Home » Regenerative Braking รู้และ เข้าใจ ช่วยลดภาระเบรก แค่ไหน ?
ข้อดี/ข้อเสีย บทความ

Regenerative Braking รู้และ เข้าใจ ช่วยลดภาระเบรก แค่ไหน ?

ตั้งแต่รถยนต์ไฟฟ้า เป็นที่นิยม ข้อมูลความรู้ต่างๆ ในโลกออนไลน์ ก็ดูฟูขึ้นมาเพื่อทำให้รถยนต์ไฟฟ้า กลายเป็นฮีโร่ในสายตาของใครหลายคน และ ทำให้ลูกค้ารู้สึกอยากได้ ตัดสินใจใช้

ข้อมูลตามอินเตอร์เน็ต หลายอย่าง กลายเป็นข้อมูลที่เกิดจากการพูดคุย ของคนในกลุ่ม รู้แล้วเล่า ฟังเขามาเขาเล่าว่า หรือ บ้างมาจากผู้ใช้แชร์ประสบการณ์ในการใช้ จนมีความคลาดเคลื่อน อยู่พอสควร

ไม่นานมานี้ นักวิจัยจากอังกฤษ ได้ออกมาแสดงความเป็นห่วง เรื่องมลพิษจากเบรก ว่าอาจจะก่อฝุ่น ในระหว่างการใช้งาน ที่ความอันตรายกว่า ฝุ่นซึ่งถูกปล่อย จากปลายท่อไอเสียของเครื่องยนต์ดีเซล โดยนักวิจัย ได้ให้ข้อมูล แสดงถึงความเป็นห่วงว่า แม้รถยนต์ไฟฟ้าจะไม่มีการปล่อยไอเสียจากระบบขุมกำลัง แต่มันอาจจะปล่อยฝุ่นออกมาในปริมาณความเสี่ยงที่ไม่หนีจากการใช้รถยนต์ดีเซลก็เป็นได้

เมื่อหลายคนได้เข้ามาอ่านเรื่องดังกล่าว ต่างแสดงความเห็น ว่าเบรกรถยนต์ไฟฟ้าของตน ไม่เห็นจะยุบไปเท่าไรเลย เพราะรถใช้ระบบรีเจนฯเป็นหลัก ทำให้ผ้าเบรกยังหนา จนโยงไปว่า งานวิจัยนี้ มั่ว หรือ แม้กระทั่งพูดถึงสื่อรวมถึงเรา ว่า ให้ข้อมูลเท็จ ทั้งที่ข้อมูล นั้นมาจากงานวิจัย

นั่นแสดงถึงอาจจะยังไม่เข้าใจ ถึงตัวเบรกรีเจนฯ อย่างแท้จริง

Regen คืออะไร

Regen หรือชื่อจริงของมัน คือ Regenerative Braking คือ วิธีการทำงานของแบบหนึ่งของมอเตอร์ไฟ้า ในการนำพลังงานจลย์ หรือ พลังงานศักย์มาใช้ ทำให้เกิดแรงต้านด้วยกระบวนการทางไฟฟ้า ทำให้มอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้ขับเคลื่อนสามารถสร้างพลังงานกลับเข้ามาชาร์จในแบตเตอร์รี่ขับเคลื่อน ทำให้มีพลังกลับคืนมาโดยไม่เสียเปล่า หรือ สูญประโยชน์ ไปหลังจากการใช้งาน

ถ้าแปลมาเป็นไทย ระบบนี้ จะใช้ชื่อว่า ระบบเบรกแบบสร้างพลังงานใหม่ พวกมันเป็นไปได้ จากการใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการสร้างแรงหน่วง-แรงต้านทาน ทำให้รถที่มีความเร็ว สามารถชะลอได้

ในบางกรณี สามารถโปรแกรมให้มอเตอร์สามารถสร้างแรงต้าน จนรถหยุดสนิทได้ แต่เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน ระบบนี้ ยังจำเป็นต้องใช้ร่วมกับระบบเบรกแบบดั้งเดิม คือ ระบบเบรกแบบใช้แรงเสียดทาน ในการหยุดรถ หรือ เบรกอย่างรุนแรง เพื่อความปลอดภัยสูงสุด

