เวลาใครซักคนกำลังจะซื้อรถคันใหม่ ยิ่งมีงบประมาณในมือจำนวนมาก เสียงในหัวจะคอยบอกว่าไปซื้อรถยุโรปเถอะ รถญี่ปุ่นสู้ไม่ได้หรอก ว่าแต่มันเป็นแบบนั้นจริงหรือ?
ช่วงหลายปีที่ผ่านมาเวลาเราขับรถไปที่ไหนก็ตาม จะพบว่ามีปริมาณรถยนต์แบรนด์ยุโรปเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะ Mercedes-Benz ที่พอถึงช่วงมหกรรมขายรถตอนต้นปีกับปลายปีทีไร ยอดจองมักทะลุหลัก 2 พันคันทุกที รวมถึงยี่ห้อ BMW กับ Audi ที่ตอนหลังเดินเกมสู้เต็มกำลังเพื่อชิงยอดมาให้ได้ เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าผู้คนจำนวนมากยังนิยมในยุโรป… ซึ่งจริงๆ แล้วมีหลายคนพูดลอยๆ ว่า ซักครั้งในชีวิตต้องเป็นเจ้าของรถยุโรปให้ได้
ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย คนไทยจำนวนมากยังให้ค่ารถจากดินแดนตะวันตกมากกว่ารถชาติเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เพราะถ้าย้อนไปราว 50-60 ปีก่อน ตอนนั้นชาติมหาอำนาจจากยุโรปอย่าง เยอรมนี ที่มีแบรนด์รถหรูทั้งตราดาว ใบพัดสีฟ้า หรือค่ายสี่ห่วง เหล่านี้ล้วนเป็นต้นกำเนิดเทคโนโลยีรวมถึงหลักวิศวกรรมมากมาย ที่ถูกถ่ายทอดให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์ชาติอื่นทั่วโลก
ทีนี้มาดูตลาดรถยนต์ไทยในสมัยหลายสิบปีก่อน จะเห็นว่ายานยนต์จากยุโรปมากมายหลั่งไหลเข้ามาทำตลาดกันเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจากทางเยอรมัน ฝรั่งเศส หรือแม้กระทั่งอังกฤษ ด้วยเรทภาษีนำเข้ากับภาษีสรรพากรยังไม่สูงเหมือนทุกวันนี้ ท้องถนนของกรุงเทพฯ จึงแน่นไปด้วยรถจากทวีปยุโรป
เช่นเดียวกับผู้ผลิตจากญี่ปุ่น ที่มีโตโยต้าเป็นผู้นำทีมเข้ามารุกตลาดรถประเทศไทย เน้นจุดเด่นเรื่องการตั้งโรงงานผลิตในประเทศ ทำให้ราคาจำหน่ายสบายกระเป๋ากว่ารถยี่ห้อยุโรป ยิ่งไปกว่านั้น ในยุค 50 ปีก่อนหน้านี้ รถยนต์จากยุโรปที่ขึ้นชื่อเรื่องความบึกบึนแข็งแกร่ง แต่เมื่อใช้งานไปสักพักอะไหล่ต่างๆ ก็จะเริ่มเสื่อมจนเสีย เพราะรถไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อเมืองร้อน
จากจุดอ่อนเรื่องความทนทานของอะไหล่รถยุโรปที่ด้อยกว่ารถญี่ปุ่น บวกกับค่าบำรุงรักษา และค่าอะไหล่ที่แพงสูงลิ่ว จึงทำให้รถญี่ปุ่นเข้ามาอุดช่องว่างนี้ได้แบบน่าประทับใจ เพราะรถจากแดนอาทิตย์อุทัยนั้น แม้จะไม่ได้มีรูปลักษณ์แข็งแกร่งน่าเกรงขามเท่า แต่การขับขี่ใช้งานทั่วไปก็เพียงพอต่อความต้องการของชาวไทย รวมถึงความทนทานของอะไหล่ กับค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องถูกกว่ามาก
