กลายเป็นประเด็นที่คนขับรถต่างรอฟัง เมื่อ รมต. คมนาคม เร่งมาดูกฎหมายทางด้านหารจราจรที่ส่อแววปัญหาในการขับขี่ อย่างความเร็วเดินทางตามกฎหมายกำหนดได้สูงสุดเพียง 90 ก.ม/ช.ม. และประกาศขอศึกษาการขับขี่ด้วยความเร็ว 120 ก.ม./ช.ม. รวมถึง จะหาระเบียบจัดการรถขับช้าชิดขวาด้วย
การหันมาเอาจริงเอาจังเรื่องนี้ทำให้หลายคนต่างคิดว่าน่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในประเทศครั้งใหญ่ จนกระทั่งทางฝ่ายบังคับใช้กฎหมายจราจร เจ้าหน้าที่ตำรวจโยนเผือกร้อนกลับมาว่า ถนน 4 เลน บางสายมีเขตชุมชน และไม่เหมาะให้ใช้ความเร็ว 120 ก.ม./ช.ม.
ประเด็นเรื่องความเร็วตามกฎหมายกำหนด กลายเป็นเรื่องที่ทำให้ประชาชนปวดหัว ทั้งด้วยการบังคับใช้กฎหมาย ที่เก่าคร่ำครึไม่เหมาะสมต่อสภาวการณ์ในปัจจุบัน ไปจนถึงความทันสมัยของรถในปัจจุบัน หลายสิ่งหลายอย่าวล้วนเป็นปัจจัยน่าสงสัยว่า ทำไม ถนนเมืองไทย ขับได้ 90 ก.ม./ช.ม. และเหตุปัจจัย อะไรทำให้รถต้องขับ 90 ตามกฎหมาย ที่ใช้มานาน 40 ปี
เล่าเรื่องเก่าในอดีต ความเร็วตามกฎหมายกำหนด
ตั้งแต่ภาคนิติบัญญัติ ตรากฎหมายเกี่ยวกับการจราจรทางบกออกมาใช้ กฎหมายในบ้านเราก็แปลกด้วยการออกระเบียบกฎกระทรวงออกมาเป็นเทือกเขาเลากา หนึ่งในนั้น คือการวางแนวทางจำกัดความเร็วเดินทางในเมือง และนอกเมือง
การกำหนดความเร็ว ออกมา กฎกระทรวง ฉบับ ที่ 6 เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 โดย พลเอกเล็ก แนวมาลี ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในเวลานั้น ระบุให้ การเดินทาง ในเขตเมือง (พื้นที่ชุมชน , กรุงเทพมหานคร , พัทยา ) รถยนต์ส่วนบุคคลจะต้องเดินทางด้วยความเร็ว 80 ก.ม./ช.ม. และนอกเมืองให้ใช้ความเร็วได้สูงสุด 100 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง
จนในภายหลัง เมื่อ นาย ประเทือง กีรติบุตร ขึ้นมาดำรงตำแหน่งได้สังปรับความเร็วตามกฎหมายกำหนดใหม่ เปลี่ยนนอกเมืองเป็น 90 ก.ม./ช.ม. ในกฎกระทรวงฉบับที่ 10 พ.ศ. 2522 และ ใช้มาถึงปัจจุบันวันนี้
ทำไมขับ 90 ก.ม./ช.ม.
