Honda Giorno+ คือรถสกู๊ตเตอร์รุ่นใหม่ ที่ดูเหมือนจะได้รับความสนใจจากใครหลายคนพอสมควร ด้วยหน้าตาที่โดดเด่น และลูกเล่นที่น่าสนใจ แต่ รีวิว เรื่องการขี่จะเป็นอย่างไรบ้างล่ะ ?
เช่นทุกครั้ง ก่อนจะ รีวิว เรื่องของสมรรถนะ เราขอมารีแคปถึงจุดเด่น จุดขายต่างๆของ Honda Giorno+ กันก่อน
เริ่มจากการที่แท้จริงแล้ว มันไม่ใช่รถมอเตอร์ไซค์ตระกูลใหม่ ที่ Honda พึ่งทำขึ้นมา แต่มันคือโมเดลต่อยอดจาก Honda Giorno รถสกู๊ตเตอร์ทรงร่วมสมัยที่ทางค่ายทำขึ้นมาเพื่อขายเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นโดยเฉพาะตั้งแต่ปี 1992 หรือ 30 กว่าปีเข้าไปแล้ว สำหรับผู้ที่ยังไม่สามารถ หรือไม่สะดวกในการทำใบขับขี่ เนื่องจากมันมีความจุเครื่องยนต์ที่เล็กเพียง 50cc เท่านั้น
ดังนั้นเจ้า Giorno+ ที่ถือเป็นน้องใหม่ของตระกูล และพึ่งถูกนำมาเปิดตัวครั้งแรกในโลก ที่ประเทศไทยของเรา จึงมาพร้อมกับงานออกแบบที่ยังคงเน้นความร่วมสมัยแนวทางเดียวกับรุ่นพี่เช่นเดิม ตั้งแต่หัวจรดท้าย, ไฟหน้า LED โคมกลม ขนาดเล็ก, ไฟท้าย LED กรอบสี่เหลี่ยมคางหมู, บังลมหน้าขนาดใหญ่, ตำแหน่งไฟเลี้ยวคู่หน้า อยู่ในระนาบเดียวกับเส้นตัดคาดกลางลำตัวช่วงท้ายของรถ ซึ่งจะลากยาวไปจนถึงไฟเลี้ยวคู่หลัง
และด้วยนิยามงานออกแบบเชิงร่วมสมัย และใส่ความเป็นแฟชันไบค์เข้าไป จึงทำให้หลายคนสงสัยว่าแล้วแบบนี้มันจะเป็นตัวตายตัวแทน หรือทับกับ Honda Scoopy หรือไม่ ?
แต่ทาง Honda ก็ระบุว่า สำหรับ Scoopy นั้น หากมองจากกลุ่มลูกค้าที่ส่วนใหญ่หรือมากกว่าครึ่ง เป็นผู้หญิง และในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ใช้รถมอเตอร์ไซค์หน้าใหม่ ที่พึ่งหันมาเลือกใช้รถมอเตอร์ไซค์เป็นยานพาหนะในการเดินทาง จะเห็นได้ว่าตัวรถรุ่นนี้ คือตัวรถรุ่นเริ่มต้นสำหรับการเปิดโลก 2 ล้อให้กับใครหลายๆคนมากกว่า
ทว่าสำหรับ Giorno+ จะเปรียบเสมือนกับเป็นรถมอเตอร์ไซค์แนวแฟชันสกู๊ตเตอร์ดีไซน์ร่วมสมัยที่ใหญ่ขึ้นมาอีกนิด ให้ออพชัน และสมรรถนะที่เขยิบขึ้นมาอีกระดับ และในขณะเดียวกัน ก็เป็นทางเลือกให้กับคนที่อยากได้รถสกู๊ตเตอร์ขนาด 125cc ไว้ใช้งาน แต่ไม่ได้ชอบอารมณ์สปอร์ต อย่าง Click125 หรืออารมณ์รถใช้งานติดภาพลักษณ์หรูมาหน่อยๆอย่าง Lead125 นั่นเอง
แล้วออพชันที่ Giorno+ ทำได้เหนือกว่า ครับครันกว่า Scoopy คืออะไรบ้าง ?
