ถ้าคุณแต่งรถยนต์ให้มีสมรรถนะที่ดีขึ้นตามลำดับตรงใจความต้องการ ต้องยอมรับว่า มีของแต่งจำนวนมากที่พร้อมให้คุณจ่ายเงินซื้อหามาใช้งานกัน แต่มีเพียงไม่กี่สิ่งเท่านั้นที่สามารถใช้งานได้จริง ให้ผลจริง จนคุณรู้สึกได้ทันทีเพียงแค่ใส่เข้าไปในรถว่า มันสามารถช่วยเหลือสมรรถนะในการขับขี่ให้ดียิ่งขึ้น
ของดีราคาถูกและเพิ่มสมรรถนะได้จริง มีอยู่ในโลกนี้ แต่หลายคนมักไม่เข้าใจว่าทันทำงานอย่างไร…
หนึ่งในนั้นก็คงหนีไม่พ้นเจ้า “ค้ำโช๊ค” หรือ ในภาษาฝรั่งเรียกว่า “Strut Tower Bar” เจ้าเหล็กยาวที่ติดตั้งเข้าไปบนหัวโช๊คระหว่างล้อทางซ้าย และ ล้อทางขวา แม้จะดูเป็นเหมือนเหล็กโง่ๆ แต่มันกลับสร้างความแตกต่างได้อย่างไม่น่าเชื่อ
หลักการทำงานของระบบช่วงล่างที่เราใช้กันในรถยนต์ทุกคันในปัจจุบัน อาศัยกฎหลักอยู่ 3 ข้อ สำคัญ คือ 1.ความแข็งแรงของโครงสร้างตัวถัง หรือ Body Rigidity 2.แรงกระทำต่าง ซึ่งได้แก่ง แรงเสียดทาน แรงเหวี่ยง แรงกด เพื่อทำให้ช่วงล่างตอบสนองแตกต่างกัน และท้ายสุด เป็นเรื่องของน้ำหนักในภาพรวมของตัวรถที่กดทับลงบนช่วงล่าง
“ค้ำโช๊ค” เข้ามามีบทบาทใน 2 ข้อแรก ที่ผมได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ด้วยการเสริมความแข้งแรงของโครงสร้างรถมากขึ้น ไปพร้อมกับการจัดการในเรื่องการถ่ายทอดแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการขับขี่ ซึ่งทำให้รถมีประสิทธิภาพในการขับขี่ดีขึ้น อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางโค้ง
ในยามเราขับรถไปตามถนน แรงต่างๆ จะถูกกระทำผ่านระบกันสะเทือนอยู่อย่างต่อเนื่อง ตลอดเวลา ทั้งแรงกระแทกจากถนน ตลอดจนแรงเหวี่ยงในโค้ง “ค้ำโช๊ค” เข้ามามีบทบาทสำคัญในการส่งแรงต่างๆ เหล่านี้ถ่ายทอดการซับแรงต่างๆ จาก โช๊คเพียงด้านใดด้านหนึ่ง ไปสู่โช๊คอีกด้านหนึ่งก็ให้เกิดการรับแรงต่อเนื่องสู่โช๊คทั้ง 2 ต้น ซึ่งส่งผลทำให้ระบบกันสะเทือนโดยเฉพาะชุดโช๊ค ตอบสนองในการขับขี่ดีขึ้น
เมื่อคุณกระแทกหลุมแรงจากโช๊คด้านที่กระแทกหลุม จะส่งแรงขึ้นมายังเบ้าโช๊ค หรือ หัวโช๊คที่สตรัทบาร์ค้ำโช๊คติดตั้งอยู่ แรงบางส่วนจากล้อด้านที่มีการกระแทกจะส่งผ่านชุดเหล็กไปยังหัวโช๊คอีกด้านทำให้เกิดการย่อตัวลงหรือกดทับจากด้านบนของโช๊คเล็กน้อย ทำให้รถมีเสถียรภาพในการขับขี่มากขึ้น