ระบบเบรกแบบสร้างพลังงานใหม่ กลายเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ในรถยนต์ประเภท มีมอเตอร์ไฟฟ้าใช้ หรือ ช่วยในการขับเคลื่อน

มักพบในรถยนต์ไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้า จนหลายคนได้ใช้ ต่างรู้สึกว่ามันช่างประเสริฐเสียยิ่งอะไร

ข้อจำกัดของการทำงาน Regen

แม้ว่า ฟังดูแล้ว รีเจน น่าจะมีประโยชน์มหาศาล ในการขับขี่ แต่ พวกมันก็มีข้อจำกัดในการทำงานที่สำคัญมากมาย

ประการแรก ระบบรีเจน จะถูกเซทค่าให้ ไม่ทำงาน หรือในบางผู้ผลิต อาจะทำงานต่ำมาก เมื่อแบตเตอร์รี่ขับเคลื่อน ที่จำเป็นต้องใช้ในการนำกำลังไฟฟ้าที่ได้จากการแปลงพลังงานไปกักเก็บ มีระดับแบตเตอร์รี่สูง

ยกตัวอย่างเช่นรถยนต์ไฟ้าหลายรุ่น เมื่อเราชาร์จแบตเตอร์รี่เต็ม 100% มักจะมีแจ้งเตือนว่า การทำงานของระบบเบรก Regenerative Braking จะถูกลดประสิทธิภาพลง เช่น ในรถยนต์ MG 4 จะขึ้นแจ้งเตือนเสมอ ว่า แบตเตอร์รี่อยู่ในระดับสูง การทำงานของ ระบบ Regen จะลดลง ในช่วงแรก

สาเหตุ Regen จะมีประสิทธิภาพลดลง ในช่วงแบตเตอร์รี่เต็ม ก็เนื่องจาก ป้องกันการ Over Charge แบตเตอร์รี่ ซึ่งจะทำให้แบตเตอร์รี่เสื่อมสภาพได้ง่าย

นั่นรวมถึงในบางกรณี สำหรับรถยนต์ไฮบริด ที่มีแบตเตอร์รี่ขนาดเล็ก เมื่อขับลงเขายาวๆ หากแบตเตอร์รี่เต็มในระหว่างเส้นทาง ทำงานของ รีเจน จะลดลง จนเรารู้สึกว่า เป็นอาการรถไหล ไม่ค่อยหน่วง

หากสังเกตระบบจะทำการติดเครื่องยนต์ขึ้นมา เพื่อช่วยในการสร้างแรงดูดให้พร้อมสำหรับระบบเบรกแบบปกติ เป็นการบ่งชี้ว่า ระบบไม่สามารถทำการรีเจน ได้อีกต่อไป ผู้ขับขี่ต้องใช้ เบรกปกติในการขับขี่

ระบบ รีเจน จะกลับมาทำงานเป็นปกติ เมื่อระบบพบว่าแบตเตอร์รี่มีพื้นที่ในการอัดประจุไฟฟ้า (ระดับไฟฟ้าในแบตต่ำลง) กระบวนการรีเจน จึงจะเกิดขึ้นอีกครั้ง

นอกจากนี้ การรีเจนหนัก ไม่ควรใช้ในระหว่างการขับขี่ท่ามกลาง ฝนตกถนนลื่น หรือสภาวะใดที่ถนนมีความลื่น เนื่องจาก แรงหน่วงที่เกิดขึ้น จากการรีเจน อาจทำให้ล้อที่มีแรงเสียดทานต่ำ เกิดการลื่นไหลง่ายขึ้นได้

นอกจากนี้ แรงหน่วงจะเกิดขึ้นเพียงที่ชุดล้อ ที่มอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนเท่านั้น ทำให้ในบางกรณี เช่น ยางรถเริ่มเสื่อมสภาพ บางครั้ง เราอาจจะสัมผัสได้ว่า มีการลื่นไถลเกิดขึ้น (โดยเฉพาะรถที่ขับเคลื่อนล้อหลัง)

