Home » โรงงานซูบารุในประเทศไทย ปฐมบทใหม่ดาวลูกไก่ต่ออาเซียน
บทความ สกู๊ปเด็ด

โรงงานซูบารุในประเทศไทย ปฐมบทใหม่ดาวลูกไก่ต่ออาเซียน

เป็นเวลายาวนาน เมื่อพูดถึงรถยนต์แบรนด์  Subaru  ในประเทศไทย คนรุ่นพ่อหรืออาจจะรุ่นปู่ต่างพอจะคุ้นเคยรถแบรนด์นี้ ทั้งในฐานะรถขนของ หรือรถนั่ง   Subaru  Leone  ผมในฐานะคนรุ่นใหม่ก็พอจะเคยได้ยินมาลางๆ จากคนรุ่นเก่าว่า  ซูบารุเคยมี โรงงานซูบารุในประเทศไทย และด้วยเหตุผลบางประการในยุคเก่าความก่อน พวกเขาตัดสินใจปิดโรงงานไป แล้วเปลี่ยนมาใช้การนำเข้ารถยนต์แทน

กว่า 30 ปี ล่วงเลย นั่นคือเท่าที่ผมพอจะทราบความ มีข้อมูลพอจะหาได้ทั้งจากผู้คร่ำวอดในวงการรุ่นน้า รุ่นลุง และข้อมูลบางส่วนจากอินเตอร์เน็ตอยู่บ้าง 

ในระยะหลังช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา แบรนด์ ซูบารุ มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มรถอเนกประสงค์จากความต้องการของตลาด ประกอบกับ มีการย้ายฐานการผลิตมาประกอบที่ประเทศมาเลเซีย ตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา ทำให้รถ  Subaru  XV   และ   Subaru Forester เริ่มมีราคาขายที่คนไทยพอจะรับได้ ไม่ได้แพงมากมาย บางช่วงเรียกว่าลงมาแบบไม่คิดว่าจะได้เห็นซูบารุในราคานี้ ทำยอดขายเป็นกอบเป็นกำเติบโตอย่างต่อเนื่อง นั่นเป็นประกายสำคัญให้ บริษัท ตันจง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในฐานะผู้ถือสิทธิการจัดจำหน่ายรถยนต์ซูบารุในประเทศไทย และประเทศทางเอเชีย   ตัดสินใจครั้งสำคัญ หวังเข้ามาปักหลักจริงจังในประเทศไทย ด้วยโรงงานผลิตรถยนต์แห่งใหม่ ภายใต้การร่วมทุนระหว่างบริษัท และ Subaru  Cooperation

เรื่องราวโรงงาน  Subaru   ในประเทศไทย  เปิดเผยอย่างเป็นทางการในวงข่าว ครั้งแรกในเดือนมกราคม ปี 2017 เมื่อทางบริษัท ตันจง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และ บริษัท ฟูจิ เฮวี่อินดัสทรี จำกัด (ก่อนจะมาเปลี่ยนเป็น  Subaru Cooperation ในภายหลัง) ประกาศร่วมมือกันจัดตังบริษัทแห่งใหม่ ชื่อ ตันจง ซูบารุ ออโต้โมทีฟ (ประเทศไทย) จำกัด และประกาศจดทะเบียนในเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกัน

วัตถุประสงค์ของบริษัทนี้ คือการจัดตั้ง โรงงานประกอบรถยนต์ Subaru   ในประเทศไทย เป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี ด้วยเหตุผลสำคัญจากความนิยมรถ  Subaru   ในไทย  และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบกับความตั้งใจของเครือตันจง ที่มองว่าจะปรับกลยุทธ์บริษัทจากจับฉ่ายขายรถหลายยี่ห้อ เราเปลี่ยนมาลุยแบรนด์ดาวลูกไก่เพียงแบรนด์เดียวน่าจะดีกว่า หลังแบรนด์รถยนต์จากจีน   Foton   เข้ามาเปิดบริษัททำตลาดแถมขึ้นโรงประกอบเองเสร็จสรรพ ทำให้โรงงานลาดกระบังเดิมแห่งนี้ ว่างเว้นและคงดีถ้าซูบารุสนใจ

