ปรากฎการณ์สำคัญหนึ่งในงานมอเตอร์ เอ็กซ์โปปีนี้ ดูท่าจะไม่พ้นการมาของรถยนต์ Nissan LEAF ที่หลายคนต่างเฝ้าหวังรอ หลัง นิสสันแบะท่าจะมาราคาสักประมาณล้านกลางๆ ตามการให้สัมภาษณ์มาตลอดปี
ราคาที่เปิดมา 1.99 ล้านบาท ถือว่าเป็นราคาที่ในมุมหนึ่งสำหรับเศรษฐีคนมีเงินก็พอจะกล้าควักจ่ายอยู่บ้าง หากในอีกมุมก็ดับฝันคนชั้นกลางที่ไม่ค่อยมีงบประมาณซื้อรถราคาระดับล้านบาทกลางๆ ขึ้นไป จนกลายเป็นกระแสว่า รถยนต์ไฟฟ้าท้ายที่สุด ก็กลายเป็นเพียงของเล่นคนรวยเท่านั้น ในหลายมุมหลายกระแสสังคม
ทำไมแพง???
บางคนอาจสงสัยไปที่ตัวนิสสันเอง ที่อาจจะตั้งราคาเพื่อค้ากำไรจากการนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งก็ไม่แปลกกับในแง่ภาคธุรกิจ แต่นั่นคงไม่ใช่ปัจจัยเดียวเท่านั้น เพราะด้วย Nissan LEAF ใหม่ เป็นรถที่นำเข้าจากญี่ปุ่นทั้งคัน ทำให้ปัจจัยสำคัญประกอบในเรื่องนี้อาจเป็นเรื่องราวของภาษีที่ภาครัฐจัดเก็บต่อรถด้วย
ตามหลักการการนำเข้าสินค้าใดๆก็ตามเข้ามาในราชอาณาจักร จะต้องผ่านภาษี สำคัญ 3 ตัวด้วยกัน ได้แก่ ภาษีนำเข้า,ภาษีสรรพสามิต และ ภาษีมหาดไทย เป็นอัตราพิกัดเบื้องต้นก่อนจะเข้าสู่การค้าในประเทศ ซึ่งจะมีเรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่มเข้ามาบวกเพิ่มอีกตัวด้วย รวมแล้ว 4 ภาษี ก่อนจะได้ซื้อหา
แต่ก่อนที่เราจะสามารถคำนวนได้นั้น เราต้องทราบถึงราคาสินค้ารวมกับค่าขนส่งและค่าประกันภัยขนส่ง หรือศัพท์ทางพวกชิปปิ้งทั้งหลาย เรียกว่า ราคา CIF (Cost Insurance Freight) รวมทั้งต้นทุน(ตัวสินค้า- ค่าขนส่งจากญี่ปุ่นถึงไทย และ ค่าประกันภัยการขนส่งไว้เรียบร้อยแล้ว)
เราอาจไม่มีทางรู้ค่า CIF ที่แน่ชัดแน่ เนื่องจากเป็นความลับระหว่างบริษัทขนส่งกับลูกค้า แต่ที่เราสามารถทราบได้อย่างแน่นอนคือว่า รถคันนี้มาจากที่ไหน
Nissan LEAF ใหม่ ที่มาขายในไทยนั้น เป็นรถที่ผลิตจากโรงงานในญี่ปุ่น ซึ่งในญี่ปุ่น มีราคาขายที่ 3,150,000 เยน (ราคาค้าปลีกในตลาดญี่ปุ่น) หากคำนวณเป็นเงินไทยที่อัตราแลกเปลี่ยน 30 บาท ต่อ 100 เยน จะมีราคาค้าปลีกที่ญี่ปุ่น 945,000 บาท
นั่นคือราคาค้าปลีก ที่เราพอทราบได้ … แต่การส่งออกไปยังต่างประเทศ จะไม่คิดภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีที่รัฐเก็บจากการใช้ บริโภคสินค้าภายในประเทศ) ในญี่ปุ่น มีการจัดเก็บอัตราภาษีร้อยละ 8
เราเอาค่าภาษีดังกล่าวมาลบกับราคาขายปลีก เราคำนวณแล้วพบว่า ในราคาขายปลีก Nissan Leaf ที่ญี่ปุ่น มีราคาภาษีรวมอยู่ 252,000 เยน นำไปลบกับราคาขายรถตั้งต้น (3,150,000 เยน)เท่ากับราคาต้นทุนก่อนภาษีมูลค่าเพิ่มในญี่ปุ่น คือ 2,898,000 เยนหรือคิดเป็นเงินไทย 869,400 บาท เป็นมูลค่าต้นทุนจากญี่ปุ่น ก่อนส่งมาไทย(อาจจะถูกกว่านี้ถ้าสั่งมาหลายคันในล็อทเดียว) โดยไม่รวมค่าขนส่งและประกันภัยการขนส่ง