เริ่มจาก ชุดกุญแจแบบ Keyless, หูหิ้วสำหรับแขวนสิ่งของแบบบานพับ, ช่องเก็บของพร้อมพอร์ทชาร์จไฟ USB-A ด้านใน, ซึ่งอันที่จริง 3 อย่างนี้ ในฝั่ง Scoopy ก็มี แต่ Giorno+ ให้พื้นที่ช่องเก็บของด้านหน้าที่มากกว่า ด้วยขนาด 2.4 ลิตร
นอกจากนี้ ด้วยการย้ายตำแหน่งถังน้ำมันขนาด 5.4 ลิตร ไปไว้ด้านหน้า ทำให้ตัวรถมีพื้นที่เก็บของใต้เบาะก็ใหญ่ถึง 30 ลิตร สามารถใส่หมวกกันน็อคเต็มใบ 1 ใบ หรือ กระเป๋าพร้อมแล็ปท็อปขนาด 15.6 นิ้ว ได้อย่างพอดิบพอดี (แต่ก็ยังเล็กกว่า Honda Lead125 อยู่ดี เพราะฝั่งนี้มีพื้นที่ใต้เบาะใหญ่ถึง 37 ลิตร)
สุดท้ายคือชุดหน้าจอมาตรวัดก็เป็นแบบ Full Digital ซึ่งยกมาจาก Honda Click ที่แสดงผลได้อย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็น รอบเครื่องยนต์, ความเร็ว, ระดับแรงดันไฟของแบตเตอรี่, ระยะทางรวม, ระยะทางทริป, อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย, อัตราสิ้นเปลืองแบบ Real-Time, และเวลา
อีกสิ่งที่ตัวรถรุ่นใหม่นี้ มีความเหนือกว่า Scoopy รวมถึงสหายร่วมพิกัด ทั้ง Click125 และ Lead125 ก็คือการที่มันมีรุ่นย่อยที่ได้ระบบ ABS หรือระบบป้องกันการล็อคของเบรกหน้า เพื่อเสริมความปลอดภัยให้กับผู้ใช้ในยามฉุกเฉิน ที่เราอาจเผลอกำเบรกรุนแรงเกินไป
ไม่เพียงเท่านั้น มันยังมาพร้อมกับจานเบรกหน้าขนาดใหญ่พิเศษกว่าเพื่อนๆรุ่นเดียวกัน แม้กระทั่งปั๊มเบรกหน้าเอง ก็ยังเป็นแบบ 2 พอท ไม่ใช่แบบ 1 พอท เหมือนเพื่อนๆต่างสไตล์กันอีกด้วย
ซึ่งในภาพรวม แม้ว่าในช่วงแรกๆของการขับขี่ เราอาจจะต้องรัน-อินจานเบรกกับผ้าเบรกอยู่บ้าง แต่เมื่อผ่านการย้ำเบรกไปเพียงไม่กี่ครั้ง ระบบเบรกที่ให้มาก็จะเริ่มทำงานดีขึ้นเรื่อยๆ จนต้องบอกว่า ฟีลลิ่งหรือสัมผัสที่ได้จากการใช้งานนั้นค่อนข้างประทับใจ และอุ่นใจมากเลยทีเดียว
เพราะแม้มันอาจจะไม่ใช่เบรกที่จับไวมากนัก แต่ผู้ขี่ก็สามารถใช้นิ้วไล่แรงเบรกได้ง่ายและละเอียด ซึ่งอันที่จริงก็เป็นธรรมชาติการเซ็ทติ้งระบบเบรกที่ทาง Honda มักจะทำมาในรถมอเตอร์ไซค์ของพวกเขาอยู่แล้ว ตั้งแต่รุ่นเล็กจนถึงรุ่นใหญ่
ติดเพียงข้อเดียวก็คือ ในฝั่งเบรกหลัง ที่ยังคงเป็นระบบดรัมเบรกนั้น การเซ็ทระยะเดิมๆออกโรงงานมา ค่อนข้างจะลึก (ต้องกำเยอะ) ไปสักนิด ซึ่งหากคุณเป็นคนที่ยังใช้เบรกไม่ถนัด ก็อาจจะสบายใจได้ เพราะอย่างน้อย เบรกหลังก็จะได้ไม่ล็อคง่ายๆ