ก่อนอื่นต้องย้อนถนนเมืองไทยไป 40 ปีที่แล้ว ต้องยอมรับว่า ถนนรูปแบบ 4 เลน ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน เพิ่จะเกิดขึ้นในระยะ 20-30 ปีที่ผ่านมา ถนนส่วนใหญ่ในประเทศไทย จากที่ถามคนเก่าแก่ พบว่า เป็นถนนแบบ 2 เลนสวน เสียส่วนใหญ่ และ ถนนสายหลักดั้งเดิม อย่างพหลโยธิน , สุขุมวิท ส่วนใหญ่เป็นการสร้างในรูปแบบ ถนน 4 เลนไม่มีเกาะกลาง
เมื่อประกอบกับเทคโนโลยีรถยนต์ในยุค 40 ปี ที่แล้ว รถยนต์ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีความทันสมัยมากมาย รถบางคันยังไม่ใช้ระบบดิสก์เบรก หรือ มีอุปกรณ์ช่วยผ่อนแรงในการขับขี่มากมายด้วยซ้ำ
อาจทำให้การขับรถด้วยความเร็ว 100 ก.ม./ช.ม. สำหรับรถยนต์ในยุคนั้นยากต่อการควบคุม และเสี่ยงต่อการเกิดความไม่ปลอดภัย ทำให้จึงมีการปรับลดอัตราความเร็วในภายหลัง เพื่อให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ในยุคนั้น
นอกจากนี้ยังมีบางข้อมูลชี้ว่า การตั้งใจให้ขับ 90 ก.ม./ช.ม. เป็นไปตามแนวคิดรัฐบาลที่ต้องการทำให้ประเทศไทยมองถึงการประหยัดพลังงาน จนภาครัฐนำมาเชื่อมโยงว่า ขับ 90 ประหยัดน้ำมัน แคมเปญรักชาติที่คุ้นหูของคนไทย
ความเร็ว จำเลยหลักทุกเรื่อง.. อุบัติเหตุ
การเปลี่ยนแปลงคามเร็วตามกฎหมายลดลงตั้งแต่สมัยคุณปู่คุณตา ทำให้ตำรวจยึดแนวปฏิบัตินี้มาโดยตลอด และเรียนทราบกันมาว่ากฎกระทรงมหาดไทย อนุญาตให้ความเร็วตามกฎหมายกำหนดได้ 90 ก.ม./ช.ม. ทำให้เจ้าหน้าที่ในฐานะผู้บังคับใช้ ควบคุมดูแลยึดถือแบบนี้มาจนปัจจุบัน
ตามรายงานสถิติอุบัติเหตุของสำนักงานความปลอดภัยกราทางหลวงชี้ว่า สาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2561 โดยส่วนใหญ่มาจากการใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนดถึง 74.30% ของภาพรวมอุบัติเหตุทั้งประเทศ หรือ ราว 12,664 ครั้ง กว่าครึ่งในจำนวนนี้ เกิดอุบัติเหตุในทางตรง
เมื่อมองในรายงานเดียวกันถึงการเกิดุบัติเหตุ ชี้วเรื่องน่าตกใจว่าในรอบปีที่ผ่าน ถนน 4 เลน เกิดอุบัติเหตุมากกว่า ถนน 2 เลน และ ถนน 6 เลน ด้วยอัตราเกิดอุบัติเหตุถึง 0.45 จากข้อมูลสถิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถนนที่มีเกาะกลางแบ่ง ระหว่าง 2 ฝาก จะมีโอกาสเพิ่มขึ้นเป็น 0.74 โดยเฉพาะสภาพทางตรง ระบุว่ามีอากสเกิดอุบัติเหตุ 0.65
ดังนั้น หากสรุปข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุตามรายงานนี้ ชี้ชัดว่าอุบัติเหตุ เกิดบ่อยมากที่สุดคือถนนทางตรง 4 เลน มีเกาะกลาง และมันอาจกำลังบอกอะไรเราบางอย่างอยู่หรือไม่