แต่เนื่องด้วยเราไม่มีทางทราบราคาประเมินราคาประกันภัยขนส่งและการขนส่งรถยนต์ Nissan Leaf จากประเทศญี่ปุ่นมาถึงไทย ผมจึงต้องประมาณการเอาเองว่าทั้งหมดน่าจะมีมูลค่าคันละ 1,000,000 บาท เป็นราคา CIF เมื่อถึงประเทศไทย (อาจจะมากกว่าก็ได้)
อย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้นว่า การนำเข้าสินค้ามาสู่ราชอาณาจักรไทยจะต้องเจอภาษี 3 ตัว ด้วยกันที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีนำเข้า , ภาษีสรรพสามิต และภาษีมหาดไทย หรือ ภาษีท้องถิ่นนั่นเอง
มาถึงตรงนี้หลายคนคงเคยได้ยินสูตร 3 เท่าของราคาขาย ซึ่งคนจำนวนมากใช้ประเมินรถยนต์นำเข้าเมื่อเทียบจากต่างประเทศ ว่ามีภาษีรวมๆแล้ว 278% จากราคาขายในต่างประเทศ ทำให้รถนำเข้าส่วนใหญ่มีราคาขายแสนแพงจนมิอาจเอื้อม
ทว่า Nissan Leaf นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นทั้งคันทำให้เรื่องนี้ต่างออกไปโดยสิ้นเชิง เนื่องจากประเทศไทยและญี่ปุ่นมีข้อตกลงความร่วมมือหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ไทย-ญี่ปุ่น หรือที่เรียกกันในวงการเศรษฐศาสตร์ว่า JTEPA เป็นข้อตกลงที่มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2550
โดยการนำเข้ารถยนต์ทั้งคัน ขนาดไม่เกิน 3000 ซีซี เป็นหนึ่งในสินค้าที่ได้รับการกำหนดให้มีอัตราภาษีลดลงปีละ 5% ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีมีอัตราภาษี80% และลดลงเหลือ 75% ในปี พ.ศ. 2551 และลดต่อเนื่องปีละ 5% จนคงที่อัตราภาษีนำเข้า 60% ในปี พ.ศ. 2553 และระบุว่า ห้มีการเจรจาต่อในภายหลัง ตามข้อมูลในเวลานั้น (หากในการเจรจา อาจมีการปรับลดลงต่อเนื่องทุกปี) ก็จะทำให้ภาษีอากรนำเข้าจากญี่ปุ่นอยู่ที่ร้อยละ 20 เท่านั้น
จากราคา CIF ตามที่ผมกล่าวอ้าง 1,000,000 นำมาคำนวณกับภาษีนำเข้า 20% จะได้ ค่าอากร 200,000 บาท หรือ รวมแล้ว ราคาตั้งต้นในการนำเข้ารถ Nissan Leaf อยู่ที่ 1,200,000 บาท
ต้องจ่ายภาษีสรรพสามิตทั้งสิ้น .. เป็นสูตรได้แก่
ราคา CIF X อัตราภาษีสรรพสามิต / 1-(1.1Xอัตราภาษีสรรพสามิต)
สรุป แล้ว Nissan จ่ายภาษีสรรพาสามิต Nissan Leaf ไป 199,999 บาท ถ้วน
ทำให้เมื่อรวมราคาภาษีสรรพสามิตรอยู่ที่ 1,399,999 บาท
ผ่านด่านแรกไปได้ก็ต้องไปจ่ายภาษีมหาดไทยหรือ ภาษีท้องถิ่น คิดอัตราเดียวร้อยละ 10% ของราคาที่รวมกับภาษีสรรพสามิตรเรียบร้อย หรือ ต้องจ่ายที่ 139,999 บาท รวมกับราคาเดิม 1,399,999 บาท เป็น รวมแล้วเป็นราคาขาย 1,539,998 บาท
และท้ายสุดราคาภาษี มูลค่าเพิ่ม 7% ก็คือการนำราคาที่รวมจากการจ่ายภาษีมหาดไทยไปแล้วมาคำนวณ เป็นภาษีทั้งสิ้น 107,799 บาท คิดรวมมูลค่าราคาขาย จะเท่ากับ 1,647,797บาท