อย่างไรก็ตาม รถยุโรปยังคงมีจุดเด่นอยู่หลายข้อ ที่รถญี่ปุ่นในยุคปี 197X-199X ไม่สามารถมอบให้ได้ อาทิ สมรรถนะเครื่องยนต์ การบังคับควบคุม กับความมั่นคงของช่วงล่าง ความปลอดภัย และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่ติดตั้งมากับรถ
ทำให้คนไทยในยุคนั้นมีความคิดว่ารถยุโรปยังไงก็ดีกว่ารถญี่ปุ่น ถ้ามีเงินเยอะๆ จะต้องซื้อหามาใช้งาน เพราะนอกจากได้รถที่ดีแล้ว ยังมีหน้าที่ตาในสังคมขับไปไหนคนก็นิยมชมชอบมากกว่าขับรถญี่ปุ่น
เรื่องค่านิยมที่กล่าวมาถูกปลูกฝังกันมารุ่นต่อรุ่นจวบจนถึงปัจจุบัน ทว่าในยุคสมัยที่โลกขับเคลื่อนด้วยข้อมูลข่าวสาร มีการใช้อินเทอร์เน็ตกับสื่อสังคมออนไลน์เป็นสื่อกลาง คนที่เคยคิดว่ารถยุโรปมีดีกว่ารถญี่ปุ่น หลายผู้หลายนามเริ่มคิดต่างออกไปจากคนรุ่นเก่ามาขึ้นทุกที
ปัจจุบันรถญี่ปุ่นตามจี้รถยุโรปแบบไฟท้ายจ่อก้น
พัฒนาการของรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นมีให้เห็นแบบก้าวกระโดดต่อเนื่องในทุกๆ ทศวรรษ ตัวอย่างเช่น Toyota Prius รถยนต์ไฮบริดคันแรกที่ถูกจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ หรือรถจากค่าย Mazda ที่พัฒนาเทคโนโลยี SkyActiv จนทำให้ผู้คนทั่วโลกยอมรับในตัวผลิตภัณฑ์กันทั่วโลก เหล่านี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวความประทับใจที่รถญี่ปุ่นแสดงให้เห็นว่า เราก็มีดีไม่แพ้รถยุโรป…
เอาล่ะเรามาเริ่มด้วยประเด็นรูปลักษณ์กันก่อน ปัจจุบันรถญี่ปุ่นหลายๆ ยี่ห้อออกแบบรถได้โฉบเฉี่ยวสวยงามไม่แพ้รถยุโรปแล้ว หมดยุคที่คนจะเบือนหนีหน้ารถญี่ปุ่นเพราะหน้าตามู่ทู่ไม่ได้เรื่อง ขณะเดียวกัน ภายในก็มีการใช้วัสดุตกแต่งคุณภาพสูง ทั้งหนังนุ้มหุ้มตามาส่วนต่างๆ หรือชิ้นงานที่มีความประณีตสูง
ต่อมาเป็นเรื่องสมรรถนะของรถญี่ปุ่นที่หากวัดกันหน่วยต่อหน่วย จะพบว่ามันด้อยกว่ารถยุโรปอยู่ เช่น รถยุโรปเครื่องเบนซินเทอร์โบ 4 สูบ 2.0 ลิตร ปั่นม้าได้ 190-252 ตัว แต่รถญี่ปุ่นเครื่องเบนซิน เทอร์โบ 1.5 ลิตร ปั่นม้าได้ 173-193 ตัว จะพบว่าทั้งความจุและแรงม้าอาจน้อยกว่า รวมถึงเครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบขนาดเล็กของรถญี่ปุ่น ที่อาจมีแรงม้าไม่มากนัก และยังประหยัดน้ำมันไม่เท่าเครื่องดีเซลยุโรป จุดนี้ยังเป็นสิ่งที่ค่ายแดนปลาดิบต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ถึงอัตราเร่งกับความประหยัดน้ำมันของเครื่องรถญี่ปุ่นจะไม่เท่ารถยุโรป แต่เชื่อเถอะว่าในระยะยาวความทนทานกับอาการจุกจิกจะมีน้อยกว่าแน่นอน ตามหลักที่ว่ายิ่งเครื่องใส่เทคโนโลยีมาเท่าไหร่ โอกาสที่จะเสียหรือชำรุดก็มีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ซึ่งถ้านำปัจจัยนี้ไปเปรียบเทียบกับอัตราเร่งกับความประหยัด ถือว่ามีคะแนนสูสีไม่ทิ้งห่างแต่ประการใด
