ทุกวันนี้บางครั้ง ที่ผมมองไปในรถยนต์ใหม่ หลายครั้งเราอาจจะคิดว่าบริษัทรถยนต์นำเสนอของใหม่มาให้เราใช้ ด้วยการออกแบบวิศวกรรมตัวรถที่ดูทันสมัยมากขึ้น จนเราไม่ทันนึกว่าบางอย่างในรถคันนั้นเป็นเทคโนโลยีเก่า ที่วิศวกรคิดว่ามันยังเหมาะในการใช้งานอยู่
1.เกียร์ออโต้ 4 สปีด
ปัจจุบันเกียร์หลายอัตราทดเป็นของเล่นในรถยุคใหม่ ทว่าเจ้าเกียร์ออโต้ 4 สปีด ที่ใช้กันมายาวนานตั้งแต่ช่วงยุค 80 ก็ยังรอดตายมาถึงยุคใกล้ 2020 อย่างไม่น่าเชื่อ จนบางคนรู้สึกว่าพวกเขาควรได้อะไรที่ดีกว่าไหม
อันที่จริงเกียร์ออโต้ 4 สปีด เคยจางหายไปจากตลาดพักหนึ่งแทนที่ด้วยเกียร์อัตโนมัติ CVT ชุดเกียร์สายพานต่อเนื่องทำให้ได้ความนุ่มนวลตอบสนองการขับขี่ดีอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา CVT พิสูจน์ว่ามันไม่เหมาะกับรถบางแบบและถนนบางแห่ง เช่นทางขึ้นสูงชัน และยังมีประเด็นที่วิศวกรต้องขบคิดถึงความทนทานเมื่อลูกค้าใช้ในระยะยาว
ด้วยเหตุนี้เกียร์ออโต้ 4 สปีด จึงกลับมาแจ้งเกิดในรถบางรุ่นที่ต้องใช้เพื่อการบรรทุกและเน้นขับในเมือง หรือถ้าเดินทางไกล ก็ไม่ใช่รถที่ขับเร็วปานสายฟ้า ทำให้เราเริ่มเห็นพวกมันมากขึ้น และเชื่อว่าจะมีแนะนำเพิ่มเติมอีกในอนาคต
2.ดรัมเบรก
ถ้าผมให้ทานว่าระบบดรัมเบรก อยู่กับวงการรถยนต์มานานเท่าไร คุณคงไม่เชื่อแน่ ว่ามันอยู่มานานถึง 117 ปี แล้ว หลังจากทางแบรนด์ Maybach คิดค้นในปี 1900 และ หลุย เรโนลต์จดสิทธิบัตรในปี 1902
ระบบดรัมเบรก เป็นวิธีการเบรกที่มีประสิทธิภาพ โดยการยืดผ้าเบรกไปแตะทางด้านข้างของฝักเบรก สร้างแรงเสียทานอย่างดี แต่มันมีปัญหาเรื่องการระบายความร้อนในการเบรก จึงไม่เหมาะกับรถที่ใช้ความเร็วสูง ทำให้ในภายหลังมีการคิดค้นดิสก์เบรก และเริ่มมีการติดตั้งในรถยนต์ใหม่ในปี 1960 ในตำแหน่งล้อหน้า รูปแบบนี้ยังใช้มาถึงปัจจุบันในรถยนต์หลายแบบ เช่นรถที่ต้องบรรทุกหนัก ,รถนั่งขนาดเล็ก
การวางดรัมเบรกไว้ข้างหลัง ช่วยให้มันทำงานมีประสิทธิภาพ เนื่องจากพื้นที่สัมผัสเยอะและทำงานแค่จังหวะแรกเท่านั้น ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องอาการเบรกร้อน และมีความทนทานใช้ได้ยาวนานด้วย
3.ไฟฮาโลเจน
ไฟส่องสว่างยามค่ำคืนฮาโลเจน ยังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มรถราคา ไม่เกิน 7 แสนบาท จะให้ไฟแบบนี้ติดตัวมาเป็นของแถมจากโรงงานเสมอ
ไฟหน้าฮาโลเจนสีส้ม เป็น Classic item ที่มีมาในรถยนต์ทุกยุคสมัย หลอดไฟทังสเตน-ฮาโลเจน แนะนำครั้งในช่วงปี 1962 ด้วยขั้ว H1 และภายหลังพัฒนาจนมีขั้วหลายแบบสำหรับการส่องสว่างในงานที่หลากหลาย
ระบบไฟฮาโลเจนมีข้อเสียคือกินไฟมากกว่าการให้ความส่องสว่าง บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ Bosch และ Hella เป็น 2 บริษัทแรกพัฒนาไฟแบบใหม่ High Intensive Discharge หรือ HID สำเร็จ ในปี 1992 ติดตั้งในรถยนต์ BMW Series 7 เป็นรุ่นแรก ระบบส่องสว่างใหม่เปลี่ยนช่วงสีของแสงจากสีส้มมาเป็นสีขาว / สีฟ้า ซึ่งไวต่อช่วงแสงที่ตามนุษย์มองเห็นมากขึ้น