พิธีเปิด โรงงานซูบารุในประเทศไทย

ความตั้งใจจริงของเครือตันจง ประกอบกับความต้องการของซูบารุที่จะรุกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมกับประเทศไทย ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ดีในการส่งออก งบประมาณ 5 พันล้านบาท ถูกทุ่มลงในโรงงานแห่งนี้เนรมิตรปรับปรุงให้พร้อมสำหรับการผลิตรถยนต์ตราดาวลูกไก่ ภายในปี 2019 โดยฝั่งตันจงถือครองหุ้นร้อยละ 74.9% ส่วนทาง   Subaru Cooperation   ถือ ครอง 25.1%  ในบริษัทใหม่

โรงงานซูบารุในประเทศไทย

จนกระทั่งในเดือนกันยายน ปีเดียวกัน ความชัดเจนของโรงงานเริ่มประจักษ์มากขึ้น หลัง นาย  หิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ประกาศว่าทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้รับรองการยื่นขอส่งเริมการลงทุนจากทางซูบารุ ในงบประมาณ 5 พันล้านบาท ในการจัดตั้ง  บริษัท ตันจง ซูบารุ ออโตโมทีฟ (ประเทศไทย) จำกัด  (Tan Chong Subaru  Automotive Thailand)  หรือย่อว่า  TCSAT  ซึ่งจะเริ่มผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ในปี 2019

และภายหลังก็มี นายเกลน ตัน ในฐานะ  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตันจง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด  ออกมาเปิดเผยว่า โรงงานนี้ จะเน้นการประกอบรถยนต์  Subaru  Forester   ใหม่ ซึ่งในเวลานั้นยังไม่มีการเปิดตัวโฉมใหม่ จนกระทั่งปี 2018 หรืออีกกว่าปีต่อมา

ครั้นจะเรียกชื่อยาวๆ ของโรงงานแห่งนี้ทุกครั้ง ก็ดูจะยืดยาวสักนิด ขอเรียกย่อแล้วกันว่า “โรงงานซูบารุประเทศไทย” นี้มีพื้นที่ 100,000 ตารางเมตร ปัจจุบันเดินกำลังการผลิตรถยนต์ Subaru Forester ใหม่  6,000 คัน ต่อปี และสามารถเพิ่มกำลังสูงสุดได้ถึง  100,000 คัน ต่อปี ถ้าเดินเต็มกำลังความสามารถของโรงงานแห่งนี้ในอนาคต และมีแผนจะประกอบรถเต็มความสามารถใน 5ปี  

โรงงานแห่งนี้ถูกระบุว่าเป็นโรงงานประกอบรถยนต์ Subaru  แห่งที่ 2  นอกประเทศญี่ปุ่น ต่อจากโรงงานซูบารุที่ประเทศอเมริกาในมลรัฐ อินเดียน่า แล้วก็มาตั้งที่ประเทศไทยเลย 

โรงงานซูบารุในประเทศไทย

สำหรับทางด้านในเครือตันจงเอง นี่เป็นโรงงานผลิตรถยนต์แห่งที่ 2เช่นกัน  ที่ประกอบรถยนต์ซูบารุ โดยแห่งแรกอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย ภายใต้การดูแลของบริษัท Tan Chong Motor Holdings Berhad ในเครือบริษัทย่อย Tan Chong Motor Assemblies Sdn. Bhd.  โรงงานที่มาเลเซีย เป็นโรงงานที่ประกอบรถ  Subaru  XV   และ  Subaru  Forester   ส่งมาขายในประเทศไทย และหลังจากนี้จะมีเพียงรถยนต์   Subaru  XV   เท่านั้น ตามที่เคยมีเปิดเผยก่อนหน้านี้

โรงงานซูบารุในประเทศไทย

โรงงานประกอบรถยนต์ Subaru   ในประเทศไทย

ตัว โรงงานซูบารุประเทศไทย เอง มีความสามารถพิเศษข้อหนึ่ง คือสามารถผลิตรถได้ทั้งพวงมาลัยซ้ายและพวงมาลัยขวา ในการสายการผลิตเดียวกัน เนื่องจากผลิตรถยนต์ป้อนให้ทั้งภายในประเทศไทย และยังต้องผลิตเพื่อการส่งออกไปยังประเทศมาเลเซีย ,เวียดนาม และบางส่วนให้ประเทศกัมพูชา ที่เริ่มมีความต้องการเข้ามาบ้างเล็กน้อย

