ทุกวันนี้ จะซื้อรถใหม่ทีไร คุณอาจจะเห็นว่าโซเชี่ยล ต่างพูดถึง รถยนต์ไฟฟ้า นวัตกรรมการขับขี่ที่เขาบอกว่าไม่ใช้น้ำมัน และมันประหยัดสุดๆ โดนใจชาวไทยจำนวนมากผู้เหนื่อยหน่ายกับ คำว่า น้ำมันแพง
รถยนต์ไฟฟ้า เป็นของใหม่สำหรับทุกคน และทุกครั้งที่มีอะไรใหม่ๆ คนไทยจะสนใจอย่างยิ่ง สำหรับรถยนต์ไฟฟ้ายิ่งสนใจทวีคูณ เมื่อภาครัฐออกโครงการสนับสนุน โดยให้เงินนับแสนบาท เป็นส่วนลดในการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า
จนย้อนความเก่าครั้งก่อน ก็เหมือนโครงการอีโค่คาร์ ในวันวาน ที่เคยเฟื่องฟูในอดีต
การตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า
ที่ผ่านมา ผมจะไม่เคยเปิดเผยเรื่องนี้มาก่อน แต่สาเหตุที่เราซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ก็เนื่องจาก แอดมินเดือน ทำงานประจำค่อนข้างไกล และใช้รถยนต์วันละเฉลี่ย 100 กิโลเมตร
ตอนแรก รถยนต์ไฟฟ้า ไม่เคยอยู่ในแผนเลย แม้ว่าจะได้สัมผัสอยู่บ่อยครั้งขึ้น ตั้งแต่การมาของ Great Wall Motor แถม ก่อนหน้านี้เพิ่งจัด Honda City Turbo เข้าบ้านมาใหม่ น้องยังสดและประหยัดเอาเรื่องไม่น้อยหน้า เพียงแต่ ยังต้องเติมน้ำมันก็เท่านั้น
แต่เมื่อคำนวนในแต่ละเดือน พบว่า ค่าน้ำมัน จะตกเฉลี่ยเดือนละ 7,000-8,000 บาท ขึ้นอยู่กับ สถานการณ์ราคาน้ำมัน ว่าถูกหรือแพง นับแล้วก็ถือว่า ค่าใช้จ่ายเอาเรื่อง หูดับตับไหม้อยู่ไม่น้อย
เมื่อภาครัฐให้การสนับสนุนราคารถยนต์ไฟฟ้า จนปรับตัวลงมาอยู่ในระดับที่จับต้องได้ มีหรือเราจะไม่สนใจครอบครองมัน
รวมถึง เรายังมีเจ้าตัวเล็ก มาเป็นสมาชิกครอบครัว Next Gen Ridebuster เพิ่มเติม บางครั้งกิจกรรมของลูกต้องทำบนรถ ในระหว่างที่เราคนใดคนหนึ่งไปธุระ ก็เป็นอีกโจทย์ ที่เข้ามาเติมเต็มว่า ถึงเวลาที่เราจะตัดสินใจ ซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ดีกว่า
MG4 … ทำไมเลือกคันนี้
เมื่อไม่นานมานี้ ถ้าใครติดตาม ช่อง Ridebuster ทาง Youtube จะพบว่า มีคลิป MG4 รีวิว รถในคลิปนั้น คือรถคันที่เราตัดสินใจเลือกซื้อเข้ามาประจำการ นับเป็นการฉีกกฏของเราครั้งสำคัญ ในการเลือกซื้อรถจีน และ เลือกซื้อ MG ที่หลายคนเคยดูแคลน มาตลอดหลายปี
มาถึงตรงนี้ บอล เชื่อว่าหลายคน คงอยากทราบว่า ทำไม เลือกซื้อ MG4 มาใช้
ต้องบอกก่อนว่า โจทย์ในการเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าของเรา มีสเป็คในใจคร่าวๆ ดังนี้
- ราคารถต้องไม่เกิน 1 ล้านบาท
- ต้องเป็นรถ 5 ประตู หรือ รถเก๋ง เหตุที่ ไม่เอา รถอเนกประสงค์ เพราะ เรามี Subaru XV
- สมควรจะมีจุดชาร์จของตัวเอง
- ต้องมั่นใจได้ เรื่องบริการหลังการขาย
จริงๆ รถยนต์ไฟฟ้าในช่วงส่งท้ายปี 2022 มีเพียงไม่กี่รุ่น ณ เวลานั้น ทั้ง เจ้าน้องแมว ORA Good CAT ยังคงเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ดีที่สุด ในสายตาหลายคน ณ วันนั้น กับราคาที่เพิ่งจะปรับให้จับต้องได้ จากสิทธิประโยชน์ของภาครัฐบาล
น้องแมว ก็ดูน่าสนใจเหมือนกัน ด้วยดีไซน์สวยลงตัว แต่เรื่องการขับมันกลับทำได้เพียง พอไปวัดไปวา ไม่ได้หวือหวา แต่ก็ใช้งานได้ดี ระยะทางต่อการชาร์จ ค่อนข้างไกล เป็นจุดเด่น
ทางด้านแบรนด์อื่น MG มี MG EP และ MG ZS ทั้งคู่ ดีตรงได้รถใหญ่ตอบโจทย์ เมื่อศึกษาลึกลงไป จะพบว่าทั้งคู่เป็นรถยนต์น้ำมันมาดัดแปลงเป็นรถยนต์ไฟฟ้า มันจึงมีหลายอย่างยังไม่ลงตัวเท่าไรนัก
จะมีก็ Toyota BZ4X ราคาสูงริบลิ่วเกินสเป็ค แต่เมื่อเป็นรถยนต์ไฟฟ้าจากผู้ผลิตญี่ปุ่น เราเองก็อยากได้ อีกอย่าง ผมเองเป็นสาวก ซูบารุ ผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนารถรุ่นนี้ จึงยิ่งอยากได้ทวีคูณ ผมลงจองไปแล้ว และ ถูกปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใยในภายหลัง ได้เพียงกาแฟฟรี เขาส่งมาปลอบใจ
ทีแรก จึงกะว่าจะพักโครงการ ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าคันแรกไปก่อน
ในตอนนั้น เป็นช่วง BYD เข้ามาเปิดตัว BYD Atto 3 ยอมรับตามตรงว่า มันเกือบได้มาเป็นคู่ใจแล้วเช่นกัน
ความน่าสนใจ ของ BYD อยู่ที่การเป็นแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่จากจีน และเป็นคู่ฟัด Tesla การเป็นแบรนด์ใหญ่ ยอดขายเยอะ เป็นเครื่องการันตีความน่าสนใจ ก็น่าจะทำให้ใครหลายคน มองแบบที่ผมมองว่า มันดูน่าเชื่อถือ
ไม่เพียงเท่านี้ การเปิดตัวภายใต้บริษัท เรเว่ ออโต้โมทีฟ จำกัด ยังสร้างความน่าเชื่อถือมากพอสมควร เนื่องจากมีประสบการณ์ในการค้าขายรถจากรุ่นพ่อ แถมเป็นบริษัทใหม่ที่มีความน่าเชื่อถือสูง
ส่วนผลิตภัณฑ์ BYD Atto 3 ก็น่าสนใจ คุ้มค่า โดยเฉพาะการเป็นรถยนต์อเนกประสงค์ไซส์ Entry Compact Crossover ที่มีขนาดไล่กับ Subaru XV, Mazda CX-30 ขนาดที่คนส่วนใหญ่มองว่าน่าคบหา ราคาก็ไม่ได้รุนแรงจนเกินไป สามารถไขว่คว้าเป็นเจ้าของได้
ผมมีโอกาส สัมผัสในช่วงแรกก่อนการเปิดตัว แล้วพบว่าเจ้า BYD Atto 3 เซทรถออกมาเป็นรถใช้งานจริงจัง ติดไปทางนุ่มนวล เหมาะกับการใช้งานทั่วไป การตอบสนองทำได้ดี เพียงแต่มันไม่ได้หวือหวา จนต้องว้าว!!
รวมถึง เบาะชิ้นเดียวสไตล์สปอร์ต แม้จะหล่อเท่ห์ กลับยังนั่งไม่สบาย ด้วยผมเป้นคนตัวใหญ่ หัวหมอนค่อนข้างดันกบาลอยู่นิดหน่อย ต้องปรับตัว ก็เลยยังไม่ได้ฟันธง
ในที่สุดเสียงสววรค์ ก็บรรเลง เมื่อ MG ชวนไปลอง MG4 ก่อนเปิดวางขายในไทย
อันที่จริง, ผมค่อนข้างจะสนใจ MG4 อยู่แล้ว ตั้งแต่ยังใช้ชื่อ MG Mulan ในจีน ด้วยรถรุ่นนี้เป็นรถรุ่นแรก ใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด โครงสร้างตัวถังใหม่ แบตเตอรี่ใหม่ รวมถึง มอเตอร์ด้วยเช่นกัน
ไม่เพียงเท่านี้ ทาง MG ยังวกกลับมาเป็นตัวของตัวเองในการสร้างรถที่เปี่ยมด้วยหลักด้านวิศวกรรมที่น่าสนใจ อาทิ สมดุลน้ำหนัก 50/50 ช่วงล่างหลัง มัลติลิงค์ รวมถึงยังเป็นรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกจากจีนในเวลานั้น ที่นำเสนอ การขับเคลื่อนล้อหลัง และยังออกแบบ รถให้มีความถูกต้องตามหลักอากาศพลศาสตร์ได้ค่อนข้างดี อีกด้วย
และท้ายสุด MG ครบรอบ 10 ปีพอดี สำหรับการทำตลาดในไทย ดังนั้น หากจู่ๆ ค่ายจะหนีหายเทลูกค้า ก็คงไม่ง่าย แถม MG ยังมีระบบจุดชาร์จของตัวเองด้วย ตรงตามที่เราต้องการ จากสเป็คในใจ ประกอบกับราคาไม่เกินล้านบาท รวมถึง เรามีความประทับใจจาก รถยนต์อย่าง Nissan LEAF รถยนต์ไฟฟ้า 5 ประตู เป็นทุนเดิม
สุดท้าย เราจึงจบที่ MG4 รุ่น X ราคา 969,000 บาท
เมื่อ เปรียบเทียบกับ รถที่เรามองเป็นตัวเลือก ก่อนตัดสินใจแล้ว ผมขอสรุปว่า
- BYD Atto 3 ได้รถอเนกประสงค์ ขนาดใหญ่ ราคาคุ้มค่า ออพชั่นจัดเต็ม แต่ช่วงล่างติดนุ่ม ขับไม่ทันใจเท่าไรตามสไตล์ รถอเนกประสงค์ เน้นขับสบายๆ ไม่เร่งรีบ
- ORA Good CAT รถเน้นขายดีไซน์ การขับขี่ใช้งานทั่วๆ ไป มีดีตรงห้องโดยสารโปร่งนั่งสบาย และมีความมุ้งมิ้ง ผู้หญิงน่าจะชอบ
- Toyota BZ4X สมรรถนะหายห่วง ความมั่นใจในแบรนด์มาเต็ม รถมีสมรรถนะและความสามารถ ลุยได้สบายๆ มีขนาดใหญ่ เพียงแต่ราคาแพง และไม่ใช่ทุกคนจะมีโอกาสเป็นเจ้าของ
ส่วน MG 4 ที่เราเลือก เป็น รถที่มีสมรรถนะโดดเด่น เรื่องการควบคุม ขับสนุกมั่นใจ ทั้งในเรื่องการทรงตัว , การเข้าโค้ง ขนาดตัวไม่ใหญ่ มีความคล่องตัวสูง พลังขับกลางๆ นั่นเป็นสาเหตุหลักๆ ที่เราตัดสินใจเลือกมัน
ด้วยความเป็นนักทดสอบ จึงชอบรถที่ขับดี ไม่ได้เน้นเฟ้อออพชั่นมากมาย
ที่ชาร์จในบ้าน ของจำเป็น ต้องมี
หลังจาก ตกลงใจเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาจะต้องเตรียมพร้อมสำหรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้า
ในการใช้รถยนต์ไฟฟ้า พูดตามตรงว่า ที่บ้านควรมีจุดชาร์จ หรือ Wall Box ไว้ใช้งานด้วย แม้หลายคนอาจจะมีความคิดว่า ไม่จำเป็น ไว้วนมาชาร์จข้างนอกตามตู้สาธารณะก็ได้
