Home » เปิดประสบการณ์ ขับ Ford Ranger Raptor “King of Tough : The Overland Journey” ฝ่าทะเลทราย เส้นทางสุดโหด ข้าม 3 ประเทศ
Bust on talk บทความ

เปิดประสบการณ์ ขับ Ford Ranger Raptor “King of Tough : The Overland Journey” ฝ่าทะเลทราย เส้นทางสุดโหด ข้าม 3 ประเทศ

Ford Ranger Raptor อาจเป็นรถกระบะที่ดูบึกบึน แข็งแกร่ง แต่แท้จริงแล้ว มันกลับไม่ได้เกิดมาเพื่อใช้งานแบกหาม อย่างที่กระบะทั่วๆไปควรเป็นกัน แล้วเช่นนั้นมันเกิดมาด้วยเหตุผลใดกันล่ะ ?

คำถามนั้น กลายเป็นสิ่งที่ทาง Ford เก็บไว้ในใจ และตัดสินใจจัดทริป “King of Tough : The Overland Journey” ขึ้นมา เพื่อแสดงให้ ทั้งสื่อมวลชนที่เข้าร่วม และลูกค้าที่ใช้รถ Ford Ranger Raptor ตัวจริงอีกนับ 10 กว่าคัน ได้เห็นและสัมผัสว่ารถที่พวกเขาขับอยู่นั้น ควรเกิดมาเพื่อการใช้งานแบบใด ? และในขณะเดียวกัน ยังได้รู้อีกว่าขีดความสามารถของรถ อยู่ในระดับไหน แตกต่างจากกระบะที่ชาวไทยหลายคนคุ้นเคยกันอย่างไรบ้าง ?

นั่นจึงหมายความว่า ทริปนี้ จะไม่ใช่แค่ทริปขับรถกินลมชมวิวเท่านั้น แต่จะเป็นทริปที่ทาง Ford พาเหล่าลูกค้าที่ใช้รถ Ranger Raptor ไปลุยฝาอุปสรรคต่างๆ บนเส้นทางซึ่งหลายคนอาจไม่คุ้ยเคยมาก่อนด้วย

ซึ่งนับว่าเป็นการเปิดโลกและท้าทายไม่ใช่แค่รถ แต่ยังรวมถึงตัวเจ้าของผู้ขับขี่ แม้กระทั่งตัวสื่อฯเอง ที่บางคนอาจยังไม่เคยเดินทางผ่านเส้นทางแปลกใหม่ครั้งนี้ด้วย เช่นตัวแอดฯจอห์นเอง ที่ไม่เคยขับทั้ง Ranger Raptor ไปบุกตะลุย และไม่เคยขับรถในต่างประเทศเลยแม้แต่ครั้งเดียว

โดยหลักทริป The Overland Journey ครั้งนี้ จะกินเวลาทั้งหมด 10 วัน ซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลาที่นานพอตัว แต่ก็เพื่อความคุ้มค่าและอิ่มเอมในการเดินทางผ่าน 3 ประเทศ โดยแรกเริ่มทาง Ford จะนัดลูกค้ารวมตัวกันที่จังหวัดอุบลราชธานี ในวันแรกของทริป แล้วจึงเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศลาวในวันถัดมา โดยจะวิ่งผ่านด่านช่องเม็ก เพื่อเดินทางไปสัมผัสเส้นทางสุดธุรกันดารสู่น้ำตกเซปองไล จุดเช็คอินเพื่อชมธรรมชาติอันสวยงามของประเทศลาว

ซึ่งต้องบอกกันก่อนว่าในทริปนี้ ทางทีม Ridebuster ไม่ได้เข้าร่วมทริปตั้งแต่แรกเริ่ม จะได้เข้าร่วมทริปอีกครั้งก็คือในช่วงครึ่งหลัง จึงทำให้ตัวแอดมินจอห์น ไม่ได้เก็บบรรยากาศทริปในส่วนครึ่งแรกมาด้วย

แต่จากที่ฟังคำบอกเล่าของลูกค้า และพี่ๆสื่อกรุ๊ปแรกที่เข้าร่วมทริป ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เส้นทางไปชมน้ำตกเซปองไลครั้งนี้ เป็นเส้นทางที่โหดหินพอตัว และทำเอาลูกค้าหลายคน หวั่นใจอยู่ไม่น้อย ว่าพวกเขาจะสามารถพารถคู่ใจผ่านอุปสรรคบนเส้นทาง ที่ Ford จัดเอาไว้ซะโหดตั้งแต่วันแรกได้หรือไม่ ?

แน่นอนว่าท้ายที่สุด ทาง Ford ก็สามารถพาลูกค้าและฝูง Ranger Raptor ออกมาจากเส้นทางสุดโหดครั้งนี้ได้ครบทุกคัน โดยแม้ว่ามันอาจจะทำให้กำหนดเวลาการเดินทางคลาดเคลื่อนไปหลายชั่วโมง (กำหนดดั้งเดิมคาดว่าจะออกจากเขตน้ำตกได้ตั้งแต่ 4-5 โมงเย็น แต่กลายเป็นกว่าจะออกกันได้จริงๆคือเกือบ 2 ทุ่ม) เนื่องจากลูกค้าหลายคนอาจจะยังไม่เคยขับรถลุยแบบออฟโรดมาก่อน หรืออาจจะไม่เคยเอารถ Ranger Raptor ไปลุยเลยแม้แต่ครั้งเดียว

นอกจากนี้ ลูกค้าหลายคนที่เข้าร่วมทริปยังบอกอีกว่า ทริปการเดินทางในวันแรกที่มีการเคลื่อนรถเข้าสู่ประเทศลาวสู่น้ำตกเซปองไล ครั้งนี้ ถือว่าเป็นการเปิดโลก และทำให้พวกเขาได้รู้จักกับขีดความสามารถ รวมถึงลูกเล่นระบบช่วยเหลือต่างๆสำหรับการบุกตะลุยอุปสรรคต่างๆได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว

ไม่ว่าจะทั้งจากการทำงานของระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบ Full Time ที่สามารถปรับเฉลี่ยแรงบิดที่ส่งจากเครื่องยนต์ไปยังชุดล้อทั้ง 4 ได้อย่างชาญฉลาด หรือจะเป็นการปรับโหมดการขับเคลื่อนเป็นแบบ 4 ล้อ Part-Time เพื่อกระจายแรงบิดไปยังแต่ละล้ออย่างเท่าเทียมในแบบรถสายลุยก็ให้ความรู้สึกในการไต่ผ่านอุปสรรคที่ต่างออกไป

ไม่เพียงเท่านั้น ตัวรถยังมีระบบปรับโหมดการขับขี่ให้เลือกมากสุดอีก 7 รูปแบบ ซึ่งโหมดที่เหมาะที่สุดสำหรับการใช้งานบนเส้นทางครั้งนี้คือโหมดปีนก้อนหิน (Rock Crawl) ซึ่งจะมีการลดอัตราการตอบสนองของลิ้นเร่งไฟฟ้าให้ต่ำลงเล็กน้อย เพื่อลดความเสี่ยงจากการใช้คันเร่งแรงเกินไปจนรถพุ่ง และจะปรับชุดเกียร์เป็นแบบ 4L เท่านั้น เพื่อเพิ่มอัตราทดแรงบิดจากเครื่องยนต์สู่ล้อให้มากขึ้น เพื่อความง่ายในการไต่หินสูงชัน

