Home » “ระบบควบคุมการทรงตัว” ของจำเป็นที่รถกระบะต้องมี
testdrive-Ford-Ranger-2016-037
บทความ สกู๊ปเด็ด

“ระบบควบคุมการทรงตัว” ของจำเป็นที่รถกระบะต้องมี

ตั้งแต่กลายเป็นโปรดักส์แชมเปี้ยน หรือ ผลิตภัณฑ์ที่ภาครัฐบาลภูมิใจนำเสนอ รถยนต์กระบะก็ได้รับความนิยมอย่างมาก แม้ว่าดั้งเดิมรถกลุ่มนี้จะได้รับความนิยมมามากมายอยู่ก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม ทว่าในระยะหลังเห็นได้ชัดว่า ความนิยมรถกระบะเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าจะมีรถยนต์นั่งขนาดเล็ก “อีโค่คาร์” เข้ามาตอบโจทย์แล้วก็ตามที 

ความนิยมในรถกระบะที่มีให้เห็นตั้งแต่การใช้งานในเมืองไปยันชนบท ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่ 2 ตลาดรองของรถกระบะ เราเป็นเบี้ยรองบ่อนเพียงประเทศอเมริกาเท่านั้น และเรายังเป็นตลาดรถกระบะขนาดย่อม หรือ   Mid Size Pick Up   ขนาดใหญ่ติดอันดับหนึ่งของโลก ทว่าความนิยมดังกล่าวนี้กำลังกลายเป็นหอกข้างแคร่เหมือนระเบิดเวลาทางด้านความปลอดภัย ที่ภาครัฐไม่ได้สนใจ จนอาจจะสร้างอันตรายให้กับประชาชนในการใช้งาน

ตลอดหลายปีที่ผ่านมาภาครัฐบาลง่วนอยุ่กับโครงการรถยนต์ใหม่ๆ อาทิอีโค่คาร์ จนผลักดันคลอดออกมาเป็นรูปเป็นร่าง และล่าสุดเราเปิดโครงการใหม่ ในการให้บริษัทรถยนต์ชั้นนำเข้ามาลงทุนในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและรถไฮบริดได้ในประเทศไทย  แต่ภาครัฐกลับไม่แยแสรถกระบะที่ผลิตมาก่อนหน้านี้

การกลายเป็นประเทศที่มีความอันตรายและอุบัติภัยทางถนนมากที่สุดติดอันดับโลกเมื่อช่วงปีที่ผ่านมา เป็นการยืนยันว่า ภาครัฐบาลไม่ได้ใส่ใจชีวิตของประชาชนเท่าที่ควร ในขณะที่นายกตู่บังคับ ดูจะเล็งที่การใช้บังคับกฎหมายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เข้มข้นทำจริงมากขึ้น พร้อมนำเอาประเด็นต่างๆ มาเป็นข้อบังคับมากขึ้น แต่การใส่ใจเรื่องความปลอดภัย ก็สามารถเกิดขึ้นได้ จากการบังคับบรรดาผู้ผลิตสินค้าให้ผลิตรถยนต์ที่มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม หรืออย่างน้อยที่สุด มีตัวช่วยในการขับขี่มากขึ้น โดยเฉพาะในรถกระบะรุ่นใหม่ๆ

แรงบิดมหาศาลจากเครื่องยนต์อันทรงพลังของรถกระบะในวันนี้ กำลังกลายเป็นหอกข้างแคร่เรื่องความปลอดภัยบนถนน เนื่องจากแรงบิดที่วิศวกรปั้นออกมาจากเครื่องยนต์ดีเซลเหล่านี้ มีกำลังมหาศาลมากจนสามารถทำให้รถเกิดการสะบัดได้ เมื่อขับรถตัวเปล่า หรือไม่ได้บรรทุกสินค้าหรือของไว้ทางด้านหลัง

ปัจจัยสำคัญของเรื่องนี้ไม่ได้อยุ่๔ที่เครื่องยนต์มีกำลังมากเกินไป เนื่องจากรถกระบะออกแบบมาเพื่อการบรรทุก ที่อาจจะสามารถเอาชนะการเกาะถนนของยางรถยนต์ ทำให้รถเกิดการสะบัดลื่นไถลได้โดยง่าย เมื่อผู้ขับขี่ใช้คันเร่งรุนแรงรวดเร็ว และหักพวงมาลัยไวเกินไป ในระหว่างการขับขี่

การวิศวกรรมรถกระบะที่ออกแบบมาเป็นเครื่องยนต์วางหน้าขับเคลื่อนล้อหลัง  เมื่อประกอบเข้ากับเครื่องยนต์ที่มีแรงบิดสูง ทำให้รถกระบะวันนี้ที่ดูเหมือนไม่มีพิษมีภัย อาจจะกลายเป็นอันตรายต่อผู้ใช้งานได้โดยง่ายอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อแรงบิดชนะยางเกิดขึ้นในระหว่างการขับขี่ รถจะเกิดการลื่นไถล และปัญหาใหญ่คือ ไม่ใช่ผู้ขับขี่ทุกคนที่เรียนรู้ในการแก้ไขการลื่นไถลในสถานการณ์ฉุกเฉิน หลายครั้งที่เรื่องเล็กๆ แบบนี้กลายเป็นเรื่องระดับชาติ อย่างกรณี รถ ปาเจโร่สปอร์ต ลื่นไถล สะบัดไปโดนเพื่อนร่วมทาง จนรถคว่ำตกคูกลางทางที่แถวเชียงใหม่

