McLaren P1 อาจได้ชื่อว่าเป็นรถไฮเปอร์คาร์ที่ดีที่สุดของค่ายซุปเปอร์คาร์เลือดอังกฤษในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ตอนนี้มันได้เสียตำแหน่งดังกล่าวให้กับน้องใหม่อย่าง McLaren W1 แล้วเป็นที่เรียบร้อย
McLaren W1 เพียงชื่อก็บ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่านี่คือ “ไฮเปอร์คาร์” ที่เกิดมาเพื่อเป็นเรือธงของแบรนด์สานต่อตำนานจากเหล่ารุ่นพี่ทั้ง McLaren F1 ในตำนาน ปี 1992 และ McLaren P1 ตัวกลั่น ปี 2015 ซึ่งแน่นอนว่ามันย่อมมาพร้อมกับ “ความสุด” ในหลายๆด้านของยุคเหมือนที่พี่ๆของมันเคยเป็นเช่นเดิม ตลอดระยะเวลา 30 กว่าปีที่ผ่านมา
แน่นอน สิ่งที่น่าสนใจในรถไฮเปอร์คาร์ระดับนี้ ย่อมเป็นเรื่องของขุมกำลัง ซึ่งเจ้า W1 ก็มาพร้อมกับเครื่องยนต์รหัส “MPH-8” ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ V8 ขนาด 4.0 ลิตร มาพร้อมเพลาข้อเหวี่ยงแบบ Flat Plane ตามฉบับรถแรงสัญชาติยุโรป เพื่อการเค้นรอบที่เรียบเนียน และเสริมกำลังด้วยเทอร์โบคู่ตามสูตร
นอกจากนี้ไส้ในของเครื่องยนต์ ยังมีการออกแบบด้วยหลักวิศวกรรมขั้นสูงอีกมากมาย โดยหนึ่งในนั้นก็มีทั้งการใช้สารพลาสม่าเคลือบเสื้อสูบแบบเฉพาะ เพื่อลดแรงเสียดทานและการสึกหรอ และการใช้ระบบหัวฉีดตรงแรงดันสูงกว่า 350 บาร์ซึ่งไม่มีให้เห็นเท่าไหร่นักในเครื่องยนต์เบนซิน เพื่อให้มันสามารถควบคุมการจ่ายน้ำมันได้อย่างตรงจุดกับตำแหน่งลูกสูบมากที่สุด และเป็นการช่วยลดการปล่อยมลพิษไปในตัวด้วย เนื่องจากหากเครื่องยนต์สามารถจุดระเบิดได้สมบูรณ์ ก็หมายความว่าไอเสียที่เป็นมลพิษก็จะมีปริมาณน้อยลงด้วย
ผลลัพท์ที่ได้ คือท้ายที่สุดเครื่องยนต์ลูกนี้ก็สามารถปั่นแรงม้าได้กว่า 929 ตัว ซึ่งคิดเป็นเกือบ 230 PS ต่อลิตร พร้อมความสามารถในการเค้นรอบสูงสุดได้อีกกว่า 9,200 รอบ/นาที
แน่นอนว่ายังไม่พอสำหรับการเป็นไฮเปอร์คาร์ระดับเรือธง ทาง McLaren ยังมีการจับคู่เครื่องยนต์เข้ากับมอเตอร์ไฟฟ้า E-Module ซึ่งยืมเทคโนโลยีมาจากตัวแข่ง IndyCar และ Formula 1 อีกทีหนึ่งมาใช้ โดยมันสามารถปั่นแรงม้าได้สูงสุด 346 PS และส่งผลให้ตัวรถมีพละกำลังรวมสูงสุดที่ 1,275 PS กับแรงบิดสูงสุดอีก 1,340 นิวตันเมตร เพื่อส่งไปยังล้อหลังทั้งหมด บนน้ำหนักตัวเพียง 1,399 กิโลกรัม
โดยมอเตอร์ไฟฟ้าที่ว่านี้ นอกจากนี้มีหน้าที่ไว้เสริมกำลังเครื่องยนต์ มันยังมีหน้าที่เป็นตัวสตาร์ทเครื่องยนต์ และมีไว้เพื่อเป็นเกียร์ถอยหลังให้กับรถด้วย เนื่องจากเครื่องยนต์ของมันมาพร้อมกับระบบส่งกำลังเกียร์เดินหน้า 8 สปีด คลัทช์คู่เท่านั้น
