Home » “โละป้ายแดง” ทำได้แน่ จริงหรือ….
redplate-scoop005
บทความ สกู๊ปเด็ด

“โละป้ายแดง” ทำได้แน่ จริงหรือ….

ตลอดช่วงสัปดาห์ทีผ่านวงการยานยนต์ดูจะป่วนกันจ้าละหวั่น หลังจากทางกรมการขนส่งทางบกออกมาเผยไพ่ใหม่ ในการเตรียมปลดระวางป้ายแดงในช่วงกลางปี พ.ศ. 2561 และนโยบายนี้บางส่วนได้เริ่มดำเนินการไปแล้วในช่วงปีนี้ ด้วยการแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

หลายคนเมื่อฟังข่าวต่างส่งเสียงในมุมมองเห็นด้วยต่อการเข้ามาดำเนินการในเรื่องนี้ของภาครัฐบาล การได้รถป้ายขาวออกจากโชว์รูมตั้งแต่วันแรกเป็นเรื่องดี และรัฐบาลดูพยายามจะเร่งรัดภาษีรถยนต์ประจำปีเข้าสู่ระบบให้มากที่สุด สำหรับคนทั่วไปข่าวนี้คงเป็นอีกข่าวที่มองภาพการแก้ปัญหาของรัฐบาล แต่กับวงการซื้อขายรถยนต์ ตั้งแต่ตัวแทนจำหน่ายไปถึงผู้ซื้อต่างกังขา ว่า  นโยบายนี้ทำได้จริงและพร้อมแน่ หรือเป็นเพียงอีกครั้งก็ความพยายามในการทำสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น โดยไม่ได้คำนึงถึงข้อเท็จจริง

การออกมาเปิดเผยแนวนโยบายดังกล่าว จาก นาย สนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบกในการวางแนวทางโละป้ายแดง ที่มีขึ้นเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นการประกาศกร้าวลดความสำคัญของป้ายแดง ที่ใช้แทนป้ายทะเบียนชั่วคราวก่อนได้ป้ายจริง และพยายามบีบให้รถใหม่ที่ซื้อขายตั้งแต่วันนี้ และจะเริ่มดำเนินการจดทะเบียน จะต้องทำให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน หมดวาระโชว์โก่ ขับป้ายแดงอวด ลากจดยาวๆ  อย่างที่เคยทำกันมา

ในแนวทางที่นายสนิทกล่าวขึ้นมา ให้เหตุผลเรื่องการป้องกันการโจรกรรมรถยนต์ เนื่องจากรถยนต์ที่ใช้ป้ายแดง ถ้าพูดอีกนัยยะหนึ่งก็คือรถยนต์ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่อนุโลมให้ใช้ไปพลางๆ ด้วยการยึดถือว่า  อยุ่ในระหว่างขั้นตอนการซื้อขาย ซึ่งผู้ซื้อรถไม่จำเป็นต้องมารับรู้กระบวนการที่ล่าช้า

ป้ายแดงที่ทางกรมการขนส่งว่ามีจริง อยู่เพียง 4 แสนแผ่นป้าย กำลังจะหายไปได้จริงหรือ

นี่เป็นคำถามที่เกิดขึ้นในใจบรรดาผู้ซื้อขายรถยนต์ที่กังวลใจอย่างมาก ต่อนโยบายที่เหมือนตื่นตอนเช้าแล้วนึกว่า น่าจะถึงเวลาจัดระเบียบรถป้ายแดง

การกล่าวขึ้นมาลอยของท่านอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เป็นแนวทางที่ดี แม้แต่ผู้เขียนก็ยังเห็นด้วยหาได้อยากจะขัดขวางในกระบวนการไม่ แต่ประเด็นสำคัญจริงๆ กลับอยู่ที่ความพร้อมของกรมการขนส่งทางบกมากกว่า ว่า ทางกรมมีความพร้อมแค่ไหน และสามารถรับสถานการณ์ ณ วันที่เลวร้ายที่สุดของสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้หรือเปล่า

