Home » ซิตี้คาร์ – อีโค่คาร์ …ได้เวลาปรับความเข้าใจ
Mazda 2
บทความ สกู๊ปเด็ด

ซิตี้คาร์ – อีโค่คาร์ …ได้เวลาปรับความเข้าใจ

เป็นระยะเวลานานพอสมควร ตั้งแต่รถยนต์นั่งขนาดเล็กประเภท Sub Compact Car  เข้ามาขายในประเทศไทย ด้วยเป้าหมายสร้างตลาดกลุ่มใหม่ ด้วยรถยนต์ที่มีราคาถูกลง เพียงพอต่อการใช้งาน ด้วยวิถีที่เปลี่ยนไปของคนในยุคนั้น ที่มีความเป็นคนเมืองมากขึ้น

ความบัญญัติว่า “ซิตี้คาร์” จึงถือเกิดขึ้นพร้อมกับช่วงเวลาที่หอมหวนของรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ในช่วงราวๆ ปี 2004- 2005 ในระหว่างนั้น ภาครัฐบาลมีแนวคิดจะพัฒนาให้รถยนต์ขนาดเล็กกลายเป็นสินค้ายานยนต์สร้างรายได้อีกอัน หลังจากประสบความสำเร็จจากรถยนต์กระบะขนาดกลางน้ำหนักบรรทุก 1 ตัน จึงมีการศึกษาการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์นั่งขนาดเล็ก โครงการนี้แรกเริ่มเรียกว่า  ACEs Car  ก่อนมีการปรับมาใช้คำว่า  “Eco Car” ในระยะหลัง

โครงการอีโค่คาร์เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2546 มาชัดเจนในช่วงปี พ.ศ. 2547 โดยมีกรอบคร่าวๆ เป็นรถราคาประหยัด 2.8-3.5 แสน ให้ลูกค้าผ่อนได้สะดวกในวงเงิน 4-5 พันบาท ต่อเดือน วิกฤติน้ำมัน ประกอบกับเทรนด์กระแสโลก พัดพาให้รถยนต์อีโค่คาร์ ก้าวมาสู่การเป็นรถรักษาสิ่งแวดล้อม ที่มาคำว่า  “Eco Car”  จึงมาจากคำว่า Ecology Car

Mazda2 อีโค่คาร์ - ซิตี้คาร์

กฎเข้มงวดทางด้านการปล่อยไอเสียไม่ใช่อย่างเดียวที่เข้มงวด เพื่อให้สอดคล้องมากขึ้น จึงมีการปรับให้อีโค่คาร์ต้องมีความประหยัด 20 ก.ม./ลิตร ภายใต้ข้อจำกัดเครื่องยนต์เบนซินไม่เกิน 1.3 ลิตร และเครื่องยนต์ดีเซลไม่เกิน 1.4 ลิตร มีการปรับยกเลิกกฎเดิม ที่ตั้งใจให้ขนาดตัวรถมีความยาวไม่เกิน 3.6 เมตร และมีความกว้างไม่เกิน 1.6 เมตร  ออกไป

ส่งผลให้รถยนต์อีโค่คาร์ยุคแรก เกิดขึ้นภายใต้ขนาดเครื่องยนต์เบนซิน 1.2 ลิตร และคนไทยส่วนใหญ่ เรียกรถที่มาจากโครงการนี้ว่า “อีโค่คาร์” ขณะที่ “ซิตี้คาร์” ในเวลานั้นแตกต่างด้วย ตัวรถแนะนำสู่ตลาดด้วยเครื่องยนต์ขนาด 1.5 ลิตรจนกลายเป็นการแบ่งแยกชนชั้นวรรณะรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ที่มีความแตกต่างกัน โดยแบ่งตามขนาดเครื่องยนต์ที่วางจำหน่าย สร้างความเข้าใจแบบนี้กับคนไทยมาช้านาน

ในต่างประเทศไม่มีการแบ่งรถยนต์ตามขนาดเครื่องยนต์ แต่ประเภทรถจะถูกแบ่งออกไปตามขนาดมิติตัวถังของรถที่วางจำหน่ายในตลาด รถยนต์ขนาดเล็ก ถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

