คำถามที่ทุกคนอยากรู้มากที่สุดในตอนนี้ เกี่ยวกับอนาคตของรถยนต์ไฟฟ้าในไทย เป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากคำว่า “เมื่อไหร่รถยนต์ไฟฟ้าจะเข้าถึงได้ง่ายซักที” โดยในบทความนี้ผู้อ่านจะได้เข้าใจว่า แท้จริงแล้วทุกฝ่ายควรทำอย่างไรกับเรื่องนี้
เมื่อใดที่มีข่าวการเปิดตัวรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ บรรดาชาวโลกออนไลน์ต่างพากันออกมาเหน็บแนม ว่ารถคันนั้นตั้งราคาแพงเกินไปแถมยังวิ่งได้น้อย โดยทุกคนต่างพุ่งเป้าไปที่รัฐบาลว่าไม่มีมาตรการแน่ชัด ในการสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงรถไฟฟ้าได้ง่ายกว่ารถเครื่องยนต์สันดาป
ในมุมของภาครัฐฯ เล็งเห็นว่าทิศทางการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าจะพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากสามารถดึงเม็ดเงินลงทุนจากบริษัทรถจากทั่วโลก ให้เข้ามาตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ไปจนถึงขยายไลน์ผลิตรถพลังไฟฟ้าในประเทศ รัฐเองจึงออกมาตรการสนับสนุนมากมายผ่านทาง เพื่อที่จะได้ผลตอบแทนในรูปแบบภาษี และใช้ในการพัฒนาชาติ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐไทยปฏิบัติจริงกลับไม่ได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุนจริงจังนัก เนื่องจากยังมีมาตรการเก็บภาษียิบย่อยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า อาทิ ภาษีนำเข้าแบตเตอรี่ อันเป็นส่วนสำคัญลำดับต้น ๆ ไม่แพ้มอเตอร์ไฟฟ้า ส่งผลให้บริษัทที่คิดผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขึ้นในไทย ต้องเผชิญกับต้นทุนสูงกว่าการผลิตรถเครื่องสันดาป
ส่วนผู้ผลิตรายใดที่อยากชิมลาง ด้วยการนำเข้ารถไฟฟ้าโมเดลล่าสุดจากต่างประเทศมาจำหน่ายในราชอาณาจักร ก็เผชิญกับความจริงที่ว่ารถยนต์นำเข้าโดนภาษีอ่วมระดับ 200% จนทำให้รถแฮทช์แบ็คไฟฟ้าชื่อดังจากอังกฤษ Mini Cooper SE ราคาพุ่งไปจบ 2,290,000 บาท ห่างจากราคาตั้ง ณ อังกฤษ ที่แปลงเป็นเงินไทยแล้วอยู่ราว 988,000 บาท เท่านั้น และยังมีรถยนต์ไฟฟ้าอีกหลายยี่ห้อที่เจอกับปัญหาการตั้งราคา ได้แก่ Nissan Leaf, Hyundai Kona เป็นต้น
ทว่ากลับมีผู้ผลิตเพียงหนึ่งรายที่ได้ประโยชน์จากการนำเข้ารถทั้งคันจากต่างชาติมาขายในไทย นั่นก็คือ MG ZS EV ที่ได้รับอาณิสงค์จาก FTA ไทย-จีน ทำให้รถรุ่นนี้ในไทยมีราคาเพียง 1,190,000 บาท สร้างแรงกระตุ้นโดยตรงต่อผู้บริโภคในวงกว้าง หากสังเกตจะพบว่ามี ZS EV วิ่งขวักไขว่บนท้องถนนหนาตากว่ารถไฟฟ้ายี่ห้ออื่นอย่างชัดเจน