ที่ชาร์จในบ้านในปัจจุบันหลายค่าย จะให้มาเป็นของแถม มากับรถ นับว่าดีมากๆ และก็มีบางยี่ห้อ ยังต้องซื้อเองภายหลัง แยกกับตัวรถ
ไม่บ่อยนักที่ จะมีคนคุยเรื่องนี้อย่างจริงจัง การติดตั้ง ที่ชาร์จในบ้าน เป็นเรื่องที่ค่อนข้างวุ่นวายเล็กน้อย มันไม่เหมือน คุณซื้อรถสันดาป ซื้อแล้วรอรับรถ ขับไปเติมน้ำมันใช้งานได้ปกติ
ขั้นตอนการติดตั้งที่ชาร์จ จะมีความวุ่นวายในระดับหนึ่ง เริ่มจาก การดูว่า คุณอยู่ในกริด(พื้นที่)ให้บริการ ของการไฟฟ้ารายใดก่อน ว่าเป็น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ การไฟฟ้านครหลวง สำหรับกรุงเทพมหานครและปริมณฑลบางจังหวัด อาจจะมีข้อกำหนดในการขอติดตั้งที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ต่างกัน
ในกรณีการไฟฟ้านครหลวง จะไม่สามารถขอแยกมิเตอร์ ออกจากลูกหลักของบ้านได้ (อย่างน้อยก็ในตอนที่ผมดำเนินการ) ทำให้ค่าไฟฟ้า จะรวมไปกับ ค่าไฟบ้านเลย สิ่งที่ตามมาคือ คุณต้องขยาย มิเตอร์เดิมของบ้าน อย่างเช่น จาก 15/45 ไปเป็น 30/100 เป็นต้น
ที่สำคัญนั่นทำให้การใช้ประโยชน์จาก การติดตั้งมิเตอร์แบบ Time Of Usage หรือ TOU ได้น้อยลง โดยเฉพาะ ถ้ามีคนอยู่บ้านในยามกลางวัน เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้า ส่วนใหญ่ เราจะชาร์จในช่วงกลางคืน หลังจากกลับถึงบ้าน และมีการกำหนด ค่าชาร์จ อัตราพิเศษ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า
ในกรณีขยายมิเตอร์ หมายถึง คุณต้องปรับตู้ไฟใหม่บางส่วน คือ Main Breaker , สายไฟฟ้าที่มายังมิเตอร์
ยิ่งบ้านใคร มีอายุมากกว่า 10 ปีขึ้นไป ผู้เชี่ยวชาญ เรื่องระบบไฟฟ้า บอกว่า ควรเช็คระบบไฟให้ดีด้วย ควรดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญ
ของผม เป็นกรณี การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในตอนที่ขอ (ไม่แน่ใจปัจจุบัน เปลี่ยนโยบาย หรือยัง) สามารถขอ มิเตอร์แยกได้ อิสระจากตัวบ้าน โดยทางการไฟฟ้า จะให้มิเตอร์แบบ TOU สำหรับชาร์จ รถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ
ขั้นตอนการขอ ก็ไม่ได้ยุ่งยากนัก เริ่มจากเราต้องนำ รายละเอียดทางเทคนิคเครื่องชาร์จที่เราจะใช้ ไปทำเรื่องขอมิเตอร์รถยนต์ไฟฟ้า ที่สำนักงานไฟฟ้าในเขตพื้นที่
ทางเทคนิค ขั้นตอนนี้ จะเรียกว่า “เดินวงจร 2” เป็นการเดินวงจรไฟฟ้าใหม่ แยกจากตัวบ้าน โดยต้องตั้งตู้ไฟ และ เดินสายไฟฟ้าตามขนาดข้อกำหนดของการไฟฟ้า มาทิ้งไว้ที่เสา ให้เจ้าหน้าที่การไฟฟ้า เข้ามาตรวจสอบ พร้อมติดตั้งมิเตอร์ เมื่อได้การรับรอง
คุณ คงสงสัยว่า แล้วเราจะหาช่างไฟทำเรื่องนี้จากไหน จริงๆช่างไฟฟ้า รับเหมาก่อสร้างบ้านทำได้หมด แต่เนื่องจากงานมันค่อนข้างเล็กไม่ใหญ่มากก็เลยไม่ค่อยมีใครรับกัน
ผมเอง ก็เรียกว่า โชคดี มีคอนเนคชั่น กับบริษัทติดตั้งตู้ชาร์จรายใหญ่ ก็เลยปรึกษา และได้ช่างมาติดตั้งเสร็จสรรพ
หรือ ไม่ ถ้าหาไม่ได้จริงๆ ถามการไฟฟ้านี่แหละครับ เขาจะมีช่างในพื้นทีแนะนำได้
ในขั้นตอนนี้ ผมเสียเงินไป 20,000 บาท เพื่อ เดินวงจร 2 และ ขอมิเตอร์ จนเสร็จสิ้นกระบวนการ
ชัดเจนว่า ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ไม่จบที่แค่ค่ารถยนต์ไฟฟ้า อย่างที่หลายคนคาดเดา แน่นอน
อันที่จริง ปัญหาของการติดวอลชาร์จที่บ้าน คือ คุณต้องรอและอดทน
อย่างพื้นที่ ที่ผมอยู่ เป็นเขตอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี หลังจากเดินวงจร 2 เรียบร้อย ก็ต้องแจ้งการไฟฟ้าให้เข้าตรวจสอบ จะใช้เวลาอีกไม่กี่วัน นับตั้งแต่เดินเสร็จ พอติดตั้งมิเตอร์เสร็จ ก็เรียกว่าจบขั้นตอนของการไฟฟ้าเขาแล้ว
ที่เหลือ ก็เป็นคิวของช่างติดตั้ง Wall Box จากบรรดา ซัพพลายเออร์บริษัทรถยนต์ ซึ่งมีนโยบาย จะไม่เข้ามาติดที่ชาร์จก่อน ลูกค้ารับรถ นั่นก็เพื่อให้แน่ใจว่า ลูกค้าจะรับรถอย่างแน่นอน หรือ ถ้าคุณอยากติดก่อน ก็ต้องวางดาวน์ เสมือนว่าออกรถเรียบร้อย จึงจะสามารถ เอา Wall Box ไปติดได้
ถ้าคิดว่า นี่ดูวุ่นวายแล้ว บริษัทติดตั้งที่ชาร์จ ก็วุ่นวายกว่า เนื่องจาก บริษัท จะส่งคนมาสำรวจก่อนในเบื้องต้น แล้วนัดวันติดตั้งอีกครั้ง ตามลำดับคิว ถ้าบ้านไม่มีคนอยู่ล้านยามกลางวัน อาจหมายถึง ต้องลางาน 2 รอบ เพื่อดำเนินการเรื่องนี้
ในขั้นตอนการติดตั้งวอลชาร์จของผม ใช้เวลาดำเนินการทั้งสิ้น 3 สัปดาห์ ตั้งแต่เริ่มจนจบ เนื่องจากต้องรอคิวตามขั้นตอน ทั้งการไฟฟ้า,ช่างติดตั้งวงจร 2 และ การติดตั้งที่ชาร์จ
ระหว่างนั้น MG4 ของเรา ต้องแวะเวียนใช้ตู้ชาร์จสาธารณะ ไปพลางๆ ประทังชีวิต สำหรับคนที่เพิ่งใช้รถยนต์ไฟฟ้า เป็นการเรียนรู้ การใช้จุดชาร์จสาธารณะไปในตัว ทั้งในแง่ความสามารถ มารยาท และ ข้อควรทำในการชาร์จสาธารณะ
สมรรถนะดีกว่า สันดาป ?
หลังจากได้ ครอบครอง MG4 ยอมรับว่า ช่วงแรกแอบลืมรถสันดาปบ้าง
สำหรับ แอดมินเดือน ใช้ในการเดินทางในการทำงานประจำวันเป็นหลัก ส่วนผมจะขอมาขับในวันที่จำเป็นต้องมีธุระเข้าเมือง เจอรถติด เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางบ้างตามสมควร
ตั้งแต่ขับในสนามทดสอบ สมรรถนะที่น่าประทับใจ พอมาสู่การใช้งานจริง MG4 เป็นรถที่ยังคงโดดเด่นในเรื่องสมรรรถนะการขับขี่ในแบบที่ไม่เหมือนใครมาก่อน
แม้พลังขับรถคันนี้จะเพียง 170 ม้า ไม่ได้แรงมากมาย โดยเฉพาะ เทียบกับรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ๆ ที่ออกมาในตลอดปี 2023 หากก็เพียงพอต่อการใช้งาน
ด้วยนิสัยที่มีความเป็นรถยนต์ไฟฟ้าขนานแท้ กดเป็นมา มอเตอร์ตอบสนองรวดเร็ว ผมเคยเอา รถไปลองขับวัดอัตราเร่ง สมัยได้มาใหม่ๆ 0-100 กม./ชม. อยู่ในระดับ 7.0 วินาที ถือว่าเร็วเอาเรื่อง พอกับรถสปอร์ตอย่าง Subaru BRZ ที่มีแรงม้า 235 ตัว เลยด้วยซ้ำ
ในเรื่องอัตราเร่ง และการตอบสนอง ถึงเทียบกับรถสันดาป เครื่องยนต์พ่วงเทอร์โบ ที่ขนาดไม่ใหญ่โตมากนัก รถยนต์ไฟฟ้าจะตอบสนองดีกว่ามาก ด้วยธรรมชาติของมอเตอร์ไฟฟ้า ที่สามารถเรียกแรงบิด กดเป็นมา ไม่ต้องรอการตัดสินใจ การตอบสนองของชุดเกียร์ กดแล้วพุ่งไปได้เลย
แม้อัตราเร่ง และการเร่งแซง จะเฉียบคมมั่นใจ แต่มอเตอร์ไฟฟ้ามีนิสัยเหมือนกันหมด นั่นคือมันสามารถทำความเร็วสูงสุด ได้ไม่มากนัก รถยนต์ไฟฟ้าอย่าง MG4 สามารถทำความเร็วสูงสุดได้เพียง 170 กม./ชม. เท่านั้น อย่าแปลกใจถ้าพบว่า คุณเจออีโค่คาร์แซงไปอย่างชิลๆ ในช่วงความเร็วสูง
นอกจากนี้ ถ้าเราใช้ความเร็วอย่างต่อเนื่อง บ่อยครั้ง มีโอกาสที่มอเตอร์ไฟฟ้า และแบตเตอร์รี่จะเสื่อมสภาพเร็วขึ้น เนื่องจากมีความร้อนสะสม อย่างต่อเนื่อง ในแง่แบตเตอร์รี่เอง ไฟฟ้าถูกดึงออกอย่างรวดเร็ว ซึ่งเริ่มมีการพูดถึงในต่างประเทศ
นอกจากนี้ การเลือกใช้แบตเตอร์รี่ที่มีขนาดเพียง 51 กิโลวัตต์ ยังนับเป็น ความน่าประทับใจ แม้ว่าระยะทางจะน้อย หากเปิดแอร์ขับเดินทางจะมีระยะทางเพียง 361 กม. ตามที่ปรากฏบนหน้าปัด
กลับกันแบตเตอร์รี่ไม่ใหญ่มาก น้ำหนักของมัน ก็เบาพอตัว MG4 รุ่น X ที่เราเลือกใช้ มาพร้อมน้ำหนักตัวเปล่าๆเพียง 1,700 กก. ถือว่าค่อนข้างเบา เมื่อเทียบกับ รถอย่าง Honda Civic เจ้ารถยนต์ไฟฟ้าคันนี้ ก็ยังมีพิกัดน้ำหนักมากกว่าเพียง 200-300 กก. เท่านั้น
ไม่เพียงเท่านี้ ด้วยความที่ MG ออกแบบให้รถคันนี้มีสมดุลน้ำหนัก 50/50 รวมถึงกายภาพตัวรถที่มีระยะยื่นสั้น
ทั้งหมด เห็นผลเมื่อขับขี่ ส่งผลต่อการเซทติ้งช่วงล่าง ออกมาเฟิร์มตึงกำลังดี แอบมีนุ่มบ้างจังหวะคอสะพาน แต่ถือว่ารับได้ ถ้าคุณไม่วิ่งซิ่งใช้ความเร็วมากนัก
รวมถึงการบังคับควบคุมรถ ทำได้ค่อนข้างดี โดยเฉพาะในช่วงการเข้าโค้ง หรือ การเบรกอย่างรุนแรงรถก็ไม่สะบัด มีสมดุลค่อนข้างสูง
ปัจจุบัน ถ้าเอา MG4 เทียบกับ รถคอมแพ็คคาร์รุ่นอื่น ที่มีขายในบรรดารถญี่ปุ่นคงยากจะเปรียบเทียบ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นขับเคลือนล้อหน้า ที่อาจไม่ได้เซทสมดุลมาอย่างลงตัว แบบที่เราเห็น
ความประหยัด เหนือชั้น ?