และแม้ว่าตัวรถ W1 จะหนักกว่ารุ่นพี่ราวๆ 3 กิโลกรัม แต่ตัวมอเตอร์ไฟฟ้าของระบบไฮบริดที่ใส่เข้ามา ก็มีน้ำหนักเพียงแค่ราวๆ 20 กิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งถือว่าเบากว่าของ P1 ที่หนัก 40 กิโลกรัมเกินครึ่ง เนื่องจากตอนนี้มันได้ถูกติดตั้งเป็นชิ้นส่วนเดียวกันกับแผงควบคุมแล้ว
ขณะที่แบตเตอรี่สำหรับระบบไฮบริด ก็มีขนาดเพียง 1.384 kWh เท่านั้น โดยที่มันยังมีโหมดการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าล้วน ซึ่งสามารถวิ่งได้ไกลสุดราวๆ 2.6 กิโลเมตร แค่เพื่อให้คุณสามารถออกจากหมู่บ้านไปแบบเงียบๆได้โดยไม่มีใครด่าก็เท่านั้น แต่ทาง McLaren ก็ยังไม่ลืมที่จะให้ปลั๊กสำหรับเสียบชาร์จไฟในแบตเตอรี่ลูกดังกล่าวมาให้อยู่ดี แม้เอาจริงๆมันจะอาศัยการปั่นไฟจากเครื่องยนต์จนเต็มได้ง่ายมาก
และหากคุณพ้นจากแนวหมู่บ้านหรือย่านชุมชน ตัวรถก็สามารถเรียกอัตราเร่งจาก 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมงได้ภายในเวลา 2.7 วินาที ซึ่งอาจจะดูไม่จี๊ดมากนักด้วยข้อจำกัดเรื่องระบบขับเคลื่อน แต่เมื่อรถลอยลำแล้ว มันยังสามารถเรียกอัตราเร่งจาก 0-200 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ภายในระยะเวลาเพียง 5.8 วินาที และ 0-300 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ภายในเวลาเพียง 12.8 วินาทีเท่านั้น โดยที่ความเร็วสูงสุดจะถูกจำกัดไว้ที่ 350 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพื่อความปลอดภัยของทุกคนบนท้องถนน โดยเฉพาะตัวคนขับและผู้โดยสารที่นั่งอยู่ด้านข้าง
ด้านโครงสร้างตัวรถ ก็ยังคงใส่สุดด้วยโครงสร้างคาร์บอนโมโนค็อกแบบ “Aerocell” ซึ่งมีน้ำหนักเบา และแข็งแรงมากพอที่หากคุณอยากจะเอารถลงแข่ง ก็แทบไม่ต้องติดโรลเคจ หรือโครงเหล็กเสริมความปลอดภัยใดๆเพิ่มเลยตามกฏสนาม รวมถึงมันยังแข็งแรงมากพอที่จะเป็นโครงสร้างหลักทางด้านหน้าให้กับระบบกันสะเทือนโดยตรงได้เลย โดยไม่ต้องผลักให้เป็นหน้าที่ของซับเฟรมด้านหน้าอีกต่อไปเหมือนที่ซุปเปอร์คาร์หลายๆคันทำกันด้วย
และด้วยการติดตั้งเบาะนั่งคาร์บอนแบบไร้รางเบาะ เพื่อลดน้ำหนักส่วนเกิน และทำให้วิศวกรสามารถร่นความยาวตัวถังช่วงห้องโดยสารให้สั้นลงได้มากขึ้น เพื่อบีบระยะฐานล้อให้สั้นลงอีกสำหรับเสริมความคล่องตัวในการเข้าโค้ง
ดังนั้นนอกจากพวงมาลัยที่สามารถปรับระยะใกล้ไกลได้ ตัวแป้นคันเร่งและเบรกเอง ก็จะเป็นอีกจุดที่สามารถปรับระยะใกล้ไกลได้ ซึ่งพวงมาลัย ยังคงเป็นระบบพวงมาลัยเพาเวอร์ มีระบบไฟฟ้าเสริมแรงนิดหน่อยเท่านั้น ไม่ได้เป็นพวงมาลัยไฟฟ้า 100% รวมถึงแป้นเบรกก็ยังเป็นแป้นเบรกทำงานร่วมกับปั๊มไฮดรอลิกและหม้อลมเสริมแรงธรรมดาๆเท่านั้น เพื่อให้ผู้ขับยังสามารถรับรู้และควบคุมรถได้อย่างตรงไปตรงมามากที่สุดตามจริตและจิตวิญญาณของ McLaren