ในแง่หนึ่งของการขึ้นทะเบียนรถใหม่ ปัจจุบันเป็นหน้าที่ของสถาบันการเงินอละศูนย์บริการ และในการซื้อขายรถยนต์กว่าร้อยละ 90 ในปัจจุบัน เป็นการซื้อขายในรูปแบบระบบสินเชื่อทางการเงินทั้งสิ้น  ทำให้ภาระของวาระโละป้ายแดงไปตกอยุ่ที่สถาบันการเงินและศูนย์บริการทันที

ตามการเปิดเผยของกรมการขนส่งทางบก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ทางกรมฯ มีความพยายามในการขจัดปัญหาในการใช้ป้ายแดงของประชาชน  ทั้งที่ไม่ใช่ความผิดของประชาชนผู้ใช้รถ แต่เป็นการล่าช้าทางกระบวนการเอกสารที่อาจจะมีความยุ่งยากซับซ้อนของไฟแนนซ์และหรือศูนย์บริการเอง

ในตอนนั้น  นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ได้กล่าวว่าทางกรมได้ประชุมหารือร่วมกับบริษัทผู้จำหน่ายรถ ผู้แทนจำหน่ายรถ สถาบันการให้สินเชื่อรถยนต์ รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณารายละเอียดแนวทางในการจดทะเบียนรถใหม่ รวมถึงกำหนดแนวทางและการใช้เครื่องหมายแสดงการใช้รถในระหว่างการขนย้ายเป็นกรณีพิเศษ เฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้รถเพื่อจัดส่งไปยังผู้แทนจำหน่ายรถ ผู้ซื้อรถ หรือสถานที่ที่รอการส่งรถ

“หลักการคือ ทางดีลเลอร์จะต้องลดขั้นตอนการขายและส่งมอบรถพร้อมป้ายทะเบียนให้กระชับขึ้น โดยเฉพาะกรณีตรวจสอบเอกสาร ข้อมูลทางการเงิน และการจัดไฟแนนซ์ ที่ต้องรอหนังสือแจ้งจำหน่ายจากบริษัทแม่(ไฟแนนซ์)ส่งไปดีลเลอร์ ส่วนการติดต่อเพื่อออกป้ายทะเบียนที่กรมการขนส่งฯ นั้นไม่ล่าช้า ใช้เวลาเพียง 1 วันเท่านั้น”

นาย ธีระพงษ์ ย้ำว่า จะทำให้ประเทศไทยไม่มีป้ายแดงแบบเดียวกับในต่างประเทศ

ปัญหาเรื่อง “ป้ายแดง” หากมองลึกลงไปแล้ว การใช้รถป้ายแดงไม่ได้เป็นปัญหา แต่การทำอย่างไรให้รถที่ออกใหม่เข้าสู่ระบบโดยเร็วต่างา เป็นสิ่งที่กรมการขนส่งทางบกพยายามคิดและออกอุบายเพื่อให้เงินที่ควรสะพัดเข้าระบบตามจำนวนยอดขายของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ เข้าสู่เงินคงคลังภาษีของประเทศเร็วขึ้น

รวมถึงในการมาวางนโยบายดละป้ายแดงล่าสุดยังชี้ให้เห็นว่า การใช้รถป้ายแดงเป็นช่องที่อาจจะทำให้เกิดการโจรกรรมได้ง่าย แต่ข้อเท็จจริงด้านหนึ่งคือว่า ถ้ารถป้ายแดงขับฝ่าฝืนกฎจราจรรัฐบาลก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร จะตั้งข้อหากับใครได้ เพราเจ้าของป้ายคือพนักงานขายรถยนต์ หรือศูนย์บริการ

อาจจะจริงที่ทั้งสอง อธิบดีกล่าวมาในแง่ของหลักการทั่วไป คือ การจดทะเบียนรถยนต์ 1 คันใช้ เวลา 1 วัน เท่านั้น หากปัญหาสำคัญ อยู่ที่เงื่อนไขการรับบริการจดทะเบียนในด้านต่างๆ เช่น

                – ลูกค้าของจดจองเลขทะเบียน ซึ่งจะไม่สามารถจดทะเบียนได้จนกว่าจะถึงหมายเลขที่จดทะเบียน หรือไม่ต้องรอให้เลยไปสัก วันสองวันก่อน