หากเรานำภาษีทั้งหมดมาคำนวณ ได้แก่ ภาษีนำเข้า , ภาษีสรรพสามิต ,ภาษีมหาดไทย ตลอดจนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะเท่ากับ 200,000+199,999+139,999+107,799 รวมแล้ว Nissan จ่ายภาษีสำหรับการนำเข้า Nissan Leaf แต่ละคันไป 647,797 บาท
(จากคำนวณโดยการสมมุติค่า CIF รวมที่ 1 ล้านบาทต่อคัน)
จากการคำนวณดังกล่าวเมื่อมองที่ราคา 1.99 ล้านบาท สำหรับค่าตัว Nissan Leaf จะพบว่ากว่าครึ่งเป็นต้นทุนในการนำเข้าจากญี่ปุ่น อีก 25% เป็นค่าภาษีที่เกิดขึ้นจากกระบวนการนำเข้าจนกระทั่งส่งถึงผู้บริโภค ส่วนที่เหลือ เป็นค่าบริหารจัดการ การตลาด
(ซึ่งเป็นไปได้ว่าในการนำเข้าจริงจะมีมูลค่านำเข้า ค่าขนส่งและค่าประกันภัยอาจมากกว่านี้)
อย่างไรก็ดี สิ่งที่หลายคนพูดถึงในมุมภาษีจากภาครัฐในเวลานี้ คือทำไมรัฐไม่เก็บ 2% ตามที่เคยเป็นข่าว นั่นเพราะ การเก็บอัตราดังกล่าว คือ นิสสันจะต้องหมายมั่นแล้วว่าจะลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า Nissan LEAF ประกอบขายในไทย
ถ้าเอาตัวอย่างราคา CIF มาคำนวณว่าได้ภาษีสรรพสามิตรที่ 2% ในราคา CIF ตามตัวอย่าง จะพบว่า ราคา Nissan Leaf ที่เสียภาษีจะลดลงไปเหลือเพียง 24,539 บาท
แถมในการทำให้ได้2%นิสสันจจะต้องลงทุนเพิ่มในประเทศไทย ในการผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้าซึ่งอาจจะต้องหมดอีกหลายพันล้านบาท ทั้งที่ตลาดตรงนี้อาจจะยังไม่มีความต้องการของผู้บริโภคที่ชัดเจน
ดังนั้นเราอาจกล่าวได้ว่าในมุมภาษีอาจไม่ตอบคำถามว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะถูกลง ถ้าสรรพสามิตถูกลงแค่ 6% จากเดิม แต่รัฐอาจต้องจูงใจผู้บริโภคด้วยวิธีอื่นเช่นการให้ส่วนลดหรือเงินช่วยเหลือสำหรับใครที่สนใจใช้รถยนต์ไฮบริดหรือรถยนต์ไฟฟ้า คล้ายในโครงการรถยนต์คันแรกที่เคยทำให้รถยนต์ขนาดเล็กได้แจ้งเกิดในใจคนไทย
ราคา นิสสัน ลีฟ แพงหรือไม่งวดนี้ก็คงต้องขึ้นอยู่กับมุมมองที่คุณมีกับนวัตกรรมรถยนต์ไฟฟ้าคนส่วนใหญ่อาจจะว่ามันแพง จนถูกตีตราว่ามันคือของเล่นสำหรับคนรวย (อีกแล้ว)หากอีกด้านอย่างที่เราเห็นกันมาตลอดหลายปี เทคโนโลยีชั้นนำขั้นสูงก็มักจะมีราคาแพงในระยะแรกและถูกลงเรื่อยๆ มีคนใช้งานมากขึ้น
ตลอดจนจนกว่าคนไทยจะพร้อมและมีความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าสูงขึ้นจริงๆ ทั้งในแง่ความพร้อมสถานีชาร์จ,การให้ความรู้เรื่องรถยนต์ไฟฟ้า และ ความสนใจของคนไทยต่อนวัตกรรมขับขี่โลกใหม่ไปจนถึงการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน รวมถึงรัฐบาลในเชิงภาษี และเงินสมทบสำหรับผู้ซื้อเมื่อนั้นเราอาจจะได้เห็น รถยนต์ไฟฟ้ามีราคาถูกลงก็ได้ จนเป็นภาพที่ชินตาบนถนน
แต่คงอาจยังไม่ใช่ในเร็วๆ นี้