ตั้งแต่ช่วงสงกรานต์เป็นต้นมา การออกมารณรงค์ในการขับขี่ของรัฐบาล ถูกตั้งคำถามในบางมุมมอง ถึงการพยายามให้ใช้ความเร็วตามกฎหมายที่ 90 ก.ม./ช.ม. ตลอดการเดินทาง โดยที่ผ่านมาอ้างว่า นี่เป็นความเร็วที่ถูกตราไว้ตามกฎหมาย พรบ. ที่เกี่ยวเนื่องกับการจราจร และบังคับใช้มายาวนาน จนเราหลายคนต่างถูกทำให้เชื่อว่า ความเร็วดังกล่าวเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย สร้างความชอบธรรมให้เจ้าหน้าที่
ในแง่มุมความปลอดภัยในการขับขี่ อาจจะฟังดูขับช้าเป็นเรื่องดี แต่ในหลายครั้ง การขับช้า นอกจากจะไปถึงจุดหมายช้าแล้วยังไม่สร้างผลดีต่อการขับรถในระยะทางยาว จนมีคำถามเกิดขึ้นในวงสังคมมากมายว่า ความเร็ว 90 ก.ม./ช.ม. ถูกต้องหรือไม่ และสมควรที่จะบังคับใช้ต่อไป หรือเปล่า
ย้อนความ 30 ปี กฎหมายว่าอย่างไร
ตั้งแต่รถยนต์เริ่มได้รับความนิยม มีการตรากฎหมายที่สำคัญออกมาหลายฉบับ โดยฉบับที่กำกับ ดูแลเรื่องการใช้รถใช้ถนนของพี่น้องปวงชนชาวไทย คือ พระราชบัญญัติ การจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งยังบังคับใช้จนปัจจุบัน โดยเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย ทางรัฐบาลหลายชุดได้ ใช้อำนาจทางด้านนิติบัญญัติ ในการเปลี่ยนข้อความในตัวบทกฎหมายบ้าง จนมีถึง 10 ฉบับแล้วด้วยกัน
ในตอนแรกที่ออกมา กฎหมายการจราจรทางบก ได้ระบุ มาตรา 67 ที่มีข้อความว่า
“ ผู้ขับขี่ต้องขับรถด้วยอัตราความเร็วตามที่กําหนดในกฎกระทรวงหรือ ตามเครื่องหมายจราจรที่ได้ติดตั้งไว้ในทาง เครื่องหมายจราจรที่ติดตั้งไว้ตามวรรคหนึ่ง จะกําหนดอัตราความเร็วขั้นสูงหรือขั้นต่ำก็ได้แต่ต้องไม่เกินอัตราความเร็วที่กําหนดในกฎกระทรวง
โดยเมื่อมาดูตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 ที่ออกมาโดยพลเอก เล็ก แนวมาลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในเวลานั้น ก็มีข้อกำหนด ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ในกรณีปกติให้กําหนดความเร็วสําหรับรถ ดังต่อไปนี้
(๑) สําหรับรถบรรทุกที่มีน้ําหนักรถรวมทั้งน้ําหนักบรรทุกเกิน ๑,๒๐๐ กิโลกรัม หรือรถบรรทุกคนโดยสาร ให้ขับในเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา หรือเขตเทศบาล ไม่เกินชั่วโมงละ ๖๐ กิโลเมตร หรือนอกเขตดังกล่าวให้ขับไม่เกินชั่วโมงละ ๘๐ กิโลเมตร
(๒) สําหรับรถยนตร์อื่นนอกจากรถที่ระบุไว้ใน (๑) ขณะที่ลากจูงรถพ่วง รถยนตร์บรรทุกที่มีน้ําหนักรถรวมทั้งน้ําหนักบรรทุกเกิน ๑,๒๐๐ กิโลกรัม หรือรถยนตร์สามล้อ ให้ขับในเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา หรือเขตเทศบาล ไม่เกินชั่วโมงละ ๔๕ กิโลเมตร หรือนอกเขตดังกล่าวให้ขับไม่เกินชั่วโมงละ ๖๐ กิโลเมตร
(๓) สําหรับรถยนตร์อื่นนอกจากรถที่ระบุไว้ใน (๑) หรือ (๒) หรือรถจักรยานยนตร์ให้ขับในเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา หรือเขตเทศบาล ไม่เกินชั่วโมงละ ๘๐ กิโลเมตร หรือนอกเขตดังกล่าวให้ขับไม่เกินชั่วโมงละ ๑๐๐ กิโลเมตร
ข้อ ๒ ในเขตทางที่มีเครื่องหมายจราจรแสดงว่าเป็นเขตอันตรายหรือเขตให้ ขับรถช้า ๆ ให้ลดความเร็วลงและเพิ่มความระมัดระวังขึ้นตามสมควร
ข้อ ๓ ในกรณีที่มีเครื่องหมายจราจรกําหนดอัตราความเร็วต่ํากว่าที่กําหนด ในข้อ ๑ ให้ขับไม่เกินอัตราความเร็วที่กําหนดไว้นั้น
หากกล่าวสรุปตามความในกฎกระทรวงนี้ จะสามารถสรุปได้ว่า ในเมืองและเขตเทศบาล ให้ขับรถยนต์ได้ไม่เกินความเร็ว 80 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง และนอกเมือง (ทางหวงที่ไม่ใช่ทางพิเศษ) ใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 100 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง
โดยในกรณีมีการกำหนดความเร็วในพื้นที่ ให้ใช้ความเร็วตามที่กำหนดไว้
ชัวร์หรือมั่วนิ่ม เปลี่ยนเป็น 90 ก.ม./ช.ม.