ล่าสุด มีกรณีการลื่นไถล ที่ภาพกล้องวงจรปิดจับไว้ได้ ที่จังหวัดเชียงราย เมื่อผู้ขับขี่รถยนต์  All new Isuzu  D max 4  ประตู เกิดหักพวงมาลัย เร่งแซงอย่างรวดเร็วในเมือง แต่เนื่องจากกำลังเครื่องยนต์ที่ส่งแรงบิดอย่างรวดเร็วไปที่ล้อทำรถเกิดการลื่นไถล เคราะห์ดีเคสนี้ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ หรือเกิดเป็นอุบัติเหตุร้ายแรง เนื่องจากไหวพริบ เพื่อนร่วมทางหรือคนขับ

ชี้ให้เห็นว่า รถกระบะในวันนี้มีความอันตรายมากขึ้น เนื่องจากนับวันเครื่องยนต์และช่วงล่างถูกพัฒนาสมรรถนะในการขับขี่ และศักยภาพในการเดินทางออพชั่นใช้งานมากขึ้น แต่หาใช่เรื่องความปลอดภัยไม่

ปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตรถยนต์มีการติดตั้งระบบควบคุมการทรงตัว พร้อมฟังชั่นการป้องกันการลื่นไถลในรถยนต์นั่ง ประเภทรถเก๋ง มีตั้งแต่ระดับอีโค่คาร์ (ซึ่งบังคับให้ติดตั้งในอีโค่คาร์เฟส2) ไปยันรถยนต์ราคาระดับ 7 หลัก หลายล้านบาท ทว่าในรถกระบะทางบริษัทผู้ผลิตกลับไม่ติดตั้งให้จากโรงงาน ยกเว้นในกรณัรถคันดังกล่าวเป็นรถยนต์รุ่นท๊อปออพชั่น มีราคาระดับล้านบาทขึ้น จึงจะมีติดตั้งมาให้

นั่นทำให้รถกระบะทุกคันบนถนนในวันนี้มีความอันตรายแฝงอยุ่ทกครั้งที่ผู้ใช้งานขับขี่ และจะแสดงออกมาให้เห็น เมื่อผู้ขับขี่ประมาทเผลอเลอ โดยเฉพาะในยามฝนตกหนัก หรือ เพิ่งตกเสร็จใหม่ๆ  ซึ่งหากผู้ขับขี่ขาดทักษะในการควบคุมอาจจะนำไปสุ่อุบัติเหตุที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บสาหัส หรือเสียชีวิตได้

ระบบควบคุมการลื่นไถลจึงน่าจะกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรมีในรถกระบะ รถนี้มีมานานแล้ว โดยถูกเรียกว่า  Electronic Stability Control  และมีการเปลี่ยนไปบ้างตามที่ผู้ผลิตอยากจะเรียกขานมันในบริษัทของพวกเขา

หน้าที่หลักของมันคือดูและตรวจสอบการใช้งาน พวงมาลัย คันเร่ง และเบรก รวมถึงทิศทางของรถยนต์ที่เดินทางไป ตลอดจนความเร็วที่ล้อ ถ้าพบว่า รถมีอาการเบนตัว หรือความเร็วที่ล้อใดล้อหนึ่งเกิดเพิ่มสูงขึ้นผิดปกติ อันอาจจะนำไปสู่การลื่นไถล

ระบบจะเข้ามาจัดการด้วยวิธีใด วิธีหนึ่ง อาทิการใช้เบรกช่วยลดความเร็วล้อ ลดกำลังที่ส่งจากเครื่องยนต์ และการถ่ายทอดกำลังของเกียร์ ทั้งหมดทำงานสอดประสานกัน เพื่อให้รถยังอยู่ในอาการที่ยังสามารถควบคุมได้

การที่รถกระบะสมัยใหม่มีสมรรถนะในการขับขี่มากขึ้น ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่การที่ภาครัฐละเลยคุณค่าความปลอดภัยผู้ใช้รถกระบะต่างหาก คือสิ่งที่ทำให้วันนี้รถกระบที่ใช้กลายเป็นเหมือนระเบิดเวลาทางด้านความปลอดภัย เสี่ยงตายวัดดวงผู้ใช้งาน ทั้งที่บางทีอุบัติเหตุไม่ได้เกิดจากความประมาท แต่เป็นเหตุวิสัยในการขับขี่

หรือบางที ก่อนที่ภาครัฐจะไปยังอนาคตข้างหน้า สมควร จะช่วยมองรถกระบะด้วยว่า วันนี้ รถที่นิยมที่สุดของคนไทยได้รับความใส่ใจเรื่องความปลอดภัยหรือยัง และอาจจะถึงเวลาที่จะต้องยกเครื่องกฎระเบียบในการผลิตที่มีมานานหลายปี 10 ปี เพื่อให้สอดคล้องทันสมัยยกระดับคุณค่าชีวิตคนไทย เพื่อเพิ่มความปลอดภัย ลดอุบัติเหตุบนถนน

 

ชอบกดไลค์ใช่กดแชร์ ขอบคุณทุกกำลังใจสำหรับพวกเรา   ridebuster.com 

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*