ด้วยเหตุนี้ หากคุณเข้าโหมดถนนลื่น หรือ ฝนตก จะพบว่า มักจะมีการเซทค่า รีเจน ในระดับต่ำสุด หรือ บางราย อาจจะปิดระบบเลย เพื่อลดอาการไม่พึงประสงค์ และเป็นการบังคับให้ผู้ขับขี่ ใช้การเบรกแทนรีเจน ในภาวะดังกล่าว

ซึ่งการใช้ เบรกปกติ จะใช้วงจรเบรกหน้า และหลัง เพื่อประคองรถ ไม่ให้เสียการทรงตัว หรือเกิดอาการที่อาจจะลื่นไถลเกิดขึ้น และมีการถ่ายน้ำหนักอย่างถูกต้อง เพื่อสร้างแรงกดไป ทางด้านหน้า

ข้อสุดท้าย,​การใช้การรีเจน อาจจะพบอาการเมารถได้ง่ายในคนบางกลุ่ม เมื่อเจอผู้ขับที่ใช้คันเร่งไม่เนียนนัก ทำให้ผู้ผลิตบางรายตัดสินใจ ใส่โหมดปิดการรีเจนมาให้ เพื่อให้ขับขี่อย่างสบาย และลดอาการเมารถ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้

นอกจากนี้ การใช้รีเจน ผู้ขับขี่ ไม่สามารถจะสั่งให้ระบบหยุดรถได้ตามที่ต้องการ หรือ ตามระยะที่กำหนด ทั้งหมด จะเป็นไปตามค่าการหน่วงที่ระบบถูกกำหนด แต่ผู้ขับขี่ สามารถใช้ความเคยชินในการกะระยะ ควบคุมให้เป็นไปตามต้องการได้

มีไว้ใช้เพื่อ “ชะลอ” ไม่ใช่ “หยุด” รถ

แม้ว่า ระบบรีเจน เราจะถูกทำให้เข้าใจว่า มันสามารถใช้เพื่อหยุดรถได้ หลังจาก ผู้ผลิตบางเจ้า ได้ทำการสร้างระบบรีเจน ให้มีความสามารถในการหยุดรถได้ โดยแนะนำออกมา พร้อมกับตัวรถ

ยกตัวอย่างเช่น นิสสัน แนะนำ ระบบ ePedal ออกมาในรถยนต์ไฟฟ้า Nissan Leaf ในรุ่นปี 2017 ซึ่งทางนิสสัน มองว่า จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ และภายหลัง แนะนำ ระบบ One Pedal ออกมาในรถยนต์นิสสัน ที่ติดตั้ง ระบบ e-Power ด้วยเช่นกัน

ภายหลัง ค่ายรถยนต์ต่างๆ มากมาย ต่างนำเสนอ ระบบลักษณะเดียวกัน จน ลูกค้าบางกลุ่มเข้าใจผิดว่า มันสามารถใช้แทนเบรกได้เลย เนื่องจากระบบชื่อของมัน ก็ระบุว่า Regenerative Braking

อันที่จริงแล้ว ถ้าย้อนไปจุดเริ่มต้นของระบบนี้ ผู้พัฒนาระบบนี้ มีความตั้งใจในการในการให้ระบบใช้ในการกักเก็บพลังงานที่เหลือจากการชะลอความเร็ว มาใช้ เป็นพลังงานในการขับเคลื่อนรถในภายภาคหน้า ดีกว่าสูญเปล่า แบบในรถยนต์สันดาปทั่วไป

โดยผลพลอยได้ จากการแนะนำระบบนี้เข้ามา มันยังช่วยลดค่าซ่อมบำรุงในระยะยาว ( โดยเฉพาะการต้องเปลี่ยนผ้าเบรก) ในทางเดียวกันยังลดขยะ (ผ้าเบรกใช้แล้ว ) ให้น้อยลง จากการใช้ระบบนี้เข้าช่วย

ด้วยเหตุนี้ หากพูดอย่างตรงไปตรงมา การรีเจน ถูกออกแบบมาเพื่อลดความเร็ว หรือ ชะลอความเร็วในการขับขี่มากกว่า ไม่ได้มีจุดประสงค์ไว้หยุดรถ โดยตรง