จนเมื่อต่อมายังคำตอบของทางฝั่งตำรวจว่าถนนเมืองไทย ยังไม่พร้อมสำหรับความเร็วมากกว่า 90 ก.ม./ช.ม. เนื่องจากมีเขตชุมชนเป็นระยะ ก็ยิ่งสมควรศึกษาต่อไปว่า กายภาพถนนวันนี้ทำไม ถนน 4 เลน จึงมีอุบัติเหตุมากกว่า ถนน 2 เลน หรือ มากกว่า 4 เลน
ถนนไม่พร้อมรถพร้อม พอทดแทนกันได้
แม้นว่าความจริงเรื่องถนนที่เราใช้ในประเทศไทยจะเป็นประเด็นที่เราไม่สามารถปฏิเสธความจริงไปได้ ทั้ง การวางช่องทางการจราจร ที่แปลกประหลาดที่สุดในสามโลก รวมถึง สภาพผิวทางที่มีหลุมบ่อ ราวกับขาดงบประมาณซ่อมผิวถนน ไปจนถึงการออกแบบบางส่วนอาทิ คอสะพานให้กระโดด ทั้งที่สามารถปรับปรุงให้ดีกว่านี้ได้
ในการใช้รถต้องยอมรับว่า ถนนเป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยการขับขี่เท่านั้น และปัจจุบันข้อเสียเปรียบของถนนในบ้านเรากลายเป็นเรื่องขี้ประติ๋ว เมื่อเจอสมรรถนะรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่มีการวิศวกรรมให้ดีขึ้นกว่าเดิมมาก จนเหมือนหนังคนละม้วน
รถยนต์อย่างอีโค่คาร์หรือรถยนต์นั่งขนาดเล็กในวันนี้ สามารถเดินทางด้วยความเร็วมากกว่ารถสมัยก่อน แถมมีความมั่นใจในการขับขี่มากขึ้น เนื่องจากมีอุปกรณ์ช่วยเหลือในการขับขี่ต่างๆ มากขึ้น อาทิ ระบบกันสะเทือนที่มีการปรับแต่งดีขึ้น , การเพิ่มสิ่งอำนวยการควบคุม อาทิ ระบบบังคับเลี้ยวสมัยใหม่ที่มีความเบาและง่ายมากขึ้น รวมถึงยังมีระบบควบคุมสร้างคงามปลอดภะย อาทิ ระบบเบรกป้องกันล้อล็อค , ระบบควบคุมการทรงตัว รถบางรุ่นมีความทันสมัย ขนาดล็อคความเร็วแล้วเบรก เร่ง ออกตัวเอง
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ทำให้รถควบคุมง่ายขึ้น ขับขี่ได้ปลอดภัยขึ้น และมีศักยภาพมากขึ้น จนคนมั่นใจจะใช้ความเร็วมากขึ้น ติดเพียงแต่ว่าการเดินทางในวันนี้ ถ้าว่ากันด้วยกฎหมายที่ภาครัฐกำหนด ตำรวจบังคับใช้ ให้ขับได้เพียง 90 ก.ม./ช.ม. เท่านั้น โดยอ้างว่ายึดความตรงฉิน กฎหมายกำหนด ทั้งที่ความจริงถนนไม่พร้อม แต่รถในวันนี้พร้อมและเพียงพอต่อการใช้ความเร็วเกิน 90 ก.ม. /ช.ม. จากที่มีโอกาสขับรถสมัยใหม่หลายยี่ห้อ จนต้องกล่าวว่าถนนไม่พร้อมแต่รถพร้อม ก็เป็นปัจจัยที่ส่งเสริมและหักล้างกันได้หรือไม่
ขับเร็วจ่าจับ.. สร้างปัญหาในการจราจร
เมื่อกฎหมายเถรตรง…ประชาชน ก็เลยเกิดการเถรตรงขึ้นมาบ้าง
ตำรวจให้ขับด้วยความเร็ว 90 ก.ม./ช.ม. ก็เลยเกิดนิสัยใหม่ ช้าแช่ขวา ในสังคมไทย พฤติกรรมช้าแช่ขวา มาจากการมองแบบศรีธนญชัยของคนหลายกลุ่ม ที่บอกว่า ก็ในเมื่อกฎหมายให้เพียง 90 ถ้าเราขับ 90 ก.ม./ช.ม. ในเลนขวา ก็ถือว่ไม่ผิดหรือไม่ เนื่องจากปฏิบัติตามกฎหมาย