สิ่งที่รัฐฯ ควรทำในระยะสั้นเพื่อให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นก็คือ จัดการเรื่องภาษีนำเข้า ภาษีสรรพสามิต และภาษีอื่น ๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการทุกรายสามารถขายรถในราคาที่แข่งขันกันได้แบบยุติธรรม ซึ่งเมื่อราคาอยู่ในช่วงที่ผู้บริโภคเข้าถึงง่ายขึ้น ยอดขายที่ปรากฏปัจจุบันจะเป็นตัวชี้วัดว่าในอนาคต บริษัทควรวางแผนการลงทุนไปจนถึงทำอย่างไร จึงจะหาโมเดลรถอันน่าสนใจ ตลอดจนผลิตรถป้อนสู่ตลาดในอนาคตได้ตามความต้องการของลูกค้า
นอกเหนือจากมาตรการของภาครัฐที่ควรเข้ามาช่วยเหลือเหล่าบริษัทรถยนต์ ประเด็นเกี่ยวข้องกับสถานีชาร์จก็นับเป็นหนึ่งเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน โดยทุกคนทราบดีว่ารถยนต์ไฟฟ้าไม่ปล่อยมลพิษขณะใช้งาน จึงเหมาะอย่างยิ่งกับการขับเดินทางภายในเมืองใหญ่ ซึ่งปัจจุบันปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนตกต่ำ และเจ็บป่วยเกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจเป็นจำนวนมาก
มีข่าวมากมายนำเสนอว่าหน่วยงานภาครัฐ อาทิ การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือภาคเอกชนอย่าง EA Anywhere, Charge Now และ EQ ได้วางแผนขยายสถานีชาร์จทั่วประเทศเป็นจำนวนกว่า 1,200 แห่ง ครอบคลุมทั่วภูมิภาคของประเทศไทย ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องดีที่คนใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะสามารถเดินทางไปยังจุดหมายต่าง ๆ ได้สะดวกขึ้น ทว่าการตอบโจทย์จุดประสงค์หลักในการใช้งานรถพลังถ่านเหล่านี้ยังไม่ค่อยตรงเป้า
เหตุเพราะกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้งานในชีวิตประจำวัน มักอาศัยอยู่ในเมือง ชานเมือง หรือหัวเมืองใหญ่เป็นหลัก ซึ่งพวกเขาจะขับรถจากจุด A ไป B เสมอ ได้แก่ การขับรถไปทำงาน หรือ ขับรถออกไปจับจ่ายซื้อของตามห้างสรรพสินค้า
หากหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐฯ หรือเอกชน ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ในการสร้างช่องจอดรถที่มีจุดชาร์จไฟไฟฟ้าภายในปริมาณแปรผันตามจำนวนพนักงานในองค์กร เพื่อช่วยให้คนที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้งานมีความสะดวกสบาย ไม่ต้องกังวลเรื่องการหาสถานีชาร์จหลังหรือก่อนเวลาเลิกงาน เนื่องจากหลายคนที่อาศัยในคอนโดก็มีความอยากใช้รถพลังถ่าน แต่ติดตรงที่คอนโดส่วนใหญ่ไม่มีช่องจอดรถเพื่อชาร์จไฟประจำ จึงทำให้ความคิดจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเป็นอันถูกพับไปโดยปริยาย
เมื่อปัญญาหลักใหญ่สำคัญอย่างราคาจำหน่ายที่เคยแพงลิ่ว กลับกลายเป็นสมเหตุสมผลเข้าถึงได้ง่าย ผู้คนจะเริ่มเปิดใจหันมาลองรถยนต์ไฟฟ้า แล้วเมื่อรวมกับการสนับสนุนเรื่องสถานีชาร์จจากทางภาครัฐฯ และเอกชน ที่เข้าใจว่าชีวิตประจำวันของชาวไทยต้องขับรถไปทุก ๆ ที่ โดยเฉพาะการไปทำงานมากถึง 5 วันต่อสัปดาห์ เพียงเท่านี้ ความนิยมของรถสายรักษ์โลกใช้พลังไฟฟ้าก็จะมีอนาคตสดใสในประเทศไทยอย่างแน่นอน
ติดตามข่าวสารและบทความดี ๆ จากพวกเราทีมงาน Ridebuster.com