หรือในบางจังหวะที่ทางไม่ได้ชันมากนัก หรือเส้นทางเริ่มแข็ง ลูกค้าจะขับรถด้วยโหมดธรรมดา (Normal) เพื่อให้ระบบจัดการคุมการทำงานเพื่อรักษาแรงยึดเกาะของแต่ละล้อด้วยตนเอง หรือจะใช้โหมดโคลน/ร่อง (Mud/Ruts) ในจังหวะเจอทางชื้น แต่ยังต้องการแรงส่งให้รถสามารถผ่านอุปสรรคตรงหน้าไปก็ได้

และหากยังไม่พอ เนื่องจากตัวรถ Ranger Raptor มีขนาดค่อนข้างใหญ่ และการไต่อุปสรรคต่างๆในป่าที่มีทางแคบๆนั้น ทำให้รถมีมุมอับค่อนข้างเยอะ ตัวรถยังมีระบบกล้อง 360 องศา และกล้องจำลองภาพใต้ท้องรถ เพื่อให้ผู้ขับ หรือคนนั่งข้างๆช่วยสังเกตสิ่งกีดขวางได้อีก และทำให้ลูกค้าที่ใช้รถสามารถผ่านเส้นทางสุดโหดตั้งแต่วันแรกของการเดินทางมาได้อย่างปลอดภัยทุกคัน (แม้จะกินเวลากันพอสมควรก็ตาม)

จากนั้นในวันที่สามของทริป หรือวันที่สองของการเดินทาง จะถือว่าเป็นการพักผ่อน จากวันก่อนหน้า โดยเส้นทางคราวนี้ จะเป็นการเดินทางจากเมืองอัตปือในประเทศลาว มุ่งหน้าเข้าสู่ประเทศเวียดนามผ่านด่านกอนตูม แล้วเคลื่อนตัวลงทิศใต้ ซึ่งตลอดเส้นทางจะเป็นการวิ่งผ่านถนนยางมะตอยเก่า และลูกรัง สลับการทางด่วนเวียดนาม ที่สามารถวิ่งได้เพียง 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็นช่วงๆ กว่า 400 กิโลเมตรไปจนถึงเมืองบวนมาถ็วต ซึ่งเป็นที่พักของวันที่ 2 ของการเดินทาง หรือวันที่ 3 ของอีเวนท์

และเช่นเดียวกัน ในอีกวันถัดมา เพื่อเป็นการผ่อนคลาย คราวนี้ทาง Ford ได้พาเหล่าลูกค้าเคลื่อนขบวนอีกราวๆ 200 กว่ากิโลเมตร ลงใต้อีกนิด แต่เป็นการวิ่งขึ้นเขาไปยังเมืองดาลัด ซึ่งเป็นอีกเมืองท่องเที่ยวของประเทศเวียดนาม โดยแม้หากเทียบตำแหน่งเส้นศูนย์สูตร ตัวเมืองนี้อาจอยู่ต่ำกว่าเมืองกรุงเทพมหานครของไทย แต่ด้วยความเป็นพื้นที่เขาสูงชัน จึงทำให้อากาศค่อนข้างเย็น หรือเผลอๆอาจเย็นกว่าภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยเราอีก

โดยสิ่งที่น่าสนใจของเส้นทางวันที่ 4 ของอีเวนท์นี้ ก็คือการที่ทาง Ford ได้พาเหล่าลูกค้าและผู้ร่วมทริปพากันขับ Ranger Raptor เกือบ 20 คัน มาท่องเที่ยวในถิ่น Mongo Land ซึ่งเป็นแลนมาร์คสำหรับถ่ายรูปและเล่นสนุกกับกิจกรรมต่างๆในธีมชนเผ่ามองโกล ผสมสวนสนุกแห่งใหม่ของเมื่อดาลัด เพื่อผักผ่อนจิตใจกันอีกครั้ง ก่อนเจอบททดสอบถัดไปของเหล่ากระบะพันธ์ลุยในวันพรุ่งนี้

ส่วนวันที่ 5 ของอีเวนท์ ฝูง Ranger Raptor จะยังคงอยู่ในจังหวัดดาลัด แต่คราวนี้ในส่วนครึ่งเช้า ทาง Ford จะพาลูกค้าขึ้นรถบัสเพื่อไปท่องเที่ยวในอีกจุดเช็คอินของเวียดนาม นั่นคือน้ำตกดาตันลา พร้อมทำกิจกรรมต่างๆที่ออกแบบมาคล้ายกับรถรางในม่อนแจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ แต่ดูเหมือนด้วยความใส่ใจในเรื่องการรักษาผืนป่าเป็นอย่างดีของหน่วยงานรัฐประเทศเวียดนาม จึงทำให้วิวเขาต่างๆของพวกเขาดูมีความเป็นธรรมชาติสูงกว่าอย่างเห็นได้ชัด

และเพื่อไม่ให้ลูกค้ารู้สึกกร่อยเกินไป จากการที่แทบไม่ได้ขับรถลุยโหดๆใดๆเลย 2 วันกว่าๆ ในช่วงครึ่งบ่ายทาง Ford จึงพาลูกค้าเคลื่อนขบวนรถไปวอร์มทางฝุ่นกันสักหน่อย ด้วยการขับขี่บนเส้นทางออฟโรดขับไต่ขึ้น-ลงเขา บนถนนลูกรัง พร้อมปีนป่ายเนินเขาเป็นระยะๆท่ามกลางป่าสนสูงชัน โดยมีระบบระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติที่ความเร็วต่ำ (Trail Control) คอยช่วยเหลือหากผู้ขับต้องการ เพื่อไปยังทะเลสาบซ๊วยหว่าง ซึ่งเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งของดาลัด ที่นักท่องเที่ยวชาวไทยหลายคนนักจะเคยมาสัมผัสบรรยากาศความสวยงามที่นี่

ซึ่งในขณะเดียวกัน ก็เป็นเวลาที่สื่อฯอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งจะมาสลับตัวกลับพี่ๆสื่อฯในกลุ่มแรก นั่นคือกลุ่มที่มีแอดมินจอห์น รวมอยู่ด้วย ต้องเดินทางด้วยเครื่องบินจากกรุงเทพมายังเมืองโฮจิมิน ประเทศเวียดนาม แล้วต่อเครื่องบินอีกลำเพื่อบินไปยังเมืองดาลัด เพื่อสมทบกับขบวนทริปในตอนเย็น

เข้าสู่วันที่ 6 ของทริป “The Overland Journey” และเป็นวันแรกในการร่วมทริปของแอดจอห์น ซึ่งคราวนี้ เราต้องขับรถจากเมืองดาลัดอันหนาวเย็น เคลื่อนตัวสู่แลนมาร์คสำคัญ ที่สายลุยหลายคนไม่ควรพลาดเด็ดขาดเมื่อพารถคู่ใจมาเวียดนาม นั่นคือ “ทะเลทรายมุยเน่”

