Home » Toyota จับมือ GAC พัฒนาเครื่องยนต์พลังงานเชื้อเพลิงแอมโมเนียม
ข่าวต่างประเทศ ข่าวสารยานยนต์

Toyota จับมือ GAC พัฒนาเครื่องยนต์พลังงานเชื้อเพลิงแอมโมเนียม

จากความเป็นจริงที่ว่า Toyota ไม่อยากให้ขุมกำลังชนิด “เครื่องยนต์สันดาปภายใน” ล้มหายตายจากไป จึงทำให้พวกเขายังคงเฟ้นหาวิธีที่จะทำให้ขุมกำลังชนิดนี้สามารถใช้งานต่อไปได้ในยุคที่ภาครัฐพากันเข้มงวดเรื่องมลพิษ และหนึ่งในแนวทางใหม่นั้น ก็คือการใช้งานมันร่วมกัน เชื้อเพลิงแอมโมเนียมเหลว

“เครื่องยนต์สันดาปภายในเชื้อเพลิงแอมโมเนียมเหลว” คือโปรเจ็กท์ขุมกำลังใหม่ ที่ทาง Toyota ร่วมกันพัฒนาขึ้นมากับอีกหนึ่งบริษัทยานยนต์ยักษ์ใหญ่อย่าง GAC ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนหลากหลายแบรนด์ และยังเป็นผู้ผลิตรวมถึงตัวแทนจำหน่ายรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นอีกหลายค่าย ทั้ง Honda, Mitsubishi, Hino, และ Toyota

“เรามองข้ามจุดด้อยของแอมโมเนียที่เผาไหม้ไวทิ้งไป และจะใช้มันเป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมยานยนต์โดยสาร” นาย Qi Hongzhong วิศวกร หัวหน้าฝ่ายงานวิจัยและพัฒนาของ GAC กล่าว “คุณค่าของมันต่อสังคมและการใช้งานเชิงพาณิชย์นั้นคุ้มค่าที่จะลอง”

โดยเครื่องยนต์สันดาปภายในเชื้อเพลิงแอมโมเนียมเหลว ที่ทาง GAC และ Toyota ร่วมกันพัฒนาขึ้นมา และถูกจัดแสดงเป็นครั้งแรกนั้น ถูกระบุว่ามันมาพร้อมกับขนาดความจุ 2.0 ลิตร ไร้ระบบอัดอากาศใดๆ และสามารถสร้างกำลังสูงสุดได้ 161 แรงม้า (HP) โดยที่มันสามารถลดการปลดปล่อยคาร์บอน เมื่อเทียบกับการใช้งานน้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิลแบบทั่วๆไปได้มากถึง 90%

และทั้งนี้ นี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่เครื่องยนต์ฯเชื้อเพลิงแอมโมเนียมเหลวได้ถูกคิดค้นขึ้น แต่มันเคยถูกนำไปใช้จริงในส่วนของยานยนต์ภาคขนส่งสินค้า อย่างรถบรรทุกมาแล้ว แต่นี่ถือเป็นครั้งแรกที่ GAC จะลองนำมันมาใช้กับรถยนต์โดยสารของบุคคลทั่วไป

โดยหากเทียบกับน้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิล ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เชื้อเพลิงแอมโมเนียมเหลว จะสามารถให้พลังงานกับเครื่องยนต์ได้เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น ในปริมาณการใช้งานที่เท่าๆกัน ทว่าในทางกลับกันด้วยการปลดปล่อยคาร์บอนสู่สภาพแวดล้อมที่น้อยกว่า จึงทำให้มันอาจกลายเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ สำหรับผู้ผลิตที่ยังอยากให้ขุมกำลังชนิดนี้ได้เดินต่อไปในภายภาคหน้าอย่างเช่น Toyota

แต่นอกจากความหนาแน่นเชิงพลังงานจะต่ำกว่า เชื้อเพลิงแอมโมเนียมเหลว ยังมีข้อด้อย หรือที่จริงคือความเสี่ยง เนื่องจากความเป็นพิษของตัวมันเอง ต่อมนุษย์อยู่ไม่น้อย จนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่นัก ที่ในช่วงแรกของโปรเจ็กท์การพัฒนา เชื้อเพลิงชนิดนี้ จะต้องถูกจัดการในเรื่องการรั่วไหลให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

นอกจากนี้ ด้วยความที่มันเป็นเชื้อเพลิงซึ่งมีความเข้มข้นของก๊าซไนโตรเจนค่อนข้างสูง จึงทำให้มันอาจจุดระเบิดได้ยาก หากเครื่องยนต์ไม่มีการอัดอากาศเข้ามาสู่ห้องเผาไหม้มากพอ หรือมีอัตราส่วนกำลังอัดไม่มากพอ

ทั้งนี้ ทาง GAC และ Toyota ยังไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมว่า พวกเขาจะนำเครื่องยนต์แบบใหม่นี้ มาใส่ในรถยนต์สำหรับการใช้งานทั่วไปในอนาคตหรือไม่ ? เพราะมีความเป็นไปได้ว่า ตอนนี้มันอาจเป็นโปรเจ็กท์ที่อยู่ในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น จึงทำให้อาจต้องใช้เวลาในการพัฒนาต่อไปอีกสักพักใหญ่ จึงจะสามารถนำมาใช้งานได้จริง และปลอดภัยกับผู้ใช้ทั่วไปจริงๆ

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่

Comments are closed.