แต่หากคุณเป็นคนที่ชอบใช้เบรกหลังช่วยเบรกหน้าเยอะๆ คุณอาจจะรู้สึกว่าเบรกหลังทำงานช้าไปนิด แถมด้วยระยะฟรีที่ลึกเช่นนี้ ก็ทำให้การเปิดระบบล็อคเบรก(กันรถไหลตอนจอด)ไม่ทำงานด้วย
ซึ่งอันที่จริงก็แก้ได้ง่ายๆเพียงแค่หมุนตัวปรับที่ตัวก้านกดฝักเบรกตรงล้อหลังก็เท่านั้น
ด้านระบบกันสะเทือนที่ให้มา ก็เป็นแบบมาตรฐานสำหรับรถสกู๊ตเตอร์ขนาดเล็ก นั่นคือแบบโช้กตะเกียบคู่หัวตั้งด้านหน้า และ ด้านหลังโช้กเดี่ยวยูนิตสวิง ยึดระหว่างโครงรถด้านบน กับแครงก์เครื่องยนต์ด้านล่าง โดยผู้ใช้ไม่สามารถปรับเซ็ทค่าใดๆได้ตามปกติ
และจากการใช้งานจริง ด้วยการขี่บนถนนเส้นทางในเมือง ผ่านถนนคุณภาพเมืองไทย ตั้งแต่เซ็นทรัลเวิร์ล วกไปเลียบด่วนรามอินทรา ตบลงมาพระราม 4 เข้าย่าน คลองเตย แล้วค่อยวนขึ้นอโศก โยกกลับไปจุดเริ่มต้น รวมเป็นระยะทางกว่า 40 กิโลเมตร
ผู้ทดสอบมองว่า การซับแรงกระแทกต่างๆของมัน โดยเฉพาะในจังหวะยุบตัวแรกๆ จากการขี่เจอหลุม บ่อ ฝาท่อ ยังคงมีความกระเทือนขึ้นมาให้รู้สึกบ้างนิดๆ แต่ด้วยช่วงยุบที่ค่อนข้างเยอะ กับความหนืดเซ็ทมาพอดี สำหรับการขี่ด้วยความเร็วปานกลางสำหรับการใช้งานในเมือง (ช่วงความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง) ต้องถือว่ามันสามารถทำงานได้ดี ออกไปทางนุ่มนวล อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งอาจจะดีกว่า Lead เสียอีก
ในส่วนของการพลิกเลี้ยวในจังหวะต่างๆเอง แม้ว่ามันอาจจะไม่ได้ไว หรือคล่องมากนัก เมื่อเทียบกับ Lead ส่วนหนึ่งเพราะน้ำหนักตัวที่มากกว่า และการเปลี่ยนมาใช้ชุดล้อขนาด 12 นิ้ว ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง พร้อมรัดด้วยยางขนาด 100/90-12 และ 110/90-12 ตามลำดับ ด้วย (Lead ใช้ล้อขนาด 12 นิ้วด้านหน้า และ 10 นิ้วด้านหลัง รัดด้วยยาง 90/90-12 และ 100/90-10 ตามลำดับ) รวมถึงระยะฐานล้อที่ยาวกว่ากันถึง 39 มิลลิเมตร เป็น 1,312 มิลลิเมตร จึงทำให้ Giorno จะมีความมั่นคงในการทรงตัวมากกว่า
แต่ผมก็มองว่ามันอยู่ในระดับที่กำลังสบาย และมีความพอดี ไม่ได้ทำให้การหักเลี้ยวไวจนโหวง และก็ไม่หนืดจนหนัก ค่อนข้างเหมาะสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวัน แบบขี่ชิลๆเดินทางไปทำงาน หรือไปคาเฟ่ต์ในวันหยุดแล้ว