ซึ่งแม้จะน่าเสียดายเล็กน้อยก็ตรงที่ ตลอดเส้นทางเกือบ 200 กิโลเมตร จากตัวเมืองดาลัดสู่ทะเลทรายมุยเน่ ตัวแอดฯจอห์นจะไม่มีโอกาสได้จับพวงมาลัยรถ Ford Ranger Raptor V6 3.0 Turbo เลยแม้แต่น้อย เนื่องจากต้องให้พี่สื่อฯอีกท่านผู้ช่ำชองในเส้นทางนี้ได้จับรถก่อน

โดยในระหว่างทาง แม้ช่วงแรกเส้นทางออกจากเมืองดาลัดจะดูสวยงาม แต่จากนั้นไม่นานนัก เมื่อหลุดจาเส้นทางหลัก ทาง Ford ก็ได้จัดให้เราต้องวิ่งตัดภูเขาสูงชัน แถมถนนหนทางยังมีแต่รอยแตกผุพังเนื่องจากขาดการดูแลรักษามาเป็นเวลานาน แม้จะเป็นเส้นทางที่ชาวเมืองใช้เดินทางไปเก็บเมล็ดกาแฟในสวน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ชื่อดังอย่างหนึ่งของประเทศเวียดนามที่นักดื่มกาแฟหลายคน แม้แต่ชาวไทยยังให้การยอมรับ

ตัวแอดมินจอห์นก็พบว่า แม้ตัวรถ Ranger Raptor จะมีการแสดงความสั่นสะเทือนที่สะท้อนขึ้นมาจากถนนเข้าสู่ห้องโดยสารค่อนข้างมาก แต่เมื่อลองดูจากความเร็วที่ใช้ในการเดินทาง ซึ่งวิ่งเฉลี่ยที่ราวๆ 60-80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็จะพบว่านี่ถือเป็นการสั่นสะเทือนที่น้อยมากๆแล้ว สำหรับการขับรถบนเส้นทางที่ถนนผุพังขนาดนี้ ซึ่งหากเป็นกระบะรุ่นอื่นที่ไม่ได้เซ็ทช่วงล่างให้พร้อมลุยด้วยความเร็วสูงจริงๆ ป่านนี้ก็คงกระเด้งกระดอนเป็นลูกขนุนไปแล้ว หรืออาจไม่สามารถวิ่งฝ่าเส้นทางด้วยความเร็วดังกล่าวได้โดยไม่ปวดเมื่อยตัวเหมือนอย่าง Raptor ก็เป็นได้

โดยส่วนหนึ่งที่ต้องขอบคุณในเรื่องของการซับแรงกระแทกต่างๆจากผิวถนน ก็ต้องยกเครดิตให้กับระบบกันสะเทือนหน้าปีกนกคู่ และหลังคานแข็งพร้อมกลไกวัตต์ลิงค์ ซึ่งทำงานร่วมกับระบบโช้กอัพไฟฟ้า Fox Live Valve ที่สามารถแปรผันความหนืดในการยืด-ยุบของตัวโช้กได้ตามสภาพผิวถนน และความเร็วที่ใช้ขณะขับขี่

จนกระทั่งถึงตัวทะเลทรายมุยเน่ ในที่สุดก็เป็นเวลาที่แอดฯจอห์น จะได้จับรถจริงๆสักที ซึ่งนี่ยังถือเป็นครั้งแรกที่แอดฯจอห์นจะได้ขับรถลุยทะเลทรายด้วย เช่นเดียวกับลูกค้าหลายๆคนที่พากันขับรถ Ranger Raptor ของตนเองฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆด้วยกันมาจนถึงทะเลทรายแห่งนี้ ที่ไม่สามารถหาได้เลยในไทย

ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด และอันตรายใดๆกับผู้ร่วมทริป ทาง Ford และสต๊าฟผู้คุมทริป จึงมีการจัดเซสชันอบรม และแนะนำวิธีการขับรถบนทะเลทรายกันก่อน พร้อมระบุอย่างเฉพาะเจาะจงเลยว่าเราควรใช้ “อาวุธที่มี” ใน Ford Ranger Raptor เพื่อให้เราสามารถผ่านอุปสรรคอันแสนโหดนี้ได้ด้วยดี

โดยอาวุธดังกล่าว ก็ไม่ได้มีแค่เรื่องของ ชุดยาง BFGoodrich All-Terrain T/A KO2 ซึ่งอาจจะดูเหมือนเป็นยางลุยที่สามารถหาได้ทั่วไปตามร้านยางเฉพาะทาง แต่จริงๆแล้วมีการปรับสเป็คสูตรยางให้เหมาะกับ Ranger Raptor มากขึ้น, ระบบช่วงล่างพร้อมโช้กอัพ Fox Live Valve, และ ขุมกำลังเครื่องยนต์เบนซิน V6 3.0 Turbo ที่พกแรงม้ามากว่า 397 PS กับแรงบิดสูงสุดอีก 583 นิวตันเมตร ส่งกำลังผ่านชุดเกียร์อัตโนมัติ 10 สปีด และระบบกระจายแรงบิดไปยังชุดล้อทั้ง 4 ด้วยไฟฟ้า พร้อมระบบดิฟท์ล็อคไฟฟ้าทั้ง 4 ล้อ

แต่ยังรวมถึงโหมดการขับขี่ 2 โหมดสำคัญ ที่ใส่มาให้ใน Raptor รุ่นนี้ ซึ่งคงไม่บ่อยเท่าไหร่นักที่จะได้ใช้กันในไทย และเหมาะที่สุดสำหรับการเอามาใช้งานในทะเลทรายแห่งนี้ นั่นคือ โหมด Sand และ โหมด Baja

ซึ่งเบื้องต้น ทาง Ford ได้ให้คำแนะนำเอาไว้ว่า สำหรับลูกค้าที่ยังไม่เคยผ่านประสบการณ์ การขับรถลุยทรายมาก่อน หรือมีประสบการณ์ในการขับรถลุยน้อยมากๆ ก็ควรที่จะขับรถผ่านด่านทดสอบในทะเลทรายด้วยโหมด Sand เป็นหลัก เนื่องจากโหมดนี้จะมีการปรับคันเร่งให้จัดจ้านมากขึ้น แต่ยังคงใช้ระบบล็อคทั้งเพลากลาง และเพลาขับเคลื่อนทั้งหมด เพื่อให้แรงบิดสามารถถ่ายเทไปยังแต่ละล้อได้อย่างสมดุล และช่วยให้ผู้ขับสามารถควบคุมรถบนทางลื่นและร่วนอย่างทะเลทรายได้อย่างราบลื่น

