อาจจะจริงอยู่ว่า Mazda Iconic SP ที่ถูกเผยโฉมในงาน Japan Mobility Show 2023 ถูกหลายคนมองว่ามันมีงานออกแบบและขนาดตัวที่น่าจะต่อยอดให้เป็นรถ RX-Series ในอนาคตได้ แต่ทาง Mazda กลับเผยข้อมูลใหม่ที่ระบุว่ามันยังคงมีแนวโน้มที่จะเป็นรถยนต์ตระกูล MX-5 มากกว่า
ย้อนกลับไปช่วงสัปดาห์ก่อน ตอนที่ Mazda Iconic SP ได้ถูกเผยโฉมเป็นครั้งแรก หลายคนที่เข้าร่วมงานต่างมองว่ามันอาจไม่ใช่รถที่ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อบ่งบอกถึงความเป็นไปของ Mazda MX-5 รุ่นใหม่ เพราะมันมีจุดสังเกตหลายๆอย่างที่ไม่เหมาะจะทำเป็นรถยนต์โรดสเตอร์ขนาดเล็กที่เก็งกันไว้ในตอนแรก
ตั้งแต่ในเรื่องเส้นสายตัวรถรอบคัน ที่บ่งบอกถึงความเป็น RX-7 (FD3S) มากกว่า เช่น เส้นกรอบไฟหน้าแบบ Pop-Up, ลายเส้นแก้มซุ้มล้อทั้งด้านหน้าและด้านหลัง, และขนาดกับรูปทรงของกระจกบานท้าย แม้กระทั่งหลังคาก็ไม่ได้เป็นแบบรถโรดสเตอร์เปิดประทุน แต่เป็นหลังคาแข็งตายตัว ไม่สามารถพับเก็บได้
ไม่เพียงเท่านั้น น้ำหนักตัวก็มากถึง 1,450 กิโลกรัม ไม่ได้อยู่ในเรท 1 ตันนิดๆ แถมยังมาพร้อมกับขุมกำลังเครื่องยนต์โรตารี่ไฮบริดที่ให้แรงม้ามากถึง 370 PS อีก
เรียกได้ว่าทุกอย่างนั้น ถือว่าเกินกว่าการเป็น MX-5 ไปมาก จนใกล้เคียงกับการเป็นว่าที่ RX-7 รุ่นใหม่มากกว่าเสียอีก โดยจะมีก็แค่เพียงเบาะนั่งภายในแบบ 2 ที่นั่งเท่านั้น ที่เป็นแบบเดียวกับ MX-5 ไม่ใช่แบบ 2+2 ที่นั่ง เหมือนรถยนต์ตระกูล RX-Series
อย่างไรก็ดี จากการให้ข้อมูลกับสื่อ Automotive News โดย นาย Masashi Nakayama หัวหน้าฝ่ายงานออกแบบของ Mazda ระบุว่า แม้ขนาดตัวรถ Iconic SP ใหญ่กว่า MX-5 รุ่นปัจจุบันพอสมควร ด้วยความยาวตัวรถที่มากกว่าถึง 254 มิลลิเมตร
แต่มันคือความตั้งใจของพวกเขา ที่ออกแบบให้เจ้ารถต้นแบบคันนี้ มีขนาดใหญ่กว่าปกติอยู่แล้ว เพื่อให้ผู้คนสามารถสังเกตเส้นสายและงานดีไซน์ของตัวรถได้ง่ายยิ่งขึ้น และในทางกลับกัน พวกเขาก็สามารถนำมันไปปรับไซส์ย่อส่วนให้เล็กลงจนกลายเป็นรถยนต์ตระกูล Miata (MX-5) ได้ง่ายเช่นกัน
ส่วนงานพัฒนาขุมกำลังที่เป็นเครื่องยนต์โรตารีไฮบริด ที่ทำงานโดยส่งกำลังไปยังชุดล้อคู่หลังร่วมกันจริงๆ ไม่ใช่แบบเอามาเป็นเครื่องยนต์ปั่นไฟให้แบตเตอรี่ แล้วใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเป็นขุมกำลังขับเคลื่อน เหมือน Mazda MX-30 R-EV
ก็เป็นเหมือนกับอีกโปรเจ็กท์ขุมกำลังที่สอดแทรกเข้ามาในตัวรถต้นแบบคันนี้เท่านั้น เพื่อบ่งบอกว่าทางค่ายยังไม่ละทิ้งเทคโนโลยีนี้ และยังตั้งความหวังไว้อีกด้วยว่ามันอาจจะสามารถนำกลับมาทำขายในลักษณะของขุมกำลังตัวรถจริงๆ แต่ทั้งนี้ การจะวางขายขุมกำลังลักษณะดังกล่าวได้ ระบบเชื้อเพลิงไฮโดรเจน หรือน้ำมันสังเคราะห์ ก็ถือเป็นตัวแปรสำคัญ
เพราะหากเทคโนโลยีเชื้อเพลิงดังกล่าวถูกพัฒนาจนสามารถนำมาใช้งานเชิงพานิชย์ได้จริงๆ ปัญหาการปล่อยไอเสียปริมาณมากๆของเครื่องยนต์โรตารี ก็จะหายเป็นปลิดทิ้ง แต่จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ หรือจะเป็นไปได้หรือไม่ ก็ยังต้องรอติดตามดูกันต่อไป