ส่วนรถ Subaru  Forester  ที่ผลิตจากโรงงานซูบารุประเทศไทย เป็นการประกอบแบบ   Complete Knock Down  หรือ   CKD 

โรงงานซูบารุในประเทศไทย

โดยชิ้นส่วนสำคัญต่างๆ เช่นเครื่องยนต์ – เกียร์  เช่นเดียวกับโครงสร้างหลักของรถ และอุปกรณ์ภายนอก เช่น ประตูรถ  ระบบขับเคลื่อน ทั้งหมดนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น

แน่นอน ทางซูบารุประเทศญี่ปุ่น ไม่ได้คิดจะหิ้วทุกอย่างจากบ้านเกิดมาทั้งหมด พวกเขาเปิดเผยว่า ยังใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ หรือ   Local Content   ถึงร้อยละ 43 ของรถ ซูบารุฟอร์เรสเตอร์ใหม่ เท่าที่ทราบมีในเรื่องของชิ้นส่วนภายในห้องโดยสาร และขอบยางประตู  ผมมั่นใจว่า น่าจะมีพวกยางที่ติดกับรถด้วย ที่น่าจะเป็นชิ้นส่วนจากผู้ผลิตในประเทศไทย  ด้วย เนื่อง 2-3 อย่างที่พูดถึงมาซัพพลายเออร์ในไทยได้รับการยอมรับจากผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศ ในด้านคุณภาพอย่างมากเลยทีเดียว

ขั้นตอนการเชื่อมตัวถัง

แล้วคุณภาพการประกอบรถเป็นอย่างไร ??

ผมเชื่อว่านี่น่าจะเป็นคำถามที่หลายคนอยากทราบไม่น้อย ในเรื่องนี้เรียกว่าสบายใจได้หายห่วง รถ  Subaru  Forester   ที่ออกมาจากโรงงานซูบารุประเทศไทย มีการเข้มงวดในเรื่องคุณภาพมากเพื่อให้มีมาตรฐานเทียบเท่ากับโรงงาน ในเมืองกุนมะ ประเทศญี่ปุ่น

การควบคุมคุณภาพการผลิตสำคัญ ๆ เริ่มต้นมาตั้งแต่ขั้นตอนในการประกอบตัวรถด้วยหุ่นยนต์ประสิทธิภาพสูง เพื่อให้ได้คุณภาพในการผลิต ปราศจากข้อบกพร่อง เช่นเดียวกับการทำสี ก็ใช้ระบบอัตโนมัติตั้งแต่เริ่มเตรียมผิว การลงสีรองพื้นด้วยวิธีการ  Electrical deposit การพ่นสี ไปจนถึงเคลือบผิวชั้นบนสุด

ไม่เพียงเท่านี้รถที่ประกอบสำเร็จ ยังต้องผ่านมาตรการตรวจสอบเข้มงวด ตามขั้นตอนการตรวจสอบปกติของซูบารุ มีการวิ่งทดสอบเพื่อประเมินสภาพรถทุกคันที่ออกจากโรงงาน ตลอดจนยังมีการทดสอบการรั่วซึมของรถ ที่มีความโหดกว่าในประเทศญี่ปุ่น 2 เท่า เนื่องจากสภาพอากาศประเทศไทยมีฝนตกแรงบ่อยครั้ง แตกต่างจากทางญี่ปุ่น

ขั้นตอนการทดสอบรั่วซึม
ขั้นตอนการทดสอบรั่วซึม มีความโหดดว่าการทดสอบในญี่ปุ่น 2 เท่า

ตลอดจนเพื่อความมั่นใจยิ่งขึ้น ทางตันจงยังว่าจ้าง ทีมงานตรวจสอบคุณภาพจาก  Subaru  ประเทศญี่ปุ่น เข้ามาควบคุมมาตรฐานและกระบวนการผลิต รวมถึงยังมีชาวญี่ปุ่นร่วมตรวจสอบรถที่ผลิตจาก โรงงานซูบารุ แห่งนี้ โดยจะดึงรถออกมาจากสายการผลิต วันละ 2 คัน  เพื่อทำการตรวจสอบคุณภาพ เป็นประจำสม่ำเสมอ ว่าไม่เกิดข้อผิดพลาดในกระบวนการผลิต