เมื่อพูดถึงรถยนต์ไฟฟ้า หลายคนอาจจะมองถึงความประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รถไม่ต้องเติมน้ำมันแล้ว ดีใจจัง ไม่ต้องผจญภัยกัยค่าเดินทางอันแสนแพง
เรื่องนี้เป็นความจริง ที่เราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยครับ เพียงแต่ต้องเข้าใจว่า รถยนต์ไฟฟ้าจะมีค่าเดินทางถูก เมื่อไฟฟ้ามาจากแหล่งที่ถูกที่สุด เท่านั้น
ถ้าไม่นับการติดตั้งแผงโซลล่าร์เซลล์ เก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์ ที่มีค่าใช้จ่ายแล้วต้องลงทุนมหาศาล เพื่อให้ได้มาซึ่งไฟฟรีสำหรับคุณ (เดียวเราจะพูดต่อไป) ปัจจุบันการชาร์จบ้าน ด้วยมิเตอร์ TOU จัดว่าถูกที่สุด ด้วยอัตราค่าบริการ 2.67 บาท ต่อหน่วยไฟฟ้า หรือ 1 กิโลวัตต์ (ไม่รวมค่าบริการ)
ผมขอย้ำว่า ค่าเดินทางในรถยนต์ไฟฟ้าจะถูก ต้องใช้ไฟฟ้าจากแหล่ง ที่มีค่าใช้จ่ายในการชาร์จถูกที่สุด ในกรณีของผม คือการชาร์จบ้าน ตามภาครัฐประกาศ ค่าไฟฟ้าจะตกหน่วยละ 2.67 บาท แต่รวมค่าบริการแล้ว รวมๆ จะอยู่ที่หน่วยละ 3 บาทเท่านั้น
MG4 เท่าที่ลองใช้งานตลอดปี ทั้งในเมืองและนอกเมือง ด้วยโหมด Normal และ ตั้ง Kers ระดับ 3 (ซึ่งเป็นระดับสูงสุดที่รถจะมีให้ปรับ)
จะกินไฟฟ้าเฉลี่ย 16 KW/100 กม. หรือ ตก แล้ว 6.25 กม. ต่อ กิโลวัตต์ ถ้าเอาเรทการชาร์จบ้าน คิดง่ายๆว่า ค่าเดินทางตก กม.ละ 50 สตางค์ (0.48 บาท/ กิโลเมตร )
แต่ถ้าชาร์จตู้สาธารณะ ด้วยเรทในปัจจุบัน ที่มีตั้งแต่ 7 บาท ไปจนถึง 10 บาท จะอยู่ที่ราวๆ กิโลเมตรละบาทกว่าๆ (ที่หน่วยละ 7.5 บาท จะมีค่าใช้จ่ายตกที่ 1.2 บาท/ กิโลเมตร) เทียบแล้วค่าเดินทาง ถูกกว่าสันดาป 100% ครึ่งๆ
ตลอดปี ค่าเดินทางของเจ้ารถยนต์ไฟฟ้า MG4 ของผม มีค่าใช้จ่าย ชาร์จไฟบ้านอยู่ที่ 17,968.77บาท โดยทั้งปี ผมขับไป 33,000 กม. โดยประมาณ ถ้าคิดคำนวนจากอัตรานี้ ก็จะตกอยู่ที่กิโลเมตรละ 0.54 บาท
คิดเป็นค่าเดินทาง ชาร์จบ้าน 0.48 บาท/ ก.ม. ชาร์จตู้สาธารณะ (ที่เรท7.5 บาท / กิโลวัตต์) 1.2 บาท/ก.ม.
ด้วยเหตุนี้ ใครที่บอกคุณว่า ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เรื่องชาร์จในบ้าน ไม่จำเป็น และคงไม่ถูกกว่าชาร์จตามตู้สาธารณะสักเท่าไร แนะนำว่า คิดผิดคิดใหม่ ยิ่งค่าไฟถูก ค่าเดินทาง จะถูกตามไปด้วย
แถม จากที่ผมใช้รถยนต์ไฟฟ้ามา ตั้งแต่ปี 2018 ทั้ง ขับทดสอบ และ ขับใช้งานเองในหลายคราว ค่าไฟฟ้าตามตู้สาธารณะ มีแต่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่มีลง จากหน่วยละ 4.5 บาท ปัจจุบัน บางที่เริ่มที่ 7.5 บาท ในช่วงเวลา Peak หรือ ขึ้นมาแล้ว ราวๆ 40% และมีแนวโน้ม เพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่องในอนาคต
ถ้าใครมองว่า เดี๋ยวเราค่อยวน มาชาร์จ ตอนเรทถูกก็ได้ ผมให้ข้อคิดแบบนี้ คุณจะขยัน ออกจากบ้านตอนกลางคืน เพื่อชาร์จรถ แล้วหายต๋อมไป อยู่ตู้ชาร์จได้บ่อยๆ สักกี่วัน แทนที่จะเอาเวลาไปพักผ่อน ต้องมานั่งชาร์จรถแทน กลายเป็น ชาร์จรถได้ความประหยัด แต่ไม่ประหยัดพลังชีวิต
ผมแนะนำ ติดชาร์จที่บ้านครับ ดีที่สุด จบทุกปัญหา !!
ไฟฟรี ไม่มีในโลก
เวลาไปดูตามโซเชี่ยล คุณจะพบว่า มีผู้ใช้บางคน จะบอกว่า พวกเขาใช้รถยนต์ไฟฟ้า โดยอาศัยไฟฟ้าฟรี จากการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ Solar Cell ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่าย มากพอสมควร และยังเป็นการหลุดพ้นจากวังวน การตกเป็นทาสของบริษัทพลังงานทั้งหลาย หรือ Decentalize Energy ผู้ใช้สามารถผลิตพลังงานเองใช้เองได้ จนฟังแล้วมันว้าว สุดๆ
ในความเป็นจริง การที่คุณจะผลิตอะไรก็ตาม มันต้องมีการลงทุน ถูกต้องไหมครับ คุณไม่สามารถ เอาพลังงานความร้อนจากแดด มาแปลงเป็นไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้าไม่ใช่ต้นไม้ จะได้จอดแล้วสังเคราะห์แสง ได้เลย มันต้องมีอุปกรณ์
ในกรณีที่เขาบอกว่า ไฟฟรี จากโซล่าร์เซลล์ ผมบอกตามตรงว่า โซล่าร์เซลล์ เอย ค่าวางระบบเอย ไปจนถึง ระบบของใครที่มีความทันสมัยมากๆ ก็ต้องมี แบตเตอร์รี่เก็บประจุพลังงาน
ผมอาจไม่ได้มี ความรู้ทางด้านไฟฟ้ากำลัง และ โซลล่าร์เซลล์ มากนัก แต่ มั่นใจว่า ของเหล่านี้ ไม่มีคำว่า “ฟรี” จากผู้ติดตั้ง ก่อนจะใช้ไฟฟรี คุณต้องจ่ายค่า ระบบ ก็เหมือนคุณจ่ายค่าไฟฟ้า ไปล่วงหน้าแล้วนั่นเอง ครับ
ตามที่ผมมีโอกาส และได้ข้อมูล เรื่อง โซลล่าร์เซลล์ มาประกอบการตัดสินใจ ว่าจะติดตั้งที่บ้านดีไหม
แผงโซลล่าร์เซลล์ จะมีอายุราวๆ 25 ปี โดยประมาณ และ ต้องมีการทำความสะอาดตรวจเช็คแผง ทุก 6-12 เดือน แล้วแต่คำแนะนำ ของแต่ละบริษัทติดตั้ง
การติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ จะคิดตามขนาดความสามารถที่แผง สามารถผลิตได้ เป็นกิโลวัตต์ ต่อชั่วโมง โดย ตีว่า ประสิทธิภาพแผง จะทำงานได้ประสิทธิภาพ สูงสุดราวๆ 5-6 ชั่วโมง เท่านั้น
ผมขอยกตัวอย่าง นะครับ สมมุติ แผงโซลล่าร์เซลล์ที่มีความสามารถ 10 KW / ชั่วโมง จริงๆ มันจะผลิตไฟฟ้าได้ ราวๆ 50 KW / วัน (5 ชั่วโมง) และ ใช่ครับ เมื่อมันพึ่งแสงอาทิตย์ ในบางฤดูแสงจะน้อยลง ประสิทธิภาพในการผลิตจะลดลงตามไปด้วยนั่นเองครับ
เท่าที่ผมถามตอนนี้ ค่าติดตั้งระบบโซลล่าร์เซลล์ แบบ On Grid (แบบไม่มีแบตเตอรี่สะสมพลังงาน) ที่สามารถสร้างกระแสไฟได้มากพอสำหรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า จะมีติดตั้งรวมแผง และค่าดำเนินการกับการไฟฟ้า รวมๆ เท่าที่ถามมาหลายเจ้า อยู่ราวๆ 200,000 บาท อาจต่างกันบ้างเล็กน้อย
แถมจากการสอบถาม จากการไฟฟ้า ทั้ง 2 เจ้าของโครงข่าย เราไม่สามารถ ติดโซลล่าร์เซลล์ แบบคร่อมวงจรได้ ในกรณีมีวงจรสอง คือ คุณคิดจะติด ก็ต้องเลือกเลย บ้านหรือ ระบบชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าครับ (ตรงนี้คนใช้ไฟ การไฟฟ้านครหลวงอาจดีกว่า)
ถ้ามีคนบอกคุณ ว่าไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ฟรี แล้วค่าระบบ 200,000 บาท ที่เราต้องลงทุนก่อนอันนี้ มันยังเรียกว่าฟรีได้อยู่หรือ ?
