Home » 3 ประเทศใหญ่ในอาเซียนชอบรถอะไร อยากรู้ใช่ไหมลองชม?
สกู๊ปเด็ด

3 ประเทศใหญ่ในอาเซียนชอบรถอะไร อยากรู้ใช่ไหมลองชม?

คนไทยนิยมซื้อรถกระบะเป็นอันดับหนึ่ง ข้อนี้ทุกคนทราบกันดีอยู่แล้ว ว่าแต่กับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนล่ะ พวกเขามีรสนิยมในการเลือกรถแบบใดกันบ้าง

สวัสดีครับผู้อ่านชาว Ridebuster ทุกท่าน วันนี้เราเกิดความคิดอยากจะนำเสนอเรื่องว่าด้วยรสนิยมของคนแต่ละประเทศในทวีปเอเชีย ว่าพวกเขาเหล่านี้มีความชอบรถประเภทไหนกันบ้าง เพราะถ้าเป็นเมืองไทยของเราก็คงหนีไม่พ้นรถกระบะขนาด 1 ตัน ที่เดือนๆ หนึ่งมียอดขายเป็นหมื่นๆ คัน ส่วนชาติอื่นๆ เขาจะเลือกรถแบบไหนเราจะพาไปทำความรู้จักกัน

1.Malaysia แดนเสือเหลืองเขานิยมรถยนต์นั่งขนาดซัพคอมแพ็ค

ขอเริ่มประเดิมกันด้วยประเทศเพื่อนบ้านฝั่งใต้สุดของเรา อย่างมาเลเซียที่หลายคนชอบพูดกันว่าชาตินี้พัฒนาแซงหน้าเราไปหลายเรื่อง เอาเป็นว่าประเด็นดราม่าไม่ต้องไปสนใจนัก เพราะเราจะมาพูดถึงรถกันล้วนๆ ไม่มีสิ่งเจือปน โดยประเภทรถยนต์ที่ชาวมาเลย์ให้ความนิยมสูงสุดต่อเนื่อง ก็คือรถยนต์นั่งขนาดซัพคอมแพ็ค ในนามยี่ห้อรถแห่งชาติ Perodua…

คุณคงไม่ค่อยคุ้นหูชื่อยี่ห้อนี้ซักเท่าไหร่ใช่ไหม แน่ล่ะก็เพราะแบรนด์ Proton หนึ่งในสองยี่ห้อรถแห่งชาติมาเลย์เคยเข้ามาทำตลาดในไทยอยู่พักหนึ่ง แต่มีอันต้องจากลี้หนีไปแบบไม่มีวันกลับ แต่ที่แน่ๆ ยอดขายรถยนต์ทั้งปี 2018 ของมาเลเซียมีจำนวนทั้งสิ้น 533,202 คัน โดยกลุ่มรถยนต์นั่งกินส่วนแบ่งไปถึง 67.8% และรถยนต์ยี่ห้อ Perodua คว้ายี่ห้อรถขายดีที่สุดประจำแดนเสือเหลืองไป ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 38%

ถามว่าค่าย Perodua มีรถรุ่นไหนเป็นคันขายหลักในการกอบโกยกำไรมหาศาล คำตอบก็คือ Perodua Myvi รถแฮทช์แบ็ค 5 ประตู ขนาดซัพคอมแพ็คไซส์เดียวกับ Honda Jazz, Nissan Note ซึ่งข้อมูลล่าสุดพบว่าเพียงช่วงครึ่งแรกของปี 2019 มันก็ขายได้แล้วกว่า 121,800 คัน กินส่วนแบ่งตลาดรถทั้งหมดได้ถึง 41.1% อีกทั้งปลายปีคาดว่าจะทำยอดทะลุไปถึง 235,000 คัน หากเทียบกับจำนวนรถยนต์ที่ขายได้ต่อปีในมาเลย์ราว 580,000 คัน สัดส่วนนี้ถือว่ามากมายนัก

Toyota Avanza MY2019

2.Indonesia แดนอิเหนาต้องคู่กับรถครอบครัว 7 ที่นั่งเท่านั้น

ชาติอย่างอินโดนีเซียมีความต้องการใช้รถยนต์ที่แตกต่างออกไป โดยคนอินโดฯ ชื่นชอบการซื้อรถครอบครัว 7 ที่นั่ง ซึ่งรถมินิเอ็มพีวียังคงเป็นเบอร์หนึ่งตลอดกาล หากจะให้เห็นชัดเจนขึ้นก็ต้องพูดถึงยอดขายรถรวมตลอดทั้งปีเสียหน่อย ในปี 2018 คนอินโดฯ ซื้อรถทั้งสิ้น 1,151,291 คัน ซึ่งมีแบรนด์ Top 3 ได้แก่ Toyota, Daihatsu และ Honda ทั้งสามยี่ห้อกินส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 30.3%, 18.5% และ 14.9% ตามลำดับ

