แม้ในตอนต้นปี หลายผู้ผลิตจะคาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ในปีนี้ มีแนวโน้มจะดีมากขึ้น จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ดูมีแนวโน้มไปในทางบวก แต่จากความเป็นจริงในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น
จากการเปิดเผยข้อมูลโดย นายศุภกร รัตนวราหะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ระบุว่าสถิติการขายรถยนต์ของทุกแบรนด์ในประเทศไทยประจำเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา มียอดขายรวม 58,963 คัน ซึ่งถือว่าลดลงไป 8.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (เดือนตุลาคม 2565)
โดยหากให้เจาะลึกลงไปในยอดขายรถยนต์ของแต่ละกลุ่ม จะพบว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ตลาดรถยนต์ในภาพรวมของเดือนตุลาคม หดตัว เป็นเพราะยอดขายของรถยนต์ในกลุ่ม รถเพื่อการพาณิชย์ และ รถกระบะขนาด 1 ตัน (Pure Pick up และ รถกระบะดัดแปลง PPV*) มีตัวเลขลดลงไปมาก นั่นคือ
– ตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน (Pure Pick up และ รถกระบะดัดแปลง PPV*) ปริมาณการขาย 22,998 คัน ลดลง 35.1%
- อันดับที่ 1 Isuzu 9,725 คัน ลดลง 24.0% ส่วนแบ่งตลาด 42.3%
- อันดับที่ 2 Toyota 9,338 คัน ลดลง 37.8% ส่วนแบ่งตลาด 40.6%
- อันดับที่ 3 Ford 2,539 คัน ลดลง 49.7% ส่วนแบ่งตลาด 11.0%
โดยในยอดขายของรถยนต์ในกลุ่มนี้ จะแบ่งออกได้อีก 2 กลุ่มย่อยด้วยกัน นั่นคือ
– ตลาดรถกระบะ Pure Pick up ปริมาณการขาย 18,673 คัน ลดลง 37.9%
- อันดับที่ 1 Isuzu 8,243 คัน ลดลง 29.9% ส่วนแบ่งตลาด 44.1%
- อันดับที่ 2 Toyota 7,634 คัน ลดลง 39.3% ส่วนแบ่งตลาด 40.9%
- อันดับที่ 3 Ford 1,691 คัน ลดลง 54.6% ส่วนแบ่งตลาด 9.1%
– ตลาดรถกระบะดัดแปลง (ในตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน) 4,325 คัน
- อันดับที่ 1 Toyota 1,704 คัน
- อันดับที่ 2 Isuzu 1,482 คัน
- อันดับที่ 3 Ford 848 คัน
- อันดับที่ 4 Mitsubishi 231 คัน
- อันดับที่ 5 Nissan 60 คัน
และ
– ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ ปริมาณการขาย 36,833 คัน ลดลง 18.4%
- อันดับที่ 1 Toyota 13,687 คัน ลดลง 27.3% ส่วนแบ่งตลาด 37.2%
- อันดับที่ 2 Isuzu 10,962 คัน ลดลง 22.2% ส่วนแบ่งตลาด 29.8%
- อันดับที่ 3 Honda 3,844 คัน เพิ่มขึ้น 744.8% ส่วนแบ่งตลาด 10.4%*
*ทาง Toyota ระบุว่า ฝ่ายเก็บสถิตินับรถยนต์กลุ่ม SUV เป็นรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ทำให้ Honda ที่สามารถกอบโกยยอดขายจาก Honda CR-V ได้เป็นอย่างดี ถูกนำยอดขายมารวมอยู่ในกลุ่มนี้ ซึ่งหากรถอเนกประสงค์โมเดลนี้ไม่ประสบความสำเร็จตามตัวเลขที่เปิดเผยออกมา อาจทำให้ยอดรวมของรถยนต์ในกลุ่มนี้ยิ่งร่วงหนักไปอีกมากแน่นอน
นอกจากนี้ ในด้านยอดขายของกลุ่มรถยนต์นั่ง (รถเก๋ง) ที่สามารถกวาดยอดขายไปได้ 22,130 คัน กลับถือว่ามียอดเพิ่มขึ้น 13.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมี
- อันดับที่ 1 Toyota 7,165 คัน เพิ่มขึ้น 8.3% ส่วนแบ่งตลาด 32.4%
- อันดับที่ 2 Honda 3,462 คัน ลดลง 36.5% ส่วนแบ่งตลาด 15.6%
- อันดับที่ 3 Mitsubishi 743 คัน ลดลง 50.1% ส่วนแบ่งตลาด 3.4%
ทั้งนี้สาเหตุหลักที่ทำให้ยอดขายของรถยนต์ในกลุ่มนี้มีการเติบโตมากขึ้น หลักๆแล้วก็เป็นเพราะในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์ในกลุ่ม Eco Car สามารถทำยอดขายรวมกันทุกแบรนด์ได้มากถึง 16,800 คัน ซึ่งถือว่ามีการเติบโตจากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนถึง 20.3%
จึงหมายความว่ายังมีคนไทยอีกเป็นจำนวนมาก ที่ยังคงให้ความสนใจในตลาดรถยนต์กลุ่มนี้ แม้จะไม่ได้มีความเคลื่อนไหวใดๆที่เป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มากเท่าไหร่นัก ในช่วงขวบปีที่ผ่านมา
โดยปัจจัยหลักเป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างลื่นไหล ผู้บริโภคยังคงชะลอการตัดสินใจซื้ออย่างต่อเนื่อง
ทาง Toyota ระบุว่า มาจากความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อที่สูงขึ้น เนื่องจากมีความกังวลต่อความสามารถในการผ่อนชำระของผู้รับสินเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ และตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกระแสการหมุนเวียนของสินเชื่อเป็นหลัก
แต่ทั้งนี้ ตลาดรถยนต์เดือนพฤศจิกายน ยังมีความหวังฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากเป็นฤดูกาลขาย “High season” ซึ่งค่ายรถยนต์ต่างมีแผนเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ พร้อมด้วยแคมเปญส่งเสริมการขายเพื่อหวังกระตุ้นยอดขายและปิดตัวเลขการขายประจำปี โดยในช่วงการจัดงาน “มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 40” หรือ “Thailand International Motor Expo 2023” ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน- 11 ธันวาคมที่จะถึงนี้
อย่างไรก็ตาม ด้วยความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ที่ยังคงมีอยู่ ก็จะยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเจริญเติบโตของตลาดรถยนต์ทุกเซกเมนท์อย่างปฏิเสธไม่ได้เช่นกัน