หนึ่งในสิ่งสำคัญที่หลายคนใช้ตัดสินใจในการเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าสักคัน คือเรื่องของตัวเลขระยะทางต่อการชาร์จ ที่หากมีมากไว้ก่อนก็ย่อมดี และจะดีกว่านั้น ถ้ารถที่ตนใช้สามารถทำได้จริงตามข้อมูลกล่าวอ้างของแบรนด์ด้วย
อย่างไรก็ดี แม้เหล่ารถยนต์จากแบรนด์ Tesla จะมีหลายคนที่เชื่อว่าพวกมันมาพร้อมกับความสามารถในการใช้งานที่ให้ระยะทางใกล้เคียงตามเคลมเป็นอันดับต้นๆ
ทว่าจากการรายงานโดยสื่อหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา กลับระบุว่ารถยนต์ไฟฟ้าของแบรนด์นี้ กำลังถูกลูกค้าหลายคนมองว่ามันสามารถทำระยะทางในการใช้งานต่อชาร์จได้น้อยกว่าที่เคลมมากเกินไป
จนทำให้ทางแบรนด์ถูกกดดันอย่างหนัก ว่าต้องปรับตัวเลขระยะทางในการใช้งานต่อชาร์จที่เคลมลง เพื่อให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรถยนต์ของพวกเขาได้ถูกนำมาทดสอบและวัดผลใหม่อีกครั้ง โดยหน่วยงาน Environmental Protection Agency หรือ EPA ของประเทศสหรัฐอเมริกา
และจากการตรวจสอบระยะทางในการใช้งานต่อชาร์จใหม่ ของเหล่ารถยนต์ Tesla โดยหน่วยงาน EPA ผลปรากฏว่าทางหน่วยงานได้แจ้งให้ทางค่ายต้องปรับตัวเลขดังกล่าวใหม่ ดังนี้
รุ่นรถ ระยะทาง/ชาร์จ ตามเคลม ปี 2023 ระยะทาง/ชาร์จ ตามเคลม ปี 2024 ความเปลี่ยนแปลง อัตราการลดลงของระยะทางที่เปลี่ยนไป S Long Range 652 กิโลเมตร/ชาร์จ 652 กิโลเมตร/ชาร์จ 0 – S Plaid 637 กิโลเมตร/ชาร์จ 578 กิโลเมตร/ชาร์จ -37 กิโลเมตร/ชาร์จ 9.3% X Long Range 560 กิโลเมตร/ชาร์จ 539 กิโลเมตร/ชาร์จ -13 กิโลเมตร/ชาร์จ 3.7% X Plaid 536 กิโลเมตร/ชาร์จ 525 กิโลเมตร/ชาร์จ -7 กิโลเมตร/ชาร์จ 2.1% Y RWD 418 กิโลเมตร/ชาร์จ 418 กิโลเมตร/ชาร์จ 0 – Y Long Range 531 กิโลเมตร/ชาร์จ 499 กิโลเมตร/ชาร์จ -20 กิโลเมตร/ชาร์จ 6.0% Y Performance 488 กิโลเมตร/ชาร์จ 459 กิโลเมตร/ชาร์จ -18 กิโลเมตร/ชาร์จ 5.9%
จากตารางขั้นต้น จะเห็นได้ว่ามีรถยนต์ที่ถูกปรับลดตัวเลขการเคลมระยะทางการใช้งานต่อชาร์จสูงสุดถึง 9.3% จากระยะทางที่หายไปกว่าเดิมกว่า 37 กิโลเมตร/ชาร์จ และแม้ว่าตัวรถรุ่นดังกล่าวจะเป็นรุ่น S Plaid ที่ไม่ได้ขายในไทย แต่ในฝั่ง Model Y ทั้งรุ่น Long Range และ Performance ก็ถูกปรับลดเลขระยะทางการใช้งานต่อชาร์จไปถึง 6.0% และ 5.9% เช่นกัน
ทั้งนี้ จากข้อมูลบนเว็บไซต์ DriveTesla ส่วนสำคัญที่ทำให้รถยนต์ Tesla ต้องมีการปรับเลขระยะทางการใช้งานต่อชาร์จตามเคลมใหม่ ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่เพราะทางค่ายผิดเองโดยตรง แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะทาง EPA เลือกใช้วิธีการทดสอบที่ไม่ค่อยตรงกับการใช้งานจริงเท่าไหร่นัก
กล่าวคือ ในการทดสอบรูปแบบเดิม ผู้ทดสอบเลือกที่จะใช้โหมดการขับเคลื่อนที่ประหยัดที่สุดของตัวรถ ในการทดสอบ เพื่อให้ค่าจากการทดสอบที่ได้ออกมามีตัวเลขสูงที่สุด เพื่อบ่งบอกว่า นี่คือระยะทางที่รถไปได้สูงสุดจริงๆ
แต่เมื่อมองเช่นนั้น ก็เท่ากับว่ามันต่างจากการใช้งานจริงมากเกินไป เพราะผู้ใช้ส่วนใหญ่มักเลือกขับรถด้วยโหมดธรรมดา จึงทำให้ทาง EPA เลือกปรับวิธีการทดสอบรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ โดยเน้นการวัดค่าเฉลี่ยรวมของอัตราการสูญเสียพลังงานจากโหมดการขับเคลื่อนแต่ละโหมดที่รถยนต์ไฟฟ้ามี จึงทำให้ค่าที่ได้มีความใกล้เคียงต่อการที่รถจะถูกนำไปใช้งานจริงมากขึ้น
ที่น่าสนใจก็คือ การปรับลดตัวเลขระยะทางต่อชาร์จให้น้อยลงครั้งนี้ ทาง Tesla กลับเลือกที่จะระบุว่าสาเหตุ ไม่ได้มาจากการทดสอบใหม่ หรือเป็นเพราะโดนลูกค้าเรียกร้องหนัก แต่เป็นเพราะซอฟท์แวร์การจัดการพลังงานของตัวรถ ที่เน้นเพิ่ม “ความสะดวกสบาย และ เพื่อขีดความสามารถ” ของตัวรถให้มากขึ้น จึงเป็นเหตุให้แบตเตอรี่ถูกดึงพลังงานไปใช้มากกว่าเดิม
ซึ่งหากมองด้วยเหตุผลนี้แล้ว ก็ยังพอมีความเป็นไปได้อยู่บ้าง เพราะในตาราง เราก็จะเห็นได้ว่า แม้รถบางรุ่นจะถูกนำมาทดสอบใหม่ แต่พวกมันก็ยังคงถูกเคลมระยะทางการใช้งานต่อชาร์จเท่าเดิม ไม่ได้เปลี่ยนแปลง และทางค่ายก็สามารถระบุได้เช่นกันว่า ก็เพราะรถยนต์รุ่นเหล่านั้น ยังไม่ได้รับการอัพเดทซอฟท์แวร์ใดๆเพิ่มทั้งสิ้น ก็ได้