หรือหากคุณเป็นผู้ขับที่มีประสบการณมากพอ ก็ให้ใช้โหมด Baja กันได้เลย เนื่องจากโหมดนี้จะมีการปรับคันเร่งให้ตอบสนองดุดันขึ้นอีก เพื่อเพิ่มอัตราการตอบสนองของเครื่องยนต์ให้มีแรงพร้อมส่งรถไหลผ่านทรายได้อย่างต่อเนื่อง และยังปรับช่วงล่างให้แข็งขึ้นอีกนิด เพื่อรับแรงกระแทกจากผิวทรายขณะขับด้วยความเร็วสูง รวมถึงปลดการทำงานของตัวล็อคเฟืองท้ายไฟฟ้าออกไป เพื่อให้รถสามารถสไลด์หรือท้ายขวางได้ง่ายยิ่งขึ้น ตัวรถจะได้สามารถหันหัวเข้าไปยังทิศทางที่ผู้ขับต้องการจะไปได้ง่ายกว่าเดิม (แต่ย้ำอีกครั้งว่าโหมดนี้ เหมาะสำหรับนักขับประสบการณ์สูงเท่านั้น หากเป็นมือใหม่ อาจเอารถไม่อยู่ และหลุดออกจากเส้นทางได้ง่าย)

แต่ในขณะเดียวกัน Ford ก็ยังระบุเพิ่มเติมอีกว่า แม้อาวุธของตัวรถจะครบครัน และจัดเต็มมากกว่ารถกระบะรุ่นอื่นๆของคู่แข่งมากแค่ไหน ทว่าอุปสรรคสำคัญของ Ranger Raptor คือน้ำหนักที่มากกว่า 2 ตันครึ่ง ซึ่งเป็นของแสลงสำคัญในการขับลุยผืนทรายสุดหนานุ่มในมุยเน่ เพราะหากรถไม่มีแรงส่งให้ไหลผ่านกองทรายด้านหน้าได้ น้ำหนักตัวที่มากมายมหาศาลก็ของรถ ก็จะพร้อมกดรถและยางให้จมลงบนผืนทราย และเราก็ไปไหนต่อไม่ได้ในทันที

หรือว่าง่ายๆก็คือ ถึงรถจะมีระบบ และอาวุธช่วยเหลือมากมาย แต่คนขับต้องห้ามใจหวิว ผ่อนรถจนความเร็วตกมากเกินไปเด็ดขาด ต้องประคองคันเร่ง หรือย่ำคันเร่งอย่างเดียว คุณถึงจะผ่านผืนทรายไปได้จนตลอดรอดฝั่ง

และในการลงขับจริง สิ่งหนึ่งที่แอดฯจอห์นสามารถสัมผัสได้ โดยเฉพาะในจังหวะที่ยังเป็นผู้โดยสารบนเบาะแถว 2 (เบาะนั่งตอนหน้าฝั่งผู้โดยสาร ต้องให้ Instructor นั่งเพื่อนำทางให้กับผู้ขับ ซึ่งในไม้แรกจะเป็นพี่สื่อฯอีกท่านได้เจิมรถก่อน) ก็จะพบว่าตัวรถสามารถวิ่งผ่านทรายไปได้อย่างต่อเนื่อง ในแบบที่ค่อนข้างสั่นสะเทือน และมีอาการโช้กยันสุดให้รู้สึกอยู่หลายครั้ง

ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเส้นทางที่เราขับไปนั้น ถูกวิ่ง ถูกตะกรุยไปแล้วหลายครั้ง จนผืนทรายที่เคยหนานุ่ม เริ่มกลายเป็นทางร่องลึกจนเจอชั้นทรายแน่นๆแล้ว โดยเฉพาะในจุดที่เป็นทางราบซึ่งผู้ขับสามารถกดคันเร่งเพื่อดันรถให้ไปต่อโดยเร็วสำหรับส่งรถขึ้นเนินข้างหน้า

เมื่อถึงเวลาขับเอง ทาง Instructor ก็ได้เลือกให้ตัวแอดจอห์นขับรถด้วยโหมดทราย หรือ Sand Mode เพื่อความปลอดภัยของทุกคน ซึ่งความรู้สึกที่เกิดขึ้นขณะขับฝ่าทะเลทรายเป็นระยะทางราวๆ 2 กิโลเมตรกว่าๆนั้น ก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่มากเลยทีเดียว

เพราะนอกจากความลื่นของล้อหน้าที่ทำให้เราต้องระวังเรื่องการใช้พวงมาลัยอยู่ตลอด การคุมคันเร่งให้ต่อเนื่องและนุ่มนวล เพื่อคุมแรงกระแทกของรถบนผืนทรายเอง ก็เป็นอีกสิ่งที่ต้องทำให้ได้ เพราะหากขับช้าเกินไป รถก็จะเกิดอาการจมทรายและไปไหนต่อไม่ได้ ซึ่งต้องวุ่นวายทีมเก็บกู้กันอีก

โดยเฉพาะในจังหวะที่ต้องคิดให้ดี ว่าจะกดคันเร่งเพื่อให้รถมีแรงส่งพุ่งรถลงไปวาดโค้งเข้าร่องทรายลึกได้พอดี โดยไม่จม หรือหมุนไปเสียก่อน หรือตอนที่จะต้องดันเนินสูงชัน ที่หากเติมคันเร่งเยอะจนรถมาเร็วเกินไป ก็อาจจะทำให้รถลอยจนทะลุเนินที่ลับตาไปอีกฝั่ง ซึ่งผิดจากเส้นทาง

และในขณะเดียวกันจะผ่อนเยอะเกินไปก็ไม่ได้ (หรือห้ามผ่อนเลยด้วยซ้ำ) เพราะไม่เช่นนั้นรถก็จะไม่มีแรงส่งผ่านเนินขึ้นไปอีก ซึ่งอันที่จริงตัวแอดจอห์นก็ทำรถติดทรายในจังหวะดังกล่าวไปรอบหนึ่ง เนื่องจากกังวลว่ารถจะพุ่งขึ้นเนินเร็วเกินไป จนหลุดแนวเนินที่ลับตา จนทำให้ต้องถอยรถลงเนินมา เพื่อดันคันเร่งส่งรถขึ้นเนินไปใหม่ ซึ่งโชคดีที่สามารถผ่านไปได้เลยในการแก้ตัวเพียงรอบเดียว

เมื่อจบเซสชันการทดสอบที่เล่นเอาเหงื่อซกไปแทบทั้งตัว (แต่ยังไม่ออกไปถึงมือ) สิ่งหนึ่งที่สามารถสัมผัสได้จากการขับ Ranger Raptor ลุยทะเลทรายครั้งนี้ ก็คือการที่เราได้รับรู้ว่า หากเรามีทักษะ และรู้วิธีการขับบนทรายจริงๆ ตัวรถก็สามารถขับผ่านทรายไปได้แบบไม่มีอะไรต้องกังวลมากนัก แค่อาจจะเจออาการดีด ดัน กระแทกจากช่วงล่างขึ้นมาให้รู้สึกตึงตังจนกลัวว่ารถจะพังมั้ยอยู่ตลอดก็เท่านั้น

ซึ่งจากที่ลองสำรวจสภาพรถโดยคร่าวๆ และจากที่ตัวแอดฯจอห์น ได้มีการขับรถต่อจนกลับโรงแรม ก็ไม่พบความผิดปกติใดๆที่เกิดขึ้นกับตัวรถทั้งสิ้น ไม่มีไฟเตือนใดๆโชว์บนหน้าจอให้กังวล ไม่ว่าจะเป็นรถที่ทาง Ford จัดไว้ให้เราขับ ซึ่งผ่านการใช้งานมาแล้วกว่า 30,000 กิโลเมตร จนดอกยางแทบหมด หรือรถของลูกค้าที่อาจจะผ่านการใช้งานในชีวิตประจำวันของพวกเขามาเยอะกว่ารถทดสอบของเราก็ตาม

อีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องบอก ก็คือ การวิ่งผ่านอ่านทะเลทรายมุยเน่ครั้งนี้ ทางทีมไม่ได้มีการปรับเซ็ทรถใหม่ใดๆทั้งสิ้น นอกจากแค่การแนะนำให้ใช้โหมดการขับขี่ที่เหมาะสมกับสภาพเส้นทางเท่านั้น แม้แต่ลมยางเอง ก็ยังเป็นค่ามาตรฐานโรงงานสำหรับการใช้งานวิ่งถนนปกติ ไม่ได้มีการปรับลดลงเพื่อให้หน้ายางกางออกสำหรับเพิ่มพื้นที่ผิวสัมผัสของหน้ายางกับผืนทรายใดๆ ซึ่งเป็นทริคที่สายออฟโรดใช้กันเมื่อต้องเอารถมาลุยทางทราย

และทาง Ford ยังระบุให้เราได้ลองคิดตามอีกว่า หากไม่ใช่ Ranger Raptor การลุยทางทรายด้วยเงื่อนไขเดียวกันของรถกระบะคันอื่นๆ อาจไม่สามารถผ่านอุปสรรคได้ง่ายขนาดนี้ เร็วขนาดนี้ และผู้โดยสารทั้งหมดบนรถ ยังสามารถลงมาเดินเหินกินขนมต่อช่วงพัก ในลักษณะนี้ได้ และนับเป็นการบ่งบอกถึงความ “เอาอยู่” ในเส้นทางสุดโหดลักษณะนี้ โดยที่รถไม่ต้องถูกปรับแต่งใดๆเพิ่มเติมจากที่โรงงานทำมาทั้งสิ้น ได้เป็นอย่างดี

หลังลุยสนุกสุดเหวี่ยงกับการขับบนทะเลทรายมุยเน่ อีกวันถัดมา ซึ่งเป็นวันที่ 7 ของทริป จะเป็นการขับรถเลาะเส้นทางริมหาดของประเทศเวียดนามขึ้นเหนือไปสู่เมืองญาจาง ซึ่งเป็นอีกเมืองท่องเที่ยวของเวียดนาม ด้วยจุดเด่นคือการเป็นเมืองติดทะเลที่สวยงาม

ซึ่งหากให้เทียบกับประเทศไทย ก็ต้องบอกว่าคล้ายกับการเที่ยวริมหาดพัทยา แต่ระยะความยาวแนวชายฝั่งนั้นเยอะกว่าเป็นเท่าตัว แถมถนนริมหาดก็ยังกว้างกว่า เพราะเป็นถนน 6 เลน เลียบหาด แต่พิเศษกว่าตรงที่ระหว่างหาดกับถนนยังมีทางเดินกว้างราวๆ 30-50 เมตร คั่นกลาง โดยตกแต่งเป็นสวนสาธารณะตลอดแนว ให้พักผ่อนหย่อนใจได้อีก ที่สำคัญคือ มันดูสะอาดตากว่าอย่างเห็นได้ชัด จึงทำให้การเดินเล่นริมหาดนั้น ให้ทั้งความสบายใจ และความผ่อนคลายได้เป็นอย่างดี

แต่ถ้าคุณถามว่าแล้วระหว่างทางล่ะเป็นอย่างไรบ้าง ?

ในคราวนี้ ตลอดเส้นทางกว่า 200 กิโลเมตร แอดฯจอห์น จะรับหน้าที่เป็นผู้ขับทั้งหมด ซึ่งความประทับใจคือการที่เราได้ขับรถลัดเลาะไปตามเส้นทางริมทะเล ซึ่งมีทั้งที่เป็นถนนริมหาด 2 เลน ไปจนถึงถนน 2 เลน ตามแนวทิวเขา โดยด้านล่างจะเป็นชายฝั่งโขดหินที่มีคลื่นทะเลซัดเข้ามาอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นวิวที่สามารถเห็นได้ตลอดระยะทางเกือบครึ่งหนึ่งของทั้งหมด ต่างจากในไทยที่มีให้เห็นเพียงไม่กี่สิบกิโลเมตรเท่านั้น

โดยส่วนหนึ่งที่ทำให้บรรยากาศน่าอภิรมย์ ก็คือตัวรถ Ranger Raptor มาพร้อมกับตัวเบาะที่ออกแบบมาให้โอบกระชับ จากแรงบันดาลใจด้วยเครื่องบินรบ เช่นเดียวกับพวงมาลัยหุ้มหนัง ที่มีการออกแบบกริปมือใหญ่โต และเข้ารูปกับนิ้วมือ ไม่เหมือนพวงมาลัยของกระบะ Ranger รุ่นปกติ จึงทำให้เราสามารถควบคุมรถแบบชิวๆได้ตลอดเส้นทาง

เมื่อบวกกับช่วงล่างช่วงยุบเยอะที่สามารถปรับการทำงานให้นุ่มนวล เช่นเดียวกับพวงมาลัยไฟฟ้า ที่สามารถปรับค่าความหน่วงให้เบาลงได้ ก็ยิ่งช่วยเพิ่มความสะดวกสบายได้มากขึ้นไปอีก หรือถ้ายังไม่พอ เรายังสามารถปรับโหมดการทำงานของตัวรถ เป็นโหมด Eco พร้อมปรับความดังท่อไอเสียเป็นโหมดเงียบได้อีก ช่วยให้เราสามารถอิ่มเอมไปกับเส้นทาง พร้อมฟังเสียงคลื่นได้เป็นอย่างดี (แม้จะมีเสียงยางหอนแซมมาบ้างก็ตามที ซึ่งก็เข้าใจได้เพราะยังไงยางที่ติดรถมาก็เป็นยาง T/A ที่ต้องมีเสียงจากร่องดอกยางขนาดใหญ่ขณะขับใช้งานติดตัวกันเป็นธรรมดาอยู่แล้ว)

เข้าสู่วันที่ 8 จะเป็นการเดินทางจากตัวเมืองญาจาง ขึ้นเหนือ พร้อมค่อยๆเบี่ยงสู่ทิศตะวันตกเรื่อย ไปสู่เมืองกอนตูม เป็นระยะทาง 300 กว่ากิโลเมตร ซึ่งถือว่ายาวกว่าเส้นทางในช่วงที่ผ่านๆมา เพราะคราวนี้จะเป็นการเดินทางของทริปเพื่อเตรียมกลับเข้าสู่ประเทศไทยในวันถัดไป

โดยตลอดเส้นทางในวันนี้ นับว่ามีความแตกต่าง และหลากหลายในเรื่องสถานการณ์รอบๆตัวพอสมควร เพราะตอนแรก เป็นการเดินทางออกจากชุมชนเมือง ซึ่งเชื่อว่าหลายคนอาจพอทราบกันว่า เวียดนาม คือประเทศที่มีรูปแบบการจราจรแปลกประหลาดมาก หากไม่นับเรื่องการที่ประเทศนี้ใช้การวิ่งเลนขวา ต่างจากประเทศไทยที่ใช้การวิ่งเลนซ้าย