หัวใจหลักที่ทำให้คนส่วนใหญ่ชื่นชอบรถยุโรป หนีไม่พ้นด้านการขับขี่ที่ตลอดยุคแห่งยานยนต์ รถจากทวีปยุโรปยังคงขึ้นชื่อเหนือรถญี่ปุ่นอยู่เสมอ เพราะด้วยอุปนิสัยการขับรถของชาวยุโรป ที่ภูมิประเทศมีความหลากหลาย เต็มไปด้วยภูเขาสูงมีทางคดเคี้ยว ไปจนถึงเส้นทางตรงถนนเรียบกริ๊บ อัดทำความเร็วกันได้แบบไม่มีจำกัด จุดนี้ส่งผลถึงเอกลักษณ์ของรถยุโรปชัดเจน
ไม่แปลกอะไรหากคุณพบว่าคนขับรถยุโรปมักห้อตะบึงบนทางด่วนด้วยความเร็วมากกว่ารถคันอื่นบนท้องถนน มิใช่ว่าพวกเขาไม่เคารพกฏจราจร แต่ส่วนหนึ่งมาจากประสิทธิภาพของพวงมาลัย ช่วงล่าง และการเก็บเสียงรบกวน ที่ทำให้ผู้ขับขี่ไม่รู้สึกเกรงกลัวยามใช้ความเร็วสูง นั่นทำให้หลายๆ คนกดคันเร่งจนรถวิ่งเร็วขึ้นแบบไม่รู้ตัว
เรากล้าพูดได้ว่ารถยุโรปขับขี่ดีกว่ารถญี่ปุ่นแม้ในปัจจุบัน แม้ว่าจะมีหลายค่ายอย่าง Mazda ที่เคยบอกว่าพวกเขานิยมตนเองให้เป็น Premium Japanese Car เซ็ทอัพการพวงมาลัย ช่วงล่าง และไดนามิกการขับขี่รถให้คนรักการขับรถชอบ ทว่ารถร่วมชาติก็ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายตรงประเด็นนี้ได้
ต่อมาในเรื่องของระบบความปลอดภัย ข้อนี้รถญี่ปุ่นกลับมาตีตื้นสูสีรถยุโรปได้ชนิดที่ว่าเทียบกันได้ไม่เคอะเขิน เพราะการทดสอบโดย Euro NCAP จะเห็นว่ารถญี่ปุ่นจำนวนมากได้คะแนนความปลอดภัย 5 ดาวไปครอง
นั่นชี้ให้เห็นว่าโครงสร้างรถญี่ปุ่นมีการออกแบบทุกสัดส่วนมาอย่างดีจนกระจายแรงได้ไม่แพ้รถยุโรป มีการใช้เทคโนโลยีโครงสร้างขั้นสูงมาช่วยปกป้องผู้ขับขี่กับผู้โดยสาร ยิ่งไปกว่านั้น ฟีเจอร์ความปลอดภัย Active Safety อย่างระบบเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ กับระบบควบคุมความเร็วแบบแปรผัน และอื่นๆ ที่รถยุโรปมี รถญี่ปุ่นทุกยี่ห้อก็มีมาให้เหมือนกันหมดแล้ว
ทุกสิ่งที่เรากล่าวมาทั้งหมด มิใช่ต้องการสร้างความคิดลบให้แก่รถญี่ปุ่นหรือรถยุโรป หากแต่พยายามชี้ให้ผู้อ่านเห็นถึงพัฒนาของการแต่ละทวีป ว่าตอนนี้โลกมันเปลี่ยนแปลงไปถึงขั้นไหน หากคุณมีงบประมาณไม่มากแต่อยากได้รถดีใกล้เคียงรถยุโรป ตอนนี้และอนาคตคุณสามารถจับจองเป็นเจ้าของได้เหมือนกัน มันขึ้นอยู่กับว่าใจคุณนั้นเลือกคำตอบไหนให้กับชีวิตของตนเอง…
ติดตามข่าวสารและบทความดีๆ จากพวกเรา Ridebuster.com