ทว่าในด้านการขับสัมผัสเมื่อต้องขี่รถด้วยความเร็วที่สูงขึ้น หลัก 80-90 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป หรือแม้กระทั่งการลองสาดโค้งด้วยความเร็วพอประมาณยังไม่สามารถบอกได้ว่า ด้วยการเซ็ทติ้งช่วงล่างที่ค่อนไปทางนุ่มนั้น จะมีผลให้เกิดอาการย้วยมากแค่ไหน เพราะในวันทดสอบ ไม่มีจังหวะให้ลองขี่รถเล่นในลักษณะดังกล่าวได้เลย จึงขอติดค้างกันเอาไว้ก่อน
ด้านขุมกำลังที่ให้มา ก็เป็นเครื่องยนต์ที่สร้างชื่อ และสร้างความนิยมต่อสายซิ่งวิ่งของ กับเจ้า Lead125 นั่นคือเครื่องยนต์ eSP+ ขนาด 125cc หรือความจุจริงคือ 124.77cc มาพร้อมกับขนาดกระบอกสูบ 53.5 มิลลิเมตร x ช่วงชัก 55.5 มิลลิเมตร และอัตราส่วนกำลังอัด 11.5:1 พร้อมส่งกำลังด้วยชุดเกียร์อัตโนมัติ CVT กับระบบคลัทช์แรงเหวี่ยง
โดยแม้ทาง Honda จะไม่มีการเปิดเผยตัวเลขกำลังสูงสุด แต่หากอิงจากข้อมูลของรถมอเตอร์ไซค์รุ่นอื่นที่ใช้เครื่องยนต์ลูกนี้ในต่างประเทศ ก็คาดว่ามันจะสามารถทำแรงม้าสูงสุดได้ราวๆ 12-13 PS
และจุดที่น่าสนใจก็คือทางค่ายยังเปิดเผยอีกว่า สำหรับเครื่องยนต์ที่อยู่ใน Giorno+ นั้น ได้ทำการปรับจูนใหม่ โดยเฉพาะในส่วนท่อไอเสีย จึงทำให้เครื่องยนต์ลูกนี้ มีพละกำลังแรงปลายที่เดินได้ต่อเนื่องกว่าเครื่องยนต์ที่อยู่ใน Lead125 อีกด้วย
แต่แม้แรงปลายของเครื่องยนต์จะดีขึ้น ทว่าแรงต้นของมันก็ไม่ได้ดีกว่ากันมากนัก โดยที่ตัวรถก็มีน้ำหนักมากกว่า แถมยังใช้ชุดล้อและยางที่ใหญ่กว่าอีก
ทำให้จากการทดสอบใช้งานจริง ผู้ทดสอบกลับพบว่าอัตราการตอบสนองของเครื่องยนต์ต่อคันเร่ง และความสามารถในการเรียกอัตราเร่งของ Giorno+ นั้น ดูค่อนไปทางนุ่มนวล และมีความเนือยมากกว่า Lead125 อยู่เล็กน้อยเสียอย่างนั้น
ซึ่งนั่นก็ไม่ได้ผิดอะไร เพราะเราเองก็ต้องย้ำอีกครั้งว่า Honda ออกแบบให้ Giorno+ มาพร้อมกับนิสัย หรือบุคลิกในการใช้งานที่เน้นความชิลๆ สบายๆมากกว่า Lead125 และความเนือยที่ว่า ก็ไม่ได้หมายความว่ามันอืด
เพราะหากเป็นการใช้งานแบบมนุษย์ปกติทั่วไปจริงๆ อัตราการตอบสนองและการเรียกอัตราเร่ง จากความเร็วหยุดนิ่ง ไปจนถึงช่วงความเร็วราวๆ 60 กิโลเมตร/ชั่วโมงของมัน ก็ยังคงทำได้ดีอยู่ แต่ความเร็วเหนือกว่านั้นเรายังบอกไม่ได้ เพราะไม่มีโอกาสได้ลอง