และ ตามคำแนะนำ ของหลายบริษัท พูดไปในทางเดียวกันว่า การจะลงโซลล่าร์เซลล์ ถ้าใช้พื่อชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเดียวไม่คุ้ม เนื่องจากมันเป็นระบบทำงานในเวลากลางวัน ถ้าอยากชาร์จกลางคืน คุณต้องมีแบตเตอรี่มาเก็บไฟเอาไว้ใช้
เท่าที่สอบถาม ค่าแบตเตอร์รี่ก็จะทำให้ ระบบรวมทั้งหมด เพิ่มเป็นอีกเท่าตัว เท่าที่มีข้อมูล ชุด Tesla Power Wall ที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ ลูก 40 kW สนนราคา 500,000 บาท บางท่านอาจเคยได้ยิน คอนเทนต์จากโซเชี่ยลว่า เราสามารถนำแบตเตอร์รี่ รถยนต์ไฟฟ้ามือสอง มากักเก็บพลังงานจากไฟฟ้าแสงอาทิตย์ได้
เท่าที่ผม ถามบริษัท ติดตั้งโซลล่าร์เซลล์ พวกเขายอมรับว่า ทำได้จริง เพียงแต่ว่า มันยังไม่มีการยอมรับว่าได้มาตรฐาน มีเพียง ทำกันในแบบไทยประดิษฐ์เท่านั้น และยังยากแก่การตรวจสอบความสามารถของแบตเตอร์รี่ โดยเฉพาะในกรณี แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ามือสอง ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงเซลล์เสียหาย และ อาจนำไปสู่เหตุไฟไหม้ได้
ทีนี้ เราลองมาคุยเรื่อง “จุดคุ้มทุน” ดูบ้างครับ
สมมุติ ผมลงแผงโซลล่าร์เซลล์ 10 kW/ชั่วโมง ในงบ 200,000 บาท ทั้งเพื่อชาร์จรถ และใช้งานในบ้าน แต่เนื่องจากบทความนี้โพกัสที่รถยนต์ไฟฟ้า
ให้สมมุติ ต่อไปว่า ผมทำอาชีพออกเดินทางในเวลากลางคืน สามารถใช้ประโยชน์ได้ 100% อย่างไม่ต้องสงสัย
คุณลงทุน 200,000 บาท ได้ไฟ เพื่อชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า และสำหรับบ้าน ต้องใช้รวมกัน
ถ้าเอาตามที่เราคำนวน เรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รถยนต์ไฟฟ้า ชาร์จบ้าน TOU ตอนกลางคืน อยู่ที่กิโลเมตรละ ราวๆ 0.50 บาท เท่ากับว่า คุณจะคุ้มทุน เมื่อขับรถยนต์ไฟฟ้าคันนั้น โดยใช้ไฟฟ้าจากโซลล่าร์เซลล์ เพียงอย่างเดียว ที่ระยะ 400,000 กม.
หากตี ตามค่ามาตรฐานว่าคนทั่วไป จะขับรถ เฉลี่ยที่ 20,000 กม. ต่อปี จะตกอยู่ราวๆ 20 ปี จึงจะคุ้มทุนครับ ค่าระบบที่เราติดตั้งไป หรือ อาจจะเหมาะ กรณี มีรถยนต์ไฟฟ้า 2 คัน 3 คัน ใช้ร่วมกันในบ้าน จะใช้ระยะทางน้อยกว่านี้ จึงจะคุ้มทุน
หลายคน อาจจะแย้งว่า เปรียบแบบนี้ ดูจะด้อยค่า โซลล่าร์เซลล์ไปหน่อย ถ้าสมมุติ เราชาร์จไฟฟ้า ในอัตราก้าวหน้าแล้วกัน ที่เรท 5 บาท ค่าคิดโซลล่าร์เซลล์ 200,000 บาท
รถ MG 4 มีอัตราประหยัดอยู่ที่ 6.25 ก.ม./ กิโลวัตต์ คิดเป็นค่าเดินทาง จากการชาร์จอัตราก้าวหน้า 1.25 บาท / กิโลเมตร จะคุ้มทุน ค่าติดตั้งโซลล่าร์เซลล์ เมื่อคุณใช้รถเดินทาง จากการชาร์จ โซลล่าร์เซลล์ ที่ 160,000 ก.ม.
ในความจริงเวลาเราส่วนใหญ่ขับรถเดินทางกลางวัน การใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์ชาร์จรถจริงๆ เรียกว่าน้อยมาก ยกเว้น คุณ ทำอาชีพอิสระ หรือ เป็นเจ้าของกิจจการ จากบ้านไปโรงงาน จอดรถกลางวัน กลับบ้านอีกทีตอนเย็น อาจได้ใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้ อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องลงทุนยัดแบต มูลค่าเพิ่มอีก 2-3 เท่า
แม้จะมีบาง คนพูดว่า ดีที่ผลิตไฟฟ้าเองได้ แถมขิงกลับว่า สะอาดด้วย แต่ถ้าสมมุติ เราคิดทางกลับกันว่า การลงโซลล่าร์เซลล์ เปรียบเสมือนการจ่ายเงินค่าไฟไปล่วงหน้า อารมณ์เดียวกับเปิดเมมเบอร์
แบบนี้ ควรใช้คำว่า ไฟฟรี จาก พระอาทิตย์ จริงหรือไม่
ย้ายไอเสีย สู่โรงไฟฟ้า .. เรารักษ์โลก จริงหรือ
ไหนๆ ก็พูดเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซลล่าร์เซลล์ แล้ว ประเด็นหนึ่งที่ผมมักเห็นประจำ เวลาพูดถึง รถยนต์ไฟฟ้า มันสะอาด ไม่ปล่อยไอเสีย จนเกิดแฮทช์แท็ก วัยรุ่น EV ว่า #เหม็นควันว่ะ
เป็นความจริงที่ รถยนต์สันดาป หรือแม้แต่ รถไฮบริด ใดๆ ก็ตาม มีการปล่อยไอเสีย ออกมาในระหว่างที่เราขับขี่มันไปบนถนน ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้า กลับไม่ปล่อยอะไรเลยออกมา สะอาดปลอดภัย กลิ่นมาดามหอมชื่นใจ จนน่าสรรเสริญ ว่าเฮ้ย นี่มันมนุษย์รักษ์โลกนี่
ตลอดเวลาที่ผมขับรถยนต์ไฟฟ้า ผมไม่เคย และไม่กล้า จะเคลมตัวเอง ว่าเป็นคนที่มีความรักษ์โลก มากกว่าใคร เพราะ ส่วนตัวได้ตระหนักว่า การผลิตไฟฟ้า จากโรงงานไฟฟ้าในประเทศไทย หลายแห่ง ยังใช้กระบวนการทางความร้อน ในการสร้างพลังานไฟฟ้ามาให้เราใช้
ตัวเราไม่ปล่อยไอเสีย แต่หันไปที่โรงไฟฟ้าปล่อยไอเสียแทนเรา เราจะพูดว่า ตัวเรารักษ์โลก มันก็ดูจะแปลกๆ
เรื่องนี้ ผมมีโอกาส เข้าไปเสาะหา ข้อมูลการผลิต พลังงานไฟฟ้าขอบทาง กฟผ หรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิต พบว่า ปัจจุบัน ประเทศไทย เรายังมีการใช้ โรงงานไฟฟ้า ประเภทสันดาป หรือใช้พลังงานความร้อนอยู่มาก
กฟผ มีการยกเลิกการใช้นำ้มันเตาในกระบวนการผลิตไฟฟ้าไปแล้ว แต่ยังมี พลังงานตัวอื่น ที่ใช้อยู่ ได้แก่
- น้ำมัน ดีเซล ใช้อยู่ 0.76 ล้านลิตร ต่อเดือน
- ถ่านหินลิกไนท์ ใช้อยู่ 968,857 ตัน ต่อเดือน
- ก๊าซธรรมชาติ ใช้อยู่ 27,097.64 ล้าน ลูกบาศฟุต ต่อเดือน
(ข้อมูล ณ เดือน ธันวาคม พ.ศ. 2566 จาก กฟผ.)
ตามข้อมูลนี้ คือของทาง กฟผ. เอง เท่านั้น ไม่รวมการใช้และจัดหา จากโรงงานไฟฟ้าเอกชน ภายใต้สัญญา ซื้อขายไฟฟ้า เข้าไปดู ส่วนใหญ่ก็เป็นโรงไฟฟ้าสันดาปทั้งนัั้น
เมื่อเราเจาะลึกข้อมูล ลงไป เราจะพบว่า ไม่เพียงแค่พลังงานส่วนใหญ่ มาจากกระบวนการเผาไหม้เชื้อเพลิง หรือ ผมขอพูดว่าคือ การสันดาป ให้มันได้พลังงานไฟฟ้าออกมา แต่การผลิตพลังงานไฟฟ้า ด้วยพลังงานหมุนเวียน ปัจจุบัน มีการใช้เขื่อน เพื่อหมุนกังหัน ,แสงอาทิตย์ และ ใช้กังหันลม (ไม่มั่นใจว่า มีพลังงานความร้อนใต้พิภพไหมในไทย) ยังไม่มากนัก แม้บ้านเรา จะมีเขื่อน จำนวนมาก
จากข้อมูล ในเดือน ธันวาคม 2566 ผมพบว่า
กำลังการผลิต ไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียน (เมกะวัตต์) สัดส่วน พลังงานทั้งหมด จากการผลิต ตามสัญญา 3,119.62 (กำลังผลิตรวม 16,237.02) 19.21%
ในส่วนของ กฟผ เอง มีสัดส่วนในการใช้พลังงาน ประเภท หมุนเวียน ตามที่กล่าว ในขั้นตอนการผลิตพลังงานไฟฟ้า สะสมในปี พ.ศ. 2566 เพียง 36,997.89 ล้าน กิโลวัตต์-ชั่วโมง หรือ ตีประเมินว่า เพียง ร้อยละ 17.78 เท่านั้น จากทั้งหมด
ยิ่งเข้าไปดูในส่วนของ ไฟฟ้าจากเอกชน เกือบทั้งหมด ยังเป็นการสันดาป ด้วยความร้อน ใช้ น้ำมันดีเซล และ แก๊สธรรมชาติ ยกเว้นไฟฟ้าที่มาจากประเทศลาว ใช้การกำเนิดไฟฟ้าจากเขื่อนผลิตไฟฟ้า
ดังนั้น การที่รถยนต์ไฟฟ้าไม่ปล่อยไอเสียในขณะขับขี่ นับเป็นเรื่องที่ดี ทำให้คนกรุงหายใจสะอาด ลดฝุ่น PM 2.5 ในเมืองได้ด้วย หากในมุมกลับกัน ถ้ามอง มันก็แทบไม่ต่างจากการเอา มลภาวะไอเสีย ไปเป็นที่หน้าที่ของโรงไฟฟ้า
แม้จะเป็นเรื่องจริง ที่โรงไฟฟ้าสามารถปรับลดการปล่อยไอเสียในภาพรวมอย่างต่อเนื่อง และมีนโยบาย การเพิ่มพลังงานหมุนเวียน เช่น โซลล่าร์เซลล์ และ พลังลมมากขึ้น มากขึ้นจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต
แต่ปัจจุบัน ถ้าเปรียบเราก้ยังปล่อยไอเสียเช่นกันครับ เพียงแค่จะน้อยกว่ารถสันดาปหรือไฮบริด แต่น้อยกว่าเท่าไร ผมไม่มีข้อมูลในเรื่องนี้
บำรุงรักษาง่ายมาก แต่ต้องเข้าใจเรื่องแบตเสื่อม
พูดถึงเรื่องทั่วไปกันมามาก ทีนี้มาถึงเรื่องการบำรุงรักษารถยนต์ไฟฟ้ากันบ้าง
เป็นความจริง ที่รถยนต์ไฟฟ้า แทบจะไม่ต้องบำรุงรักษาอะไรมากมาย ลืมไปเลยกับพวกน้ำมันเครื่อง แถมตอนนี้หลายค่ายมาแนว ฟรีค่าแรงค่าอะไหล่ตามที่สมควร ช่วงแรก เรียกว่าเดินเข้าศูนย์ ฟรีค่าบริการกันสบายๆ
แม้ว่าเราจะบอกว่า มันไม่มีน้ำมันเครื่อง แต่ก็ยังมีการเช็คระยะตามกำหนด โดยมากจะกำหนดให้เข้าเช็ตทุกๆ 10,000 กม. เพื่อดูความเรียบร้อยของตัวรถ ในด้านต่างๆ เช่น จานเบรก, ผ้าเบรก, ยาง และอื่นๆ ตามแต่ที่ผู้ผลิตกำหนด
หลักๆ พวกของเหลว ที่ยังจำเป็นจะต้องเปลี่ยนถ่าย จะเหลือเพียง น้ำมันเกียร์ และ คูลแลนท์ หรือ น้ำหล่อเย็น กำหนดให้ถ่ายตามระยะที่กำหนด
ในกรณี MG4 น้ำมันเกียร์จะต้องเปลี่ยนถ่ายที่ระยะ 80,000 กม. เช่นเดียวกับ น้ำยาระบายความร้อนหรือ คูลแลนท์ หากตีว่า เราขับรถปีละ 20,000 กม. โดยประมาณ ก็ 4 ปี เปลี่ยนทีครับ
อย่างไรก็ดี แม้การบำรุงรักษาจะไม่มาก และค่อนข้างง่ายพอสมควร เมื่อเปรียบเทียบกัน ทว่าเรื่องความเสื่อมแบตเตอรี่ขับเคลื่อน เป็นเรื่องที่ไม่มีใคร ค่อยจะบอกคุณสักเท่าไร
ความเสื่อมแบตเตอรี่ขับเคลื่อน (แบตฯลูกใหญ่) จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดการใช้งาน เนื่องจาก รถยนต์ไฟฟ้า ใช้วิธีการชาร์จประจุ และดึงไฟฟ้าออกจากแบตเตอร์รี่อย่างต่อเนื่อง ในระหว่างเราขับเคลื่อน แม้ว่าจะมีบ้างที่ระบบชาร์จกลับไปแบตเตอร์รี่เอง แต่เป็นปริมาณที่น้อยมาก
สิ่งที่ตามมา คือ ความเสื่อมถอยของแบตเตอร์รี่ ในเรื่องนี้ ทางผู้ผลิต เขาจะมีการวัดค่าเพื่อดูความเสื่อมถอยของแบตเตอร์รี่ เรียกว่า “State of Health” หรือ ที่เขาเรียกว่า SoH ซึ่งจะมีการตรวจสอบความสามารถในการเก็บประจุไฟฟ้าของแบตเตอร์รี่ อาศัยข้อมูล จากระบบจัดการ แบตเตอรี่ในรถ
ตรวจสอบ ทั้ง แรงดันในแบตเตอร์รี่ อุณหภูมิไฟฟ้า การคายประจุ และการชาร์จประจุ และอื่นๆ อีกมากมาย ประกอบเข้าด้วยกัน เพื่อแจ้งว่า สุขภาพแบตเตอร์รี่เป็นอย่างไร
การตรวจสอบ ทำได้ที่ศูนย์บริการ ระหว่างเข้ารับบริการสามารถขอรับการตรวจสอบสุขภาพแบตเตอร์รี่ได้ หรือ บางศูนย์ อย่างที่ผมใช้งานประจำ ก็จะแจ้งให้ทราบทุกครั้งที่มีการรับบริการ
จากการตรวจสอบ รถของเรา พบว่า ในระยะ 10,000 กม.แบตเตอรี่ จะมีความเสื่อม 2% และ ล่าสุดที่ 30,000 กม. แบตเตอร์รี่เสื่อมลงไปราวๆ 4% สภาพแบตเตอร์รี่ 96%
สำหรับใครที่ยังไม่เคยใช้รถยนต์ไฟฟ้า คงสงสัย แบตเตอรี่เสื่อมมีผลอย่างไร ?