นั่นทำให้ คนที่ขับรถเร็วกว่า ถูกมองเป็นตัวอันตราย เนื่องจากต้องคอยแทรกซ้าย – แทรกขวา กลายเป็น ไปๆ มาๆ ต้อง ลงไปวิ่งไหล่ทาง สร้างความอันตรายเพิ่มขึ้นไปอีกหลายเท่าบนถนนเมืองไทย
นอกจากนี้การเดินทางด้วยความเร็วช้าเกินไปก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีผลเสีย การขับรถเป็นเวลานานอยู่ในท่านั่งเดิมหลายชั่วโมง ยกตัวอย่างเช่นถ้าคุณขับรถจากกรุงเทพมหานครไปหัวหิน ถ้าขับด้วย 90 ก.ม./ช.ม. ต้องใช้เวลา 2 -3 ชั่วโมง ที่ เนื่องจากคุณไม่มีทางใช้ความเร็วสุงสุดได้ตลอดเวลา ขับ 90 ได้ตลอดทาง
ส่งผลให้เกิดความเมื่อยล้าในการเดินทาง มีความเหนื่อยและความเครียดสะสมในการขับขี่ อาจนำไปสู่อุบัติเหตุต่างๆ ได้ อาทิ การหลับใน หรือ การเหม่อลอย ที่มีภาวะคล้ายการมึนเมาในการขับขี่ ซึ่งก็ล้วนสร้างความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ โดยเฉพาะขับรถเดินทางไกล
ข้อมูลในต่างประเทศชี้ว่า การขับรถด้วยความเร็วช้าเกินไปไม่เพียงมีผลเสียต่อความเครียดและสุขภาพเท่านั้น อาจเป็นอันตรายและตัวการก่ออุบัติเหตุด้วย โดยเฉพาะเมื่อรถคันอื่นใช้ความเร็วมากกว่าเรา
หากเราขับช้ากว่าค่าเฉลี่ยการจราจรในร้อยละ 30 อาทิ เดินทางระหว่างเมืองคนขับขี่ความเร็ว 100 ก.ม./ช.ม. เราขับ 70 ก.ม./ช.ม. จากการศึกษาทางด้านวิศวกรรมถนนชี้ว่า ผู้ที่ขับช้ากว่าอาจเป็นต้นเหตุของอุบัติเหตุได้ด้วยในทางหนึ่ง และจุดที่เสี่ยงอุบัติเหตุน้อยกว่าคือใช้ความเร็ว+16 ก.ม./ช.ม. จากความเร็วปกติที่ใช้กัน
นั่นหมายความว่า ถ้ากฎหมายให้ขับที่ความเร็ว 90 ก.ม./ช.ม. และคนส่วนใหญ่ใช้ความเร้วดังกล่าวที่เหมาะสมในการขับขี่จริง คือ 106 ก.ม./ช.ม. และจะเสี่ยงอุบัติเหตุ เมื่อ ใช้ความเร็วเกิน 30 ก.ม./ช.ม. จากการจราจรส่วนใหญ่
ประชาชนเห็นด้วย ปรับกฎหมายความเร็วเพิ่มเป็น 110 ก.ม./ช.ม.
ก็ไม่รู้จะดื้อแพ่งทำไม ถ้าประชาชนคิดว่ากฎหมายนี้มันไม่เหมาะสม หลังตำรวจออกชี้ว่าถนนไม่เหมาะใช้ 90 น่ะดีแล้ว จนกลายเป็นคนไม่อยากสนใจใบสั่งพร้อมรูปที่ระลึกถึงบ้าน และเก็บค่าปรับได้ไม่ตามเป้า
เรื่องราวกฎหมายความเร็ว มีการพูดถึงมายาวนานมากหลายสมัย โดยล่าสุดเพจในสำนักงานตำรวจแห่งชาติเอง เคยมี การโยนหินถามทางประชาชนว่า ควรปรับความเร็วจาก 90 เป็น 110 ก.ม./ช.ม. ดีหรือไม่ การโหวตในครั้งนั้น ประชาชนที่เข้าไปแสดงความเห็นส่วนใหญ่ กว่า 2.1 หมื่นคนที่ร่วมโหวต ชี้ว่าเห็นด้วยถึงร้อยละ 86 เลยทีเดียว พร้อมเหตุผลต่างมากมายที่น่ารับฟัง
ขณะที่ตำรวจอาจโยนเผือกร้อนกลับมาให้ คมนาคมตัดสินใจ แต่ก็ยังดูไม่สิ้นหวังว่า กระทรวงคมนาคม ยังจะเร่งผลักดันความเร็ว 120 ก.ม./ช.ม. ใน ถนนหลัก 4 สาย ทั่วไทย ได้แก่ เพชรเกษม , สุขุมวิท, มิตรภาพ และ พหลโยธิน ที่มีรูปแบบ 4 เลน ก่อน ดูผล แล้วนำไปปรับปรุงเพิ่มเติม โดยจะมีการหารือในเดือนสิงหาคมนี้
