Home » คปภ. เปรยเกณฑ์ให้ประกันรถไฟฟ้าใหม่ บันทึกประวัติผู้ใช้ จ่ายค่าแบตฯตามปี
ข่าวสารยานยนต์

คปภ. เปรยเกณฑ์ให้ประกันรถไฟฟ้าใหม่ บันทึกประวัติผู้ใช้ จ่ายค่าแบตฯตามปี

จากตัวเลขยอดการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้ามือหนึ่งที่สูงขึ้นเรื่อยๆ การปรับเปลี่ยนเงื่อนไขประกันภัยจึงต้องปรับเปลี่ยนตามเพื่อสอดรับกับธรรมชาติความเสียหาย และพฤติกรรมการใช้งานรถยนต์เหล่านี้

จากการให้ข้อมูลกับสื่อ “ประชาชาติ” โดย นาย อาภากร ปานเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในฐานะประธานคณะทำงานการจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ระบุว่า

ทางหน่วยงาน ได้มีการหารือเกณฑ์ข้อกำหนดการจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบใหม่ ซึ่งอาจสามารถนำไปปรับใช้กับรถยนต์หรือยานพาหนะประเภทอื่นด้วย มาได้พักใหญ่

และตอนนี้ก็ได้ข้อสรุปที่จะนำไปบังคับใช้จริงกว่า 80-90% เข้าไปแล้ว โดยคาดว่าระหว่างนี้จะมีการแจกแจงและทำความเข้าใจกับบริษัทประกันภัยต่างๆ ซึ่งอาจใช้เวลาในกระบวนการดังกล่าวราว 3 เดือน และสามารถบังคับใช้ได้ภายในต้นปีหน้า หรือตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป

โดยสาระสำคัญของระเบียบเกณฑ์การให้ประกันภัยสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบใหม่นั้น หลักๆแล้วจะเน้นการเพิ่มความละเอียดและความชัดเจนในเรื่องของการเรียกเก็บเบี้ยประกัน การมอบส่วนลดโดยอ้างอิงจากประวัติผู้ขับ และระดับการคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวรถ ซึ่งเคยเป็นข้อถกเถียงใหญ่ในช่วงขวบปีที่ผ่านมาด้วย

เริ่มจากในส่วนของการเรียกเก็บเบี้ยประกัน ที่อาจจะถูกแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ตามระดับราคารถ ได้แก่ กลุ่มราคารถไม่เกิน 1 ล้านบาท จัดเป็นรถกลุ่ม 5 (รถเอเชียขนาดเล็ก), ราคารถ 1-2 ล้านบาท จัดเป็นรถกลุ่ม 4 (รถเอเชียขนาดกลาง), ราคารถ 2-3 ล้านบาท จัดเป็นรถกลุ่ม 3 (รถเอเชียขนาดใหญ่) และมากกว่า 3-5 ล้านบาท จัดเป็นรถกลุ่ม 2 (กลุ่มรถยุโรปที่เป็นที่รู้จักทั่วไป) แต่ถ้าเป็นรถสปอร์ตหรือรถนำเข้าจะเพิ่มขึ้นไปอีกขั้นกลายเป็นกลุ่ม 1

“ตอนนี้คนชอบเทียบค่าเบี้ยรถอีวีแพงกว่ารถยนต์สันดาป โดยเฉพาะรถกลุ่ม 5 แต่ตัวหนึ่งที่คนไม่ได้มองคือ วิธีการซ่อมกับมูลค่าการซ่อม ซึ่งรถสันดาปเป็นอะไหล่ประกอบและผลิตภายในประเทศ แต่อะไหล่รถอีวีส่วนใหญ่ยังเป็นรถนำเข้า ซึ่งราคาแพงกว่า”

“ดังนั้นต้นทุนการซ่อมแพงกว่า เบี้ยไม่สามารถถูกกว่าได้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเมื่อมีบริษัทผู้ผลิตรถในประเทศมากขึ้น ค่าเบี้ยประกันน่าจะลดลงได้”

นายวาสิต ล่ำซำ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ.เมืองไทยประกันภัย (MTI) ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันภัยยานยนต์ สมาคมประกันวินาศภัยไทย อีกหนึ่งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการหารือเรื่องเกณฑ์การให้ประกันภัยของรถยนต์ไฟฟ้าแบบใหม่ กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับสื่อประชาชาติ