ไม่ว่าจะทั้งการที่พวกเขาขี่รถแบบมุด และไหล ไปกับช่องทางจราจรต่างๆตลอดเวลา โดยที่แต่ละสี่แยกไฟแดง ก็ดูเหมือนจะไม่มีการไล่เปิดไฟเขียวทีละฝั่ง แต่จะเป็นการเปิดแบบพร้อมกันระหว่างฝั่งขั้วตรงข้าม จึงทำให้รถที่ต้องการเลี้ยวไปอีกด้านของฝั่งถนน ไม่ว่าจะด้านซ้ายหรือด้านขวา ต้องชิงจังหวะกับรถที่จะไปตรงอยู่ตลอด

ซึ่งประเด็นตรงนี้ คือสิ่งที่ทำให้นับขับรถชาวไทยหลายคนต้องปวดหัว หรือร้ายแรงสุดคืออาจเกิดอุบัติเหตุจากความไหลไปตามช่องว่างระหว่างคันรถอย่างต่อเนื่องของชาวเวียดนาม

ที่น่าสนใจคือ แนวคิดว่า หากคุณจะเร่งแซง หรือมีรถอยู่ข้างหน้า คุณจะต้องบีบแตรบอกพวกเขาก่อนเสมอ มิเช่นนั้นพวกเขาก็อาจจะปาดออกมาราวกับไม่ดูกระจกมองข้างใดๆทั้งสิ้น ซึ่งหากเกิดการเฉี่ยวชนกันขึ้นมา ในกรณีที่คุณบีบแตรก่อน คู่กรณีจะเป็นฝ่ายผิด เพราะถือว่าเราได้แจ้งเตือนการแซงแล้ว แต่ถ้าเราไม่ได้บีบแตร และแซงไปเลย แต่คู่กรณีกลับเบียดเข้ามาจนท้ายรถโดนชน เราจะเป็นฝ่ายผิดทันที ดังนั้นหากจะแซงเมื่อไหร่ การบีบแตรสั้นๆเล็กๆเพื่อเตือน จึงเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างมากในเวียดนาม

เมื่อหลุดจากเขตเมือง เข้าสู่ทางด่วน ที่ไม่ด่วนเท่าไหร่นักของประเทศเวียดนาม เนื่องจากกฏหมายกำหนดให้ใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง เท่านั้น สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เกินครึ่งของพื้นที่บริเวณรอบๆทางด่วนระหว่างจังหวัด แทบไม่มีที่พักอาศัยใดๆ และเป็นที่ตั้งของฟาร์มกังหันลมสำหรับสร้างพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานธรรมดาหลายหมื่นไร่เกือบทั้งหมด

ซึ่งต่างจากประเทศไทยที่ต่อให้เราจะมีฟาร์มกังหันลมเช่นกัน แต่มันก็ไม่อาจตั้งให้กินพื้นที่ได้กว้างขวาง และหลายแห่งได้เหมือนกับในประเทศเวียดนาม ซึ่งจากที่ลองสอบถามผู้รู้ ก็ได้ความว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะ หากอิงตามกฏหมายแล้ว ด้วยระบบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ของประเทศเวียดนาม ทำให้ผืนดินในประเทศ จะถูกนับว่าเป็นของรัฐทั้งหมด

ดังนั้น เมื่อรัฐมีนโยบายที่จะส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด จึงทำให้พวกเขาสามารถอนุมัติที่ดินให้บริษัทสามารถติดตั้งกังหันลมได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องไปทำเรื่องเวนคืนที่ดินกับประชาชนให้เสียเวลา เพียงแค่อาจจะต้องมีที่ดินผืนใหม่ ให้ประชาชนได้ไปเช่าอยู่อาศัย (จ่ายในรูปแบบภาษี) เสียก่อนก็เท่านั้น

นั่นจึงทำให้เวียดนาม กลายเป็นอีกหนึ่งประเทศในภูมิภาคอาเซียน ที่สามารถเดินหน้าโครงการแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียนได้อย่างรวดเร็ว และแพร่หลาย ไม่ว่าจะทั้งจากการก่อตั้งฟาร์มกังหันลมไฟฟ้า ที่เราเกริ่นไว้ข้างต้น หรือฟาร์มแพงโซล่าร์เซลล์ขนาดใหญ่ ที่ในหลายๆครั้ง หากมองจากระยะไกลขณะขับรถอยู่ เราอาจเผลอนึกว่ามันคือผืนทะเลสาบขนาดย่อมในชั่วครู่หนึ่งก็ตาม

โดยจุดหมายปลายทางของวันที่ 8 ของการเดินทาง แม้จะเป็นเมืองกอนตูม ซึ่งเป็นเมืองที่พักสุดท้ายก่อนเดินทางจากเวียดนาม ข้ามไปฝั่งลาว ซึ่งหลายคนอาจไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก นอกจากการมาพักผ่อน

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ณ ที่แห่งนี้ยังมีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของเวียดนามอยู่ นั่นคือ อาสนวิหารคอนตูม หรือ Saint Mary’s Cathedral of Kon Tum ซึ่งเป็นโบสถ์ไม้เก่าแก่อายุนับร้อยปี ซึ่งมีความน่าสนใจจากทั้งการที่มันคือ โบส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นด้วยงานสถาปัตยกรรมไม้สไตล์บาซิลิกาชิ้นเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ในโลก (อ้างอิง), เป็น 1 ใน 10 โบสถ์ที่สวยที่สุดของเวียดนาม, โครงสร้างหลักของโบส์ถูกสร้างขึ้นด้วยไม้ และยึดกันด้วยกาวทั้งหมด ไม่มีการตอกตะปูใดๆ ในขณะที่ผนังก็สร้างขึ้นจากดินและฟาง ไม่มีการใช้คอนกรีต ผสมเหล็กใดๆทั้งสิ้น

ซึ่งแม้จะน่าเสียดายนิดตรงที่โดยส่วนตัวแอดมินจอห์น ไม่ได้ทราบประวัติใดๆของสถานที่แห่งนี้มากนักก่อนมาเยือน แต่สิ่งที่สัมผัสได้จากการได้ลองมองดูตัวอาคารสถานที่แห่งนี้ ก็พบว่ามันถูกสร้างขึ้นด้วยไอเดียและแนวคิดที่แปลกและแตกต่างไปจากโบสถ์อื่นๆที่แอดฯจอห์นเคยเห็นมาพอสมควร

นอกจากนี้บรรยากาศภายในตัวโบสถ์ยังดูอบอุ่น และเต็มไปด้วยรูปเหตุการณ์ต่างๆในพระคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งถูกวาดด้วยลายเส้นเฉพาะตัว และหากใครเป็นนักท่องเที่ยวสายวัฒนธรรม แล้วมีโอกาสเดินทางมาที่เมืองกอนตูมแห่งนี้ แอดฯจอห์นก็ต้องบอกว่า คุณไม่ควรพลาดสถานที่แห่งนี้ เพื่อมาเก็บบรรยากาศและสัมผัสร่องรอยวัฒนธรรมที่น่าสนใจนี้โดยเด็ดขาด

