All-New 2025 Toyota Camry หรือ Camry เจเนอเรชันที่ 9 ถือเป็นอีกหนึ่งรถซีดานกลางสไตล์หรูที่ชาวไทยหลายคนให้ความสนใจ และในวันนี้มันก็ได้มีการเปิดตัวสำหรับการวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการในบ้านเราเสียที
Toyota Camry 2025 เวอร์ชันทำตลาดในประเทศไทย มาพร้อมกับคอนเซปท์การพัฒนาภายใต้นิยาม “Sedan to The Core” ซึ่งต้องการให้เจ้า Camry มีความเป็น “รถซีดาน” ตั้งแต่ภายนอกสู่ภายใน โดยเริ่มจากงารออกแบบภายนอกใหม่ ในนิยาม “Energatic Beauty” ซึ่งต้องการปรับภาพลักษณ์ให้แตกต่างจากรุ่นพี่ของมันในรอบหลายปีที่เน้นแต่ความหรูหราเป็นหลัก
เพราะในคราวนี้ทาง Toyota Motor ประเทศไทย เลือกใช้งานออกแบบชิ้นส่วนรอบคันในลักษณะเดียวกันกับรถร่างสำหรับการวางจำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกามากขึ้น ซึ่งโดยหลักแล้วจะเป็นหน้าตาที่เน้นไปที่ความสปอร์ตมากกว่าที่จะเน้นไปแต่ภาพลักษณ์หรูหราเพียงอย่างเดียว
ดังนั้นเราจึงจะเห็นได้ว่าในคราวนี้ ตัวรถ Camry มาพร้อมกับงานออกแบบด้านหน้าซึ่งใช้เส้นสาย Hammer Head หรือแบบฉลามหัวค้อน อันเป็นดีไซน์เอกลักษณ์ของรถยนต์สมัยใหม่จาก Toyota ที่ชาวไทยได้เห็นกันมาแล้วทั้งใน Toyota bZ4X, Toyota Prius หรือแม้กระทั่ง Toyota Yaris ตัวล่าสุด
และนอกจากงานออกแบบกันชนหน้าที่ดูยื่นยาวแหลมออกมาทางด้านหน้ามากขึ้น มันยังถูกเพิ่มความดุดันด้วยการมีช่องดักลมด้านล่างขนาดใหญ่ ซึ่งถูกขนาบข้างด้วยช่องรับลมด้านข้างเพื่อรีดออกไปเป็นกำแพงกั้นลมหมุนวนในแนวซุ้มล้อ
และยังมีการออกแบบชุดไฟหน้า Quad LED พร้อมแถบไฟ DRL ล้อมกรอบเป็นคิ้วจากด้านบนอ้อมมาด้านข้างแล้วตวัดลงล่าง โดยที่ตัวแถบไฟจะทำหน้าที่เป็นไฟเลี้ยวด้วยในตัว ซึ่งอันที่จริงลักษณะกรอบไฟที่ว่านี้ ก็จะมีให้เห็นเช่นเดียวกันทางด้านท้ายด้วย
นอกนั้นในฝั่งเส้นสายด้านข้าง หากว่ากันตามจริง สัดส่วนต่างๆของมันก็จะยังคงคล้ายเดิมกับรุ่นพี่ เพราะท้ายที่สุดแล้ว Camry เจเนอเรชันล่าสุดนี้ ก็ยังคงถูกสร้างขึ้นบนแพลตฟอร์ม TNGA-K ดังเดิม จะมีก็แคืเพียงการปรับเส้นโหนกช่วงไหล่ตัวรถ และกรอบครึ่งล่างแนวซุ้มล้อ กับบริเวณเสา C ใหม่ ให้ดูชัดเจนขึ้น สะดุดตามากขึ้น แต่ไม่ซับซ้อนจนเกินไป เพื่อให้ตัวรถดูสปอร์ตกว่าเดิมก็เท่านั้น