ทีนี้หลายคนมีคำถามว่าแล้วรถมินิเอ็มพีวี 7 ที่นั่ง คันไหนครองใจผู้บริโภคแดนอิเหนาได้มากที่สุด? ผลก็คือ Toyota Avanza รถที่คนไทยจำนวนมากพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า คุณยังกล้าเอามาขายให้เราอีกเหรอ? แต่กับที่อินโดฯ รถโมเดลนี้สามารถขายได้เป็นจำนวนมาก เพราะในปี 2018 มีคนซื้ออแวนซ่าไปใช้งานมากถึง 82,167 คัน

หากคุณคิดว่า Avanza เป็นผู้นำโด่งแบบไม่มีคู่แข่งแล้วล่ะก็ ขอบอกว่าคิดผิด เพราะในปีเดียวกัน Mitsubishi Xpander สามารถเข้ามาใหม่พร้อมกับตีแสกหน้าคู่แข่งคันอื่นๆ จนมาอยู่ในลำดับที่ 2 ขายได้ถึง 75,075 คัน คิดเป็นการเติบโตถล่มทลายถึง 474.4% ต่างจากเบอร์หนึ่ง Avanza ที่ขายลดลง 29.4%

3.Vietnam เมืองลุงโฮนำทีมด้วยโตโยต้าในมาดรถซัพคอมแพ็ค

ตลาดรถยนต์เวียดนามถือว่ายังไม่ค่อยมีปริมาณการขายสูงเท่าไหร่ หากเทียบกับจำนวนประชากรในชาติที่มีราว 95 ล้านคัน โดยปี 2018 ที่ผ่านมาคนเวียดนามซื้อรถยนต์ทุกประเภทรวมกัน 288,683 คัน นำทีมแชมป์โดยยี่ห้อ Toyota กินส่วนแบ่ง 22.8%

ที่เวียดนามนั้นหากคุณสังเกตุบนท้องถนนของที่นั่น จะพบว่ารถขนาดซัพคอมแพ็คมีปริมาณวิ่งไปมาขวักไขว่ นั่นก็ตรงกับข้อมูลที่เราได้มาซึ่งระบุว่า Toyota Vios ครองอันดับ 1 รถยนต์ขายดีที่สุดประจำปี 2018 ขายได้ทั้งสิ้น 27,188 คัน ต่อด้วยอันดับ 2 เป็นรถซิตี้คาร์ขนาดเล็กอย่าง Hyundai i10 ขายได้ 22,068 คัน ซึ่งรถทั้งสองโมเดลนี้ล้วนผลิตขึ้นในประเทศเวียดนามแบบ CKD

อุตสาหกรรมยานยนต์เวียดนามในปัจจุบันแม้ว่าจะมีปริมาณไม่มากนักเมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากร แต่พวกเขามีโมเดลการทำธุรกิจคล้ายๆ ไทยในช่วง 20-30 ปีก่อน โดยมีการกระตุ้นให้บริษัทรถยนต์ชั้นนำจากต่างประเทศเข้ามาตั้งโรงงานผลิตรถในประเทศ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการจ้างแรงงาน ทั้งบริษัทซัพพลายเออร์ ไปจนถึงขั้นตอนการประกอบรถทั้งคัน โดยปี 2018 ที่ผ่านมารถจำนวนกว่า 215,704 คัน คือรถที่ผลิตขึ้นแบบ CKD จากฝีมือชาวเวียดนาม…

จบกันไปแล้วบทความสั้นๆ เกี่ยวกับรสนิยมการซื้อรถของคนชาติใหญ่ๆ ในอาเซียน เราหวังว่าผู้อ่านจะได้เปิดโลกและเข้าใจว่าเพื่อนบ้านของเรานั้น มีความเหมือนหรือต่างอย่างไรกับประเทศไทย ที่ส่วนใหญ่พวกเรานิยมซื้อรถกระบะมาใช้งานกันทั่วไป

ติดตามข่าวสารและบทความดีๆ จากพวกเราทีมงาน Ridebuster.com

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่

Comments are closed.