เข้าสู่วันสุดท้ายของการเดินทาง นั่นคือวันที่ 9 ที่คราวนี้ แอดมินจอห์น จะได้รับไม้ต่อ ให้กลับมาหวดเจ้า Ford Ranger Raptor อีกครั้ง เพื่อบึ่งรถจากเมืองกอนตูม ประเทศเวียดนาม ข้ามไปยังประเทศลาว ผ่านด่านโบอี ทางตอนใต้ของลาว

แต่เนื่องจากเราจะไม่พักที่ลาว และขับยิงยาวเกือบรวดเดียว เพื่อเข้าสู่ประเทศไทย ทางด่านช่องเม็ก ที่จังหวัดอุบลราชธานี ภายในวันเดียว

จึงทำให้หากนับระยะทางแล้ว ก็จะได้ตัวเลขที่ราวๆ 400 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าเป็นระยะทางในการขับภายในวันเดียวที่เยอะที่สุดของทั้งทริป

คราวนี้ เส้นทางอาจไม่ได้เจอชุมชนเมืองมากเท่าไหร่นัก เพราะอย่างที่ระบุไว้ข้างต้นว่า เมืองกอนตูม จริงๆแล้วก็เป็นเพียงเมืองที่นักท่องเที่ยวหลายคนมาเพื่อพัก และเตรียมตัวเข้าประเทศลาวเท่านั้น ซึ่งหลายคนอาจตัดสินใจข้ามไปเลยตั้งแต่แรก เพื่ออิ่มเอมกับบรรยากาศในประเทศลาวเลยทีเดียว มีน้อยคนนักจะพักค้างที่นี่ เช่นทีมผู้ร่วมทริป Ford ครั้งนี้ ที่กว่าจะมาถึงเมือง แล้วขับต่อไปถึงด่านข้ามประเทศ ด่านก็คงก็ปิดไปก่อนแล้ว

นั่งจึงทำให้ในช่วงเช้า เราไม่ต้องปวดหัวกับการจราจรที่น่ามึนหัวของชาวเวียดนาม ไปจนถึงด่านข้ามแดน แม้ว่ารถจะมีระบบความปลอดภัยคอยช่วยเหลือมากมาย ทั้ง เซนเซอร์ตรวจจับวัตถุรอบคัน, ระบบเตือนมุมอับ, ระบบเตือนการชนด้านหน้า, ระบบช่วยเบรกอัตโนมัติ และยังมีระบบอื่นๆอีกมากมาย ที่คุณสามารถเปิดใช้ได้อีก เพื่อช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุขณะขับขี่

ถึงกระนั้น เมื่อเข้าสู่ประเทศลาว เส้นทางที่ทาง Ford จัดให้เราขับผ่าน กลับไม่ใช่เส้นทางหลักที่ผู้คนใช้กัน แต่เป็นเส้นทางรอง ขับผ่าภูเขาที่ถนนเต็มไปด้วยพื้นถนนแตกเป็นหลุมเป็นบ่อ บ้างก็เป็นทางลูกรัง หรือมีกรวดลอยเต็มถนนไปหมด คิดเป็นระยะทางหลายสิบกิโลเมตรได้

แน่นอนเมื่อเส้นทางที่ต้องวิ่งผ่านมีลักษณะดังกล่าว หลายคนคงเลือกที่จะขับย่องไปเรื่อยๆเพื่อรักษาสภาพรถ ช่วงล่าง และยาง แต่กลายเป็นว่าเหล่าผู้ร่วมทริปในครั้งนี้ ที่ฝ่าฟันอุปสรรคทางลุยมามากมายกับ Ranger Raptor ไม่ว่าจะทั้งที่เป็นรถทดสอบในมือสื่อฯ หรือรถส่วนตัวของลูกค้า ซึ่งไม่ได้มีแค่รุ่นเครื่องยนต์เบนซิน V6 3.0 Turbo แต่ยังมีรุ่นเครื่องยนต์ดีเซล 2.0 Bi-Turbo

แม้กระทั่ง Ranger Raptor โฉมแรก ก็ยังมีลูกค้าเอามาร่วมด้วยตลอดทริปนั้น เลือกที่จะหวดกันต่อบนเส้นทางดังกล่าวด้วยความเร็วตั้งแต่ 50-80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตามแแต่เส้นทางจะเอื้อกันอย่างต่อเนื่อง

หรือบางครั้งในจังหวะที่รถหัวขบวน ซึ่งห่างออกไปหลัก 1-2 กิโลเมตร ให้สัญญาณว่าข้างหน้าไม่มีรถใครสวนทางมา เหล่านักขับ Raptor ที่อยู่ท้ายขบวน ก็ยิ่งสนุกกับการเล่นเจ้ารถกระบะพันธ์ลุยอย่างสนุกเท้ามากขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่แอดจอห์นเอง ก็ยังแอบเปิดโหมด Baja เพื่อให้รถสามารถทำอาการท้ายขวางนิดๆแล้วเลี้ยวเข้าโค้งทั้งอย่างนั้นตราบใดที่ทางข้างหน้ายังคงปลอดภัยที่จะเล่นต่อเนื่องไปเรื่อยๆเช่นกัน

ซึ่งย้ำอีกครั้งว่าหากเป็นรถกระบะรุ่นอื่นๆ หรือรถยนต์รุ่นอื่นๆ ก็คงไม่สามารถทำในลักษณะนี้ได้ ไม่ใช่แค่ในเรื่องระบบช่วยเหลือต่างๆที่ไม่เอื้อเท่านั้น แต่ยังรวมถึงลักษณะกายภาพของตัวรถ ที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อการ “รูดผิวถนนขรุขระด้วยความเร็วสูง” อย่าง Raptor ด้วย (คือจะรูดตามกันมาก็ได้ แต่ไม่รับรองว่าคุณจะมีอาการระบมก้นจากแรงสะเทือน หรือช่วงล่างจะยันจนลูกหมากแตกในทันทีหลังจบทริป เหมือน Raptor ที่ไม่มีความเสียหาย หรือสร้างความปวดเมื่อยใดๆให้กับผู้โดยสารเลยตลอดทริปนี้หรือไม่ ?)