และทำให้รถมีมิติด้านยาวเพิ่มขึ้นอีก 35 มิลลิเมตรเป็น 4,920 มิลลิเมตร เพียงอย่างเดียว นอกนั้นสัดส่วนด้านกว้าง 1,840 มิลลิเมตร และด้านสูง 1,445 มิลลิเมตร ยังคงเท่าเดิมกับรุ่นพี่แทบทั้งหมด เว้นเพียงอีกจุดคือความสูงใต้ท้องรถ ที่ลดลงจาก 140 มิลลิเมตร เหลือ 135 มิลลิเมตร ขณะที่ชุดล้อแม้จะมาพร้อมกับลวดลายใหม่ แต่ยังคงเป็นล้ออัลลอยด์ขนาด 17-18 นิ้ว รัดด้วยยางขนาด 215/55 R17 หรือ 235/45 R18 แล้วแต่รุ่นย่อยดังเดิม
ภายในห้องโดยสาร มาพร้อมกับการออกแบบใหม่หมดแทบทุกชิ้นส่วน ด้วยนิยามในการออกแบบว่า “Energatic Beauty” เช่นเดียวกับภายนอก โดยเริ่มจากคอนโซลหน้า ซึ่งมาพร้อมกับงานดีไซน์ฝั่งผู้โดยสารแบบ Horizontal Bar ซึ่งช่วยเพิ่มความรู้สึกโปร่งโล่งสบาย และเรียบง่ายด้วยช่องแอร์และกรอบคอนโซลแบบแถบนอนยาวจนถึงชุดหน้าจออินโฟเทนเมนท์ตรงกลาง ซึ่งมีขนาดใหญ่ถึง 12.3 นิ้วแบบใหม่ รองรับการเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือผ่านระบบ Apple CarPlay ไร้สาย ส่วนระบบ Android Auto ยังต้องใช้สาย USB-C เชื่อมต่ออยู่ โดยที่ชุดหน้าจออินโฟเทนเมนท์นี้จะเป็นออพชันที่ใส่เข้ามาในทุกรุ่นย่อย โดยที่ชุดลำโพงจะมีให้เลือกทั้งแบบ 6 จุด ในรุ่นกลางและรุ่นล่าง ส่วนรุ่นท็อปจะได้ลำโพง JBL 9 ตำแหน่งแทน
ด้านแผงควบคุมระบบปรับอากาศยังคงเป็นปุ่มแยกพร้อมหน้าจอดิจิตอลทางด้านล่างชุดจออินโฟเทนเมนท์ โดยจะเป็นการปรับแบบ 2 โซนแยกซ้าย-ขวา และที่คอนโซลกลางระหว่างผู้โดยสารด้านหน้าก็มีการปรับรายละเอียดช่องวางแก้วน้ำ และคันเกียร์กับสวิทช์ควบคุมระบบการทำงานของโหมดการขับขี่ตัวรถใหม่ ให้น่าใช้ยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงแท่นชาร์จโทรศัพท์มือถือไร้สาย ให้สามารถชาร์จไฟได้เร็วขึ้นเป็น 15 วัตต์
ส่วนด้านหน้าผู้ขับ ก็จะพบกับงานออกแบบในลักษณะ Cockpit โดยชุดหน้าจออินโฟเทนเมนท์ข้างต้น จะหันเบี่ยงเข้าหาตัวผู้ขับเล็กน้อย เช่นเดียวกับแผงควบคุมระบบแอร์ และยังเสริมด้วยแผงคอนโซลหน้าฝั่งผู้โดยสารก็มีการวาดแนวบ่าช่วงต้นขาลงมาเพื่อตีเป็นกรอบแบ่งโซนผู้โดยสารและผู้ขับอย่างชัดเจน
โดยที่ชุดพวงมาลัย ก็มีการออกแบบดีไซน์ใหม่ ให้ดูทันสมัยยิ่งขึ้น และแน่นอนว่ามันยังคงมาพร้อมกับปุ่มกดมัลติฟังก์ชัน และแป้นควบคุมตำแหน่งเกียร์แบบ Paddle Shift ดังเดิมในรุ่นกลางและรุ่นบน ส่วนชุดจอมาตรวัดที่อยู่ด้านใน ก็จะมีทั้งแบบ Full Digital TFT ขนาด 12.3 นิ้ว สำหรับรุ่นกลางและรุ่นบน โดยที่รุ่นบนจะได้จอ HUD เพิ่มเข้ามาอีก และในส่วนของรุ่นล่างตัวชุดหน้าจอมาตรวัดก็จะถูกลดขนาดลงเหลือ 7 นิ้วแทน
