต้องขอนำรถไปวิ่งทดสอบแบบใช้งานในเมืองจริงๆก่อน จึงจะสามารถเก็บค่าต่างๆเหล่านี้ได้
อีกจุดที่เปลี่ยนไปในฝั่งระบบช่วงล่าง ไม่ใช่ชุดล้อ ไม่ใช่ชุดยาง ไม่ใช่ระบบเบรก แต่เป็นระบบกันสะเทือน ซึ่งไม่ได้รวมถึงระบบกันสะเทือนหลัง มีแต่เฉพาะระบบกันสะเทือนหน้า
กล่าวคือ แม้มันจะยังคงเป็น ชุดระบบกันสะเทือนโช้กหน้าหัวกลับจาก Showa ขนาดแกน 37 มิลลิเมตร เท่าเดิม หน้าตาภายนอกหากมองโดยผิวเผินก็ยังเหมือนเดิมสนิท
เว้นเพียงหัวโช้ก ที่เปลี่ยนการสกรีนโลโก้ Showa เฉยๆ เป็นโลโก้ Showa SFF-BP ซึ่งหมายถึง มันมีการเปลี่ยนไส้ในจากแบบ SFF (Seperate Function Fork) เป็น SFF-BP (Seperate Function Fork – Big Piston)
ทำให้แกนโช้กภายใน ถูกเปลี่ยนจากแบบ Twin Tube เป็น Single Tube และได้วาล์วน้ำมันภายในที่ใหญ่กว่าเดิม ส่งผลให้แรงดันน้ำมันภายในโช้กมีความเครียดลดลง และวาล์วสามารถควบคุมความหนืดในการยืดยุบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ซึ่งหากว่ากันตามจริง ส่วนตัวผู้ทดสอบที่ใช้รถ CBR250RR SP โฉมก่อน ก็ค่อนข้างจะพอใจกับประสิทธิภาพการทำงานของระบบกันสะเทือนหน้าของมันอยู่แล้ว
มาในตัวใหม่ แม้การปรับปรุงอาจไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงที่มากกว่าเดิมเท่าไหร่นัก ในการขี่จังหวะแรกๆ แถมยังทำให้ผู้ขี่รู้สึกว่า ช่วงหน้าของตัวรถ ส่งอาการของผิวถนน ในจังหวะที่เจอหลุ่ม หรือแอ่งบั๊มพ์ใหญ่ๆบนแทร็ค ชัดเจนกว่าปกติ จนน่ารำคาญ
แต่เมื่อจับจังหวะได้สักพัก ก็จะยิ่งรู้สึกได้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆว่า การส่งอาการของสภาพผิวแทร็คที่ว่านั้น แม้จะส่งมาให้เรารู้สึกได้ชัดเจนมากขึ้น แต่ก็เป็นความรู้สึกที่มีความนุ่มนวลกว่าเดิม และมั่นคงกว่าเดิม
ไม่เพียงเท่านั้น ในจังหวะที่ต้องเบรกหนักๆ เพื่อเข้าโค้งลึกๆ ยิ่งขี่หลายๆรอบมากขึ้น ก็จะยิ่งรู้สึกว่าโช้กหน้าคู่ใหม่นี้ มีความแน่น และยังสามารถรักษาความแน่นนี้ไว้ได้นานรอบ หลายโค้งมากกว่าเดิม
ซึ่งอาการทั้งหมดที่ว่ามา อาจเป็นความแตกต่างเพียงเล็กๆน้อยๆ แต่มันก็เพียงพอที่จะให้เราสัมผัสได้ว่ามันดีขึ้นกว่าเดิมจริงๆ (แต่เดิมก็ดีอยู่แล้ว คราวนี้ยิ่งดีขึ้นไปอีก)
โดยหากให้สรุปการ รีวิว Honda CBR250RR SP 2023 แบบลองกรึ่มๆในสนามแข่งขันแก่งกระจาน เซอร์กิต ครั้งนี้
ในมุมมองของผู้ทดสอบที่ใช้รถ Honda CBR250RR SP 2022 อยู่แล้วอย่างแอดมินจอห์น ในชีวิตประจำวัน รวมถึงในสนามแข่งบ้าง มาก่อนแล้ว ก็ต้องยอมรับว่ามันคือตัวรถที่ดีขึ้นในแทบทุกด้านจริงๆ โดยเฉพาะจุดที่ช่วยเพิ่มความสนุกสนาน ความมั่นใจในการใช้งานให้มากขึ้น