ส่วนในยามที่เราเข้าโค้ง แรงเสียดสีจากชุดยางในล้อของเราจะทำให้เกิดแรงเหวี่ยงเมื่อเราหักพวงมาลัยเข้าโค้ง ทำให้องศาการทำงานของชุดอาร์มช่วงล่างทางด้านล่างปรับเปลี่ยนไปองศาเล็กน้อยมีการเอียงตัวในระหว่างการเข้าโค้ง
สมมุติว่าเราจะเข้าโค้งซ้ายหักศอก แรงเสียทานจากยางและล้อ จะกระทำไปทางซ้ายของรถ แต่แรงเหวี่ยงของรถจะพยายามพาคุณไปทางขวา หากรถที่เราขับไม่มี “ค้ำโช๊ค” แรงที่กระทำกับช่วงล่างจะรับแรงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น อาศัยเพียงความแข็งแรงตัวถังในการซับแรงเหวี่ยงแล้วทำให้เกิดสมมดุลของแรงกระทำในระหว่างการเข้าโค้ง ในแง่หนึ่งลักษณดังกล่าวทำให้โครงสร้างรถดูเหมือนจะบิดตัวเล็กน้อยในความเป็นจริง
ยกตัวอย่างในกรณีที่คุณเข้าโค้งซ้ายตามที่เราได้กล่าว ล้อที่อยู่ในโค้ง (ล้อซ้าย) จะสัมผัสพื้นเต็มที่มากกว่าทางด้านนอก (ล้อขวา) ในระหว่างการเข้าโค้ง แต่เมื่อคุณติดตั้ง “ค้ำโช๊ค” เข้าไปในรถ ตัวค้ำ จะช่วยในการเพิ่มโครงสร้างความแข็งแรงของตัวถังมากขึ้น นอกจากนี้ในกรณีเข้าโค้งซ้ายเดียวกัน แรงกระทำจากช่วงล่างจากล้อด้านซ้ายจะถูกส่งไปยังล้ออีกด้าน ทำให้ ชดช่วงล่างทางด้านขวามีการทำงานที่สอดประสานตามกันไป โดยอาศัยการถ่ายทอดแรงจากชุดเหล็กค้ำโช๊ค รวมถึงด้วยความแข้งแรงของตัวค้ำโช๊ค ทำให้เกิดการบิดตัวในการโค้งน้อยลง ทำให้การรับแรงเสียดทานเกิดขึ้นในทั้ง 2 โช๊ค แทนที่จะเป็นด้านใดด้านหนึ่ง ส่งผลให้ช่วงล่างเกิดการเกาะถนนมากขึ้น และคุณเข้าโค้งได้มั่นใจกว่า รถที่ไม่มีเหล็กค้ำโช๊ค
เหล็ก”ค้ำโช๊ค” อาจจะฟังดูไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่เรื่องของแรงและวิศวกรรมเป็นเรื่องที่ชวนน่าพิศวงอย่างยิ่ง รถยนต์ที่เน้นสมรรถนะในการขับขี่หลายรุ่น ติดตั้งเหล็กค้ำโช๊คมาให้จากโรงงาน อาที Subaru WRX Sti , Honda Civic Type R รวมถึงผู้ผลิตหลายรายยังมีให้ลูกค้าซื้อเป็นอุปกรณ์ตบแต่งเสริมอีกด้วย
อย่างไรก็ดี ถ้าคุณไม่ใช่พวกบ้าระห่ำในยามเข้าโค้ง หรือขับรถไม่ได้เร็วไปกว่า 120 ก.ม./ช.ม. เหล็กค้ำโช๊คไม่ใช่ของจำเป็นเลยด้วยซ้ำ แต่ถ้าอยากมั่นใจมากขึ้นในการเดินทาง … ลองหามาใส่สักอัน รับรองว่าเห็นความแตกต่างแน่นอน
ชอบกดไลค์ใช่กดแชร์ ขอบคุณทุกกำลังใจสำหรับพวกเรา ridebuster.com