และอีกสิ่งที่น่าประทับใจก็คือ แม้การขี่ทดสอบในวันนี้ จะมีแต่ช่วงที่รถติด แถมยังเป็นการขี่แบบรูปขบวน ซึ่งไม่สามารถแช่คันเร่งยาวๆได้ ต้องเดี๋ยวบิดเดี๋ยวเบรกเป็นพักๆ แต่เครื่องยนต์ลูกนี้ก็ยังสามารถทำตัวเลขอัตราสิ้นเปลือง (บนหน้าจอมาตรวัด) ระดับ 50 กิโลเมตร/ลิตร บวกลบนิดหน่อยได้สบายๆ
สิ่งสุดท้ายที่เราลือเกริ่นถึงไป ก็คือเรื่องของท่านั่ง ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกับการเซ็ทอัพช่วงล่าง เบรก และเครื่องยนต์
ท่าทางการขับขี่ของ Giorno+ เองก็ให้ความสบายในการใช้งานที่สุด เท่าที่รถมอเตอร์ไซค์สกู๊ตเตอร์แบบไม่มีโครงดามกลาง (มีแต่ฟลอบอร์ดราบๆให้วางเท้าเท่านั้น) จะให้ได้แล้วเช่นกัน
ทั้งจากเบาะนั่งที่สูงเพียง 760 มิลลิเมตร จนผู้ทดสอบที่สูง 168 เซนติเมตร ยังสามารถใช้ครึ่งเท้าทั้งสองข้างแตะพื้นได้สบายๆ โดยไม่ต้องพะวงว่าน้ำหนักของรถจะทิ้งไปที่ขาข้างใดข้างหนึ่ง และแม้ตัวเบาะจะไม่หนามากนัก เมื่อเทียบกับ Lead125 แต่ความกว้างของมันกลับมากกว่าจนผู้ขี่สามารถนั่งได้เต็มก้นสบายๆ หายห่วง
ตำแหน่งแฮนด์บาร์เอง ก็ไม่เหมือนกับรถสกู๊ตเตอร์ร่วมสมัยทั่วๆไป ที่แม้ระยะแฮนด์จะใกล้ตัว แต่ความสูงก็ค่อนข้างน้อย จนกลายเป็นต้องกดแขนลง และศอกก็ติดตัว จนขยับแฮนด์ได้ยากถ้าไม่กางศอกออก
ทว่าในฝั่งเจ้าสกู๊ตเตอร์คันนี้ กลับมาพร้อมกับการวางตำแหน่งแฮนด์บาร์ที่พอดิบพอดี ไม่สูง ไม่เตี้ยจนเกินไป สามารถจัดตำแหน่งแขนได้อย่างเป็นธรรมชาติ ให้ขี่แบบนี้ทั้งวันก็ยังไหว
แต่ในฝั่งผู้ซ้อน เราอาจจะต้องขอติดไว้ก่อน เพราะแม้เบาะนั่งของมันจะไม่ได้มีความต่างระดับจากผู้ขี่มากนัก แต่ก็มีความกว้างไม่แพ้ช่วงเบาะครึ่งหน้า จึงคาดว่าผู้ซ้อนเองก็น่าจะนั่งได้สบายพอสมควร
ติดเพียงกันตกด้านท้ายแอบต่ำไปสักหน่อย จึงไม่แน่ว่าผู้ซ้อนอาจเสียวหงายหลังได้ง่าย (แต่มองอีกมุมก็ดี ตรงที่เขาอาจจะอยากเอามือมากอดเอวเรามากขึ้น ~) และตัวพักเท้าที่เป็นแบบพับเก็บเข้าช่อง ก็ดันไม่มีจงอยให้ใช้ปลายเท้าเกี่ยวออกมาได้ง่ายๆ ต้องใช้มือดึงออกเท่านั้น
ถ้าใครกลัวมือเลอะ หรือรักความสะอาด ก็อาจจะไม่ชอบการออกแบบในลักษณะนี้ก็ได้ แต่ถ้าไม่ ก็เอามือลงไปดึงออกมาได้เลยครับ ซึ่งมันก็ไม่ได้ลำบากเท่าไหร่ เพราะระยะการโน้มลงไม่ได้เยอะมากเลยนั่นเอง