                – คนไทยจำนวนหนึ่งมีความเชื่อทางด้านพุทธคติ ในด้านฤกษงามยามดีในการออกรถ ทำให้วันขับออกจากโชว์รูม แม้จะดูเป็นเรื่องไร้สาระของภาครัฐ แต่ความเป็นสิริมงคล ล้วนเป็นความเชื่อส่วนบุคคล

                -บริษัทรถยนต์อาจจะส่งมอบรถไม่ได้ไม่ทัน เกิดความล่าช้า เช่นรถรุ่นที่ไม่ได้รับความนิยมมาก หรือต้องรอการผลิตหรือนำเข้า

 

เพียงแค่เงื่อนไขสองสามข้อข้างต้น ในมุมของผู้ให้บริการทางด้านงานขายเรียกว่าถึงขั้นกุมขมับกับแนวทางใหม่ของภาครัฐแต่ก็ต้องพยายามที่จะต้องตอบสนองลูกค้าอย่างดีที่สุด ทำอะไรก็ได้ที่ลูกค้าพอใจ นั่นคือโจทย์ของพนักงานขาย

ยิ่งเมื่อรัฐกำหนดกฎเกณฑ์ ไม่ให้ใช้ป้ายแดงขับ หรือว่าง่ายๆ ถ้ารถไม่ติดป้ายขาวไม่ได้ป้ายวงกลม เสียภาษีประจำปี ก็ไม่มีสิทธิใช้ถนน อาจจะก่อกวนการซื้อขายรถยนต์ โดยเฉพาะคนที่มีพิธีรีตองสูง จะเกิดปัญหาทันที

ในด้านผู้บริโภคที่ต้องการและอยากได้รถคันใหม่ ก็คงเซ็งไม่แพ้พนักงานขาย 

การซื้อรถใหม่ของแต่ละคนมีเหตุผลไม่เหมือนกัน สำหรับที่ซื้อรถคันที่ 2  หรือมากกว่านั้น กฎเกณฑ์ต้องใช้ป้ายขาวจึงจะขับบนถนนได้ คงไม่ใช่ปัญหาเท่าไรนัก แต่สำหรับคนที่ซื้อรถคันแรก ส่วนมากมีความต้องการในการหลีกหนีการขนส่งสาธารณะที่อาจจะไม่เอื้ออำนวยต่อการเดินทาง หรือการใช้ชีวิตของเขา การบังคับให้ใช้ป้ายขาว ทำให้อาจจะต้องรอเวลารับรถเพิ่มขึ้นไปอีก แม้ขั้นตอนในการจดทะเบียนจะทำภายในวันเดียวเสร็จ

หากกรมการขนส่งทางบกเอง ก็ลืมข้อเท้จจริงว่า ไม่มีผู้ซื้อรายไหนไปจดทะเบียนเอง ทั้งหมดเป็นกระบวนการของศูนย์บริการทั้ง ซึ่งตัวแทนจำหน่ายเองก็คงไม่เต้นวิ่งไปกรมการขนส่งเพื่อขึ้นทะเบียนรถใหม่วันต่อวัน เพราะไม่คุ้มค่าเดินทาง สู้รอยอดขายในระดับหนึ่ง อาจจะ 5 -10 คัน เปลี่ยนไปตามแต่ละยี่ห้อ ก่อนจะจดแจ้งขึ้นทะเบียน แบบนี้ลดรายจ่ายได้ดีกว่าเห็นๆ

ในแง่หนึ่ง ปัญหาก็อาจจะอยู่ที่กรมการขนส่งทางบกเอง ถึงอธิบดีจะพูดให้สวยหรูว่า ทุกวันนี้ จดทะเบียนรถยนต์เพียงวันละพันคันเท่านั้น  แต่เมื่อมาดูยอดจดทะเบียนประจำเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560 ในประเภทรถ รย.01 หรือ รถนั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง พบว่า ทั้งประเทศการจดทะเบียนไปทั้งสิ้น  52, 113 คัน ถ้าหักวันเสาร์อาทิตย์ ออก จำนวน 8 วัน นับเป็น 22 วัน ทำการ เท่ากับ จะต้องจดวันละ 2,368 คัน ทั้งประเทศ นี่ยังไม่นับเดือนที่อาจจะมีวันหยุดยาว