ตอบให้ครับ : มันมีผลต่อ ระยะทางที่คุณสามารถใช้ได้ ในแต่ละครั้งที่คุณชาร์จไฟนั่นเองครับ พูดง่ายๆ คือ วิ่งได้น้อยลง กว่าเดิม จากที่เคยทำได้ (ก็เหมือนๆกับแบตฯโทรศัพท์มือถือเสื่อมนั่นแหล่ะครับ)
อย่างรถผม อาการเสื่อมแบตเตอรี่ เริ่มเด่นชัด โดยระยะทางต่อการชาร์จ ลดลงจาก เดิมบนหน้าปัด เคยทำได้ 362 กม. ต่อการชาร์จ ช่วงนี้เราเหลือระยะเพียง 352 กม.ต่อการชาร์จ ตามข้อมูลบนหน้าปัด ส่วนการขับจริง จะทำได้ระยะทางเท่าไร ยังมีอีกหลายปัจจัยเกี่ยวข้องครับ
ระยะทางต่อการชาร์จ เรื่องสำคัญ ที่ไม่สำคัญ
พูดถึงตรงนี้ ผมก็อยากพูดถึงเรื่องระยะทางต่อการชาร์จสักหน่อย ระยะหลังเห็นคนจำนวนมาก อยากซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามองหารถยนต์ ที่มีระยะทางต่อการชาร์จมากๆ เพื่อวางใจในการใช้งาน
ระยะทางต่อการชาร์จ ที่เคลมกันโดยส่วนใหญ่ เป็นระยะทางต่อการชาร์จ ที่มาจากการประเมิน และการทดสอบ มีค่ามาตรฐานที่วางใจได้ อยู่ ไม่กี่ค่านั่นคือ NEDC, EPA และ WLTP
บ้านเรา ระยะทางเคลมส่วนใหญ่ เป็นระยะทางตามการวัดค่า NEDC เป็นค่ามาตรฐานยุคแรก โดยทำการทดสอบในแลป ไม่ได้เอาค่าของการทำ Road Test มาประกอบ ค่ายจีนส่วนใหญ่ ก็อิงค่าตามมาตรฐานนี้ เนื่องจากฟังดูวิ่งได้เยอะไปได้ไกล สบายใจในการใช้งานมากกว่า
สิ่งที่ผมอยากบอกทุกคนคือว่า รถยนต์ไฟฟ้าที่วิ่งได้ไกลมากเท่าไร ก็ยิ่งต้องแบกแบตเตอร์รี่ใหญ่ขึ้นเท่านั้น แบตเตอร์รี่ใหญ่ขึ้น น้ำหนักมากขึ้น ผู้ผลิตก็แก้ไข โดยทำมอเตอร์ให้มันแรงขึ้น เพื่อลดแบกภาระน้ำหนักได้อย่างไร้ปัญหา
จนกลายเป็นวัฏจักร วิ่งไกลแบตใหญ่ รถต้องแรงตามไป ไม่งั้นจะอืดเป็นเรือเกลือ จนลูกค้าอาจกร่นด่าตามหลังให้
ระยะทางต่อการขับขี่ อาจดูเป็นเรื่องสำคัญ แต่ที่จริงในฐานะคนใช้รถไฟฟ้า ก็อยากจะบอกว่า มันอาจไม่สำคัญอย่างที่คิด แบตเตอร์รี่ใหญ่จุไฟเยอะ ขับไกล ชาร์จเดียวถึงเชียงใหม่ แบตเตอร์รี่เทพๆ ราคารถก็แพงตามไปด้วย
แต่รถที่คนส่วนใหญ่ที่เราใช้ หรือแม้แต่ผมใช้เอง ราคาระดับไม่เกินล้านบาท หลัง ส่วนลดของภาครัฐบาล อย่าง MG4 rdแบตเตอร์รี่ขนาด 51 KW ปัจจุบัน ระยะทางต่อการชาร์จจากการใช้งานจริง อยู่ที่ 330-350 กม.ถือว่าเหลือเฟือ
เดินทางไกล ในระยะนี้อาจจะต้องมีแวะพัก จอดกันบ้างอยู่แล้ว ระหว่างนั้นก็สมควรจะทำธุระ บวกแวะชาร์จ ไปด้วย ถ้าตู้ชาร์จว่าง
แต่ความจริง คือ ส่วนใหญ่ ตู้ชาร์จมักไม่ค่อยว่าง และมีคนแวะเวียนเข้ามาชาร์จใช้งานเสมอ โดยเฉพาะตู้ชาร์จสีฟ้า เจ้าของเดียวกับค่ายน้ำมัน ที่มีความครอบคลุมมากที่สุดในเวลานี้
ทำให้ การจะทำธุระไปด้วย ชาร์จไปด้วย ทำไม่ได้ รวมถึงตู้ชาร์จแต่ละที่ส่วนใหญ่ ก็มีหัวชาร์จเพียง 2-3 หัว เท่านั้น ที่เจอมากกว่านั้นน้อยมาก และหลายครั้งด้วยนิสัยไทยๆของเรา ทำให้ คนชอบไปโพส สร้างกระแสดราม่า ด่ากันไปมา มีทุกวัน
เหตุนี้ คนไทยจึงไปโฟกัสที่ระยะทางการขับขี่เพื่อความมั่นใจ ทั้งที่ถ้าจุดชาร์จมากกว่านี้ เยอะกว่านี้ ในแต่ละจุด จะทำให้ คนกังวล เรื่องระยะทางต่อการชาร์จลดลงพอสมควร เพราะ หาชาร์จง่าย อยากชาร์จเมื่อไร แบบรถน้ำมันก็ทำได้
กลายเป็นสิ่งที่ นักลงทุน หรือผู้ให้บริการตู้ชาร์จยังไม่ได้มอง เพราะ ตู้ชาร์จ DC 1 ตู้ มีราคาค่าตัวๆ ระดับ 7 หลัก ยิ่งชาร์จเร็ว ตู้ยิ่งแพง ตามไปด้วย
วิ่งไกลยังไม่เหมาะ …
แม้ว่า การยืนหนึ่งในเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ราคาถูก ทำให้หลายคนหมายมั่นปั่นมือว่า จะใช้รถยนต์ไฟฟ้า นี่แหละดีที่สุด
แต่ความเป็นจริง จากที่ผม ทั้งขับรถรีวิว และใช้งานเอง กล้าพูดว่า รถยนต์ไฟฟ้ายังไม่เหมาะกับเดินทางไกล ถ้าคุณไม่ได้มีเวลาเหลือเฟือในชีวิต
ปกติแล้ว อย่างที่ผมกล่าวไปข้างต้น ระยะทางรถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้ตรงเป๊ะ!! ตามที่เคลม ด้วยระยะเคลม เป็นการใช้ ผลทดสอบตามมาตรฐาน ขึ้นอยู่กับว่าที่เขาบอก มันมาตรฐานไหน อย่างไร ?