หลังกระแสข่าวเรื่องความพยายามปรับความเร้วออกมาก็มีกระแสแห็นด้วยจำนวนมาก เนื่องจากความเร็วช้าไป นอกจากจะเสียเวลาการเดินทาง กลายเป็นต้องยอมทำผิดกฎหมายเพื่อรักษาสิทธิของตัวเอง ทั้งที่ถ้ากฎหมายเหมาะสมก็ไม่มีปัญหา
ทดลองจริง … ขับ 90 หาดใหญ่-หัวหิน 12 ชั่วโมง
เพื่อให้เข้าใจว่า ทำไมการขับ 90 ก.ม./ช.ม. ไม่เหมาะสม ผมมีโอกาสทำการทดลองระยะยาว เพื่อทดสอบว่า ขับ 90 ก.ม./ช.ม. เหมาะสมจริงๆ หรือไม่กับถนนเมืองไทย
เส้นทางเลือกใช้ คือ ถนนเพชรเกษมสายใต้ จาก อำเภอหาดใหญ่จังหวัดสงขลา มายังปลายทาง อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยใช้ รถยนต์อเนกประสงค์ยี่ห้อหนึ่ง ภายในรถมีคนขับ 3 คน สามารถขับรถได้ทุกคน และเราได้ตกลงกันว่า จะผลัดกันขับ เมื่อเมื่อยล้า
เราออกเดินทางจากหาดใหญ่ เวลา 08.30 น. เวลาตามข้อมูลจาก Google Map ซึ่งการคำนวนความเร็วกับระยะทางยึดตามกฎหมาย จะใช้เวลา 9 ชั่วโมง 23 นาที ถึง หัวหิน
ชั่วโมงแรก หลังออกเดินทางเรายังรู้สึกกระปี้กระเปร่า คุยเล่นฟังเพลงสนุกสนาน เข้าสู่ชั่วโมงที่ 2 เรารู้สึกว่า การขับด้วยความเร็วขนาดนี้เหมือนช้าเกินไป ประกอบกับรถที่เราใช้มีความนุ่มนวลในการขับขี่ จนเริ่มรู้สึกง่วงนอนขึ้นมาบ้าง และบางโอกาสเผลอหลับ เนื่องจากความเร็วช้าเกินไป จนอาจกล่างง่า ถ้าคนขับหลับตามก็คงไม่มีโอกาสมาเล่าให้ฟัง
ชั่วโมงที่ 3 เราตื่นเต้น เนื่องจากใกล้ร้านอาหารแวะทานข้าว และแวะทานข้าวที่สุราษฎร์ธานี เวลา 12.30 น. โดยประมาณ เราใช้เวลาขับช่วงแรก 4 ชั่วโมง โดยมีการจอดแวะพักหนึ่งครั้งระหว่างทาง เพื่อ เปลี่ยนอิริยาบถลงเดินบ้าง ช่วง อำเภอทุ่งสง
เราใช้เวลาทานข้าว 1 ชั่วโมงเต็ม ก่อนออกเดินทางต่อด้วยความเร็วเดิม จากจุดพักไปยังปลายทางหัวหิน ยังมีระยะทางอีก 431 กิโลเมตร ตามข้อมูล google บอก ต้องใช้เวลาอีก 5 ชั่วโมง 39 นาที ถึงที่หมาย ถึงโรงแรมหินน้ำทรายสวยเป้าหมายของเรา
เมื่อเราเดินทางด้วยความเร็วตามกฎหมายกำหนดในสภาพถนนโล่ง ก็ทำให้รู้สึกเหนื่อยล้าอย่างมาก ในการขับขี่ รถที่แซงเราไปต่างใช้ความเร็วมากกว่าเราทั้งนั้น แถมสิบล้อ และรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่ใช้ความเร็วเดียวกัน ยังดูไม่เป็นมิตรกับเราเท่าไรนัก
การขับด้วยความเร็วระดับนี้เหมือนจะปลอดภัย แต่ความจริงกลับรู้สึกว่า เราเหมือนตัวปัญหาชาวบ้าน จะขอแซงออกขวาเพื่อแซงยากกว่าปกติสักหน่อย ต้องเดินคันเร่งเพิ่มและยังไงเสียก็ต้องใช้ความเร็วมากกว่าตามที่กฎหมายกำหนด ครั้นจะทำตัวแช่ขวา ก็รู้สึกว่า เราเหมือนจะเกะกะขวางทางมากกว่า จะหลบซ้าย ก็ขับไปได้ไม่นาน เป็นอันต้องเจอรถบรรทุก จนสรุปก็ทำตัวไม่ถูกเหมือนกัน
