Home » AWD ขับสี่ตลอดเวลา เกาะถนนกว่า 2WD ขับเคลื่อนสองล้อ จริงหรือ ?
ข้อดี/ข้อเสีย บทความ

AWD ขับสี่ตลอดเวลา เกาะถนนกว่า 2WD ขับเคลื่อนสองล้อ จริงหรือ ?

ท่ามกลาง โลกยานยนต์สมัยใหม่ “ระบบขับเคลื่อน” กลายมาเป็นสิ่งหนึ่งที่บริษัทผู้ผลิต ให้ความสำคัญในการขายรถยนต์สักคัน ฝั่งผู้บริโภค ก็ตระหนักว่าพวกเขาควรเลือกรถที่ตอบสนองต่อความมั่นใจในการใช้งาน หนึ่งในนั้น คือ ระบบ All Wheel Drive หรือ AWD

ระบบ All Wheel Drive ไม่ใช่ เรื่องใหม่ในวงการยานยนต์ ระบบลักษณะนี้ มีมานานหลายปี แต่ในระยะหลัง มีคำถามเกิดขึ้นมากาย โดยเฉพาะในยุคเพื่องฟูของรถยนต์ไฟฟ้า ที่มาแรงและสร้างความเข้าใจว่า ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อตลอดเวลา เกาะถนนกว่ารถที่ขับเคลื่อนสองล้อ จนคนจำนวนมากมองว่า ซื้อรถใหม่ทั้งที ต้องซื้อรถที่มีระบบขับเคลื่อนสี่ล้อตลอดเวลาติดมาเลย เรียกว่า มีไว้ไม่ได้ใช้ ดีกว่าจะใช้แล้วไม่มี ตามคติคนไทยส่วนใหญ่

แล้วมันจริงไหม ? ที่ระบบขับเคลื่อนแบบ All Wheel Drive มอบความสามารถในการเกาะถนนได้มากกว่า รถที่มีล้อขับเคลื่อนเพียง 2 ล้อ หรือ เป็นเพียงภาพลวงตาที่หลายคน เข้าใจกันไปเอง

ก่อนอื่น เราต้องยอมรับก่อนว่า ระบบ ขับเคลื่อนแบบ All Wheel Drive มีมากมายหลายแบบ ตามแต่ผู้ผลิต จะนำเสนอ เช่นระบบ ขับเคลื่อนสี่ล้อของ ซูบารุ ก็จะไม่เหมือนกับ ของทางฮอนด้า หรือ อาวดี้ เสียทีเดียว

แต่หลักการทำงานโดยมาก ที่เหมือนกัน คือ อัตรากำลัง ระหว่างล้อหน้า และหลังจะแตกต่างกัน ไม่ได้ให้กำลังเท่ากัน บ้าง 60/40 ระหว่างหน้า-หลัง บ้างก็ 30/70 หรือ 40/60 แต่ไม่ใช่ 50/50 ตลอดเวลา เหมือนที่คนจำนวนมากเข้าใจ ( ยกเว้น การขับในโหมด ออฟโรด สำหรับทางลุย เพื่อให้กำลังขับ กระจายเท่ากันทุกล้อ ส่งแรงบิด ผ่านอุปสรรคได้)

เพียงแต่ All Wheel Drive ทำงานเหมือนกัน คือ ระหว่างที่คุณขับไปนั้น ล้อทั้ง 4 จะหมุนไปด้วยกัน นั่นเพื่อสร้างความมั่นใจ ภายใต้หลักการฟิสิกส์ แรงเสียดทาน ซึ่งต้องการน้ำหนักกดลงไปบนจุดที่จะมีแรงเสียดทาน(น้ำหนักรถ) และ ค่าแรงเสียดทานจลน์

ถ้าวิชาวิทยาศาสตร์ยากไปสำหรับคุณ เราอธิบายแบบ นี้ ค่าแรงเสียดทานจลน์ คือ แรงเสียดทานที่เกิดขึ้นในระหว่างที่วัตถุที่วิ่งด้วยความเร็วคงที่ ซึ่งวัตถุในที่นี้ เราหมายถึงตัวรถ นั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ หากขับรถนิ่งๆไปในความเร็วที่เท่ากัน รถ AWD จะรู้สึก ถึงความมั่นคงมากกว่า เนื่องจากล้อทั้ง 4 หมุนสร้างแรงเสียดทานจลย์ อย่างต่อเนื่อง ให้ความนิ่งต่อระบบบังคับเลี้ยว และการทำงานของระบบกันสะเทือนมากกว่า