จากประสบการณ์ผม ที่มีโอกาส ขับรถยนต์ไฟฟ้าหลายรุ่น ประเด็นระยะทาง รถยนต์ไฟฟ้ากับการใช้งานเดินทาง มีปัจจัยมากมายเกี่ยวเนื่องกับการใช้งาน
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพฤติกรรมการขับขี่ ยิ่งใช้ความเร็วต่อเนื่อง ขยี้คันเร่งบ่อยๆ อัตราการบริโภคไฟฟ้า ก็ยิ่งทวีขึ้น ยิ่งเร็วยิ่งกิน สภาพเส้นทาง โดยเฉพาะเส้นทาง ในต่างจังหวัดหลายจุด มีความเป็นเนิน เนินซึมทั้งหลาย จะแอบทำให้รถเรากินไฟฟ้ามากขึ้น น้ำหนักบรรทุก เป็นปัจจัยที่สำคัญในการกินพลังไฟฟ้า เช่น คุณโดยสารเต็ม แบกของเต็มรถ ก็ย่อมกินกำลังไฟฟ้า มากขึ้นตาม
นอกจากทั้ง 3 ข้อที่ กล่าวมาแล้ว อาจจะมีปัจจัยอื่น เข้ามาเกี่ยวเนื่อง เช่น สภาพถนน ทิศทางลม เรียกว่าทุกอย่าง มีผลต่อการกินไฟฟ้าของมอเตอร์ไฟฟ้าทั้งหมด แม้กระทั่งความแรง ตลอดจนอุณหภูมิ ของการเปิดแอร์ในห้องโดยสาร ก็ยังมีผล
นั่นไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าคุณจะพบว่า ในความเป็นจริง ระยะทางขับได้จะไม่ได้ตามที่เคลม แล้วอาจจะได้น้อยกว่า ที่เคลมอยู่พอสมควร
ตัวอย่างหนึ่ง ที่ผม อยากยกให้ฟัง เมื่อช่วงต้นปีที่แล้ว มีโอกาส ขับ BYD Atto 3 ไปบุรีรัมย์ ด้วยความนึกอยากลอง จึงตัดสินใจว่า จะลองขับรถกลับบ้าน โดยไม่แวะชาร์จที่ไหน ใช้ความเร็ว 100-120 กม./ชม. ถ้าเอาตามหน้าปัด มันก็น่าจะถึง อาจจะถึงแบบเหือดติดแดง ไม่เป็นไร เพราะที่บ้านมีตู้ชาร์จ ถึงบ้านค่อยเติมไฟฟ้ายังได้
ระยะทางบนหน้าปัด 480 กม. ต่อการชาร์จ ขับมาเรื่อยๆ ด้วยโหมด Eco โดยใช้เส้นทางปกติ เพียง 207 กม. แบตเตอร์รี่หล่นไปเหลือเพียง 37% เท่านั้น กลับไม่ถึงที่หมายแน่นอน ยังไงก็ต้องชาร์จ
และเมื่อ คุณต้องแวะชาร์จ สิ่งที่ตามมา คือ การเสียเวลาในการเดินทาง
เมื่อไม่นานมานี้ มีคนโพสใน กลุ่ม MG4 ว่าเขาได้เดินทาง จาก กรุงเทพ – แม่ฮ่องสอน ไปกลับ โดย มีค่าใช้จ่าย 2,626.26 บาท โดยขับไป ระยะทางรวม 2,300 กม. มีผู้โดยสาร สี่คน รวมสัมภาระต้องแวะชาร์จ ทั้งสิ้น 12 ครั้ง จนกลับถึงกรุงเทพ
ผมเอง เคยเดินทางด้วยรถยนต์ไฮบริดขนาดกลางอย่าง Honda Accord e:HEV ใน เส้นทางเดียวกัน โดยเติมน้ำมัน เพียง 2 ครั้ง เพื่อกลับสู่พระนครโดยสวัสดิภาพ
ครั้งแรก จาก กทม. ขึ้นไปเติมที่ปาย ครั้งที่สอง คือก่อนกลับ กทม. ค่าใช้จ่าย ถังแรก 1,440 บาท ครั้งที่ 2 คือ 1,038 บาท รวมแล้ว ดันถูกกว่าการเติมไฟฟ้า
และที่สำคัญไม่เสียเวลาชาร์จไฟ อยากไปไหนไป อยากทำอะไรทำ ขอแค่ มีปั๊มน้ำมัน ก็ใช้เวลาไม่นาน ในการเติมน้ำมันเสร็จสรรพ เดินทางต่อไม่ต้องวางแผน ไม่ต้องคิดเยอะ เที่ยวได้สนุกมากขึ้น
หากเราคิดว่า การใช้รถยนต์ไฟฟ้าเดินทาง ต้องเสียเวลาชาร์จ ครั้งละสุทธิ 1 ชั่วโมง (อาจน้อยกว่านี้ ขึ้นอยู่กับขนาดแบตเตอรี่ และความสามารถในการรองรับการชาร์จ) อย่างกรณี เดินทางเส้นทาง ที่ยกตัวอย่าง แวะ 12 ครั้ง หรือตก ขาละ 4 ครั้ง จากที่มีข้อมูล 3 ครั้ง ระหว่าง อยู่บนแม่ฮ่องสอน
ถ้ารวมทั้งหมด 12 ครั้ง เท่ากับเสียเวลา 12 ชั่วโมง เลยทีเดียว
คุยเรื่องจุดชาร์จ …ยังปัญหาหลัก จริงไหม
แน่นอน ผมพูดแบบนี้ เชื่อว่าทุกคน จะต้องสงสัยว่า แล้วจุดชาร์จ ยังเป็นปัญหาสำคัญ ของรถยนต์ไฟฟ้า หรือเปล่า ?
ต้องบอกก่อนว่า สิ่งที่ผม กำลังจะพูดต่อจากนี้ อาจจะแย้งความจริง บางส่วนจากโซเชี่ยล ที่มักพูดให้รถยนต์ไฟฟ้าดูเลิศหรูเสมอ สำหรับผมจากการใช้งานจริง ชาร์จจริง ไม่เคยมีเวลาที่แน่นอน
ใช่ครับ เรื่องที่ชาร์จ ยังเป็นปัญหาอันดับหนึ่งที่ไม่สามารถแก้ไขได้
จริงอยู่ว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการก้าวข้ามผ่านของ ปตท. จุดชาร์จ รถยนต์ไฟฟ้า มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ จนสะดวกกว่า เมื่อครั้งย้อนไปราวๆ 2018 ในเวลานั้น จุดชาร์จมีหยิบมือเดียวเท่านั้น
จำนวนที่มากขึ้น ฟังแล้วใจชื้นขึ้นมา หากสิ่งที่ตามมาในช่วง 2-3 ปี หลัง คือ จำนวนรถยนต์ไฟฟ้าก็มากขึ้นตามไปด้วย เป็นเงาตามตัว
จุดชาร์จใช้เวลาในการติดตั้งพอตัว กลับกันรถยนต์ไฟฟ้าขายได้ทุกวัน และออกมาวิ่งบนถนนใหม่ๆ ป้ายแดง วันละหลายสิบ หรืออาจจะหลายร้อยคัน
ถ้าพูดตรงๆ คือ จุดชาร์จ ขยายไม่ทัน จำนวนรถที่เติบโตมากขึ้น อย่างก้าวกระโดด โดยในปี 2023 มีรายงานว่า ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้ามีสัดส่วนเพียง 10% ของยอดขายรวม โดย 775,780 คัน (ที่มา โตโยต้า) หรือ ประมาณว่า มียอดขาย ราวๆ 70,000 คัน เมื่อบวกกับ จำนวนรถเดิม
แม้ที่ชาร์จจะเพิ่มขึ้นจากเดิมมาก แต่จำนวนรถที่ทวีคุณ ในแต่ละปี ก็ต้องยอมรับว่า มันไม่เพียงพอต่อการให้บริการ
ตลอดจน ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้ารายใหม่ๆ ยังต้องใช้ที่ชาร์จเหล่านี้ ในระหว่างรอการติดตั้งตู้ชาร์จบ้าน ซึ่งมีระยะเวลาในการดำเนินการ ก็เป็นประเด็น ที่ทำให้ตู้ชาร์จคราคร่ำด้วยผู้คน อาจมีว่างบ้างในบางช่วงเวลา แต่ถ้าตามแหล่งชุมชนใกล้หมู่ บ้าน หัวบันไดไม่แห้ง มีขับเข้าขับออกตลอดเวลา
อย่างไรก็ดี ปัญหาตู้ชาร์จ จะเห็นชัดขึ้นในช่วงเวลาหน้าเทศกาล เมื่อกลางปีที่แล้ว ผมเคยเอา รถยนต์ไฟฟ้าเดินทางไปหัวหิน ในวันหยุดยาว แล้วพบว่า ในวันเดินทางกลับ ซึ่งต้องชาร์จรถ เพื่อให้มีระยะทางพอเพียง ต่อการเดินทางกลับบ้าน
มาพบว่า ตู้ชาร์จไม่ว่าง ทุกตู้ในเขตหัวหิน อย่างน้อย ต้องมีต่อคิว 2-3 คัน ก่อนจะถึงคิวชาร์จ ท้ายสุด ตัดสินใจ รอที่ตู้ PEA Volta โดยเป็นคิวคันที่ 3 ที่รอชาร์จ ออกจากโรงแรมมา 11 โมง ได้ชาร์จ ตอน เที่ยงเศษๆ ออกเดินทางจาก หัวหิน ตอนประมาณ 13.30 น.
ถ้านับเวลา ทั้งรอคิว และ ชาร์จ เสียเวลาไป 2.30 ชั่วโมง หรือ ถ้าคิดว่าการเดินทางไปหัวหินแบบ ต้ะต่อนยอน จะมีใช้เวลาราวๆ 4 ชั่วโมง หมายความว่า เราเสียเวลาไปครึ่งหนึ่งแล้วในการรอ และ ชาร์จ เพื่อกลับบ้าน
เท่ากับว่าขณะที่เรายังอยู่หัวหิน เพื่อนเราซึ่งใช้รถยนต์สันดาป หรือไฮบริด อาจอยู่ที่ แม่กลอง จ.สมุทรสาคร แล้วก็ได้
ค่าใช้จ่ายแฝง ที่หลายคน มองข้าม
แม้ว่ารถยนต์ไฟฟ้า จะประหยัดในแง่การใช้พลังงานที่ราคาถูกมาก เทียบเท่ากับ ยุค 80-90 วันวานที่น้ำมันลิตร ไม่ถึง 10 บาท นั่นเท่ากับราคาไฟฟ้าในวันนี้ ที่ผมเขียนบทความ
แต่สิ่งที่ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ไม่ค่อยพูดถึงอย่างชัดเจน คือ ค่าใช้จ่ายแฝง ที่มากับรถยนต์ไฟฟ้า บางทีเราเองก็จ่ายมันไปไม่รู้ตัว หรือ ไม่คิดว่า มันเป็นค่าใช้จ่ายแฝง
ในกรณีที่ผมเจอบ่อยที่สุด คือค่าใช้จ่าย ระหว่างการรอชาร์จไฟ ระหว่างเดินทาง (ตู้ DC) เมื่อรถคุณเสียบปลั๊กได้ไฟฟ้า ระหว่างการรอ เราอาจไปทำอย่างอื่น เช่น ซื้อกาแฟ , ทานข้าว
ถึงเราหลายคนจะพูดว่า ยังไงเราต้องกิน ต้องซื้ออยู่แล้ว แต่พอเป็นรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจาก มีระยะเวลารอคอย เราจะเลือก เมนูที่หนักขึ้น เพื่อฆ่าเวลาระหว่างรอชาร์จ อย่างน้อย ต้องมีครั้งละ 30 นาที หรือ มากกว่านั้น
เช่นจากที่ คุณจะซื้อแค่ ไอติมโคน ก็อาจกลายเป็น เซทบิ๊กแม็ค ชุดใหญ่ไฟกระพริบแทน ยิ่งใครเดินทางเป็นครอบครัว ค่าใช้จ่าย ไม่ได้มีเพียงคุณ ยังมีของคนในครอบครัวที่เพิ่มขึ้นด้วย
อย่างกรณีผม คือ ผมกับภรรยา (ตอนนี้ลูกยังเล็ก) จนหลายครั้ง ผมพบว่า ค่าไฟฟ้าชาร์จรถ ไม่เท่าไร แต่ค่าอาหาร ของกินหรือ ค่ารอคอย กลายเป็นค่าใช้จ่ายมหาศาลมากกว่า