ดังนั้นถ้าถาม ว่าจะมั่นใจได้หรือไม่  คงต้องตอบว่า ซูบารุจากโรงงานในไทยได้มาตรฐานเทียบเท่าใกล้เคียงประเทศญี่ปุ่น เมื่อรวมกับความสามารถของแรงงานคนไทยที่มีทักษะในการประกอบรถยนต์อยู่แล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่รถจากโรงงานแห่งนี้ น่าจะครบเครื่องคุณภาพมั่นใจได้ในการขับขี่

โรงงานซูบารุ ประเทศไทย
การตรวจสอบคุณภาพของ โรงงานประกอบรถยนต์ Subaru   ในประเทศไทย
ขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพในการผลิต

นาย เกลน ตัน รองประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการ กลุ่มตันจง อินเตอร์เนชั่นแนล (TCIL) กล่าวเกี่ยวกับ โรงงานซูบารุในประเทศไทย ว่า “การที่เราสามารถผลิตรถยนต์ซูบารุในประเทศไทยได้ด้วยตนเองนั้นถือเป็นก้าวแรกของความสำเร็จครั้งสำคัญ   โดยที่ผ่านมาเราดูแลธุรกิจในเกือบทุกขั้นตอนตั้งแต่การจัดจำหน่าย การแต่งตั้งผู้จำหน่าย และการบริการหลังการขาย แต่ตอนนี้เราสามารถดูแลการผลิตรถยนต์ซูบารุได้แล้ว ช่วยให้เราสามารถบริหารจัดการระบบห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ของเราได้ดีขึ้น ทำการตลาดในระดับท้องถิ่นได้ดีขึ้น และสามารถตอบสนองความต้องการรถยนต์ซูบารุของผู้บริโภคในภูมิภาคนี้ได้ดีมากขึ้น ”

พิธีเปิด โรงงานซูบารุ

ในเบื้องต้นทางซูบารุจะประกอบ   Subaru Forester  เป็นโมเดลแรก และวางแผนจะนำรถอีก 4 โมเดลเข้ามาผลิตและประกอบในโรงงานแห่งนี้ (โมเดลหนึ่งคาดว่า จะเป็นอเนกประสงค์ 7 ที่นั่ง เนื่องจากเคยยอมรับว่ามีการศึกษา และ ทางฝั่งออสเตรเลียมีความต้องการ) และสำหรับใครที่ลุ้นว่า ฟอร์เรสเตอร์รุ่นเครื่องยนต์ไฮบริดจะมาไทยหรือไม่ คงต้องรออีกสักพัก เพราะซูบารุกำลังศึกษาว่ามีความต้องการหรือไม่

โรงงานซูบารในประเทศไทย นับเป็นอีกความสำเร็จ และน่ายินดี โดยเฉพาะสำหรับสาวกซูบารุ  ที่ตั้งตาใจจดจ่อ เราจะเห็นได้ว่าในวันนี้ราคารถซูบารุต่ำลงมากจนหลายคนสามารถเอื้อมถึงแล้ว และน่าดีใจที่เราได้ใช้รถจากโรงงานบ้านเราที่มีคุณภาพการประกอบเทียบเท่า และไม่แตกต่างจากญี่ปุ่น นับเป็นหน้าประวัติศาสตร์สำคัญบทใหม่ของซูบารุ

โจทย์ต่อจากนี้สำหรับซูบารุ ที่น่าจับตาต่อไป คือการวางรากฐานสำคัญให้กับผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะเรื่องการบริการหลังการขาย ตลอดจนจำนวนศูนย์บริการ ที่ควรจะต้องครอบคลุมทั่วไทยมากขึ้น และพวกเขามีแผนในการเปิดศูนย์บริการให้ได้ครบ 45 แห่งทั่วประเทศไทย ภายในปีนี้

[ngg src=”galleries” ids=”1127″ display=”basic_thumbnail”]

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่

Comments are closed.