ในด้านเบาะโดยสาร หากเป็นเบาะคู่หน้า แม้งานออกแบบรูปทรงเบาะจะเกือบคล้ายเดิม โดยที่ยังคงเป็นเบาะหุ้มหนังเหมือนกันทุกรุ่น โดยอาจจะแตกต่างตรงที่ตัวล่าง ได้เบาะหุ้มหนังแท้ สลับหนังสังเคราะห์ และตัวกลางกับตัวบน ก็จะได้เบาะหุ้มหนังแท้ Smooth Leather สลับหนังสังเคราะห์ในบางจุดเหมือนเดิม
แต่ในคราวนี้ ทาง Toyota ได้จัดการใส่ระบบปรับตำแหน่งไฟฟ้า 8 ทิศทาง ฝั่งผู้ขับ และ 4 ทิศทาง ฝั่งผู้โดยสาร ให้ทั้งในนรุ่นล่างและรุ่นกลางเป็นที่เรียบร้อย ส่วนของรุ่นบน นอกจากการเพิ่มระบบพัดลมระบายอากาศในตัวเบาะทั้ง 2 ฝั่ง เบาะหน้าฝั่งผู้ขับจะมีการเพิ่มระบบ Welcome Seat เข้ามา และเบาะฝั่งผู้โดยสารก็จะสามารถปรับตำแหน่งด้วยระบบไฟฟ้าได้มากขึ้นเป็น 8 ทิศทาง
ขณะที่เบาะโดยสารตอนหลังเองก็มีการปรับงานออกแบบการตัดเย็บใหม่เล็กน้อย โดยที่หากเป็นรุ่นบนสุด ก็ะจะยังคงมาพร้อมกับที่วางแขนพร้อมปุ่มควบคุมอุณภูมิระบบปรับอากาศทางด้านหลังแบบแยกเพิ่มออกมาอีกเป็นโซนที่ 3 ด้วย
และออพชันกลุ่มท้ายสุดของการตกแต่งภายในห้องโดยสาร ก็คือ มันยังคงมาพร้อมกับชุดม่านลดแสงแบบปรับมือที่ประตูข้างคู่หลัง กับม่านไฟฟ้าที่กระจกบานหลัง ตามด้วยก่าารใส่หลังคากระจกแบบ พาโนรามิคเข้ามาในรุ่นกลางกับรุ่นบน และโทนสีการตกแต่งหากเป็นรุ่นบน ลูกค้าก็สามารถเลือกได้ด้วยว่าจะใช้โทนสีดำทั้งหมดเหมือนรุ่นกลางกับรุ่นล่าง หรือจะเลือกสีเฉพาะอย่างสี Yellow Brown ซึ่งเป็นสีที่มีให้เลือกเฉพาะรุ่นบนเท่านั้นก็ได้
ด้านขุมกำลังตัวรถ เบื้องต้นสำหรับ Camry ตัวใหม่ล่าสุด ที่วางจำหน่ายในประเทศไทย จะมีขุมกำลังให้ลูกค้าได้เลือกเพียงแบบเดียวเท่านั้น นั่นคือขุมกำลังไฮบริด และไม่มีทางเลือกขุมกำลังสันดาปภายในล้วนอีกต่อไป ซึ่งเป็นแนวทางที่คล้ายกันกับตัวรถที่วางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา
และเนื่องจากขุมกำลังไฮบริดรุ่นนี้ ต้องถูกทำให้มันมีสมรรถนะที่ใกล้เคียงกับเครื่องยนต์ V6 3.5 ลิตรที่ถูกถอดออกไปในสหรัฐอเมริกามากขึ้น จึงทำให้แม้มันจะยังคงเป็นเครื่องยนต์เบนซิน 2.5 ลิตร รหัส A25A-FXS ทำงานร่วมมือเตอร์ไฟฟ้าแบบฟูลไฮบริดเหมือนเดิม แต่ในความเป็นจริงแล้วมันกลับได้รับการปรับปรุงใหม่ในหลายๆจุด