แม้ว่า เราจะสามารรถเลือกที่จะคอยในรถก็ได้ เล่นโซเชี่ยล ฆ่าเวลา ไปพลาง หรือ ทำอย่างอื่นที่ไม่เสียเงิน กับบริการข้างเคียง แค่ในความจริง คุณเดินทางมานาน ก็คงอยากพักผ่อนคลาย บ้างแหล่ะครับ
นอกจาก ค่ารอคอย ที่ผมกล่าวมา รถบางยี่ห้อ ค่าประกันภัย ก็ไม่ธรรมดา โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าจากอเมริกาชื่อดัง ที่หลายคนใฝ่ฝัน
ถึงตัวรถราคาจะไม่แพง หนักหนาเท่าไร พออาจเอื้อมถึงอยู่ แต่เท่าที่ผมสนใจเก็บข้อมูล ต้องตกใจว่า ค่าประกันภัยไม่ธรรมดา มีตั้งแต่ เกือบ 6 หมื่นบาท ไปจนถูกสุด ราวๆ 40,000 บาท ต่อปี และเรากำลังพูดถึง รถที่มีราคาเพียง 2 ล้านกว่าบาทเท่านั้น
เรื่องนี้สำหรับ รถจีน ที่เป็นผู้เล่น รถยนต์ไฟฟ้าหลักๆที่หลายคนใช้ อาจรู้สึกสบายใจกว่า ว่าถูกกว่า อย่าง MG4 ที่ผมใช้ ค่าประกันภัย ปีที่ 2 อยู่ที่ 23,000 บาทเท่านั้น
แต่ถ้าเทียบกับ รถยนต์ Honda Civic e:HEV รถที่อยู่ในระดับราคาเดียวกัน เราจะพบ ว่าค่าประกันภัย ไม่ได้หนีกันมาก แต่ก็ต้องยอมรับว่า ค่าประกัน รถยนต์ไฟฟ้า แอบแพงกว่าเล็กน้อย ด้วยเหตุผลบางประการ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับบริษัทประกันภัย
และท้ายสุด ค่าใช้จ่ายแฝง ล่าสุดที่ผมเจอ คือ ยางรถ ที่ค่อนข้างสึกเร็วกว่าปกติ
อย่างรถผม ใช้มาตอนนี้ระยะ 33,000 กม. แต่สภาพยาง จะโล้นถึงสะพานยางแล้ว หมายความไม่ช้าก็เร็ว เราจะต้องเปลี่ยนยางที่ใช้แน่นอน
ยางรถยนต์ไฟฟ้าส่วนที่ขายในปัจจุบัน จะใช้ยางเหมือนรถยนต์สันดาป ทั่วไปราคาจึงเท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่า คุณจะไปใช้ยี่ห้อไหน ก็เท่านั้น
แต่ระยะ 30,000 กว่า กิโลเมตร เวลา 1 ปี คุณต้องเปลี่ยนยางเสีย แล้วถือว่า มีการสึกหรอค่อนข้างเร็วกว่าปกติ มากพอสมควร เมื่อเทียบกับรถสันดาป หรือไฮบริด ที่สามารถใช้ยางได้นาน ถึง 50,000 กม. หรือมากกว่านั้น ถ้าตีเป็นเวลา ก็น่าจะใช้ได้ 2-3 ปี คุณถึงจะต้องเปลี่ยนยาง
ถ้านับว่ารถยนต์ไฟฟ้าต้องเปลี่ยน ยางปีละครั้ง ซึ่งผมได้สอบถามกับร้านยางหลายเจ้า ด้วยความใกล้จะต้องเปลี่ยนยาง เกือบทุกร้าน ที่มีชื่อเสียง หรือ มีรถยนต์ไฟฟ้าเข้าใช้บริการบ่อยๆ บอกผมตรงกันว่า น้อง รถยนต์ไฟฟ้า ยังไงก็ยางปีละชุดแน่นอน
ความเสี่ยง ที่มากับความประหยัด
ไหนๆผมก็พูดถึงด้านมืด ของรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว ต้องพูดว่า รถยนต์ไฟฟ้า มาพร้อมกับความเสี่ยงบางอย่าง ที่คุณต้องเข้าใจ และ ทำใจไว้ก่อนล่วงหน้าครับ
1.แบตเตอรี่
แบตเตอรี่ขับเคลื่อน หรือ Traction Battery เป็นความเสี่ยงใหญ่สุดของรถยนต์ไฟฟ้า ไม่ใช่เพียงในแง่ของการเสื่อมสภาพจากการใช้งานทั่วไปเท่านั้น
แต่ความเสี่ยงใหญ่ อยู่ที่ความเสียหายตัวแบตเตอรี่ เมื่อเกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝัน เป็นที่ทราบกันดีว่า แบตเตอรี่ คือชื้นส่วนที่มีราคาค่าตัวมากที่สุดในรถยนต์ไฟฟ้า บางยี่ห้อ ราคาแบตเตอรี่สูงเป็น 2 ใน 3 ของค่าตัว ด้วยซ้ำ
อย่างรถผม MG4 เคยมีข้อมูล หลุดออกมา ว่า แบตเตอรี่ ลูกที่ใช้อยู่ มีราคาค่าตัว 520,000 บาท ถ้าต้องเบิกใหม่จากศูนย์ฯ แม้ในความจริง คนที่รับความเสี่ยงในเรื่องนี้ คือ บริษัทประกันภัยรถยนต์
แต่ในฐานะ ผู้รับความเสี่ยงผมได้เห็นหลายเคส ที่พบว่า แม้ว่าจะชนไม่แรงหนักมาก แต่ประกันตีว่า มูลค่าค่าซ่อมไม่คุ้มทุนประกัน และสมควร จะต้องตีให้เป็นซาก
ในมุมหนึ่ง มันก็เป็นเรื่องดี ที่เราดูเหมือนจะได้รถใหม่ทันที ถ้ารถไฟฟ้าเกิดอุบัติเหตุ ไม่คาดฝัน ในทางเดียวกัน ก็หมายความว่า เราต้องรับความเสี่ยง จากเรื่องนี้ไปด้วย ในแง่ค่าชำระค่างวด กรณีคืนทุนแล้วครอบคลุมกับค่างวดที่เหลืออยู่ ก็สบายไป หรือ พูดให้เข้าใจง่าย มีโอกาส สูงที่คุณ จะต้องผ่อนกุญแจเปล่าๆ
ไม่เพียงเท่านี้ ระเบียบใหม่ของทาง คปภ. ยังระบุให้แบตเตอร์รี่มีค่าเสื่อมสภาพตามการใช้งาน ปีละ 10% และสูงสุด 50% หมายความว่า กรณีที่เราเกิดอุบัติเหตุแล้วแบตเตอร์รี่เสียหายจากเหตุ ทางประกันจะรับความเสี่ยงเพียงตามมูลค่าที่เหลืออยู่
ยกตัวอย่าง รถขับใช้งานเข้าสู่ปีที่ 2 ปรากฏว่า รถชน จนมีการตีว่าแบตเตอร์รี่เสียหาย สมมุติ เป็นรถผมเอง ที่บอกว่า แบตเตอร์รี่มีมูลค่า 520,000 บาท
เมื่อรถเข้าสู่ปีที่ 2 ค่าแบตเตอร์รี่เต็มประกัน จะชดใช้ให้เพียง 90% เท่านั้น หรือ ชดใช้ ให้เพียง 468,000 บาทเท่านั้น ในกรณีต้องเปลี่ยนแบตเตอร์รี่
ส่วนที่เหลือ ก็น่าจะเป็นเราๆ นี่แหละครับ ที่ต้องจ่าย ถ้าสมมุติ ไม่เข้าเงื่อนไข เกินทุนประกัน
2. โอกาส การซ่อมบำรุงในอนาคต
แม้ว่า รถยนต์ไฟฟ้า อาจพูดว่า ไม่ต้องดูแลในระหว่างการใช้งาน ขับอย่างเดียว และมีการดูแลตัวระบบน้อยมาก
แต่ในวันหน้า 3-5 ปี ต่อจากนี้ เมื่อมีโอกาส ที่รถจะเสื่อมถอยจากการใช้งาน แล้วเราต้องซ่อมบำรุงในอนาคต ถ้าไม่เข้าศูนย์บริการ ก็แทบจะเรียกว่า เป็นไปไม่ได้เลย ที่จะซ่อมข้างนอก(ปัจจุบันยังไม่มีอู่นอก เท่าที่รู้)
ไม่เพียงเท่านี้ ชิ้นส่วนสำคัญของรถ อย่างแบตเตอร์รี่ และมอเตอร์ไฟฟ้า ค่อนข้างจะมีราคาสูงอยู่พอสมควร ดังนั้น ถ้าเราจะต้องซ่อมบำรุงในอนาคต อาจเป็นไปได้ ที่จะไม่สามารถซ่อมได้ จนสมบูรณ์ หรือ อาจซ่อมไม่ได้เลย ถ้าไม่เข้ารับบริการที่ศูนย์บริการ และ ที่ตามมา คือค่าใช้จ่ายมหาศาล ที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
นอนในรถได้ฟังดูดี แต่นอนบนเตียงย่อมดีกว่า
มาถึงตรงนี้ คุณอาจเคยได้ยินว่า รถยนต์ไฟฟ้าสามารถนอนในรถได้ มันช่างดีจริงๆ เราจะได้พักผ่อนใมนรถอย่างสบาย ไร้กังวลใจ โดยเฉพาะใครที่เป็นสายเดินทาง
ข้อเท็จจริงว่าคุณสามารถ นั่งอยู่ในรถยนต์ไฟฟ้าได้ทั้งวัน โดยไม่มีอะไรเป็นมลภาวะ นอกจากน้ำหยดลงพื้น จากการทำงานของระบบปรับอากาศ และ เสียพัดลม ที่ติดๆ ดับจากการระบายความร้อนแบตเตอร์รี่เท่านั้น นับว่า เป็นความจริง ที่ไม่สามารถปฏิเสธได้
ใช่ครับ , ตั้งแต่ ผมลองรถยนต์ไฟฟ้าครั้งแรก ก็เคยทดลองนั่งนานในรถ และใช้งานมั่นในรูปแบบบ้านเคลือนที่ เคยลองนอนในรถมาแล้ว มันดีในเชิงการทำคอนเทนต์ ให้คนรู้สึกว้าว เอ้ย!! ดีจริงๆ แถมไม่เสียพลังงานมากด้วย
แต่ความจริงก็คืด การนอนในรถ ก็คือการนอนในรถ ไม่มีทางที่คุณจะหลับได้รู้สึกนอนเต็มอิ่ม เท่ากับนอนบนเตียงตามดรงแรม หรือที่บ้านของคุณเอง
แม้ว่าจะมีสารพัดอุปกรณ์พยายามออกมาตอบโจทย์ เพื่อทำให้การนอนในรถดีขึ้นบ้าง แต่ท้ายสุดแล้ว การนอนในรถ ก็ไม่สู้การนอนที่ถูกต้องจริงๆ
ในรถบางแบรนด์ ที่มีความกังวลทางด้านความปลอดภัยสูง รถจะออกแบบให้ ระบบดับการทำงานเอง แม้ว่าผู้ขับขี่จะอยู่ในรถ (ในกรณีไม่เข้าเกียร์D) หนึ่งในนั้น คือ Volvo ไฟฟ้า ทั้ง XC/C40 อันเนื่องมาจากเหตุผล ทางด้านความปลอดภัยว่า อากาศในรถไม่หมุนวน รวมถึง มีการยืนยันว่าหลายแบรนด์ เริ่มทำตาม เนื่องจากไม่อยากให้คนนอนในรถ หรือคิดว่า รถยนต์ไฟฟ้าเป็นบ้านเคลื่อนที่
แต่ใช่ครับ มันเป็นเรื่องจริงที่ รถยนต์ไฟฟ้าสามารถสตาร์ทเครื่องแล้วนอนในรถได้เลย โดยคุณเองไม่ต้องกังวล ว่าจะติดเครื่องรบกวนผู้อื่นหรือไม่
เพียงแต่มันออกแบบ มาเหมาะสำหรับใช้ในยามงีบหลับ เวลาเดินทางชั่วคราวเท่านั้น ไม่ใช่คุณมานอนหลับเป็นกิจวัตรประจำ
เพราะการนอนที่ดีที่สุด คือ การนอนบนเตียงอย่างถูกต้อง นั่นเอง
พูดจากใจ ยังไม่เหมาะกับทุกคน
มาถึงตรงนี้ จากประสบการณ์ใช้งานจริงของ ผม กล้าพูดครับว่า รถยนต์ไฟฟ้า ยังไม่เหมาะกับทุกคน และ ผมในฐานะที่ทำอาชีพสื่อ มีจรรยาบรรณ หลักการทำงานชัดเจน