ด้านการให้ส่วนลดกรมธรรม์ ซึ่งปกติก็เป็นสิ่งที่มีให้อยู่แล้วในสัญญาประกันภัยรถยนต์แบบดั้งเดิม แต่สำหรับหลักเกณฑ์ใหม่นี้ ในส่วนการให้ส่วนลดตามประวัติของตัวรถเป็นหลัก จะถูกแบ่งประเภทไว้อย่างละเอียดมากขึ้น

โดยหากเป็นเงื่อนไขสำหรับรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน อาจสามารถให้ส่วนลดได้ตั้งแต่ 10-50% ขึ้นอยู่กับประวัติการเคลมประกันของตัวรถ

แต่ในการต่อสัญญาประกันภัยสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เมื่อมีการบังคับใช้เกณฑ์ใหม่นี้ ฝั่งรถยนต์ไฟฟ้า หากใช้วิธิการเอาส่วนลดโดยอิงจากประวัติของตัวรถเป็นหลัก จะสามารถเอาส่วนลดได้ตั้งแต่ 20-30% เท่านั้น เนื่องจากมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเมื่อมีการเคลมประกันมักสูงกว่า

ทว่าเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า ผู้เอาประกันก็จะสามารถเลือกได้ว่าจะเเอาส่วนลดโดยอิงจากประวัติตัวรถดังที่เกริ่นไว้ในข้างต้น หรือจะเปลี่ยนมาใช้ประวัติของผู้ขับ เป็นตัวประเมินเอาส่วนลดก็ได้ ซึ่งจะทำให้สามารถรับส่วนลดได้ตั้งแต่ 10-40% ก็ได้ ซึ่งรายละเอียดในการประเมินจะมีการแจกแจงอีกครั้ง เมื่อมีการบังคับใช้จริง

สุดท้ายคือ เรื่องของการระบุความรับผิดชอบต่อค่าเสียหายของชิ้นส่วนต่างๆตัวรถ ที่จากเดิม จะมีการเหมารวมอายุการใช้งานของตัวรถไปเลย แต่คราวนี้ จะมีการแยกการรับผิดชอบค่าเสียหาย โดยเฉพาะตามอายุการใช้งานของตัวแบตเตอรี่ด้วย โดยอิงจากระยะเวลาในการรับประกันของแบตเตอรี่จากผู้ผลิต

ซึ่งข้อดีก็คือ ผู้เอาประกัน ไม่จำเป็นต้องจ่ายเบี้ยประกันเต็มเหมือนตอนที่ซื้อประกันใหม่พร้อมรถใหม่ เพราะจะจ่ายน้อยลงเรื่อยๆตามอายุการใช้งาน แต่หากรถเกิดอุบัติเหตุในช่วงปีท้ายๆขึ้นมา นั่นก็หมายความว่าผู้เอาประกันจะต้องจ่ายค่าแบตเตอรี่เองเป็นส่วนใหญ่

ทว่าการคิดเงื่อนไขเบี้ยประกันตามอายุการใช้งานของแบตฯนี้ จะไม่ได้เป็นข้อบังคับตายตัว ผู้เอาประกันสามารถเลือกเซ็นสัญญาตามเงื่อนไขใหม่นี้ หรือจะเซ็นสัญญาตามเงื่อนไขเดิม ที่เป็นการชดไช้ความเสียหาย หรือค่าแบตใหม่ให้เต็มจำนวน แต่อาจเสียค่าเบี้ยประกันแพงหน่อยก็ได้ ตามแต่ความสมัครใจ

นอกจากนี้ยังมีการระบุเงื่อนไขเพิ่มเติม สำหรับการปฏิเสธการให้ความรับผิดชอบ กรณีพบว่าผู้ใช้รถ นำรถไปดัดแปลงระบบซอฟท์แวร์ หรือเปลี่ยนแบตเตอรี่ โดยช่างที่ไม่ได้รับการรับรองจากผู้ผลิตจนเกิดความเสียหายอีกด้วย

โดยจากข้อมูลที่ไล่เรียงมา ยังเป็นเพียงข้อมูลโดยคร่าวๆ ก่อนจะมีการบังคับใช้จริงในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 ที่จะถึงนี้เท่านั้น จึงคาดว่าอาจจะมีความเปลี่ยนแปลง หรือรายละเอียดเพิ่มเติมในบางจุด ซึ่งต้องรอการอัพเดทข้อมูลกันต่อไป

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่

Comments are closed.