ทั้งความแรงจากเครื่องยนต์ที่มากกว่าเดิม ซึ่งอาจจะไม่ได้มากมายนัก แต่ก็มากพอที่จะกล้าบอกว่า “เห้ย มันส์ขึ้นจริงๆว่ะ”, การทำงานของชุดเกียร์ ที่ทำให้มันเป็นรถสปอร์ตที่ขี่ง่ายกว่าเดิม, การทำงานของโช้กหน้าที่ทำให้ผู้ขี่มั่นใจ กล้าที่จะเบรกลึกๆได้มากขึ้น
แม้กระทั่งชุดแฟริ่งที่ตอนแรกเข้าใจว่ามีดีแค่เรื่องความสวยงามที่มากกว่าเดิม แต่แท้จริงแล้วมันก็ยังส่งผลถึงการขับขี่ในทางบวกมากขึ้นจริงๆด้วย
แน่นอน ด้วยราคา 263,000 บาท หลายคนอาจจะมองว่ามันไม่คุ้มค่าเสียเลย เพราะในราคาเท่านี้ คุณสามารถซื้อรถ Honda CBR500R ที่ได้เครื่องยนต์ใหญ่กว่า แรงกว่า บิดติดมือกว่า ประหยัดน้ำมันกว่า แล้วมาพร้อมกับโช้กหน้าหัวกลับแกนใหญ่กว่า ระบบเบรกเรเดียลเมาท์ ดิสก์คู่ คุ้มค่ากว่าเห็นๆ
หรือจะเพิ่มเงินอีกนิดไปเอา CBR650R ที่ได้เครื่องยนต์ใหญ่กว่ากันถึงเกือบ 3 เท่า แล้วยังมีแรงม้ามากกว่า ทำความเร็วปลายได้เยอะกว่ากันหลายเท่าตัว ขี่ทางไกลก็ไม่เหนื่อยนัก
ซึ่งหากคุณมองเพียงในเรื่องของการใช้งานในชีวิตประจำวัน เราก็ไม่เถียงเลยว่า CBR500R/CBR650R คุ้มค่ากว่า CBR250RR อย่างเห็นได้ชัด และมันก็เป็นเช่นนั้นมาตลาด ตั้งแต่ตอนที่ตัวแรกของเจ้าสปอร์ตเรพลิก้าไบค์รุ่นนี้เปิดตัวในไทยเมื่อปี 2019
แต่ถ้ามองถึง อารมณ์สปอร์ตไบค์แท้ๆ ความเป็นสปอร์ตสนามแท้ๆ
สำหรับใครก็ตามที่หารถมอเตอร์ไซค์สักคัน ไว้ฝึกความพร้อมในสนามแข่งขัน ไม่ก็มองว่า สักวันตนเองจะต้องขยับไปขี่รถซุปเปอร์สปอร์ต 600cc หรือซุปเปอร์ไบค์ 1,000cc แน่ๆ หรือต่อให้ไม่ได้ตั้งใจไว้ขนาดนั้น แต่ก็อยากได้รถด้วยอารมณ์ที่ใช่กับคำว่าสปอร์ตเรพลิก้ามากที่สุด ในราคาไม่เกิน 300,000 บาท
Honda CBR250RR SP 2023 คือตัวเลือกที่คุณควรให้มันเป็นอันดับต้นๆของลิสต์ อย่างเช่นตัวผมเอง ที่ตัดสินใจเลือกรุ่นพี่โฉมปี 2022 ของมัน แทนที่จะเป็นรถมอเตอร์ไซค์คันอื่นๆ ที่คนทั่วๆไปมองว่ามันคุ้มค่ากว่า
โดยหากใครอยากจะลองสัมผัสความเป็นรถสปอร์ตเรพลิก้าตัวจริง จากตัวรถในพิกัด 250cc ในราคา 263,000 บาท ก็สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลตัวรถได้เลย ที่ศูนย์บริการ และตัวแทนจำหน่ายรถมอเตอร์ไซค์ Honda ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ขอขอบคุณ Thai Honda ที่ให้เกียรติทีมงาน Ridebuster ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการทดสอบ New Honda CBR250RR SP 2023 ในครั้งนี้
ทดสอบ/เรียบเรียง : รณกฤต ลิมปิชาติ
ภาพ : Thai Honda