1.Micro car /Kei Car  รถยนต์ขนาดเล็กที่สุดปัจจุบันเป็นที่นิยมมากในประเทศญี่ปุ่น มีแนวทางส่งเสริมรถยนต์ประเภทนี้ เนื่องจากเป็นประเทศขนาดเล็กมีพื้นที่จำกัด คนไทยเรารู้จักในนาม   Kei Car  รถแบบนี้ปัจจุบันถูกวางข้อจำกัดทางด้านตัวถังมีความยาว 3.4 เมตร กว้าง  1.48 เมตร และสูง 2 เมตร ที่สำคัญเครื่องยนต์ที่ใช้ต้องมีขนาดไม่เกิน  660 ซีซี มีพละกำลังไม่เกิน 63 แรงม้า

2.Mini Car กลุ่มนี้ไม่ได้หมายถึงรถยนต์ยี่ห้อมินิ แต่หมายถึงรถยนต์ที่มีขนาดเล็กที่มีความใหญ่กว่ากลุ่มแรก บางครั้งติดตามข่าวจะได้ยินคำว่า   Sub Compact A  หรือ  A Segment  หมายถึงรถที่มีขนาดเล็กมีความยาวตัวรถไม่เกิน 4 เมตร ตัวเครื่องยนต์ไม่จำกัดขนาด แต่เนื่องจากเป็นรถเล็กราคาถูกจึงมักใช้เครื่องยนต์ที่มีราคาไม่แพงมาก กำลังไม่หวือหวา อาทิ เครื่องยนต์ 1.0 ลิตร ปกติทั่วไป ไปจนถึง เครื่องยนต์เบนซินขนาด 1.3 ลิตร บางรุ่นมาพร้อมเครื่องยนต์ดีเซลก็มีให้เห็นกันมาแล้ว

อีโค่คาร์ - ซิตี้คาร์

ปัจจุบันรถกลุ่มนี้เป็นรถที่ขายดีมากในยุโรป เนื่องจากมีขนาดเล็กเหมาะกับสภาพการใช้งานในเมืองต่างๆ ของทางฝั่งยุโรป ซึ่งทางฝั่งยุโรปเรียกรถกลุ่มนี้ว่า “ซิตี้คาร์” ด้วยความคล่องตัวในการขับขี่ จอดง่าย ภาษี และการบำรุงรักษาถือว่าถูกกว่ารถทั่วไป

3.Super Mini   อันที่จริงกลุ่มนี้แหละที่ถูกเรียกว่า   Sub Compact Car ด้วยขนาดตัวรถที่ออกแบบมาให้มีขนาดเล็กกว่ารถยนต์คอมแพ็คคาร์ในกลุ่มพวก   Toyota Corolla Altis, Honda  Civic , Nissan  Syphy เล็กกว่าเพียงเล็กน้อย คำนี้ถูกบัญญัติขึ้นในอเมริกา และใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก

ส่วนคำว่า  Super Mini  เป็นคำที่ใช้ในประเทศอังกฤษเท่านั้น แต่ก็ได้รับความนิยมจากสื่อทางยุโรป เวลาเรียกรถยนต์กลุ่มนี้ ถ้าจะเรียกให้ถูกต้อง ต้องพูดว่า  B Segment มันหมายถึงรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่มีขนาดความยาวตัวถัง ตั้งแต่ 4.0 -4.5 เมตร เช่นเคยไม่จำกัดเครื่องยนต์

subcompact car อีโค่คาร์ - ซิตี้คาร์

รถกลุ่มนี้ถือเป็นรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่ได้รับความนิยมที่สุด เนื่องจากมีขนาดพื้นที่ใช้สอยมากพอสมควร และยังคล่องตัวขับง่าย หลายรุ่น เป็นที่รู้จักตั้งแต่อดีตมาจนปัจจุบัน อาทิ Ford Fiesta, Honda Jazz , Toyota Vitz   เป็นต้น

 