เริ่มจากตัวเครื่องยนต์ ที่แม้จะยังคงมีขนาดความจุ 2,487cc และมาพร้อมระบบวาล์วแปรผัน Variable Valve Timing-intelligence by Electric motor หรือ VVT-iE เหมือนเดิม แต่ทาง Toyota ระบุว่าพวกเขาได้มีการปรับปรุงเครื่องยนต์ใหม่ ในเรื่องของการลดแรงเสียดทานภายในกระบอกสูบ, ปรับปรุงกำลังอัดเครื่องยนต์, เปลี่ยนแคมชาฟท์ใหม่, และปรับจูนกล่อง ECU ใหม่ จนทำให้พละกำลังของเครื่องยนต์เพิ่มขึ้น จาก 178 PS ที่ 5,700 รอบ/นาที เป็น 186 PS ที่ 6,000 รอบ/นาที โดยที่แรงบิดยังคงมีตัวเลขเท่าเดิม ที่ 221 Nm ระหว่าง 3,600 – 5,200 รอบ/นาที ดังเดิม
ด้านมอเตอร์ไฟฟ้าเอง ทาง Toyota ก็ระบุว่าพวกเขาได้ทำการเปลี่ยนมาใช้มอเตอร์ลูกใหม่ ซึ่งให้กำลังเพิ่มขึ้น จาก 120 PS ในลูกเดิม เป็น 136 PS และยังมีแรงบิดเพิ่มขึ้นจาก 202 นิวตันเมตร เป็น 208 นิวตันเมตร รวมถึงยังมีการปรับเปลี่ยนแพ็คเกจมอเตอร์ โมดูลควบคุม และชุดเกียร์ใหม่ ให้รวมกันเป็นยูนิตเดียว ส่งผลให้น้ำหนักในภาพรวมเล็กลง และทำให้จุดศูนย์ถ่วงของขุมกำลังรวมเป็นจุดเดียวมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการปรับจูนสมองกลเกียร์ใหม่ และปรับจูนการผสานการทำงานระหว่างมอเตอร์ไฟฟ้ากับเครื่องยนต์ใหม่ ให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จนมันสามารถเรียกกำลังรวมได้กว่า 227 PS จากเดิมที่เคยทำได้ 211 PS โดยที่อัตราสิ้นเปลืองเองก็ดีขึ้นกว่าเดิม จาก 23.8 กิโลเมตร/ลิตร เป็น 25 กิโลเมตร/ลิตร
โดยอีกสิ่งที่มีการปรับเปลี่ยน ก็คือตัวแบตเตอรี่ของระบบไฮบริด ที่มีการเปลี่ยนจากแบตเตอรี่ Ni-MH ขนาด 6.5 Ah เป็นแบตเตอรี่ Li-ion ขนาด 4 Ah ซึ่งแม้จะมีขนาดเล็กลง แต่ก็แลกมาซึ่งน้ำหนักตัวที่เบาลงกว่าเดิมมาก และยังมีความสามารถในการจัดการพลังงานที่ดีกว่า ทั้งการปล่อยพลังงานขับเคลื่อนมอเตอร์ และการชาร์จไฟกลับเพื่อสำรองพลังงานที่รวดเร็วกว่าเดิม แถมยังมีการปรับปรุงระบบจัดการความร้อนใหม่ เพื่อยืดอายุการใช้งานของตัวแบตเตอรี่เพิ่มอีก
ในด้านการปรับปรุงโครงสร้างตัวรถ แม้มันจะยังคงใช้แพลตฟอร์ม TNGA-K เหมือนเดิม และยังคงใช้ระบบกันสะเทือนด้านหน้าอิสระแม็คเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง กับด้านหลังอิสระปีกนกคู่ พร้อมเหล็กกันโคลง และใช้ระบบเบรกแบบดิสก์เบรกหน้า-หลัง เหมือนเดิม