เนื่องจากการทำงาน การอาศัยตัวมอเตอร์ในการสร้างแรงหน่วง แม้ว่ามันสามารถสร้างแรงหน่วงได้มาก โดยเฉพาะในรถที่มีมอเตอร์ 2 ตัว แต่ เมื่อเปรียบเทียบกับ การตอบสนองของเบรกดั้งเดิม ที่สามารถสร้างแรงเสียดทานได้ทันที แทนที่จะเป็นการคาดเดา ว่ามันจะหยุดลงเมื่อไร

นั่นทำให้ระยะหลัง ผู้ผลิตหลายราย เริ่มปรับและไม่ค่อยพูดถึงการใช้รีเจนแทนเบรก

ยกตัวอย่างเช่น Nissan มีการปรับ ระบบรีเจน ใน นิสสัน คิกส์ จากเดิมสามารถใช้จนหยุดนิ่งได้ ให้เป็นระบบที่ใช้เพียงชะลอความเร็ว เมื่อความเร็วต่ำกว่า 5 กม./ชม. ระบบจะหยุดทำงาน และ จะเป็นอาการวิ่งไหล เพื่อให้ผู้ขับขี่ใช้เบรกในขั้นตอนสุดท้าย

ความปลอดภัย กำลังตัดตอน ให้ใช้เพื่อชะลอเท่านั้น

แม้ว่าหลายคนที่ขับรถยนต์ไฟฟ้าและรถไฮบริด อาจจะเคยลองหรือใช้ระบบรีเจนจนกระทั่งรถหยุดมาแล้ว แต่ในยุคนี้เรื่องนี้กำลังเปลี่ยนไป เมื่อ ความปลอดภัยกำลังทำให้ ผู้ผลิต ต้องสร้างเงื่อนไข ในการใช้รีเจน

ในกรณี นิสสัน ที่ต้องยกเลิก การรีเจน จนหยุดได้ ในนิสสันคิกส์ ผมยังจำได้ว่า ส่วนหนึ่งมาจากเรื่องความปลอดภัย เพื่อป้องกันผู้ใช้สับสนกับแป้นเบรก และ คิดว่า แป้นเบรกไม่จำเป็นต้องใช้ จนอาจสุ่มเสี่ยงทำให้เกิดอุบัติเหตุ

อีกประการ ก็มาจากการ การกะระยะเบรก ซึ่งมาจากหลายปัจจัย เช่น ความเร็ว การลดเอียง หรือ มุมทางลง / ลาดชัน มีผล ทำให้ผู้ขับขี่อาจกะระยะผิดได้

ขณะที่ Tesla ทำการอัพเดท ระบบของพวกเขา จากเดิมที่มีการ แนะนำ ระบบจนสามารถใช้หยุดรถได้ เรียกว่า ระบบ One Pedal

ปัจจุบัน เทสล่า ได้แนะนำแนวทางใหม่ของ regenerative Braking จากเดิมที่ใช้ แนวทางเหมือนกันทั้งหมด ในรถทุกรุ่น ตอนนี้ลูกค้าสามารถ ตั้งการรีเจนได้ ระหว่างหนัก หรือ เบา และยังสามารถตั้งค่าในการหยุดรถ หรือ Stopping Mode ได้ว่าจะให้รถค่อยๆคลาน , ไหลไปเรื่อยๆ หรือ หยุดด้วยตัวเอง

ทำให้ผู้ใช้มีทางเลือก เพื่อความมั่นใจ และความปลอดภัยในการใช้รถของตัวเอง ไม่ได้บังคับว่าจะต้องใช้ระบบดังกล่าว เหมือนในรถยนต์รุ่นอื่น ที่วางไว้เป็นทางเลือก สำหรับคนที่อาจจะคุ้นชินกับรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว

นอกจากนี้ ยังเพิ่มฟังชั่น Apply Brakes When Regenerative Braking is Limited เพื่อทำให้การแปรผันที่เกิดขึ้นจากการใช้ระบบรีเจน น้อยลงไปด้วย

เทสล่าได้เขียน คำเตือน ไว้อย่างน่าสนใจว่า “Many factors can contribute to a longer stopping distance, including downward slopes, and reduced or limited regenerative braking (see Regenerative Braking). Always be prepared to use the brake pedal to adequately decelerate or stop.”

