สังคมไทยอาจรู้สึกว่า ‘Recall’ หรือการเรียกรถคืน เป็นเรื่องร้ายแรงที่ทำให้เจ้าของรถต้องวิตกกังวลใจ แต่ว่าความจริงแล้วมันน่ากลัวขนาดนั้นหรือ? วันนี้เราจะพาไปทำความเข้าใจ
ผู้อ่านหลายท่านคงจะทราบว่าช่วงที่ผ่านมาไม่นาน มีข่าวคราวการระงับขายรถกระบะ กับรถเอสยูวี ของฟอร์ดที่ใช้เกียร์อัตโนมัติ 10 สปีด ซึ่งเพิ่งเปิดตัวมาได้ไม่นาน ทำเอาคนที่ได้เสพข้อมูลเกิดความวิตกกังวล บ้างก็โทษผู้ผลิตว่าทำไมจึงปล่อยรถที่มีปัญหาออกมา อย่างไรก็ตาม การระงับการจำหน่ายพร้อมเรียกคืนรถไปแก้ไข ถือว่าเป็นความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคขั้นสูงสุด ที่บริษัทรถยนต์พึงกระทำได้ในปัจจุบัน เอาล่ะเพื่อไม่ให้เสียเวลา เรามาคุยกันว่า Recall แท้จริงแล้วมันมีจุดประสงค์อะไรบ้าง?
Recall เรียกคืนรถ เรียกกลับไปแก้ไข = ความหมายเดียวกัน
เวลาที่มีข่าวการ Recall รถยนต์รุ่นใดก็ตาม ผลลัพธ์มักเกิดผลเป็นด้านลบขึ้นในใจเจ้าของรถ รวมถึงผู้ได้รับข่าวสารเสมอ ทั้งๆ ที่การเรียกคืนรถนั้น ถือได้ว่าเป็นดั่งการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ เพราะทางบริษัทรถยนต์ได้เก็บข้อมูลรถที่มีปัญหา หาวิธีแก้ไข และแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ด้วยการเรียกคืนรถเข้ามาปรังปรุงแก้ไขให้ลูกค้าแบบไม่ต้องจ่ายเงินสักบาท
เราอยากอธิบายให้ผู้อ่านทุกคนเข้าใจจุดประสงค์ของการเรียกคืนรถเสียใหม่ ว่าไอ้เจ้าวิธี Recall เนี่ย มันไม่ได้เป็นเรื่องแย่เสียหายแต่ประการใด ถ้าสมมติมีข่าวประกาศเรียกรถให้กลับไปยังศูนย์บริการ เพื่อรับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงชิ้นส่วน จงดีใจเถิดว่ารถของคุณจะได้รับการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด ไม่ต้องไปรอลุ้นว่าแจ็คพอตจะโดนตัวคุณเมื่อใด
กรณีการ Recall เคสใหญ่ที่เคยเกิดขึ้นในไทย และในโลก
เคสการเรียกคืนรถกลับครั้งใหญ่ที่สุดในไทยเกิดขึ้นเมื่อ 2 ปี ก่อนในปี พ.ศ. 2559 โดยฮอนด้า ประเทศไทย ได้เรียกคืนรถเกือบทุกรุ่นที่พวกเขาจำหน่าย กลับมาทำการเปลี่ยนถุงลมนิรภัย จากเดิมที่ใช้ของ Takata มาเปลี่ยนเป็นลูกใหม่ที่ผ่านมาตรฐานการตรวจสอบอันเข้มข้น ซึ่งจำนวนรถที่ได้รับผลกระทบมีมากถึง 234,819 คัน เรียกได้ว่าฮอนด้าแสดงความผิดชอบต่อลูกค้าได้ดีมาก
การเรียกคืนรถครั้งใหญ่ที่สุดในโลกก็คือ เคสการ Racall รถของฟอร์ดในปี ค.ศ. 1980 ครั้งนั้นมีรถยนต์ได้รับผลกระทบถึง 21 ล้านคัน ซึ่งปัญหาคือ เมื่อผู้ขับขี่ทำการใส่เกียร P แล้วจอดรถไว้ตามปกติ จะมีโอกาสที่เกียร์หลุดออกจากตำแหน่งทำให้รถไหล โดยฟอร์ดได้ส่งคู่มือการป้องกันปัญหาให้เจ้าของรถดูตำแหน่งเกียร์ให้มั่นใจ พร้อมกับดึงเบรกมือจนสุดเพื่อป้องกันไม่ให้รถไหล
ติดตามข่าวสารและบทความดีๆ จากพวกเรา Ridebuster.com