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทาง Toyota ได้มีการปรับเซ็ทช่วงล่างใหม่หลายจุด ทั้ง เหล็กกันโคลงรูปทรงใหม่ เพื่อการควบคุมอาการโยนตัวของรถขณะเข้าโค้งที่ดีกว่าเดิม, บูชยางระบบกันสะเทือนใหม่ทั้งหมดที่มีความนุ่มนวลกว่าเดิม, โช้กอัพใหม่ พร้อมระบบ 2 Stage Valve เพื่อให้มันสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับอัตราการยุบ-คืนตัว ในแต่ละช่วงความเร็ว (การยุบตัวของช่วงล่าง), และมีการปรับความแข็งสปริงใหม่ ให้เหมาะสมกับช่วงล่างทั้งหมด โดยเน้นไปที่ความนุ่มนวลในการใช้งานที่มากกว่าเดิม แต่ในขณะเดียวกันยังได้ความเฉียบคมในการเข้าโค้งที่มากขึ้นด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น ในฝั่งระบบบังคับเลี้ยว ทางวิศวกรยังได้มีการเสริมความแข็งแรงของจุดยึดคอพวงมาลัยเพิ่ม และปรับปรุงระบบสมองกลพวงมาลัยไฟฟ้า EPS ใหม่ ให้มีอัตราการตอบสนองที่เป็นธรรมชาติยิ่งขึ้น และยังมีการปรับปรุงระบบควบคุมแรงเบรก ECB และปรับปรุงแม่ปั๊มเบรกใหม่ เพื่อลดระยะการกดแป้นเบรกให้สั้นลง และยังส่งผลให้อัตราการตอบสนองของระบบเบรกมีความเป็นธรรมชาติยิ่งขึ้นเช่นกัน
ท้ายสุดเพื่ออรรถรสในการขับขี่ที่ดีกว่าเดิม ทาง Toyota ยังมีการปรับปรุงวัสดุซับเสียงภายในห้องโดยสารใหม่ โดยการเพิ่มความหนาของแผ่นซับเสียงช่วงใต้ห้องโดยสาร โดยเฉพาะบริเวณแผงกั้นระหว่างห้องเครื่องกับห้องโดยสารเข้าไป และยังมีการปรับเพิ่มชิ้นส่วนลดเสียงลมปะทะบริเวณเสา A ตามเสียงวิจารณ์ของลูกค้าที่พบเจอในโฉมก่อนหน้าให้น้อยลงแล้วเป็นที่เรียบร้อย
สุดท้ายในเรื่องของระบบความปลอดภัย Toyota Safety Sense เอง ก็ได้รับการปรับปรุงทั้งในส่วนของชิ้นส่วนฮาร์ดแวร์ และในส่วนของซอฟท์แวร์ใหม่เช่นกัน โดยเฉพาะตัวกล้องตรวจจับวัตถุ ที่สามารถจับภาพได้กว้างขึ้นฝั่งละ 15 องศา ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา และยังเพิ่มระยะในการตรวจจับวัตถุทางด้านหน้าได้มากกว่าเดิมอีก 20 เมตร เป็น 70 เมตร โดยที่มันยังสามารถลดมุมบอดการตรวจจับวัตถุทางด้านหน้าได้อีก
และจากผลการปรับปรุงข้างต้น จึงทำให้ตัวซอฟท์แวร์สามารถวิเคราะห์และตรวจจับวัตุต่างๆรอบคันได้รวดเร็วมากขึ้น โดยจากเดิมที่รถคันด้านหน้าต้องเข้าเลนมาเกือบเต็มคัน ถึงจะสามารถตรวจจับได้ว่ามีรถอยู่ข้างหน้า ตอนนี้แค่หน้ารถคันข้างหน้าหักเข้าเลนมา ตัวระบบก็จะสามารถตรวจจับได้แล้ว