Regen ใช้ได้ ทำงานดี แต่ควรเข้าใจ

มาถึงตรงนี้ ในฐานะคนใช้รถยนต์ไฟฟ้า ,​รถสันดาป และขับทดสอบมามากมายหลายรุ่น ผมยอมรับว่าการใช้รีเจน นั้นเป็นประโยชน์มาก ในการขับขี่

รถยนต์ไฟฟ้าที่ทดสอบส่วนใหญ่ จะมีระยะหยุดเพียงราวๆ 35-42 เมตรเท่านั้น สั้นกว่ารถยนต์สันดาป ที่มักจะมีระยะเบรก 45-50 เมตร ขึ้นอยู่กับรุ่นและยี่ห้อ

แต่เนื้อแท้ ของระบบ รีเจน นั้นไม่ได้ออกแบบ มาเพื่อให้คุณหยุดรถแม้มันจะได้เช่นนั้น หน้าที่ของมันจริงๆ คือ แปลงพลังงานที่เหลือในระหว่างที่เราปล่อยรถไหลหรือชะลอ ให้ไม่สูญเปล่าไปอย่างไร้ค่า

สิ่งที่ได้ตามมาคือ แรงหน่วงจากมอเตอร์ไฟฟ้า จนเรารู้สึกว่า แทบไม่เห็นต้องเบรกก็ได้นี่

ทั้งที่จริง,​ การรีเจน ไม่ได้มีความแม่นยำ เท่าการที่เราควบคุมเบรกด้วยตัวเอง ว่าจะหยุดตรงไหน ก็เพียงกดเบรกไปให้เพียงพอที่เราจะหยุดรถ ตามระยะที่เราต้องการ

นอกจากนี้ การใช้มอเตอร์สร้างแรงเสียดทานยังสร้างภาระกับยาง และอาจเป็นปัญหา กับการขับขี่ในบางพื้นที่ เช่นฝนตกถนนลื่น

ตลอดจนยังมีเงื่อนไขในการใช้งาน เช่น ระดับไฟฟ้าในแบตเตอร์รี่ และ ลักษณะเส้นทาง ที่มีผล ต่อการใช้พวกมันหยุดรถโดยตรง

มันอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่นัก ถ้าคุณขับรถในเมืองเป็นหลัก ขับความเร็วต่ำ ไม่นานก็อาจจะจับทางว่า เมื่อไร ควรถอนเท้าให้มันรีเจนจนหยุดนิ่ง แต่เพื่อความปลอดภัยสูงสุด ก็ไม่ใช่ ใช้รีเจนจนลืมการเบรก

นอกจากนี้ ที่ผมเห็นในโพส งานวิจัย หลายคนใช้พยายามขิงว่า รถผมยังผ้าเบรกหนา ใช้มาเป็นแสน ก.ม.แล้ว

ซึ่งความจริงแล้ว ผ้าเบรก นั้นยังจำเป็นต้องใช้ร่วมด้วยเสมอ เพื่อป้องกัน การเกิดสนิม และอาการผ้าเบรกตาย เนื่องจาก หากหน้าผ้าเบรกไม่ได้ใช้งานเป็นเวลานาน มันจะแข็ง และไม่สามารถสร้างแรงเสียดทานได้ อย่างที่ควรจะเป็น และจากการสอบถามข้อมูลผู้เชี่ยวชาญงานบริการ รถยนต์ไฟฟ้า ระบุว่า และแนะนำว่า ผ้าเบรก ควรเปลี่ยนทุก 5 ปี แม้ไม่หมด ก็สมควรจะเปลี่ยน เพื่อประสิทธิภาพการทำงาน

ดังนั้น การขับรถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์ไฮบริด ควรใช้เบรกทั้ง 2 ระบบ ไม่ใช่ระบบใดระบบหนึ่ง แม้สิ่งที่มันทำ อาจจะทำหน้าที่ในการหยุดรถได้เหมือนๆ กัน แต่ ทางผู้ผลิตออกแบบ ให้มันตอบสนองต่างกัน

ข้อมูล ประกอบบทความจาก Wikipedia ,คู่มือ Tesla

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่

Comments are closed.