นอกจากนี้ไฟ HID มีความเข้มแสงที่ได้สูงกว่าเท่าตัว เมื่อเทียบกับหลอดฮาโลเจน การวิจัยชี้ว่าผู้ขับขี่มีทัศนวิสัยดีขึ้น รวมถึง ยังตอบสนองต่ออันตรายเวลาขับขี่เร็วขึ้น เวลาใช้ไฟแบบนี้
ถ้าคุณสงสัยว่า ถ้างั้นทำไม บริษัทรถยนต์ไม่ให้ไฟ HID มากับรถทุกคัน นั่นเพราะ ราคาไฟ HID สูงกว่ามากแถมยังต้องทำโคมบังคับทิศทางหรือที่เรียกว่า Projector อีกด้วย
4.เทอร์โบ
เจ้ากังหันมหากาฬ ระบบอัดอากาศสู่เครื่องยนต์ หรือ Force Induction นั้นไม่ใช่ความคิดใหม่ มันเป็นความคิดเก่าทางวิศวกรรมที่แนะนำมาตั้งแต่ก่อนปี 1900 ด้วยซ้ำ
ก๊อทเลี้ยบ เดมเลอร์ อาจเป็นคนแรกที่คิดว่าน่าจะสามารถใส่กลไกบางอย่างในเครื่องยนต์เพื่อทำให้ดันอากาศไปเผาไหม้มากขึ้น (เข้าใจว่าหลักการนี้ตอนหลังเป็นเทอร์โบในฝาสูบ) ทว่ากลายเป็น อัลเฟรด บูชิ ที่ประดิษฐ์เทอร์โบสำเร็จ เขาวางแผนติดตั้งมันกับเครื่องยนต์ดีเซลที่ด้อยประสิทธิภาพในยุคนั้น
ระบบเทอร์โบชาร์จเริ่มแรกนำมาใช้ในเรือ และช่วงสงครามโลกนำมาใช้ในเครื่องบิน ก่อนมาติดตั้งในรถยนต์ภายหลัง ในระยะแรก มันออกแบบสำหรับเพิ่มสมรรถนะ จึงนิยมในรถสปอร์ต จนกระทั่งไม่กี่ปีที่ผ่านมา เทอร์โบนิยมติดตั้งกับเครื่องขนาดเล็ก เพื่อให้มีประสิทธิภาพเท่าเครื่องยนต์ขนาดใหญ่
แม้ว่าจะผ่านมากว่า 100 ปี นับแต่ครั้งแรก เทอร์ดบชาร์จไมได้เปลี่ยนไปมากอย่าที่เราคิดในยุคแรก เราใช่แกนเชื่อมใบพัดไอเสีย กับฝั่งไอดี เพื่อรีดอากาศเข้าสู่ห้องเผาไหม้ เทอร์โบยุคเก่ามีข้อเสียเดียวสำคัญ คือมันติดบูสต์ช้า (บูสต์= แรงดันอากาศมากกว่าปกติที่ได้รับจากการทำงานของเทอร์โบ)
จึงมีการปรับปรุงต่อเนื่อง เช่นออกแบบโข่งใหม่ จนในช่วงยุค 90 เป็นต้นมา พัฒนาการสำคัญจึงเกิดขึ้นด้วยการแทนที่ชุดแกนเทอร์โบ ด้วยชุดแกนเทอร์โบลูกปืน ทำให้ติดบูสต์เร็วขึ้น ในระยะหลังมีการใช้ระบบไฟฟ้าช่วยควบคุมครีบอากาศในโข่งเทอร์โบ เป็นที่มาของเทอร์โบแปรผัน และปัจจุบัน มีแนะนำระบบเทอร์โบไฟฟ้า ในรถยนต์สมรรถนะสูงชั้นนำ
5.ช่วงล่างหลัง ทอร์ชั่นบีม
Torsion Beam เป็นแขนงหนึ่งของช่วงล่างระบบคานบิด ที่มีในรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้าหลายรุ่น และปัจจุบันเราเริ่มเห้นบริษัทรถยนต์นิยมใช้มากขึ้นด้วย
แนวคิดช่วงล่างคานบินนำเสนอครั้งแรกในรถยนต์ Volkswagen Golf ,polo และ Scirocco ในปี 1974 ส่วนหนึ่งมาจากการปรับแนวคิดพัฒนารถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้า เมื่อไม่จำเป็นต้องขับเคลื่อนล้อหลัง ทางวิศวกรจึงคิดระบบกันสะเทือนกึงอิสระ ทำให้ล้อจูบถนนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ทีมเยอรมันคิดว่า มันเป็นไปได้ที่จะสร้างคานขึ้น 1 ชิ้น เพื่อยึดล้อ 2 ด้านไว้ด้วยกัน เมื่อล้อฝั่งหนึ่งขยับจะส่งผลถึงอีกฝั่งหนึ่ง ตอบโจทย์ในแง่การเกาะถนน แต่มันก็ต้องแลกมาด้วยคุณภาพการโดยสารไม่มีทางสู้ช่วงล่างอิสระได้เลย
ระบบกันสะเทือนแบบนี้นิยมมากในปัจจุบัน เนื่องจากสร้างง่ายประหยัดต้นทุน มีรายงานว่า บริษัทรถยนต์สามารถประหยัดต้นทุนได้กว่า 100 ยูโรต่อคัน (ราวๆ 5-6 พันบาท) เมื่อเปรียบเทียบระหว่างการสร้างรถช่วงล่างอิสระกับระบบทอร์ชั่นบีม