แต่แม้ว่า ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ จะสร้างแรงเสียดทานในระหว่างการขับขี่ได้กว่ามาก แต่สิ่งที่ทำให้รถเกาะถนนจริงๆ ในระหว่างการขับขี่นั้น ประกอบด้วย 2 ส่วนใหญ่ คือ

  • ระบบกันสะเทือน
  • ยาง

หน้าที่ของระบบกันสะเทือน มีใจความหลัก คือ การลดแรงสั่งสะเทือนสะท้าน ไปสู่ตัวถังรถ และในทางเดียวกัน ก็ยังมีหน้าที่ ในการทำให้ล้อและยางทั้ง 4 เส้นสัมผัสหน้าพื้นผิวถนน ให้มากที่สุด ตลอดเวลาการขับขี่ เพื่อทำให้เกาะถนนมากขึ้นนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ รถสปอร์ต หรือรถสมรรถนะสูงหลายคัน จึงนิยมทำช่วงล่างแบบ อิสระ 4 ล้อ เพื่อที่ช่วงล่างของแต่ละล้อจะได้จัดการล้อของตนเองได้อย่างอิสระ ไม่ต้องโดนแรงกระทำจากล้ออีกฝั่งมากวนการทำงาน

ส่วนยางนั้น หน้าที่หลักของมัน คือ ยึดเกาะถนนโดยตรง หน้าสัมผัสยางเมื่อหมุน จะสร้างค่าสัมประสิทธิ์การเสียดทานต่อเนื่อง ไม่ว่ารถคันนั้น จะขับเคลื่อน ล้อหน้า ,ล้อหลัง หรือ สี่ล้อแบบ ระบบ All Wheel Drive ก็ตาม

แต่บางครั้ง เมื่อ ล้อไม่ได้หมุนโดยการใช้พลังขับ อย่างระบบ All Wheel Drive ในบางสถานการณ์ เช่น ฝนตกถนนลื่น,ถนน ที่มีหิมะปกคลุม หรือ มีพื้นผิว ที่ลื่น เช่นฝุ่นโคลน

อาจทำให้ ค่าเสียดทานยางลดลง และ ก่อเหตุไม่คาดฝันได้ โดยเฉพาะการลื่นไถล เนื่องจาก แรงเสียดทานสถิตย์ลดต่ำลง ในระหว่างการขับขี่นั่นเอง

ตามปกติแล้ว เวลาเราเลี้ยวรถ ค่าแรงเสียดทานสถิตย์ จะทำหน้าที่ในการช่วยให้ยางเกาะภนน และ เปลี่ยนไปยังทิศทางที่ผู้ขับขี่ต้องการ

แต่เมื่อ แรงเสียดทานสถิตย์น้อย เช่นในระหว่างฝนตก ล้อที่มีแรงขับจากเครื่องยนต์ หรือ มอเตอร์ จะให้แรงบิดที่สร้างแรงบิดให้กับล้อและยางมากไป จนเกิดการหมุนเร็วกว่าปกติ และ เสียแรงเสียดทานใน การหมุน นำไปสู่การลื่นไถล

ถ้าเป็นรถขับหน้า คุณจะพบว่า เมื่อคุณเลี้ยว รถไม่เลี้ยว นั่นคือ อาการหน้าดื้อ

กลับกัน ในรถขับหลังเมื่อคุณจะเลี้ยว แต่ตูดออก เรียกว่า อาการท้ายปัด

ด้วยเหตุ นี้ ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ แบบ All Wheel Drive จึงเข้ามาเติมเต็ม ในสถานการณ์ ดังกล่าว เพื่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ ในระหว่างการขับขี่ ทำให้ลูกค้ามั่นใจ ในการใช้งานมากขึ้น

โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง รถที่มีการสมรรถนะสูง อาจจะเกิดอาการเหล่าานี้ได้ง่ายกว่ารถทั่วไป ระบบ AWD สามารถ ลดการเกิดอาการ ให้ความมั่นใจ โดยใช้ล้อหน้า เพื่อดึงตัวรถ และ ล้อหลัง ดันตัวรถไปพร้อมๆ กัน