ตั้งแต่ยุคอินเตอร์เน็ตเข้ามาเฟื่องฟู เราต้องยอมรับว่า บางครั้งข้อมูลข่าวสารต่างๆ บนเครือข่ายก็มีความผิดพลาดได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องความเร็วตามกฎหมายกำหนด เป็นที่ไถ่ถามกันมาไม่เว้นแต่ละวัน เนื่องจากเทคโนดลยีการตรวจจับอันทันสมัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่มีกล้องวงจรปิด เรียกว่าขับเร็วเกินไปนิด ส่งจดหมายถึงบ้านแน่นอน
จนถนนบางสายกลายเป็นเครื่องมือหากินของเจ้าหน้าที่แทนที่จะเป็นการกวดขันทางด้านการจราจร เนื่องากสภาพถนนที่เอื้ออำนวย แม้จะอยู่ในเขตเทศบาลก็ตาม
หลายปีที่ผ่านมา มีการพูดถึงการจำกัดความเร็วรถยนต์ที่ 90 ก.ม./ช.ม. โดยทางเจ้าที่ตำรวจได้ อ้างตัวบทกฎหมายการจราจรทางบก ฉบับที่ 8 ที่ออกมาปี พ.ศ. 2535 โดย เขียนไว้ในเว็บ traffic Police อย่างชัดเจน โดยพยายามชี้ชัดว่าเป็นกฎหมายใหม่ และภายหลัง สื่อมวลชนตลอดจนสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมาก นำเรื่องนี้ไปอ้างอิง เนื่องจากเข้าใจว่าเป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงที่เชื่อถือได้
ทั้งที่ ในพรบ.การจราจรทางบก ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2551 แก้ไขเพิ่มเติมจากพ.ศ. 2522 ได้มุ่งเน้นประเด็นการแก้ไขกฎหมายไปที่ การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของประชาชน ที่เริ่มนิยม และกลายเป็นต้นตอของการใช้รถใช้ถนน ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบัญญัติทางด้านความเร็ว อย่างที่มีการกล่าวอ้างกันทั่วโลกโซเชี่ยล
แต่ความเร็วนอกเมือง 90 ก.ม/ช.ม. ตามความกฎหมายที่ทางตำรวจนำมากล่าวอ้าง และดูคล้ายกับ ที่ได้มีการบัญญัติในปี พ.ศ. 2522 ทางผมจึงค้นข้อมูล พบว่า 2 ปี หลังจากที่มีการประกาศใช้ กฎกระทรวงฉบับที่ 6 ของพรบ. การจราจรทางบก มีการปรับแก้ไขด้วยกฎกระทรวงฉบับที่ 10 โดยแก้ข้อความว่า
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ และมาตรา ๖๗ วรรคหนึ่งแห่งพระราช บัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ออกกฎกระทรวงไว้ดังต่อไปนี้
ให้ยกเลิกความในข้อ ๑ (๓) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖ (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(๓) สำหรับรถยนต์อื่นที่นอกจากระบุไว้ใน (๑) หรือ (๒) หรือรถจักรยานยนต์ ให้ขับในเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา หรือเขตเทศบาล ไม่เกินชั่วโมงละ ๘๐ กิโลเมตร หรือนอกเขตดังกล่าวให้ขับไม่เกินชั่วโมงละ ๙๐ กิโลเมตร”
หรือสามารถสรุปได้ว่า ทางรัฐบาล ตัดสินใจในการปรับลดความเร็วการขับขี่รถยนต์นอกเมืองลงตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2524 และเรายึดใช้กันมายันปี พ.ศ. 2560 (นั่นมัน 36 ปี มาแล้ว เชียวนะ) ไม่ใช่เพิ่งมาลด เมื่อตอนปี พ.ศ.2551 อย่างที่เข้าใจกัน
แล้ว 120 ก.ม./ช.ม. มาจากไหน ???