สิ่งหนึ่งที่ผมยึดถือมาตลอด คือ การบอกความจริง ให้ทุกคนได้ทราบ ในแง่การรีวิวรถ คือการมีข้อดี และข้อเสีย อย่างไร ในการลอง และใช้งาน
สำหรับผม รถยนต์ไฟฟ้า ยังไม่ได้เหมาะกับทุกคน ใครที่กำลังถูก กระแสสังคมผลักดัน ให้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า จากการเสพคอนเทนต์ หรือ ตัวเองป้ายยา ตัวเอง ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แล้วท่องไว้ว่า คันต่อไป ต้องซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เท่านั้น
ลองเปิดมุมมอง เปิดใจ ดูก่อนว่า เราเหมาะแก่การใช้รถยนต์ไฟฟ้าจริงไหม
บางคน ที่เคยเห็นผมคอมเม้นท์ ตามกลุ่มชอบคิดว่าแปลก นี่ไม่น่าใช่ความคิดของคนที่มีรถยนต์ไฟฟ้า
แต่พออ่านจากบทความชิ้นนี้ ผมมั่นใจว่า ทุกคนจะเข้าใจมากขึ้น ความจริง มันมีหลายด้าน
ตลอดหลายปี ผมเห็นผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าทุกท่านพยายามส่งเสริมในการใช้รถยนต์ไฟฟ้า โดยสะท้อน แต่ข้อดีออกมา จนคนเริ่มสนใจ ทั้งที่โพรงกระต่ายมันลึกกว่านั้นมาก
จริงที่รถยนต์ไฟฟ้า พร้อมจะมอบความประหยัด ให้กับคุณได้ ลดค่าเดินทางได้ อย่างเห็นผล
ในกรณีผม อย่างที่กล่าวไป จากเดือนละ 8000 บาท เหลือ ค่าชาร์จไฟฟ้าเดือนละ 1300-1500 บาท ประหยัดไปได้มากโข ราวๆ 4-5 เท่า จากเดิม จนบาง คนพูดเอามันส์ ว่า เอาค่าน้ำมันมาผ่อนค่ารถ ทั้งที่ก่อนออกรถ ก็ต้องมีเงินก้อนไปวางดาวน์ก่อน และรถยนต์ไฟฟ้าคันละ 1 ล้านบาท ปัจจุบัน ผมผ่อนอยู่เดือนละ 14,000 กว่าบาท
ความประหยัดจากค่าน้ำมัน 6,000 บาท โดยเฉลี่ย ยังไม่ครอบคลุม กับ ค่าผ่อนเลย
ยิ่งเมื่อมามอง ค่าใช้จ่ายเสริมบางอย่าง เช่น ค่าติดที่ชาร์จบ้าน ไปจนถึง ค่าของกิน เมื่อเวลาคุณจอดชาร์จนานๆ ครั้น จะนั่งเล่นเกมในรถ ก็ทำได้ แต่ก็คงไม่ใช่ทุกครั้งจริงไหม ก็ต้องมีบางครั้ง หรือ อาจจะหลายครั้งที่เสียบปลั้กชาร์จแล้ว เข้าไปซื้อกาแฟ สักแก้ว หรือจะเบอร์เกอร์สักชุด ระหว่างรอ
แม้จะมีคนบอกว่า จ่ายเงิน ก็ได้ของตอบแทน ได้อะไรอิ่มท้องหรือ แก้ง่วง แต่ความจริง มันเป็นค่าใช้จ่าย ที่เราไม่จำเป็นต้องจ่ายก็ได้ ถ้าไม่ได้รอนานๆ
ยิ่งในความจริงอีกอย่างเวลาเดินทางไกล คุณจะต้องเสียเวลา ไปกับการแวะจุดชาร์จ ทุก 300 ก.ม. โดยประมาณ และ แต่ละครั้งที่จอดก้จะใช้เวลาชาร์จราวๆ 30-40 นาที บางคันอาจจะครั้งละชั่วโมง
ฟังดูแล้ว เหมือนไม่เสียอะไร เพราะทุกครั้งที่จอด คือ การพักรถพักคน ไม่ว่าใครก็น่าจะทำกันอยู่แล้ว หากมองในทางกลับกัน
เวลา คือทรัพยากร ที่มีอยุ่อย่างจำกัด ในตลอดการใช้ชีวิตคุณในแต่ละวัน การเสียเวลาใดๆ โดยไม่จำเป็น เช่นการรอคิวชาร์จ หรือแม้แต่รอการชาร์จ เพื่อให้รถพร้อมเดินทางต่อ เพียงเพื่อแลกกับความประหยัดมากขึ้น อาจเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแลกกันได้
ยกตัวอย่างเช่น คุณ เดินทางกรุงเทพเชียงใหม่ 8-9 ชั่วโมง ในรถสันดาป หรือ ไฮบริดปกติ อาจเพิ่มเป็น 10-11 ชั่วโมง ในรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากต้องรอชาร์จ และ อาจนานกว่านั้น ถ้าคุณ เจอเคสต้องรอคิว ณ จุดชาร์จ
บางคอนเทนต์ บอกชาร์จเดียวถึงเชียงใหม่ หรือ บ้างก็แวะชาร์จเดียวถึงเชียงใหม่ ก็ต้องมามองครับว่า ราคารถคันนั้นมันเท่าไร เรากำลังซื้อคันนั้น หรือเปล่า บางคัน 8 ล้าน บางคัน 2 ล้าน มันก็ไม่น่าแปลกใจ ที่มันจะทำได้ แล้วเรากำลังซื้อรถคันนั้นหรือเปล่า
บทสรุป สำหรับผม รถยนต์ไฟฟ้า จึงไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน อย่างแท้จริง โดยเฉพาะ คนที่ไม่มีที่ชาร์จเป็นของตัวเองที่บ้าน บางทีหารค่าใช้งานออกมา ไม่ได้ต่างจาก รถยนต์ไฮบริด ซึ่งปัจจุบันบางยี่ห้อมีอัตราประหยัดที่สามารถ หารค่าใช้จ่ายออกมาแล้วอยู่ที่ราวๆ กิโลเมตรละ บาทเศษ ไม่เกิน 2 บาท (ถ้ารถยนต์ไฟฟ้าชาร์จตู้ DC ก็จะค่าใช้จ่ายไม่ต่างกันมาก จากเรทปัจจุบัน)
โดยไม่ต้องวุ่นวายวิ่งหาที่ชาร์จ จุดชาร์จ ไม่ต้องกังวล กับสถานการณ์ตู้เสีย ตู้พัง แอบเอ๋อ หรือ จะเจอดราม่าบ้าบอจากผู้ใช้รถรายอื่น
เอาแค่ ล่าสุด จอดช่องชาร์จผิด ก็โดนถ่ายโพสลงกลุ่มแล้ว กลายเป็นผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นกลุ่มพร้อมบวกตลอด บางท่าน มีโพสเชิงข่มขู่ มีอาวุธปืนในรถ พร้อมบวก
มันจะดีหรือ ที่เราต้องไปผจญภัยอะไรแบบนี้ หรือต้องอดตาหลับขับตานอน เพียงเพื่อแลกกับรถที่มีความประหยัดมากขึ้น รถประหยัดพลังงานขึ้น แต่พลังชีวิตหมด ก็คงไม่ไหว
ที่สำคัญ ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ มักไม่บอกครับว่า ในบ้านมีรถมากกว่า 1 คัน เพราะ มันมีเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้ เช่น เมื่อคืนลืมชาร์จรถ วันนี้ ต้องใช้รถไปทำงาน ก็ไม่ลำบากนัก
ถ้าคุณมีรถคันเดียว อาจจะต้องไปแวะชาร์จ เสียเวลาก็พอเข้าใจ ถ้าเจอบางแบรนด์ ขับไปลุ้นไป ต่ำกว่า 20% มีโอกาสแบตวาร์ปได้ วันดีๆยามเช้า อาจกลายเป็นหายนะได้
หรือบางคน ใช้งานแล้วพบปัญหาในการใช้งานมีเสียมีเคลม ต้องใช้เวลายาวนาน ก็พอจะมีรถ ที่ช่วยให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้
ในเวลานี้รถยนต์ไฟฟ้าจึงยังไม่เหมาะเป็นรถคันแรก หรือคันเดียวในบ้าน อย่างแน่นอน
แล้วมันเหมาะกับใคร
มันเหมาะกับคนที่มีคุณลักษณะดังนี้ ลองสำรวจดูว่า คุณใช่ไหม
- ที่บ้านมีรถแล้ว และต้องการซื้อรถเพิ่ม
- มีการใช้งานในแบบประจำวัน ขับรถตามเส้นทางเดิมๆ จากบ้านที่ทำงาน บ่อยๆ เป็นต้น
- เดินทางไกลบ้างแต่ไม่บ่อย มากนานๆ ครั้ง
- ใช้งานในภาวะพืน้ที่ จราจรหนาแน่น คับคั่งบ่อย
- มีที่พักอาศัยที่สามารถติดตั้งที่ชาร์จของตัวเองได้จะดีที่สุด
- ต้องพร้อมรับความเสี่ยงในอนาคต เรื่องต่างๆ
- มีความอดทน ต่อการใช้งาน ทั้งการชาร์จ และ ดราม่า ต่างๆ
- ชีวิตไม่เร่งรีบ มีเวลาในการแวะชาร์จ หรือเดินทาง
- ไม่ใช่คนขับรถใช้ความเร็วมาก ด้วยประสิทธิภาพมอเตอร์และแบตเตอร์รี่อาจเสื่อมได้ง่าย
จากคุณสมบัติ จะเห็นว่า รถยนต์ไฟฟ้า ไม่ได้เหมาะกับทุกคน อย่างที่เราคิด ไม่เหมือนกับสันดาป และไฮบริด ที่ดูจะสะดวกมากกว่า ไม่มีเรื่องราวน่ากลุ้มใจ แถมประหยัดค่าเดินทางพอๆกัน
ผมเองไม่ห้าม ว่า คุณไม่ควรซื้อรถยนต์ไฟฟ้า
สิ่งที่อยากบอก คือ ความต้องการของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เพียงอยากขอให้คิดให้ดี ก่อนจะตัดสินใจ อยากให้สำรวจให้ชัดเจนว่า ชีวิตนี้เราเหมาะกับการใช้รถยนต์ไฟฟ้า จริงๆ หรือไม่ เราแค่อยากได้ ตามกระแสนิยมหรือเปล่า
ถ้าเราต้องการจริงๆ เพื่อความประหยัดค่าใช้จ่าย ก็ลอง อ่านสิ่งที่ผมประสบมาตลอดปีที่ผ่านมาซ้ำอีกที เพื่อทบทวนการตัดสินใจ
ถ้าคุณไม่สามารถชาร์จบ้านได้ อาจพักอาศัยอยู่หอ หรือ คอนโด ที่ยังไม่มีที่ชาร์จในคอนโด คุณยังใช้ชีวิตไปไหนมาไหนเรื่อยเปื่อย เดินทางต่างจังหวัดบ่อย เน้นทำเวลา
บางที รถคันต่อไปที่คุณต้องการ คือ รถไฮบริด ไม่ใช่รถยนต์ไฟฟ้า แม้จะเติมน้ำมัน แต่อัตราประหยัดที่ดีกว่า เครื่องสันดาปล้วน ก็ลดภาระค่าเดินทางได้อย่างเห็นผลเช่นกัน
การใช้รถยนต์ไฟฟ้า ก็เหมือน สิ่งที่ผมเกริ่นในหัวเรื่องครับ มีดีก็มาก ที่ต้องพิจารณาก็เยอะ
สุดท้าย ไม่มีใครชี้บอกคุณได้หรอกว่า ควรซื้อรถยนต์ไฟฟ้า หรือไม่ นอกจากตัวเอง ครับ ก็หวังว่าจะได้คิดตัดสินใจดีแล้ว ก่อนจะก้าวมายังสังคมรถยนต์ไฟฟ้า
เรื่องโดย ณัฐพิพัฒน์ วรโชติโกศล