ไม่เพียงเท่านี้ มันยังมีข้อดี ในระหว่างการใช้งานบางประการ ได้แก่

  • การออกตัวได้ไว เนื่องจาก กำลังส่งล้อ ทั้งสี่ ทำให้ช่วยกัน ดึง และ ดัน อย่างที่กล่าว จึง ทำให้ ออกตัวจากหยุดนิ่งได้เร็ว
  • ให้ความมั่นใจในระหว่างการเข้าโค้ง ด้วยความเร็ว เพราะ ล้อทั้ง 4 ถูกกระจายแรงบิด สร้างแรงเสียดทานจลน์ จึง ค่อนข้างให้ความั่นใจ มากกว่า และ ลดการโคลงตัวในระหว่างการเอี้ยวตัวของตัวรถได้ด้วย ในระดับหนึ่ง จึงรู้สึกถึงความมั่นคงระหว่างเข้าโค้ง

มาถึงตรงนี้ น่าจะเข้าใจ การทำงานของระบบ All Wheel Drive มากขึ้น มันมีไว้ช่วยในการลดความเสี่ยงที่จะเกิด อาการไม่พึงประสงค์ ระหว่างการขับขี่ และทำให้ รถอยู่ในอาณัติ การควบคุม ง่ายกว่า รถที่ขับเคลื่อนเพียง 2 ล้อเท่านั้น

มันทำให้รถขับมั่นใจมากขึ้น

แต่หัวใจ สำคัญของการเกาะถนน ก็ยังคงอยู่ที่ ยาง กับ ระบบช่วงล่าง เป็นหลักอยู่ดี

โดยเฉพาะ ยาง ที่นับเป็น ตัวแปรสำคัญ โดยเฉพาะในหน้าฝนแบบนี้ ถ้ายางอยู่ในสภาพดี พร้อมใช้งาน ก็สามารถเกาะถนนได้ดี มีความสามารถรีดน้ำได้ดี

แถมปัจจุบัน รถสมัยใหม่ มีระบบควบคุมการทรงตัว ที่คอยตรวจตรา รอบการหมุนล้อที่ไม่เท่ากัน อยู่ตลอดเวลา จะเข้ามาช่วยในการตัดกำลังเครื่อง หรือ การตอบสนองคันเร่ง เพื่อไม่ให้ เกิดการลื่นไถล

รถขับสอง ก็ดูจะปลอดภัยมากขึ้น แม้แต่ รถที่เป็นระบบขับเคลื่อนล้อหลัง ที่เริ่มเห็นมากขึ้นในหมู่รถยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่

ดังนั้น ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ All Wheel Drive ไม่ได้ หมายความว่ามันจะเพิ่มการเกาะถนนให้กับรถ

แต่มันช่วยให้ รถสามารถขับได้มั่นใจ ไม่ลื่นไถลง่ายๆ ด้วยการกระจายกำลังขับ ไปล้อทั้ง 4 ตลอดเวลาที่คุณสตาร์ทเครื่องออกเดินทาง ทั้งยังเพิ่มการตอบสนอง การเร่งเร็วขึ้น และ ยังช่วยลดการเอนตัว ในระหว่างการเข้าโค้ง และ การเปลี่ยนเลน

ซึ่งหากทั้งหมดที่ไล่มา คุณคิดว่า มันคือส่วนหนึ่ง ของคำว่าเกาะถนน งั้น เราคงไม่แย้งครับ ว่าระบบ AWD มันเกาะกว่ารถขับสองทั่วไป

แต่เราขอย้ำอีกครั้งว่า การเกาะถนน จริงๆแล้ว มันเป็นหน้าที่หลักของ ยาง และ ช่วงล่าง ต่างหาก

เพราะสิ่งที่ทำให้รถยังสามารถถ่ายเทน้ำหนักของตนเอง ลงไปสร้างแรงเสียดทานกับพื้นถนน คือยาง และช่วงล่าง หาใช่ระบบขับเคลื่อนแต่อย่างใด

เพราะฉะนั้น ต่อให้เป็นรถขับ 2 แต่ถ้าได้ยางดีๆ ช่วงล่างดีๆ มันก็สามารถให้สมรรถนะในการควบคุมที่ดีไม่แพ้รถขับ 4

และในขณะเดียวกัน แม้รถจะมีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แต่ถ้ายางและช่วงล่างไม่ให้ รถคันนั้นก็อาจจะไม่เกาะถนนอยู่ดี

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่

Comments are closed.