นอกนั้นในส่วนของอุปกรณ์ภายในห้องโดยสาร ก็ให้มาเพียงแค่เท่าที่จำเป็น ทั้งุชดหน้าจอมาตรวัดแบบ Full Digital, พวงมาลัยแบบตัดหัวบนล่างหุ้มหนังอัลคันทาร่า, คอนโซลกลางมาพร้อมหน้าจอแสดงผลระบบอินโฟเทนเมนท์และมีไว้สำหรับปรับโหมดลูกเล่นต่างๆของตัวรถขนาดเพียง 8 นิ้ว แต่รองรับทั้งการเชื่อมต่อกับระบบ Apple CarPlay และ Android Auto แบบไร้สาย โดยที่ทางค่ายยังใจดีใส่พอร์ทเชื่อมต่อ+ชาร์จไฟมาให้ทั้งแบบ USB-A และ USB-C ขณะที่พื้นที่เก็บสัมภาระในรถบริเวณหลังเบาะนั่งก็มีความจุอีกเล็กน้อยเพียง 116 ลิตรเท่านั้น
งานออกแบบภายนอกเองก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยหากเราไม่ได้เจาะจงไปที่รูปทรงและความสวยงามซึ่งสามารถเห็นและวิเคราะห์ได้เองด้วยตาของแต่ละท่าน แล้วไปเจาะจงที่ข้อมูลด้านวิศวกรรม จากการออกแบบภายในอุโมงค์ลมอีกกว่า 350 ชั่วโมง รวมถึงการปรับเปลี่ยนรายละเอียดยิบย่อยที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงและทดสอบอีกกว่า 5,000 จุด
เราก็จะพบว่ามันมีรายละเอียดหลายอย่างที่บ่งบอกถึงความใส่ใจเพื่อให้รถมาพร้อมกับความลู่ลมและในขณะเดียวกันก็สามารถสร้างแรงกดได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุดตามฉบับ รถเรือธงแห่งยุคของ McLaren ได้เป็นอย่างดี
โดยแม้ด้านหน้าตัวรถจะดูโดดเด่น และเป็นสิ่งที่หลายคนสังเกตเห็นทันทีในตอนแรก แต่รายละเอียดหรือไฮไลท์สำคัญจริงๆ คือการออกแบบชิ้นส่วนตัวถังบริเวณหลังซุ้มล้อหน้า, ข้างหน้าซุ้มล้อหลัง, ท้ายรถ, และใต้ท้องรถต่างหาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเรื่องหลังสุด นั่นคือชิ้นส่วนตัวถังด้านล่าง ซึ่งออกแบบให้เป็นดิฟฟิวเซอร์ตั้งแต่ช่วงกลางลำตัวรถ เพื่อรีดอากาศออกจากใต้ท้องรถให้เร็วที่สุด และทำให้มันสามารถสร้างแรงดูดติดกับพื้นได้เป็นอย่างดีในการใช้งานช่วงความเร็วสูง
ซึ่งทาง McLaren ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมากจนถึงขนาดที่ยอมปรับองศาแท่นเครื่องยนต์ให้เอียดเชิดทางด้านหลังขึ้นจากแนวราบอีก 3 องศา เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้กับตัวดิฟฟิวเซอร์ใต้ท้องรถ โดยที่จุดปลายสุดของมันทางด้านหลังเองก็แข็งแรงพอที่จะทำหน้าที่เป็นกันชนท้ายได้ด้วยตัวเอง โดยแทบไม่ต้องใช้คานขนาดใหญ่เพื่อช่วยรับแรงกระแทกกรณีเกิดการชนทางด้านหลัง