หรือหากเป็นการเลี้ยวโค้งมุมแคบ ระบบก็สามารถตรวจพบรถที่อยู่เลนตรงข้ามได้ง่ายยิ่งขึ้น และทำให้ระบบสามารถควบคุมความเร็ว หรือสั่งการระบบช่วยวเบรกฉุกเฉินได้ดียิ่งขึ้น เหมาะสมกับสภาพการจราจรมากขึ้น
นอกนั้นในส่วนของฟังก์ชันย่อยต่างๆ ยังคงมีมาให้ครบครัน ทั้ง
- Toyota Safety Sense™ 3.0 (TSS 3.0) – Pre-Collision System with Pedestrian Detection (PCS w/PD), Full-Speed Range Dynamic Radar Cruise Control (DRCC), Lane Departure Alert with Steering Assist (LDA w/SA), Lane Tracing Assist (LTA), Road Sign Assist (RSA), Automatic High Beams (AHB), Proactive Driving Assist (PDA)
- Collision sensors
- Predictive Fuel-Efficient Drive
- Backup camera with dynamic gridlines
- Panoramic View Monitor (PVM) *เฉพาะรุ่นกลางและรุ่นบน
- Driver Monitor Sensor
- Traffic Jam Assist (TJA)
- Front and Rear Parking Assist with Automatic Braking (PA w/AB)
- Lane Change Assist (LCA)
- Rear Cross-Traffic Braking (RCTB)
- Front Cross-Traffic Alert (FCTA)
- Tire Pressure Monitor System (TPMS)
- Blind Spot Monitor (BSM)
- Rear Cross-Traffic Alert (RCTA)
- Safe Exit Alert (SEA) *ใหม่
- Enhanced Vehicle Stability Control (VSC)
- Traction Control (TRAC)
- Anti-lock Brake System (ABS)
- Electronic Brake-force Distribution (EBD)
- Brake Assist (BA)
- Smart Stop Technology® (SST)
- Hill Start Assist Control (HAC)
- ถุงลมนิรภัย 8 จุด
โดย Toyota Camry โฉมใหม่เจเนอเรชันที่ 9 โมเดลปี 2025 จะมีเฉดสีให้ลูกค้าได้เลือก 4 แบบด้วยกัน ได้แก่
- สีเงิน Precious Metal *ใหม่
- สีเทา Cement Gray Metallic *ใหม่
- สีขาว Platinum White Pearl
- สีดำ Attitude Black Mica
ส่วนสีภายในห้องโดยสาร โดยหลักแล้วจะเป็นสีดำ Black Mirror ทุกรุ่นย่อย ขณะที่หากเป็นรุ่นบน จะสามารถเลือกสีน้ำตาล Yellow Brown เพิ่มได้
โดยราคาสำหรับการวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการของตัวรถ จะเบ่งตามรุ่นย่อยดังนี้
- Toyota Camry HEV Smart : ราคาแนะนำ 1,455,000 บาท (ราคาจำหน่าย 1,475,000 บาท)
- Toyota Camry HEV Premium : ราคาแนะนำ 1,639,000 บาท (ราคาจำหน่ายจริง 1,659,000 บาท)
- Toyota Camry HEV Premium Luxury : ราคาแนะนำ 1,789,000 บาท (ราคาจำหน่ายจริง เริ่มต้น 1,809,000 บาท)
ข้อมูล จาก Toyota