ก็คงต้องบอกว่า บทสรุป สำหรับการทดสอบ และ รีวิว Honda Giorno+ ครั้งนี้นั้น ทำให้เราพบสิ่งที่น่าสนใจจากมันอยู่หลายประการด้วยกัน ข้อแรกคือเรื่องหน้าตา ที่น่าจะตอบโจทย์ชาวไทยที่รักในความร่วมสมัยมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ Honda ก็มีแต่ Scoopy ให้เลือกเท่านั้น ซึ่งมันอาจจะให้เครื่องยนต์ที่เล็กไปหน่อย
การมาของ Giorno+ ที่มีงานออกแบบร่วมสมัย และให้เครื่องยนต์ที่ใหญ่กว่า บิดเรียกอัตราเร่งได้สบายกว่า จึงอาจทำให้เราสามารถขี่เดินทางแบบชิลๆได้ดีกว่า และช่วงล่าง กับความคล่องตัว รวมถึงท่านั่งต่างๆ ก็ค่อนไปทางสะดวกสบายกว่าอย่างเห็นได้ชัด หากจะให้สบายกว่านี้ ก็มีแต่จะต้องขยับไปเล่นรถมอเตอร์ไซค์กลุ่มพรีเมียม 150cc+ แล้วเท่านั้น
และที่สำคัญคือลูกเล่นต่างๆที่ให้มาก็ล้วนเป็นลูกเล่นที่ใช้งานได้จริง ไม่ได้ใส่มาแค่เพื่อโชว์ว่ามีเท่านั้นแต่อย่างใด ซึ่งถือว่าคุ้มค่าเป็นอย่างมาก กับราคาตัวรถที่ตั้งเอาไว้
จุดที่ต้องค้างกันไว้ก่อน ก็คือการขี่รถด้วยความเร็วที่สูงขึ้น ไกลขึ้น เผื่อสำหรับผู้ใช้ที่อยู่ต่างจังหวัด ซึ่งไม่ได้เจอปัญหารถติดมากนัก กับเรื่องของตัวเลขอัตราสิ้นเปลือง ที่ต้องหาโอกาสจับกันโดยละเอียดอีกที ว่ามันจะสามารถทำได้เป๊ะจริงๆ ดังที่หน้าจอมาตรวัดแสดงเอาไว้หรือไม่ ?
แต่หากใครไม่อยากรอ ก็ลองไปจับจองตัวรถกันได้เลย ที่ศูนย์บริการ และตัวแทนจำหน่ายรถมอเตอร์ไซค์ Honda ทั่วประเทศ ได้เลยตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
โดย Honda Giorno+ จะมีการวางจำหน่ายในประเทศไทย 2 รุ่นย่อยด้วยกัน นั่นคือ
- Honda Giorno+ Standard มีให้เลือก 4 สี ได้แก่ สีขาว-ดำ, สีเหลือง-ดำ สีเขียว-ดำ และสีน้ำเงิน-ดำ ราคาแนะนำที่ 61,900 บาท
- Honda Giorno+ ABS มีให้เลือก 3 สี ได้แก่ สีขาว-ดำ, สีเทา-ดำ และสีแดง-ดำ พร้อมเพิ่มชิ้นส่วนตกแต่งโครเมียม แทนสีอลูมิเนียม, เปลี่ยนปลอกแฮนด์ และเบาะนั่ง เป็นสีน้ำตาล, ได้จานเบรกขนาดใหญ่ขึ้นและปั๊มเบรกเป็นแบบ 2 พอท พร้อมระบบป้องกันล้อล็อค (เฉพาะล้อหน้า) ราคาแนะนำที่ 66,900 บาท
ขอขอบคุณ Thai Honda ที่ให้เกียรติทีมงาน Ridebuster ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการทดสอบ All-New Honda Giorno+ ในครั้งนี้
- เขียน/เรียงเรียง/ทดสอบ : รณกฤต ลิมปิชาติ
- ภาพ : Thai Honda