ส่วนวันละพันคัน คาดว่าเป็นยอดของ กทม. จังหวัดเดียว เพราะ ยอดจดทะเบียนเดือน มิ.ย. 60 มีเพียง 25,141 คัน ซึ่งก็ตกวันละ 1,143 คันเท่านั้น

คำถามน่าคิด จำนวนเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการจดทะเบียนรถใหม่ มีจำนวนมากพอสำหรับรองรับการจดทะเบียนปริมาณมหาศาลแค่ไหน

เพราะการให้ใช้ป้ายแดง ก็เหมือนการหน่วงประวิงการจดทะเบียน เจ้าหน้าที่กรมการขนส่งเองไม่ต้องนั่งหูตูบเร่งคีย์ข้อมูลจดทะเบียนทุกวัน วันละหลายร้อยคัน และยังต้องทำงานแข่งกับเวลามากขึ้น เพื่อให้ทันความต้องการของเซลล์ขายรถยนต์ รวมถึงไฟแนนซ์ หรือสถาบันการเงิน ที่มีเป้าหมายทางการตลาดที่ต้องทำ

ผมล่ะกังวลว่า ถ้าทุกอย่าง ซึ่งเดิมก็มาจุกที่กรมการขนส่งทางบกทั่วประเทศอยู่แล้ว แต่ไม่ถูกกดดันจากตัวแทนจำหน่ายและสถานบันการเงิน เนื่องจากทันทีที่ลูกค้ารับรถ พวกเขาก็ได้เงิน

เปลียนเป็นถูกรัดแน่น ด้วยความต้องการของท่านอธิบดีที่ต้องการจะขจัดป้ายแดงให้สิ้นซากจากเมืองไทย  กรมการขนส่งทางบกพร้อมรับแรงกดดันนั้นจริงหรือ???

แถมเป้าจากการขาย และสิ้นเชื่อไม่ใช่อย่างเดียวที่จะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง  แต่เป็นการหมุนเวียนทางการเงิน ซึ่งปกติแล้วลูกค้าจะชำระค่าดาวน์รถในวันรับรถ ซึ่งเงินมูลค่ารถที่เหลือจะถูกโอนจากสถาบันการเงินเข้าตัวแทนจำหน่าย แทบจะทันทีหลังจากลูกค้ารับรถ 

เดิมที่การส่งมอบรถในกระบวนการซื้อขายสามารถทำได้ในสัปดาห์ นับจากหลังวันที่ลูกค้าจองซื้อรถ หากลูกค้ามีประวัติทางการเงินดีก็สามารถผ่านไฟแนนซ์ได้ 2-3 วันทำการ ที่เหลือคือการรอรถจากบริษัทผู้ผลิต ให้เป็นไปตามความต้องการ  ของลูกค้า บางตัวแทนจำหน่ายมีรถรอส่งลูกค้าอยู่แล้ว จึงสามารถดำเนินการได้เร็วขึ้นไปอีก แต่หากกรมการขนส่งทางบกต้องการให้ใช้ป้ายขาว ก็หมายถึง จะมีขั้นตอนจดทะเบียนเพิ่มขึ้น เพื่อให้ลูกค้าได้ใช้รถอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

เมื่อพนักงานขาย ส่งมอบรถไม่ได้ ลูกค้าก็จะล่าช้าในการจ่ายเงินกับไฟแนนซ์ , ไฟแนนซ์เอง ก็จะปล่อยเงินให้ตัวแทนจำหน่ายไม่ได้ เป็นวงจรแบบนี้ไปเรื่อย เนื่องจากความต้องการให้ใช้ป้ายขาวโดยทันทีออกจากศูนย์บริการ  แล้วท้ายสุด ภาระก็จะย้อนกลับมาหากรมการขนส่งทางบกเอง ที่ต้องผลิตป้ายและจดทะเบียนให้ทัน ตามความต้องการของภาคธุรกิจ

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นถึงความไม่พร้อมของกรมการขนส่งทางบก ผมได้ทำการทดลองง่ายด้วยการโอนย้ายทะเบียนรถยนต์จากจังหวังกรุงเทพมหานครไปยังจังหวัดนนทบุรี (การโอนย้ายนี้เป็นประสงคของผมอยู่แล้ว) โดยทำการโอนย้ายปลายทางตั้งแต่ 19 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

ในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2560 (หรือวะนที่เขียนบทความนี้) ผมไปดำเนินการย้ายเข้า ณ ขนส่งจังหวัดนนทบุรี โดยการแจ้งเปลี่ยนสาระสำคัญของรถ อาทิการย้ายเข้า-ออก ,จดทะเบียนใหม่ และ โอนกรรมสิทธิ์รถ นั้นใช้เคาท์เตอร์บริการเดียวกัน 

หลังนำรถตรวจสภาพ เสร็จเรียบร้อยผมได้คิวในการเดินเรื่องเบอร์ 077 รับคิวตอนเวลา 10.57น. มีคนรอทั้งสิ้น 42 คิว แต่กว่าจะเสร็จเรื่องดำเนินการจนได้รับใบบันทึกรายการจากเจ้าหน้าที่ขนส่ง นั้น คือ เวลา 14.11 น. หรือใช้เวลาดำเนินการทั้งสิ้น  3 ชั่วโมง 14 นาที 

นี่ชี้ให้เห็นถึงความล่าช้าของการให้บริการของกรมการขนส่งทางบกเอง ที่มีกระบวนการล่าช้าในการดำเนินการ แม้จะยังอยู่ในเงื่อนไข 1 วันทำการก็จริง และมีการปรับปรุงระบบคอมพิวเตอร์ด้วย แต่ก็ไม่ได้สะดวกนัก ยิ่งเมื่อนับว่าสำนักงานขนส่งนนทบุรี เป็นเพียงสำนักงานและจังหวัดเล็กเท่านั้น หากเป็นจังหวัดใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร หรือ หัวเมืองใหญ่ เชื่อว่าน่าจะใช้เวลาในการดำเนินการและมีปริมาณงานมากกว่านี้อย่างไม่ต้องสงสัย 

จนผมย้อนมามองว่า ความพยายามยกเลิกป้ายแดงนั้นทำได้จริงหรือไม่ ความพร้อมของกรมฯ มีมากพอที่จะตอบสนองประชาชน , และหุ้นส่วนทางธุรกิจที่จะเข้ามามีบทบาททันทีที่ระเบียบใหม่ประกาศใช้ ภายใต้ความกดดันจากยอดเป้าหมายทางธุรกิจ การประกอบการ และผลกำไร

หากคิดว่ายังทำไม่ได้ ถอนตัวในตอนนี้ยังไม่สาย ที่จะเลี้ยวกลับ เพื่อทบทวนว่า ระบบ จำนวนเจ้าหน้าที่และศักยภาพในการให้บริการสามารถสนองตอบได้อย่างที่จะสามารถทำให้ประชาชน ดีลเลอร์ และ ไฟแนนซ์พอใจ ไม่กระทบกับภาคธุรกิจ

แนวทางการยกเลิกป้ายแดง ถือเป็นแนวทางที่ดี มันอาจจะดูเป็นมาตรฐานสากล ดีกว่าใช้ระบบ   Thailand Only   มีป้ายนี้ขับรถก่อนได้ แต่ในมุมมองเรื่องนี้ ผมว่า ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องไปคิดทบทวน ซึ่งงานนี้เป็นหน้าที่ของกรมการขนส่งเอง ที่อาจจะต้องกลับไปพิจารณาให้ถี่ถ้วน อาจใช้วิธีการอื่น เช่นบังคับจำนวนวันใช้ป้ายแดงของประชาชน หากยังไม่จดแจ้งให้ถือว่าผู้ดำเนินการ (ดีลเลอร์หรือไฟแนนซ์) มีความปิด แบบนี้จะดีกว่าไหมครับ … แทนที่จะแก้แบบหักดิบ ลองวิธีที่มีเหตุผลมากกว่า ชาติไทยไม่จำเป็นต้องเหมือนใครก็ได้ ถ้าเราทำในแบบเราแล้วมันทำให้ประสิทธิผลดีกว่า 

เรื่องโดย ณัฐยศ ชูบรรจง

ชอบกดไลค์ใช่กดแชร์ ขอบคุณทุกกำลังใจสำหรับพวกเรา   ridebuster.com 



แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่

Comments are closed.