นอกจากการชูในเรื่องของอัตราเร่ง และค่าใช้จ่ายพลังงานต่อหน่วยการเดินทาง อีกสิ่งหนึ่งที่เหล่าผู้ใช้ รถยนต์ไฟฟ้า มักนำมาขิง ผู้ใช้รถยนต์สันดาปภายในอยู่บ่อยครั้ง คือ มันปลอดภัยกว่า แต่ล่าสุด ANCAP เปิดเผย ว่ามันอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น
Carla Hoorweg ประธานบริหารของหน่วยงาน Australasian New Car Assessment Program (ANCAP) เปิดเผยว่า หากอิงตามข้อมูลการทดสอบการชนของทั้ง รถสันดาป และ รถยนต์ไฟฟ้า 100% ที่หน่วยงานของตนเองได้ทดสอบมา โดยสรุปแล้วในภาพรวมความปลอดภัยของรถยนต์ทั้งสองกลุ่มก็ไม่ได้มีความแตกต่างกันมากมายนัก
“เราพบว่า รถยนต์ไฟฟ้า ที่เรานำมาทดสอบและได้ลงทำตลาดไป กว่า 85% คือรถที่สามารถทำคะแนนในระดับ 5 ดาวได้ทั้งสิ้น มันไม่ได้ต่างอะไรมากนักจากรถคันอื่นๆที่เข้ามาทดสอบ” Hoorweg กล่าว
“เราเองก็เห็นรถสันดาปกว่า 85% ที่ถูกนำมาทดสอบสามารถทำคะแนนระดับ 5 ดาว ได้เช่นกัน, ดังนั้น มันไม่ได้ต่างกันเลย”
จากข้อมูลการทดสอบการชนและความปลอดภัยล่าสุดของ ANCAP เปิดเผยว่ามีรถยนต์ไฟฟ้าเพียงไม่กี่รุ่น ที่ได้รับคะแนนความปลอดภัยต่ำกว่า 5 ดาว เช่น BMW i4, Fiat 500e, Hyundai Kona, Opel Mokka, Citroen C4 ที่ได้คะแนนไปในเรท 4 ดาว และมีเพียง Jeep Avenger เท่านั้น ที่ได้คะแนนความปลอดภัยในเรท 3 ดาว จากเกณฑ์การทดสอบมาตรฐานปัจจุบัน
หมายความว่าจากรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด 57 คัน ที่ถูกนำมาทดสอบมาตรฐานการชนและความปลอดภัยของ ANCAP แบบล่าสุด มีเพียงแค่ 6 คันเท่านั้น ที่ไม่ได้คะแนนความปลอดภัยในเรท 5 ดาว ซึ่งคิดสัดส่วนได้เพียง 10.5% เท่านั้น
ในฝั่งรถยนต์ขุมกำลังสันดาปภายในที่ถูกนำมาทดสอบมาตรฐานการชนและความปลอดภัยของ ANCAP ปีล่าสุด ก็มีเพียง 18 คัน จาก 117 คันเท่านั้น ที่ไม่ได้คะแนนเต็มในระดับ 5 ดาว ซึ่งคิดสัดส่วนเป็น 15.4%
และหากให้เจาะจงลงไปอีกนิด เราก็จะพบว่าเหล่ารถยนต์ที่ได้คะแนนต่ำมาก เช่น Mahindra Scorpio และ MG5 เช่นเดียวกันกับ Suzuki Swift ที่ได้คะแนนไป 1 ดาว และยังมี Hyundai i30, MG3, Jeep Gladiator, Jeep Wrangler ที่ได้ 3 ดาว
จากข้อมูลข้างต้น หลายคนอาจสรุปไปแล้วว่า รถ ICE ปลอดภัยน้อยกว่ารถ EV กันไปแล้ว
แต่ในความเป็นจริง จะพบว่ากลุ่มรถยนต์ ICE ที่ได้คะแนนความปลอดภัยต่ำกว่า 4 ดาวลงมา ล้วนแล้วแต่หากไม่เป็นรถยนต์ราคาจำต้องง่าย ออพชันจำกัด และขาดอุปกรณ์ความปลอดภัยที่ควรมีตามมาตรฐานการ ของ ANCAP (แต่ภายหลัง MG5 ได้มีการใส่ระบบความปลอดภัยเข้ามาตามยุคสมัยแล้วเป็นที่เรียบร้อย)
หรือในอีกมุมหนึ่ง ก็เป็นรถเฉพาะทางที่มาพร้อมกับรูปทรงซึ่งไม่ได้เอื้อต่อการทำให้ซัพพอร์ตการชนหนักได้ดีโดยกำเนิดอยู่แล้วต่างหาก (กลุ่มรถ Jeep)
Carla ก็ได้ออกมาให้คำอธิบายเพิ่มเติมว่า ตัวกำหนดระดับความปลอดภัยที่แท้จริงของรถ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับลักษณะของระบบขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็นรถ ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าล้วน หรือพลังงานจากน้ำมันเชื้อเพลิง
แต่สิ่งที่เป็นตัวกำหนดจริงๆ คือประเภทรถ ซึ่งเป็นตัวกำหนดลักษณะโครงสร้างตัวรถ และที่สำคัญกว่านั้น คือ “ราคา” อันเป็นตัวกำหนดออพชันลูกเล่นความปลอดภัย ที่ควรมีมาให้ตามมาตรฐาน ANCAP ล่าสุด
ค่อนข้างให้ความสำคัญเรื่องระบบต่างๆเหล่านี้มากขึ้นกว่ายุคก่อนที่เน้นแต่การดูความปลอดภัยของโครงสร้างตัวรถหลังการชนเพียงอย่างเดียว ซึ่งรถยนต์หลายรุ่นก็ทำได้ดีกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นรถสันดาปฯ หรือรถไฟฟ้า ก็ตาม (เว้นบางคันที่ถูกออกแบบมาแย่จริงๆ ซึ่งก็มีอยู่ไม่กี่คันในอัตราส่วนพอๆกันทั้งสองฝั่ง)