มาถึงตรงนี้เชื่อว่าหลายคนคงจะร้องอ้าว !! เพราะที่ผ่านมาเราเคยได้ยินว่า ขับด้วยความเร็วนอกเมือง 120 ก.ม./ช.ม ได้นี่นา แล้วัมนมาจากไหน
ตั้งแต่ภาครัฐเริ่มสร้างทางหลวงชนระหว่างเมือง หรือที่เรียกว่ามอเตอร์เวย์ขึ้นมา ก็ได้มีการออกพรบ.ใหม่เพื่อใช้ประกอบการขับขี่รถยนต์ในทาง โดย พรบ. นี้ปัจจุบัน ใช้บังคับถนน 2 เส้น คือ มอเตอร์เวย์ ทางหลวงพิเศษสาย 7 เส้นทงกรุงเทพ- พัทยา และ ถนนวงแหวนกาญจนาภิเษกรอบกรุงเทพ โดยกำหนดไว้ใน พรบ. ทางหลวง พ.ศ. 2535 ออกเป็นกฎกระทรวงเมื่อปี พ.ศ. 2542 ไว้ในข้อ 2 ว่า
ข้อ 2 ให้กําหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ทางสาย กรุงเทพมหานคร – เมืองพัทยา และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 (ถนนกาญจนาภิเษก) ทางสาย ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ดังต่อไปนี้
(1) รถบรรทุกที่มีน้ําหนักรถรวมทั้งน้ําหนักบรรทุกไม่เกิน 1,200 กิโลกรัม หรือรถ บรรทุก คนโดยสาร ให้ใช้ความเร็วไม่เกินชั่วโมงละ 100 กิโลเมตร
(2) รถบรรทุกอื่นนอกจากรถที่ระบุไว้ใน (1) รวมทั้งรถบรรทุกหรือรถยนต์ขณะที่ลากจูง รถพ่วง ให้ใช้ความเร็วไม่เกินชั่วโมงละ 80 กิโลเมตร
(3) รถยนต์อื่นนอกจากรถที่ระบุไว้ใน (1) หรือ (2) ให้ใช้ความเร็วไม่เกินชั่วโมงละ 120 กิโลเมตร
ทำให้หลายคนที่ได้ทราบกำกระทรวงข้อบังคับนี้เข้าใจผิดว่า การใช้ความเร็วตามกฎหมายกำหนดนอกเมืองใช้ 120 ก.ม./ช.ม. ทั้งที่ใช้เพียงบนถนน 2 เส้น และในมอเตอร์ในอนาคต (แต่ว่าปัจจุบันด้วยสมรรถนะรถที่มีตัวช่วยตามลำดับ ความเร็ว 120 ก.ม./ช.ม. ค่อนข้างจะถือว่ามีความปลอดภัยสูงเลยทีเดียว)
สรุปเลยแล้วกัน ตกลงใช้ความเร็วได้เท่าไร
จากทั้งหมดที่เล่ามาเชื่อว่า คงเห็นภาพแล้วว่า โครงสร้างกฎหมายการจราจรบ้านเรา ต่อเรื่องการจำกัดความเร็วเป็นอย่างไรกัน
เมื่อเอาความตามกฎหมายจราจร มาคลีออกเพื่อความเข้าใจโดยง่ายมากขึ้น ในการจำกัดความเร็วตามกฎหมาย จะได้ดังนี้
ตารางแสดงอัตราความเร็วที่ใช้ได้ตามกฎหมายจราจรทางบก
ความเร็วในเมือง | ไม่เกิน 80 ก.ม./ช.ม. |
ความเร็วนอกเมือง (ที่ไม่ใช่ทางหลวงพิเศษ) | ไม่เกิน 90 ก.ม./ช.ม. (เดิมให้ใช้ได้ 100 ก.ม./ช.ม.) |
ความเร็วบนทางหลวงพิเศษ | ไม่เกิน 120 ก.ม./ช.ม. |
มาถึงตรงนี้คงจะเห็นว่าแล้วทางด่วนที่เป็นทางยกระดับเราใช้ในเมืองหายไปไหน … จากที่ค้นข้อมูลทราบว่าทางด่วนนั้นใช้ความเร็วเดียวกับทางปกติ ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด เพียงแต่ทำให้เหมือนทางลัดเดินทางได้สะดวกขึ้นกว่าเดิม
ส่วนในกรณีที่มีการพูดว่าอนุดลมโดยเจ้าหน้าที่ให้สามารถใช้ความเร็วได้ 110 ก.ม./ช.ม. นั้น ได้ยินมานาน แต่ไม่มีเรื่องยืนยัน และการพิจารณาโดยเจ้าหน้าที่ก็ขึ้นอยู่กับ ดุลพินิจในแต่ละพื้นที แต่คุณจะกล้าเสี่ยงไหม ..
การกำหนดกฎหมายความเร็วในการเดินทาง เกิดขึ้นเพื่อสร้างความปลอดภัยในการเดินทาง และลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ แต่อย่างที่เราคนใช้รถใช้นถนนทราบกันดีความเร็วไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้ถนนปลอดภัยมากขึ้น แต่ต้องขึ้นอยู่กับสำนักในการขับขี่ด้วย
ชอบกดไลค์ใช่กดแชร์ ขอบคุณทุกกำลังใจสำหรับพวกเรา ridebuster.com