ผมมาเปลี่ยนกับคนขับอีกท่านที่ชุมพร ทั้งที่ขับมาได้ไม่ไกลเท่าไรนัก มือขับที่ 3 ก็ยังพบปัญหาเดียวกัน ในการแซง หรือ จะต้องเผชิญกับรถบรรทุกขนาดใหญ่ ในการเดินทาง เรายังไม่นับต้องใช้ความเร็วในบางจังหวะช้าลงไปจากปกติ จากการซ่อมบำรุงถนน , การตั้งจุดกวดขันจราจร และ สี่แยกในเขตชุมชนต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เท่าที่สังเกตพอเข้าเขตชุมชน ก็จะช้ากันลงไปตามสมควร ไม่มีใครทะลึ่งขับด้วยความเร็วในชุมชน เนื่องจากโดนบังคับด้วยสภาพการณ์ของตัวเอง เพราะรถคันหน้าช้า มีหรือที่เราจะไม่เหยียบเบรกชะลอความเร็ว
ในที่สุดหลังจากใช้เวลาอันยาวนานทดลองขับ 90 ก.ม./ช.ม. จากหาดใหญ่-หัวหิน ผลคือ เราประหยัดน้ำมันมากในระดับที่หลายคนก็คงไม่เชื่อว่ารถอเนกประสงค์จะกินน้ำมันน้อยขนาดนี้ แต่ที่ไม่ประหยัดเลย คือสภาพร่างกายของผู้ขับขี่ ต่อให้เป็นผู้โดยสารเองก็ยังรู้สึกเลยว่าเมื่อยล้าเกินไปจน จนเข้าห้องหัวถึงหมอนหลับเป็นตาย เราเดินทางถึงโรงแรมเวลา 20.30 น. พอดี หรือ ใช้เวลาเดินทางทั้งสิ้น 12 ชั่วโมง รวมแวะพัก และแวะทานข้าว
นี่ขนาดเราทดลองขับโดยมีผู้ขับขี่ 3 คน ถ้าสมมุติในความจริงเป็นครอบครัว เมียขับรถไม่เป็น สามีต้องขับคนเดียวตลอดทริป เชื่อเลยว่า ท้ายที่สุดอาจจบไม่สวย ถ้าไม่จอดนอน ข้างทางแวะปั้มหลับสักวูบ ก็อาจมีคุยกับต้นยางข้างทางไม่ก็กลางถนนกันบ้าง เพราะความเหนื่อยล้าสะสม นำไปสู่การหลับใน
ผมมีโอกาสกดดูค่าเฉลี่ยความเร็วที่เราใช้ตลอดทาง ในการขับ 90 ก.ม./ช.ม. ครั้งนี้ ผลคือ เราใช้ความเร็วเฉลี่ยเพียง 63 ก.ม./ช.ม. เท่านั้น ซึ่งถือว่าช้ามากในการเดินทางไกล ซึ่งถ้าเป็นการขับ กรุงเทพ-หาดใหญ่ อาจจะต้องใช้เวลามากกว่านี้ จนอาจกลายเป็นการขับ 3 วัน 2 คืน เพื่อเที่ยวแดนใต้ ทั้งที่ถนนเพชรเกษม ก็สามารถใช้ความเร็วได้มากกว่านี้ด้วยซ้ำไป
การกำหนดความเร็วตามกฎหมายกำหนด 90 ก.ม./ช.ม. น่าจะถึงเวลาที่ต้องปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน กฎหมายสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสภาวะการเปลี่ยนไป การขับรถช้าอาจเหมือนช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุ แต่ถ้าเมื่อยล้าเกินไป ก็กลายเป็นสร้างความเสี่ยงแก่ตัวเองและเพื่อนร่วมทางด้วยเช่นกัน
อาจถึงเวลาที่รัฐบาลต้องพิจารณาการปรับความเร็วจริงๆ เสียที
ข้อมูล ประกอบบทความ
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9610000034573