ที่ผ่านมามีข่าวเรื่องรัฐฯ เตรียมผลักดันให้ถนนบางเส้นใช้ความเร็วสูงสุด 120 กม./ชม. ว่าแต่ทำไมไม่กำหนดความเร็วขั้นต่ำที่วิ่งได้ในแต่ละช่องจราจรบ้าง?
ประเด็นร้อนแรงช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา หนีไม่พ้นข่าวที่กระทรวงคมนาคมเสนอให้ตำรวจปรับเพดานความเร็วสูงสุด ที่รถยนต์ส่วนบุคคลสามารถวิ่งได้บนถนน 4 ช่องจราจร จากเดิม 90 กม./ชม. ไปเป็น 120 กม./ชม. ในบางเส้นทาง ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ออกมาดับฟันคนไทยทั้งชาติ ว่าตอนนี้อยู่ในขั้นพิจารณาความเป็นไปได้ ส่วนจะปรับใช้กับถนนเส้นทางไหนบ้าง และเริ่มบังคับใช้เมื่อไหร่รอลุ้นอีกที
หากถามเหตุผลว่าทำไมผู้คนส่วนใหญ่จึงออกมาบ่นอุบเกี่ยวกับเรื่องการจำกัดความเร็ว ถ้าสังเกตุกันดีๆ จะพบว่าด้วยความเจริญของชาติที่เน้นหนักไปในการพัฒนาถนนหนทาง ให้สามารถรองรับปริมาณการใช้รถใช้ถนนของทั้งประชาชน รวมถึงบริษัทห้างร้านที่มีรถบรรทุก และรถเทรลเลอร์ที่จำนวนเพิ่มสูงเท่าทวีให้สะดวกโยธิน
ถนนของไทยจึงมีการขยายจำนวนช่องจราจรจาก 2 เลนสวนเป็น 4 ช่องไปสองกลับสอง ส่วนเส้นทางหลักบางสายก็ขยับขยายเป็น 8 ช่องจราจร (ถนนสายเอเชีย หมายเลข 32) เทียบเท่ากับทางด่วนระหว่างเมืองหรือมอเตอร์เวย์ ซึ่งในบางเวลาบางช่วงจังหวะ ถนนเหล่านี้จะมีปริมาณรถใช้งานมากน้อยแปรผันกันอยู่ตลอดเวลา เช่น ช่วงเช้าเย็นรถหนาแน่นเพราะต้องขับไปทำงานหรือกลับบ้าน ส่วนเวลากลางวันกับกลางดึกรถจะน้อยจนโล่ง
คราวนี้ลองคิดต่อว่าในช่วงที่มีรถขับกันไปมาขวักไขว่แน่นเต็มถนน แต่ปรากฏว่ามีรถคันหนึ่งวิ่งแช่ด้วยความเร็ว 90 กม./ชม. ตามกฏหมายกำหนดอยู่ในช่องจราจรขวาสุด เจ้าเลนขวาที่ผู้ขับขี่รถยนต์ชาวไทยทุกคนต้องทราบดีว่า ช่องนี้มีไว้เพื่อแซงเท่านั้น… นั่นแหละความบันเทิงเริงใจพร้อมกับความหงุดหงิดก็เกิดขึ้นกับคนขับรถตามหลังทันที ใครจังหวะดีหน่อยก็หาช่องเร่งแซงได้ แต่ถ้าโชคร้ายก็ขับตามกันไปอีกยาว
ผสมโรงกับคนขับรถช่อง 2 กับ 3 ที่มั่นใจว่า ข้านี่ขับ 90 กม./ชม. ถูกต้องตามกฏหมาย ใครใคร่แซงไปไวกว่าก็ให้ตบไฟเลี้ยวขวาแล้วกดคันเร่งพุ่งนำไปก่อน นั่นทำให้เราพบเห็นว่าบางครั้งแม้จะมีเลนถนนถึง 4 ช่อง แต่ทุกช่องโดยเฉพาะช่อง 2-3-4 เลนขวาสุด รถยนต์ที่วิ่งอยู่มักจะใช้ความเร็วเกือบจะเท่ากัน เรียกว่าขับตีคู่กันเป็นแผงหน้ากระดานเลยก็ว่าได้
พอคิดตามเราออกแล้วใช่ไหมครับท่านผู้อ่าน สิ่งที่เราอยากจะสื่อก็คือ… จริงๆ แล้วประเทศของเราควรออกกฏระบุไว้เลยว่า ช่องจราจรไหนขับเร็วสูงสุดได้เท่าไหร่ ไปพร้อมกับกำหนดความเร็วขั้นต่ำที่รถต้องวิ่งอยู่ในช่องนั้นๆ อาทิ เลนขวาสุดตั้งไว้เลย 120 กม./ชม. ความเร็วต่ำสุดต้องไม่น้อยกว่า 110 กม./ชม. ส่วนช่อง 1-2-3 นับจากซ้ายก็กำหนดความเร็วสูงสุดเท่ากัน เพียงแต่ความเร็วขั้นต่ำลดหลั่นลงมาเหลือ 60-80-90 กม./ชม.
ในทางทฤษฏีแล้วหากมีการบังคับใช้จริง คาดว่ารถที่ขับอยู่แต่ละช่องจราจรสามารถเร่งแซงเพื่อทำให้เส้นทางนั้นลื่นไหลยิ่งขึ้น ไม่ใช่คนขับรถความเร็วพอๆ กันเรียงเป็นตับ ใครจะแซงก็ทำไม่ได้นอกจากการขับตามก้นกันไปจนกว่ารถคันช้าเลนขวาจะยอมหลบ
วิธีนี้ไม่ใช่ความคิดเพ้อฝันไร้ตัวอย่างในการนำไปปฏิบัติใช้จริง แต่อ้างอิงจากการที่รัฐบาลจีนได้ออกกฏระบุความเร็วสูงสุดกับความเร็วขั้นต่ำที่รถวิ่งได้ในแต่ละช่องจราจรมาแล้ว เพราะเมืองจีนแผ่นดินใหญ่มีประชากรจำนวนมาก บางคนก็ต้องมีการตีกรอบรัดกุมให้ชัดเจนป้องกันคนหัวหมอ ว่าอั๊วขับไม่เกิน 120 กม./ชม. แต่อั๊วขับที่ความเร็ว 90 กม./ชม. ลื้อจะมาจับอั๊วไม่ล่ายยย (เสียงอาแปะ ฮ่าๆ)
จะดีกว่าหรือไม่ หากรัฐไทยกับคนไทยไม่ได้โฟกัสไปที่ความเร็วสูงสุดเพียงอย่างเดียว แต่ควรมองถึงสถานการณ์จริงบนท้องถนน แล้วนำปัญหาเหล่านั้นมาแก้ไขให้ตรงจุด เพราะความจริงแล้วเรื่องการจราจรติดขัดในหลายๆ ครั้ง ก็มาจากคนขับรถช้าแช่ขวานี่แหละ
ติดตามข่าวสารและบทความดีๆ จากพวกเรา Ridebuster.com