ดังนั้นหากสรุปจากข้อเท็จจริงรถยนต์นั่งขนาดเล็ก เราจะพบว่า รถยนต์นั่งขนาดเล็กในโลก -มี 3 ขนาด คือ  Kei Car, Mini  Car  และ  Super Mini   ส่วนการเรียกว่า  “อีโค่คาร์” หรือ “ซิตี้คาร์” มาจากการเลือกใช้คำทางการตลาด ในอดีต สร้างจุดขายต่อผลิตภัณฑ์ ว่ารถรุ่นไหนเจ้าร่วมโครงการสนับสนุนภาครัฐหรือไม่

คนไทยจำนวนไม่น้อย มักสับสนว่า มันเป็นรถคนละกลุ่ม ยังคงคิดว่า อีโค่คาร์เป็นรถยนต์นั่งเล็กราคาถูก ส่วน ซิตี้คาร์เป็นรถดีมีคุณภาพเลยขายแพงกว่า ทั้งที่ปัจจุบัน และต่อจากนี้ไป รถยนต์ซิตี้คาร์ในอดีตหลายรุ่น ได้เข้าร่วมโครงการอีโค่คาร์เพื่อให้ได้ส่วนลดทางภาษีมากที่สุด ทำราคาต่ำลงมาตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น

ยกตัวอย่างกรณีล่าสุด   Honda City   และ Nissan  Almera   ยังมีหลายคนเข้าใจผิดว่า มันเป็นรถคนละกลุ่มด้วยภาพลักษณ์ในอดีต ซึ่งซิตี้วางตัวเป็นรถยนต์ซิตี้คาร์มานานกว่า 4 เจนเนอร์เรชั่น ก่อนหน้า  ขณะที่   Nissan Almera  วางตัวเองเรียกหรือถูกเรียกว่า “อีโค่คาร์” มายาวนาน

คนจึงมักคิดว่ารถยนต์ทั้ง 2 รุ่น มีความแตกต่างกัน ทั้งที่จริง มันคือรถกลุ่มเดียวกัน ถ้าว่ากันตามขนาดมิติตัวถัง ความยาวของตัวรถ แต่ด้วยความเข้าใจและชินในการเรียกของคน จึงคิดว่ามันแตกต่างกัน

“อีโค่คาร์” – “ซิตี้คาร์” สรุปแล้ว มันคือ การใช้วาทะทางการตลาด จนลูกค้าไม่ได้เข้าใจ ในเรื่องการแบ่งและจัดสรรประเภทรถยนต์อย่างแท้จริง คิดว่ามันต่างกัน

แท้ที่จริง ถ้าเรามามองที่ขนาดตัวรถ ตามการแบ่งขนาดสากล จะพบว่า มันคือรถกลุ่มเดียวกัน  Sub-Compact B segment  ไม่ได้ต่างกัน อย่างที่บางคนจะยกว่ารถรุ่นนี้เจ๋งกว่า จากขนาดหรือกำลังเครืองยนต์ แค่เพียงหนึ่งยอมเข้าโครงการสนับสนุนภาครัฐ ได้อานิสงค์ทางภาษีและการส่งเสริมการลงทุน  สร้างรถที่มีความสามารถในการรักษาสิ่งแวดล้อม จึงสามารถทำราคาขายได้ถูกลง ขณะที่ซิตี้คาร์ในอดีตคือรถนั่งขนาดเล็กเครื่อง 1.5 ลิตร มีความสามารถใช้งานได้หลากหลายกว่า  
ในอนาคตไม่ต้องสงสัยเลยว่ารถยนต์ซิตี้คาร์จะหมดไป ด้วยบริษัทรถยนต์จำนวนมากมาเข้าร่วมโครงการอีโค่คาร์ และรถเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร ในอดีตเริ่มไม่ได้รับความนิยมจากลูกค้า เหมือนเคย 

มีเพียงอีโค่คาร์ บางรุ่นเท่านั้นที่มีขนาดเป็น  Sub Compact A Segment  ดังนั้นจะแบ่งแยกประเภทรถ ควรดูตามขนาดตัวรถมากกว่า    

 



แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่

Comments are closed.