แม้จะไม่ด้ถูกเอ่ยถึงอย่างแพร่หลาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว Nissan เอง ก็ถือเป็นผู้ผลิตรถยนต์สันชาติญี่ปุ่นที่มีความโดดเด่นในเรื่องการบุกเบิกเทคโนโลยีใหม่ๆอยู่บ่อยครั้งเช่นกัน
จากการเปิดเผยข้อมูลเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา Nissan ระบุว่าพวกเขาได้มีแผนที่จะเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าเจเนอเรชันใหม่ภายในปี 2028 ซึ่งมาพร้อมกับจุดน่าสนใจหลายด้าน และหนึ่งในนั้นคือการที่มันจะมาพร้อมกับแบตเตอรี่เทคโนโลยี Solid-State ที่สาวกรถยนต์ไฟฟ้าหลายคนรอคอย
โดยทางบริษัทเปิดเผยว่า ฐานการผลิตหลักของตัวแบตเตอรี่ Solid State สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าของตนเอง จะเกิดขึ้นในโรงงานที่เมืองคานากาวะ จังหวัดโยโกฮาม่า อันเป็นสถานที่ซึ่งพวกเขาใช้ในการทดสอบและพัฒนาแบตเตอรี่แบบใหม่นี้อยู่แล้ว
นอกจากนี้พวกเขายังรถบุอีกว่า ทางบริษัทจะดำเนินการทดลองผลิตแบตเตอรี่แบบใหม่นี้ภายในช่วงเดือนมีนาคม ปี 2025 ก่อนที่จะค่อยๆขยับกำลังการผลิตขึ้นเป็น 100 เมกะวัตต์ต่อเดือน ด้วยบุคลากรกว่า 100 คน ต่อ กะ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน
นอกจากการพัฒนาแบตเตอรี่แบบใหม่ ทาง Nissan ยังได้มีการเตรียมงานอื่นเพิ่มเติมสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่จะใช้งานร่วมกับเทคโนโลยีใหม่นี้ด้วย โดยเป้าหมายสำคัญคือการเพิ่มขีดความสามารถของตัวรถ และลดต้นทุนในการผลิต เพื่อหวังให้มันลงไปอยู่ในระดับที่สามารถทำราคาแข่งกับรถเครื่องยนต์สันดาปภายในได้สบายๆ
โดยสำหรับเทคโนโลยีสำคัญ ที่จะช่วยให้พวกเขาบรรลุเป้าหมายที่ว่านี้ ก็คือเทคโนโลยีการผลิตโครงสร้างตัวถังรถแบบ Gigacasting ซึ่งตอนนี้มี Tesla เป็นผู้เริ่มต้นการใช้เทคโนโลยีนี้ในการผลิตรถยนต์ของตนเองมาได้พักใหญ่ และทำให้แบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเจ้าดังจากสหรัฐอเมริการายนี้ สามารถโกยกำไรได้เป็นกอบเป็นกำมาแล้ว
และหากการผลิตเป็นไปได้ด้วยดี มันก็จะสามารถช่วยลดน้ำหนักของตัวรถได้อีกราวๆ 20% ซึ่งทำให้รถมีสถรรถนะที่ดีขึ้น และที่สำคัญกว่าคือการลดต้นทุนในการผลิตตัวรถได้ราวๆ 10% และเมื่อรวมกับเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่แบบ Solid State ก็จะยังทำให้ต้นทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเจเนอเรชันใหม่ในภาพรวม ถูกลงกว่าปัจจุบันถึง 30%
โดยสาเหตุที่ทำให้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ พยายามผลักดันการใช้เทคโนโลยีแบตเตอรี่แบบ Solid State นั้น ถือว่าเต็มไปด้วยข้อดีมากมาย หากไม่นับเรื่องความยากในการพัฒนาที่ซับซ้อนในตอนแรก
และหากอิงตามข้อมูลจาก Nissan พวกเขาก็ระบุว่าเทคโนโลยีแบตเตอรี่แบบใหม่นี้ จะช่วยให้มัน “มีความหนาแน่นเชิงพลังงาน” หรือ “สามารถจุพลังงานต่อน้ำหนัก” ได้มากขึ้นกว่าเทคโนโลยีแบตเตอรี่ยุคปัจจุบันถึงเท่าตัว และยังช่วยร่นระยะเวลาในการชาร์จลง เนื่องจากมันสามารถรองรับแรงดันไฟฟ้าสำหรับชาร์จกระแสไฟกลับได้สูงขึ้น และผลที่ตามมาก็คือต้นทุนในการผลิตที่ถูกลง
ไม่เพียงเท่านั้น ทาง Nissan ยังระบุอีกว่า พวกเขาจะนำเทคโนโลยีแบตเตอรี่ใหม่นี้ ไปใช้กับรถยนต์หลักหลายรูปแบบซึ่งรวมถึงรถยนต์ในกลุ่มปิ๊กอัพทรัค หรือรถกระบะที่ชาวไทยเราคุ้นเคยกันดีอีกด้วย
“Nissan ได้มีการวิจัยและพัฒนาไว้อย่างกว้างขวาง, ตั้งแต่การวิจัยวัสดุสำหรับแบตเตอรี่ในระดับโมเลกุล ไปจนถึงการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า, แม้กระทั่งการพัฒนาชุมชนเมืองสำหรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า” เพื่อให้การใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าแบบใหม่นั้นมีความเหมาะสมมากที่สุด ตามคำกล่าวของ Nissan ในจดหมายข่าวล่าสุด