เมื่อหมดเส้นทางลูกรังตามแนวเขาเป็นระยะทางหลายสิบกิโลเมตร ก็เริ่มเข้าสู่เส้นทางยางมะตอย ที่ขนาบข้างด้วยที่พักอาศัย ซึ่งให้บรรยากาศคล้ายๆกับหมู่บ้านในถิ่นธุรกันดารของภาพอีสานในเมืองไทยอย่างบอกไม่ถูก

ซึ่งแน่นอนว่านั่นย่อมหมายถึงการที่มันเป็นเขตชุมชน และมีทั้งผู้คน กับผู้ใช้รถ ใช้ถนนร่วมกัน ซึ่งทางขบวนต้องกลับมาขับรถอย่างสงบเสงี่ยม เพื่อความปลอดภัยของทุกคนอีกครั้ง หลังจากที่สนุกสนานในเส้นทางรองกันมานาน

โดยสิ่งที่ต่างออกไปจากตอนขับรถในประเทศเวียดนามวันนี้ ก็คือการที่รูปแบบ หรือบรรยากาศการขับของชาวประเทศลาว มีความใกล้เคียงกับคนไทยมากขึ้น (ไม่นับเรื่องความเข้าใจในการใช้รถใช้ถนนแบบผิดๆของคนไทยหลายข้อ) ทั้งจังหวะในการเปลี่ยนเลน จังหวะในการออกซอย ต่างก็สามารถอ่านและคาดคะเนได้ง่ายมากขึ้น คุ้นชินมากขึ้น

สิ่งที่ต้องระวังจริงๆ จึงมีแค่เพียงจังหวะที่ต้องแซงรถช้าข้างหน้า อาจจะยังติดขัดอยู่หน่อย เพราะยังไงด้วยความเป็นรถพวงมาลัยขวา แต่ต้องมาขับในเลนขวา จึงทำให้การมองรถสวนมาในเลขตรงข้ามนั้นทำได้ยากขึ้น และต้องอาศัยสายตาของผู้โดยสารด้านข้างช่วยมองและให้สัญญาณมาเพื่อความปลอดภัยในการแซงแต่ละครั้ง

นอกนั้นก็เพียงแค่กะมิติตัวรถให้ดี แล้วกดคันเร่งพรืดเดียว ก็สามารถเร่งแซงได้แล้ว ซึ่งต้องขอบคุณในส่วนของขุมกำลังติดรถที่มีแรงบิดสูงถึง 583 นิวตันเมตร และระบบเกียร์ 10 สปีด ที่อาจจะมีการรอจังหวะนิดหน่อย แต่ถ้าเกียร์ลงมาถึงจังหวะเมื่อไหร่ รถก้พร้อมกระโจนออกทันที

ส่วนรถรุ่นเครื่องยนต์ดีเซล 2.0 Bi-Turbo พละกำลังสูงสุดอาจไม่ได้สูงมากนัก เพราะมีตัวเลขเพียง 210 PS แต่แรงบิดสูงสุดของมัน ก็ยังอยู่ในหลัก 500 นิวตันเมตร และยังทำงานร่วมกับชุดเกียร์อัตโนมัติ 10 สปีดเช่นกัน จึงทำให้แม้อัตราเร่งของมัน จะไม่ได้ปรู๊ดปร๊าดเท่ากับรุ่นเครื่องยนต์ V6 แต่เมื่อผู้ขับกดคันเร่ง และเกียร์ทำงานได้จังหวะ รถก็พร้อมที่จะไต่ความเร็วเพื่อเร่งแซงได้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน และส่งผลให้ขบวนไม่ได้ขาดช่วงนานเกินไป เพราะผู้ขับที่ใช้รถ Ranger Raptor พร้อมขุมกำลังดีเซลข้างต้น ก็ยังสามารถเร่งตามมาได้สบายๆ แม้จะไม่มันมือมันเท้ามากนักก็ตาม

ท้ายที่สุด หลังผ่านการขับแบบยิงยาวบนทางเรียบกันมานานกว่า 400 กิโลเมตร โดยมีเรื่องน่าหวาดเสียวนิดหน่อยตรงที่เราต้องแอบลุ้นกันเล็กน้อยว่าจะมาถึงด่านก่อนเวลาปิดทำการหรือไม่ ? ในที่สุดขบวนก็เคลื่อนที่ถึงจุดหมายปลายทาง นั่นคือ ด่านช่องเม็ก จังหวัดอุบลราชธานี เป็นอันจบทริปอันยาวนาน ที่แม้จะกินเวลาหลายวัน นับสัปดาห์ แต่ก็ให้ทั้งความสนุกสนาน และเรื่องราวระหว่างทางมากมาย

โดยหากมองในผู้ร่วมทริปคนหนึ่ง ที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมทริปครั้งนี้ แม้จะเป็นครึ่งหลัง แต่สิ่งที่สัมผัสได้ถึงความพยายามของ Ford ก็คือ การที่พวกเขาตั้งใจจัดทริปขึ้นมา เพื่อให้ผู้ที่เข้าร่วมทริป โดยเฉพาะลูกค้าที่ใช้งานรถยนต์ Ford Ranger Raptor ได้รับรู้ถึงขีดความสามารถของรถกระบะที่พวกเขาใช้อยู่

ว่ามันไม่ใช่แค่รถกระบะที่ดุดัน บึกบึน ใหญ่โตกว่าใคร มีเครื่องยนต์ที่แรงกว่าชาวบ้าน หรือกินน้ำมันมากกว่าจนแม้แต่ซุปเปอร์คาร์บางคันยังยอม หรือแค่เอาไว้เพื่ออวดเบ่งชาวบ้านชาวช่องว่าคุณมีปัจจัยมากพอที่จะหาเงินมาซื้อ “ของเล่นลูกผู้ชาย” ที่ดูไร้สาระในสายตาหลายคนเท่านั้น

แต่มันคือรถกระบะที่มีความแตกต่าง และเหนือชั้นจากรถยนต์ทั่วๆไปในด้านสมรรถนะการขับขี่ การใช้งานที่ครอบคลุม และเกิดมาเพื่อพาคุณไปเปิดโลก เปิดประสบการณ์ต่างๆได้อีกมาก โดยมูลค่าของประสบการณ์เหล่านั้น อาจมากมายกว่าราคาตัวรถที่ได้ชื่อว่าเป็นรถกระบะที่แพงที่สุดในตลาดตอนนี้ไปไกลเสียอีก

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะมองว่าผมอวยอะไรนักหนา แต่หากคุณได้รู้จักเหล่าลูกค้ารถ Ford Ranger Raptor ที่่ได้มีโอกาสเข้าร่วมทริปในครั้งนี้ และลองสอบถามความรู้สึกของพวกเขาดู ผมเองก็คิดว่าพวกเขาคงรู้สึกไม่ต่างกัน และอยากชวนคุณๆที่สงสัยกัน ได้ไปลองสัมผัสประสบการณ์เดียวกันนี้ด้วยกันสักครั้งจริงๆ

ซึ่งหลังจากนี้ก็ขึ้นอยู่กับทาง Ford แล้วว่าจะจัดกิจกรรมในลักษณะนี้อีกเมื่อไหร่ ? และเราก็ทำได้แต่ต้องรอติดตามข้อมูลกันต่อไปเท่านั้น เพียงแต่จากที่แอดฯจอห์นได้ยินมา มันอาจไม่ได้เป็นทริปของ Ranger Raptor เพียงอย่างเดียวก็ได้ เพื่อให้ลูกค้าที่ใช้รถยนต์ Ford รุ่นอื่นๆ ได้ออกไปเปิดโลกใหม่ๆ ในแบบที่เจ้าตัวไม่คาดคิดว่ารถของตนเองก็ทำได้มาก่อนด้วย

ขอขอบคุณ Ford ประเทศไทย ที่ให้เกียรติเชิญทีมงาน Ridebuster ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทริป Ford Ranger Raptor “King of Tough : The Overland Journey” ครั้งนี้

เรื่องราว/เรียบเรียง : รณกฤต ลิมปิชาติ

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่

Comments are closed.