และเพื่อเป็นการเสริมประสิทธิภาพของดิฟฟิวเซอร์ ตัวสปอยเลอร์หลังขนาดใหญ่ของมัน ยังไม่ได้มาพร้อมกับฟังก์ชันการปรับตำแหน่งสูงต่ำเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังสามารถขยับถอยหลังไปได้อีกเกือบ 300 มิลลิเมตร เพื่อยืดระยะการไหลของอากาศใต้ท้องรถให้ไกลออกจากแนวท้ายรถมากขึ้น (ช่วยเพิ่มความเร็วในการไหลของอากาศออกจากใต้ท้องรถ)
เมื่อประกอบกับขนาดชิ้นสปอยเลอร์หลังที่ค่อนข้างใหญ่อยู่แล้ว จึงทำให้มันสามารถสร้างแรงกดได้กว่า 650 กิโลกรัม และตัวกันชนหน้าที่มีครีบรีดอากาศขนาดใหญ่เอง ก็ยังช่วยให้ด้านหน้าตัวรถมีแรงกดเพิ่มอีก 350 กิโลกรัมเช่นกันสำหรับการขับขี่่ในช่วงความเร็วสูง
ส่งผลให้มันสามารถสร้างแรงกดบนตัวรถได้ถึง 1 ตัน ซึ่งนั่นถือว่ามากกว่ารุ่นพี่อย่าง McLaren P1 เสียอีก แถมยังเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับ Aston Martin Valkyrie ที่ได้ชื่อว่าเป็นรถไฮเปอร์คาร์ที่สามารถสร้างแรงกดและแรงดูดขณะขับขี่ด้วยความเร็วสูงที่มากที่สุดในโลก ณ เวลา ปัจจุบันอีกด้วย
แม้แต่กลไกระบบกันสะเทือนเอง ก็ยังมีส่วนช่วยในเรื่องของหลักอากาศพลศาสตร์ เพราะแม้กระทั่งตัวปีกนกและตัวก้านกระทุ้งโช้กทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ต่างถูกขึ้นรูปด้วยวิธีปริ้นท์ 3 มิติ เพื่อให้มันมีรูปทรงแบบครีบรีดอากาศ และช่วยลดอาการสะเทือนของช่วงล่างได้เป็นอย่างดี รวมถึงช่วยประคองไม่ให้ตัวถังอยู่ติดพื้นมากเกินไปจากแรงกดอากาศทางด้านบน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรถถูกปรับเข้าสู่โหมดการขับขี่แบบ Race ซึ่งจะมีการโหลดหน้ารถลงอีกราวๆ 37 มิลลิเมตร และโหลดท้ายรถลงอีก 18 มิลลิเมตร
ส่วนหน้าที่ในการควบคุมแรงกดอากาศ และแรงม้าทั้งหมดลงสู่พื้น ก้จะเป็นหน้าที่ของชุดยาง Pirelli P Zero Trofeo RS ซึ่งเป็นยางที่ทาง McLaren ขอกำหนดสเป็คเฉพาะกับทาง Pirelli เองอีกทีหนึ่ง และมันก็จะมาพร้อมกับหน้ากว้างที่มากถึง 265/35 R20 ทางด้านหน้า และด้านหลังอีก 335/30 R20
หรือหากลูกค้ากลัวว่ายางจะหมดเร็วเกินไป ก็สามารถเลือกติดตั้งยาง Pirelli P Zero R ที่เหมาะกับการใช้งานบนถนนแบบอย่างเดียวมากกว่า (จะใช้ลงสนามก็ได้ แต่ยางตัวแรกเหมาะกว่าเยอะ) หรือจะใส่ยางสำหรับการวิ่งในหน้าหนาว Pirelli P Zero Winter 2 ก็ได้ แล้วแต่จะเลือก (แถมให้หมดทุกรุ่น)
ทั้งนี้ ตัวรถ McLaren W1 มีการสนนราคาวางจำหน่ายที่ 2.1 ล้านดอลล่าร์ หรือหากตีเป็นเงินไทยก็ราวๆ 70.25 ล้านบาท และจะมีการผลิตด้วยจำนวนจำกัดเพียง 399 คันบนโลก ซึ่งต้องขอแสดงความเสียใจกับผู้ที่พึ่งเห็นรถคันนี้ไปได้เลย เพราะทุกคันได้ถูกมหาเศรษฐีทั่วโลกจับจองกันไปหมดแล้วนั่นเอง